เดินทางโดยรถไฟ (2)


สถานการณ์สร้างวีระบุรุษ...พขร. ตำรวจรถไฟ และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่บนรถไฟขบวนนี้ พบเห็นและช่วยกันดับไฟ ก่อนที่ไฟจะลุกลามไปจนเกิดความเสียหาย ซึ่งก็ต้องขอชมเชยไว้ ณ ที่นี้ด้วย

ผลพวงจากการเลือกเดินทางไปปฏิบัติภาระกิจที่จังหวัดอุดรธานีโดยรถด่วน (ดีเซลราง) ขบวน 75 ซึ่งมีกำหนดออกจากสถานีรถไฟหัวลำโพงประมาณ 8:20 น. และถึงสถานีจังหวัดอุดรธานีเวลาประมาณ 18:20 น. ซึ่งเป็นการเดินทางโดยรถไฟเป็นครั้งแรกในรอบประมาณ 20 ปี ทำให้ได้รับประสบการณ์อะไรหลายๆ อย่างที่ต้องบันทึกไว้

ใน blog ที่แล้ว ได้บันทึกไว้ว่า หากทำได้ ผมก็อยากจะมอบรางวัลยอดเยี่ยมด้านการอนุรักษ์ให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย ในฐานะองค์กรที่สามารถรักษาความเป็นเดิมๆของกิจการไว้ได้อย่างเหนียวแน่นตลอดหลาย 10 ปีหรือกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา เพราะการรถไฟฯ มีการพัฒนาน้อยมาก

ประสบการณ์ที่ 2 จากการเดินทางในครั้งนี้ ที่จะต้องบันทึกไว้ก็คือ การให้บริการที่ไม่ตรงต่อเวลาของขบวนรถไฟ ซึ่งเรื่องการไม่ตรงต่อเวลานี้คงไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับผู้เดินทางไทยหลายคน เพราะทั้งรถประจำทาง เครื่องบินก็เป็นแบบนี้ แต่ก็ต้องบอกว่า การรถไฟฯ ทำได้ดีกว่า เพราะรถไฟเที่ยวที่ไปนี้ เสียเวลาตั้งแต่ออกจากสถานี คือ ออกล่าช้ากว่ากำหนดประมาณครึ่งชั่วโมง แต่การเสียเวลาก็เป็นเรื่องเล็กอีก หากในระหว่างการเดินทาง รถไฟขบวนนี้สามารถทำเวลาคืนเพื่อให้ไปถึงปลายทางตามกำหนดเดิม หรือเสียเวลาน้อยลงกว่าเริ่มต้น แต่กาลกลับกลายเป็นว่า รถไฟขบวนนี้กลับสะสมเวลาที่เสียไปจากกำหนดเดิมเพิ่มขึ้นทุกขณะ โดยเป็นผลมาจากความไม่สมบรูณ์ของตัวรถ พนักงาน และระบบการทำงาน

ผมไม่เข้าใจเลยว่า ทำไมการรถไฟฯ หรือพนักงานการรถไฟฯ ถึงไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับการเสียเวลาของขบวนรถ ผมมองไม่เห็นความรับผิดชอบ หรือความพยายามใดๆ ที่จะทำให้เวลาที่สูญเสียไปของรถไฟขบวนนี้กลับคืนมาได้เลย ก็คงเป็นความเอื้ออาทรของการรถไฟฯ และคนของการรถไฟฯ กระมังที่อยากจะแถมเวลาให้กับผู้โดยสาร เพราะผมซื้อตั๋วมาเพื่อนั่งอยู่บนรถไฟเพียงประมาณ 10 ชั่วโมง ในราคาเกือบ 500 บาท แต่ได้แถมโดยการเพิ่มเวลาการนั่งในตู้แอร์ที่อากาศแสนจะอบอุ่นอีกฟรีๆ ถึงเกือบ 2 ชั่วโมงหรือคิดเป็น 1 ใน 5 ของระยะเวลาและค่าโดยสาร หรือเกือบ 100 บาทเมื่อคิดเป็นตัวเงิน ดังนั้น รางวัลสำหรับยอดนักเอื้ออาทร คงจะต้องมอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเพิ่มไปอีก 1 รางวัล เพราะคงไม่มีธุรกิจใดที่เอื้ออาทรให้กับลูกค้าของตนได้ขนาดนี้อีกแล้ว

และประสบการณ์ประการที่ 3 ที่จะต้องบันทึกไว้ ซึ่งก็เป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดประสบการณ์ที่ 2 ก็คือ ในขณะที่รถวิ่งไปตามปกติ ได้เกิดไฟไหม้เครื่องยนต์ซึ่งวางอยู่บนหลังคาตู้โดยสาร ครับ...ท่านอ่านไม่ผิดหรอกครับ เกิดไฟไหม้เครื่องยนต์บนหลังคาตู้โดยสารซึ่งภายในมีผู้โดยสารนั่งอยู่เป็นจำนวนมาก (แม้จะไม่เต็ม) แต่ก็ยังโชคดีที่เรามีภาษิตที่ว่า สถานการณ์สร้างวีระบุรุษ พขร. ตำรวจรถไฟ และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่บนรถไฟขบวนนี้ พบเห็นและช่วยกันดับไฟ ก่อนที่ไฟจะลุกลามไปจนเกิดความเสียหาย ซึ่งก็ต้องขอชมเชยไว้ ณ ที่นี้ด้วยเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ผลพวงของไฟไหม้ในครั้งนี้ ทำให้ พขร. ตัดสินใจปิดแอร์และเครื่องยนต์ของตู้โดยสารตู้นี้ และส่งผลทำให้ผู้โดยสารที่โดยสารมากับตู้โดยสารตู้นี้จะต้องนั่งทนร้อนและหวาดผวาไปอีกหลายชั่วโมง ยังโชคดีที่ผมไม่ได้โดยสารมาในตู้ที่ไฟไหม้ ผม (ด้วยความเห็นแก่ตัว) จึงรู้สึกอุ่นใจ จากการดับเครื่องยนต์บนตู้โดยสารที่ถูกไฟไหม้ จึงทำให้ขบวนรถไฟนี้จะต้องลากน้ำหนักเพิ่มขึ้น ซึ่งผมก็เข้าใจว่า โดยทั่วไป เขาก็จะมีการเผื่อกำลังเครื่องยนต์ของรถดีเซลรางไว้แล้ว เพื่อการลากตู้โดยสารที่ไม่มีเครื่องยนต์ แต่ในกรณีนี้ เนื่องจากตู้รถแต่ละตู้เก่าและทรุดโทรมมาก เวลาเร่งเครื่องแต่ละครั้งจะเกิดเสียงดังจากเครื่องยนต์บนหลังคาราวกับฟ้าจะถล่ม ดังนั้น เครื่องยนต์เหล่านี้จึงคงไม่ค่อยจะมีกำลังเหลือเฟือที่จะลากน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น รถจึงวิ่งได้ไม่เต็มที่ และทำให้เสียเวลามากขึ้น

สุดท้าย ผมเดินทางถึงจังหวัดอุดรธานีโดยสวัสดิภาพ ในเวลาประมาณ 20 นาฬิกาเศษ โดยใช้เวลาเดินทางเกือบ 12 ชั่วโมง ซึ่งคนรถไฟคงต้องบอกว่า จะมีอะไรดีไปกว่าการเดินทางถึงจุดหมายปลายทางโดยสวัสดิภาพคงไม่มีแล้ว แล้วจะเอาอะไรอีก...ข้อนี้ผมคงจะไม่ปฏิเสธครับ แต่หากถึงปลายทางโดยสวัสดิภาพ ตรงและประหยัดเวลา และสะดวกสบาย ผู้โดยสารคนไหนก็อยากได้...จริงไหม และหากทำได้เช่นนี้ การเดินทางครั้งต่อไป ผมคงเลือกเดินทางโดยรถไฟอีก แต่สำหรับตอนนี้ คงเข็ดไปอีกนาน...

สรุปว่า การเดินทางครั้งนี้ ให้ประสบการณ์ที่จะต้องบันทึกไว้เป็นประเด็นเพื่อการจัดการความรู้อย่างน้อย 3 ประการ และจากบทเรียนดังกล่าวนี้ คงจะมีแง่คิดให้กับนักบริหารการศึกษา ทั้งในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และระดับอุดมศึกษาได้คิดต่อไปว่า เราจะสามารถบริหารสถานศึกษาของเราได้อย่างไรเพื่อไม่ให้สิ่งที่เกิดขึ้นกับการรถไฟแห่งประเทศไทยมาเกิดขึ้นกับสถานศึกษาของเรา สำหรับสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ปัจจุบันผู้บริหารสถานศึกษาหลายคนก็คงพยายามทำงานหนักเพื่อพัฒนาสถาบันของตนให้มีมาตรฐานดีขึ้น ซึ่งก็ขอเป็นกำลังให้ท่าน ผอ. เหล่านี้พยายามต่อไป ในขณะที่บางสถาบันก็มีชื่อเสียงดีอยู่แล้วจากผลของความพยายามจากผู้บริหารคนก่อนๆ ปัญหาที่แสนจะท้าทายจึงอยู่ที่ว่า เราจะเพียงธำรงค์รักษาชื่อเสียงเหล่านั้นไว้ หรือจะพัฒนาทุนที่มีอยู่ให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป สุดท้ายขอเสนอแนะว่า การอาศัยกลยุทธ์และเทคนิกในการจัดการความรู้น่าจะเป็นเครื่องมือที่ดีชิ้นหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาองค์กรของเรา

หมายเลขบันทึก: 74111เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2007 10:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 12:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

นอกจากอาจารย์จะเป็นหนึ่งในเรื่องเทคโนโลยี สารสนเทศ และนวัตกรรมทางการศึกษาแล้ว หนูยกตำแหน่งนักเขียนให้อาจารย์ด้วยอีกตำแหน่งหนึ่งค่ะ

ตอนนี้ รถไฟไทย เขายิ่งไม่รู้สึกเดือดร้อนหรือรู้สึกผิดเข้าไปอีก กับการที่ไม่ต้องวิ่งมันซะเลย

สวัสดีค่ะ อาจารย์

  • ท่านเขียนได้เยี่ยมเลยค่ะ  น่าจะยกตำแหน่ง  ผู้ว่าการรถไฟไทย  ให้ท่านอีกหนึ่งตำแหน่ง
  • เผื่อว่า...การบริหารการศึกษา เทคโนฯ และการรถไฟ  จะเจริญไปในทิศทางที่ท่านปรารถนา
  • เลือกเดินทางด้วยการบริการใหม่ แบบ วันทูโก  ก็น่าจะเหมาสมกับท่านหรือเปล่า..น่าคิด
  • ความปลอดภัยที่ท่านได้รับ  เมื่อเดินทางถึงจุดหมาย...ก็น่าคิด
  • เหมือนกับการศึกษา  เลือกได้ ...สอนแบบใด  มีอุปกรณ์แบบใด  จุดหมายก็คือ  ผลผลิตดีเยี่ยม
  • การเดินทาง  ก็คงเหมือนๆกัน  ที่เดินทางไปถึงจุดหมายโดยสวัสดิภาพ...มิใช่หรือ

ชิวชิว..ค่ะอาจารย์  ยินดีที่รู้จัก

ดีมาก (อยากรู้ว่าพฤติการเสี่ยงการเดินทางด้วยรถไฟมีอะไรบ้าง เป็นข้อๆๆ)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท