การจัดการความรู้สู่สุขภาพพอเพียง


แผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ภายใต้วิสัยทัศน์ที่ว่า “มุ่งสู่ระบบสุขภาพพอเพียงเพื่อสร้าง : สุขภาพดี บริการดี สังคมดี ชีวิตมีความสุขอย่างพอเพียง”

   สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันภายใต้แนวปฏิบัติปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และได้มีการนำมาจัดทำแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ภายใต้วิสัยทัศน์ที่ว่า มุ่งสู่ระบบสุขภาพพอเพียงเพื่อสร้าง : สุขภาพดี บริการดี สังคมดี ชีวิตมีความสุขอย่างพอเพียง พร้อมทั้งมีการกำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ออกมาทั้งหมด 6 ประเด็นคือสร้างเอกภาพและธรรมาภิบาลในการจัดการระบบสุขภาพ(1)  สร้างวัฒนธรรมสุขภาพและวิถีชีวิตที่มีความสุขในสังคมแห่งสุขภาวะ(2)   สร้างระบบบริการสุขภาพและการแพทย์ที่ผู้รับบริการอุ่นใจผู้ให้บริการมีความสุข(3)  สร้างระบบภูมิคุ้มกันเพื่อลดผลกระทบจากโรคและภัยคุกคามสุขภาพ(4)   สร้างทางเลือกสุขภาพที่หลากหลาย ผสมผสานภูมิปัญญาไทยและสากล(5) และสร้างระบบสุขภาพฐานความรู้ด้วยการจัดการความรู้(6) ในมุมมองของผม ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 6 จะมีความสำคัญสูงมาก ถือเป็นฐานรากสำคัญของการพัฒนาเพื่อจะช่วยขับเคลื่อนอีก 5 ประเด็นยุทธศาสตร์ให้บรรลุได้ง่ายและเร็วขึ้น

คำว่า สุขภาพ จะมีความเชื่อมโยงกับปัจจัยกำหนดสุขภาพทั้งจากตัวคน จากสิ่งแวดล้อมหรือจากสารก่อโรคและอยู่ในระบบสุขภาพของชุมชน คำว่าสุขภาพ หมายถึงสุขภาวะที่สมบูรณ์ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคมและจิตวิญญาณ(เชาว์ปัญญา) ซึ่งจะเกิดได้เมื่อปัจจัยกำหนดสุขภาพมีความสมดุลและระบบสุขภาพชุมชนมีความเหมาะสม ซึ่งสุขภาพจะใช้คำที่เข้าใจกันง่ายๆได้เป็น อยู่ดีกินดี อยู่เย็นเป็นสุข อยู่รอดปลอดภัย และจะบรรลุได้ไม่ใช่จากกระทรวงสาธารณสุขอย่างเดียว ต้องช่วยกันทุกกระทรวงและประชาชนต้องมีส่วนร่วมด้วย

ระบบสุขภาพ มีความหมายกว้างกว่าระบบบริการสาธารณสุข มีทั้งในส่วนที่บุคคลพึ่งตนเอง ดูแลตนเอง กับส่วนที่พึ่งบริการหรือพึ่งผู้อื่น จากความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกและสังคม ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของบุคคลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากกระแสทุนนิยม เงินกลายเป็นตัวตั้งที่สำคัญทุกเรื่อง ระบบบริการสุขภาพที่ใช้เงินหรือใช้เทคโนโลยีเป็นตัวตั้งจึงอาจส่งผลเสียต่อประชาชนและสังคมได้มาก อาจารย์หมอประเวศ วะสี ได้เสนอไว้ว่า ระบบสุขภาพชุมชนที่พึงประสงค์นั้นควรมีองค์ประกอบสำคัญอย่างสมบูรณ์และบูรณาการเชื่อมโยงกัน 10 องค์ประกอบ โดยเขียนเป็นวงกลมซ้อนกัน 4 วง วงในแรกสุดเป็นปัจจัยที่ 1 การเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ในวงที่ 2 มี 3 ปัจจัยคือสัมมาชีพเต็มพื้นที่(2) วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม(3)และชุมชนเข้มแข็ง(4) ในวงที่ 3 มี 5 ปัจจัยคือการศึกษา(5) ศาสนา(6) วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(7)  การสื่อสาร(8) การสาธารณสุข(9) และวงใหญ่ที่อยู่นอกสุดมี 1 ปัจจัยคือนโยบายสาธารณะ ทิศทางการพัฒนา(10) ดังนั้นวงในสุดคือปัจจัยที่ 1 ควรเป็นตัวตั้งของการพัฒนาระบบสุขภาพ คือการเห็นคุณค่าของคน(Humanity) ใช้คนเป็นตัวตั้ง เมื่อใดก็ตามคนเราได้รับการเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ เขาก็จะเกิดความรู้สึกเป็นสุข อิ่มเอิบใจที่เห็นว่าตนเองมีคุณค่าจนผู้อื่นเกิดความยอมรับ ทำให้เกิดเป็นสุขภาวะทางจิตวิญญาณเกิดขึ้น

จากความหมายของ สุขภาพ หากมองย้อนไปเราจะเห็นว่า เราให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพกายก่อน แล้วมาที่ใจ สังคมและจิตวิญญาณ และก็พบว่าไปไม่ถึงไหน ในแต่ละปีค่าใช้จ่ายที่เป็นตัวเงินทางด้านสุขภาพเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ผลลัพธ์ทางสุขภาพของประชาชนกลับไม่ได้ดีขึ้นมากนัก หากเราเริ่มจากสุขภาพทางจิตวิญญาณ สู่สุขภาพทางสังคม สู่สุขภาพทางจิตใจแล้วมาสู่สุขภาพทางกาย อาจจะพบความสำเร็จได้ดีกว่าและเร็วกว่า

เมื่อเอาเงิน เอาวัตถุเป็นตัวตั้ง คนมีเงิน มีวัตถุในครอบครองมากจะได้รับการเคารพ ยอมรับ ซึ่งคนเหล่านี้มีจำนวนน้อยเพราะคนส่วนใหญ่ยากจน คนก็จะแก่งแย่งกันเพื่อครอบครองวัตถุ เกิดการเอารัดเอาเปรียบ ตัวใครตัวมัน มุ่งร้ายกัน สุขภาวะทางจิตวิญญาณของคนในสังคมจะเกิดขึ้นน้อย  การที่ต่างคนต่างอยู่นี้ ส่งผลต่อสุขภาวะทางสังคมด้วย ที่เราพบว่าปัญหาสังคมมากมายได้ส่งผลเสียต่อคนในสังคม เกิดภาวะที่เรียกว่าภูมิคุ้มกันทางสังคมบกพร่อง(Social Immunodeficiency Syndrome : SIDS คล้ายๆกับAIDSในตัวคนที่ติดเชื้อเอดส์) เป็นสังคมที่ขาดภูมิคุ้มกันสำคัญ 3 ประการคือความรู้ ความรัก ความอดทน โดยที่ผมได้เคยเสนอไปว่าจะสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมได้จะต้องใช้เครื่องมือที่เรียกว่า การจัดการความรู้ จะทำให้คนมีความรู้ที่ปฏิบัติได้จริง เข้าใจชุมชน ชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองและคนรอบข้าง ส่งผลให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีในชุมชนเกิดความรักและความอดทนต่อความเห็นที่แตกต่างของคนอื่นได้ สังคมเข้มแข็งขึ้น มีภูมิคุ้มกันทางสังคมสูงขึ้น คนจะเกิดสุขภาวะทางสังคมได้ง่าย

การจัดการความรู้ เป็นกระบวนการที่จะถอดความรู้ออกจากตัวคนเพื่อนำมาเผยแพร่ ปรับใช้ให้เหมาะกับบริบทของตนเอง ภายใต้การนำเอาสิ่งดีๆในตัวคน ความสำเร็จมายกย่องชมเชย การที่เรายกย่องชมเชยเขา แสดงว่าเรายอมรับหรือให้ความเคารพในตัวคนๆนั้น เป็นการเคารพความรู้ในตัวคน ซึ่งเป็นรูปธรรมสำคัญของการเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์

ความรู้ในโลกเรานี้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆคือความรู้ในตำรากับความรู้ในตัวคน ส่วนใหญ่ในการทำงาน ในการดำรงชีวิต คนจะใช้ความรู้ในตัวคนมากกว่าความรู้ในตำรา ความรู้ในตัวคนจะได้จากการรวบรวมของประสบการณ์ ทักษะ สามัญสำนึก พรสวรรค์ประกอบกันเป็นความรู้ในตัวคนแต่ละคนขึ้นมา ได้จากชีวิตความเป็นอยู่ การดำรงชีวิตในชุมชนหรือวิถีชีวิต จึงมีฐานอยู่กับวัฒนธรรมหรือบริบทของชุมชน ส่วนความรู้ในตำรานั้นได้จากการค้นคว้าศึกษาวิจัยของผู้เชี่ยวชาญอย่างมีหลักการ มีเหตุผล มีหลักฐานเชิงประจักษ์ จึงมีฐานเป็นวิทยาศาสตร์ หากเราจัดการเรียนรู้โดยเอาความรู้ในตัวคน(Practical-based) เป็นตัวตั้งและเอาความรู้ในตำรา (Evidence-based) เป็นตัวเสริมเติมแต่ง ซึ่งอาจารย์หมอประเวศเรียกว่าเอาวัฒนธรรม (บริบทของชุมชน) เป็นฐานและเอาวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือ จะได้ความรู้ที่เหมาะกับการนำไปใช้ในการพัฒนาสุขภาพของชุมชนเป็นอย่างมากเพราะจะสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

การจัดการความรู้ เป็นการเห็นคุณค่าความรู้ในตัวคน โดยการถอดเอาความรู้เหล่านั้นออกมาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเพิ่มคุณค่าโดยการปรับใช้ ประยุกต์ใช้หรือต่อยอดให้มีคุณค่าสูงมากขึ้น หากการจัดการความรู้นั้นเกี่ยวข้องกับประเด็นทางสุขภาพ เราก็จะได้องค์ความรู้ทางด้านสุขภาพที่สามารถปฏิบัติได้จริง จากผู้รู้จริงที่ทำจริงในพื้นที่ จะทำให้เราใช้ความรู้ เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสภาพของเรา ส่งผลให้เกิดการมีสุขภาพที่พอเพียงได้ และเมื่อคนได้รับการยอมรับ มานั่งฟัง มาร่วมเรียนรู้ด้วย จะรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า เกิดสุขภาวะทางจิตวิญญาณ ส่วนแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเองเมื่อเห็นคุณค่าของคนอื่น ก็จะได้รับการยอมรับมากขึ้น มิตรภาพดีขึ้น มองเห็นคุณค่าความเป็นคนของผู้ป่วยหรือญาติ ก็จะเกิดการให้บริการที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ได้ง่าย เกิดสุขภาวะทางจิตวิญญาณของตนเองได้เช่นกัน ในการจัดการความรู้จะเกิดกิจกรรมของ ฝึกฟัง ฝึกให้ ใฝ่รู้ และหมู่สัมพันธ์ สำคัญที่สุดคือฝึกฟัง เพราะการที่เราฟังใคร แสดงว่าเราเคารพคนนั้น เป็นการฟังอย่างตั้งใจหรือฟังอย่างลึกซึ้ง(Deep listening) เพื่อสกัดเอาสิ่งดีๆในตัวคนพูดออกมาปรับใช้  พร้อมๆกับเป็นการฝึกใจเราให้อดทนรับฟังคนอื่น ยอมรับคนอื่น รู้จักให้ รู้จักรับ ใส่ใจเรียนรู้จากผู้อื่น มีการรวมกลุ่มกันเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกิดความสัมพันธ์ที่ดีของหมู่คณะ ของชุมชน เกิดบรรยากาศแห่งมิตรภาพ อบอวลไปด้วยความรัก ความจริงใจต่อกัน ชุมชนก็เข้มแข็ง ส่งผลให้คนในชุมชนเกิดสุขภาวะทางสังคม ส่งผลต่อให้จิตใจมีความสุข เมื่อใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว ใจเป็นสุข กายก็ย่อมสุขตามไปด้วย

จะเห็นได้ว่า การจัดการความรู้สามารถนำไปสู่สุขภาวะทางจิตวิญญาณ สังคม จิตใจ ร่างกายเป็นสุขภาพแบบองค์รวม(Holistic approach) ได้ เกิดระบบบริการที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ (Humanized health care) นำความรู้ทางสุขภาพที่เหมาะสมมาปรับใช้ทำให้เกิดระบบสุขภาพพอเพียง (Sufficiency health care) ได้ตามวิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้  โดย นพ.พิเชฐ   บัญญัติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านตาก จ. ตาก3 มกราคม 2550
หมายเลขบันทึก: 74224เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2007 21:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 21:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท