ความกล้าหาญของ"ผู้จัดการ"


เมื่อ 44 ปีที่แล้ว Peter Drucker ตั้งคำถามเตือนสติไว้ 3 คำถามเกี่ยวกับการทำงานของผู้จัดการไว้ใน Harvard Business Review ว่า

1. What is the manager's job?

ใครๆก็คงจะตอบได้ว่าหน้าที่ของผู้จัดการคือการจัดสรรทรัพยากรและความพยายามในการดำเนินธุรกิจ เพื่อผลลัพธ์ที่มีนัยสำคัญทางเศรษฐกิจต่อองค์กร -- ฟังดูน่าเบื่อซ้ำซาก และน่าจะเป็นเรื่องที่เข้าใจได้

แต่ Drucker ก็เขียนไว้ว่า "But every analysis of actual allocation of resources and efforts in business that I have ever seen or made showed clearly that the bulk of time, work, attention, and money first goes to "problems" rather than to opportunities, and, secondly, to areas where even extraordinarily successful performance will have minimum impact on results." เวลา-งาน-ความสนใจ-เงิน-ทรัพยากรส่วนใหญ่กลับถูกใช้ไปในการแก้ไขปัญหาแทน ที่จะใช้ไปเพื่อสร้างและจัดการกับโอกาสในทางธุรกิจ (เป็นการแก้ไขเรื่องในอดีต แทนที่จะมองไปในอนาคต) และแม้ว่าจะแก้ปัญหาได้ ก็ลืมถามตัวเองก่อนว่าปัญหาเหล่านั้นเป็นเรื่องที่มีนัยสำคัญต่อองค์กรหรือไม่

2. What is the major problem?

มีความสับสนมากระหว่างประสิทธิภาพกับประสิทธิผล ซึ่งนำไปสู่ความไม่ชัดเจนระหว่างการทำสิ่งที่ถูกต้องเพื่อผลลัพธ์ (doing the right things) กับการทำสิ่งที่ถูกตรงตามระเบียบกฏเกณฑ์ (doing things right)

ในอีกบทความหนึ่ง Drucker เขียนไว้และกลายเป็น management quote อันมีชื่อเสียงว่า “Efficiency is doing things right; effectiveness is doing the right things.” — ไม่มีอะไรจะไร้สาระเท่ากับการมีประสิทธิภาพสูงแต่ไม่มีประสิทธิผล คนเป็นนายควรจะถามตัวเองอยู่บ่อยๆว่าเหนื่อยทำไม-คุ้มหรือไม่ ตัวเลขต่างๆที่มี (kpi, financial ratio, growth) ต่างเน้นไปที่ประสิทธิภาพไม่ใช่ประสิทธิผล

ตำแหน่ง ผู้จัดการจึงมีอยู่เพื่อจัดสรรทรัพยากรต่างๆเพื่อประสิทธิผล ไม่ใช่เพื่อให้สิ่งต่างๆเป็นไปตามธรรมชาติปกติ เพราะเหล่าพนักงานและระบบงานทำอย่างนั้นได้อยู่แล้วโดยไม่ต้องมีผู้จัดการ เรื่องที่ผู้จัดการต้องทำคือ "(1) a way to identify the areas of effectiveness (of possible significant results), and (2) a method for concentrating on them."

3. What is the principle?

องค์กรธุรกิจไม่ใช่ปรากฏการณ์ธรรมชาติ หากแต่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคม และในเมื่อมันเป็นปรากฏการณ์ทางสังคม กฏ 20-80 จึงมีผลมาก กล่าวคืองาน 10-20% อาจจะสร้างผลกระทบถึง 80-90% ในขณะที่งานส่วนใหญ่สร้างผลไม่มากแต่เหนื่อย — อันนี้อาจเป็นคำตอบสำหรับความรู้สึกที่ว่าทำไปก็เท่านั้นไม่มีใครเห็น ที่ไม่มีคนเห็นนั้น เป็นเพราะมันยังไม่ดีพอ-ไม่มีผลต่อองค์กรอย่างเพียงพอ-ยังปรับปรุงได้อีก

เป็นเรื่องผิดธรรมชาติหากว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำจะมีคนมาชื่นชม แต่เราก็มักจะคาดหวังการยอมรับในลักษณะแปลกๆแบบนี้อยู่เรื่อย ถ้าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นจริง อาจเป็นไปได้จากสาเหตุอย่างน้อยสองอย่าง คือ คนๆนั้นไม่มีอะไรทำ นอกจากเฝ้าดูเราตลอดเวลา หรือนั่นคือการสอพลอ

ความกล้าหาญของ"ผู้จัดการ" คือการทำในสิ่งที่ต้องทำ เพื่อตอบคำถามทั้งสาม 

หมายเลขบันทึก: 74080เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2007 02:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

เป็นบันทึกที่ดีที่สุดสำหรับดิฉัน สำหรับเช้าที่มีเรื่องขบคิดมากมายในสมอง และนี่ก็ไม่ใช่การสอพลอ  ขอบคุณมากค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ บันทึกนี้มีความรู้ที่น่าสนใจดีทีเดียวค่ะ

รบกวนแก้ไขตัวอักษรให้ตัวใหญ่กว่านี้ ก็จะทำให้อ่านง่ายค่ะ ตัวเล็ก ๆ ทำให้อ่านยากมากค่ะ

 

ขอบคุณสำหรับความเห็นจากทั้งสองท่านครับ โดยบทบาทหน้าที่การงาน ผมเป็นคนป่วนความคิดคนอื่นในองค์กร

ในสังคมที่พอจะรู้แนว-รู้ทาง-รู้นิสัยใจคอกันนั้น ก็เป็นสิ่งที่รับกันได้ เพราะเวลาเราให้แง่คิดนั้น ก็อยากให้เขาคิดเพื่อที่จะได้เข้าใจ -- ผมเชื่อว่าความรู้ความเข้าใจนั้น จับถ่ายใส่สมองไม่ได้ ต้องหาวิธีการช่วยให้เข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง จนนำไปประยุกต์ใช้ได้ ไม่จำเป็นต้องเหมือนกับตำราครับ

เวลามาเขียนบันทึกที่ gotoknow นี้ ต้องยอมรับว่าไม่แน่ใจเหมือนกันว่าผู้อ่านทั่วไป จะรับแนว provocation แบบนี้ได้หรือไม่ แต่เมื่อได้รับความเห็นที่เป็นบวก ก็รู้สึกมีกำลังใจเขียนครับ

สำหรับเรื่องขนาดของตัวอักษรนั้น gotoknow มีปุ่ม อยู่ด้านบนขวาของหน้า เอาไว้ใช้ขยายขนาดตัวหนังสือครับ วิธีนี้ใช้ได้กับทุกบล๊อก-ของทุกคน

ผมชอบมากครับ  น่าทึ่งมากครับ นี่ Peter Drucker เขาเขียนไว้ตั้ง 44 ปีแล้วเหรอครับ มิน่า อเมริกาเขาถึงไปถึงไหนกันแล้ว   style การเขียนของคุณ conductor มีพลังมากครับ 

น่าเสียดายอย่างยิ่งสำหรับชาว G2K ที่ไม่มีโอกาสได้อ่านบทความดีๆ ในบล็อกนี้  เพราะผมเชื่อว่ามีอยู่จำนวนไม่น้อยเลยที่มีสถานะภาพทางการบริหารงานและคน  ผมเลยเกิดความคิดว่าอยากจะเสนออาจารย์จันทวรรณว่าควรจัดแนะนำเรื่องเด่นประจำสัปดาห์ เพื่อสมาชิกจะได้ไม่พลาด blog ดีๆ อย่างนี้ครับ

มีผู้ใหญ่ที่ผมนับถือท่านหนึ่ง กล่าวว่าคุณลักษณะอย่างหนึ่งของปราชญ์ คือความสามารถในการสื่อสารความคิด แม้ผมไม่ใช่ปราชญ์ แต่ก็อ่านผลงานของปราชญ์ทั้งไทยและเทศมามากเหมือนกันครับ คงจะซึมซับเศษเสี้ยวมาได้บ้างตามกำลังสติปัญญาครับ

ทักษะในการสื่อสารความคิด ไม่ใช่สิทธิโดยกำเนิด เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องฝึก แต่การฝึกฝนนี้ กลับไม่สามารถใช้ลักษณะการอบรมได้ ผมเชื่อว่าจำเป็นต้องปฏิบัติครับ เริ่มตั้งแต่การเลือกประเด็นที่ต้องการจะสื่อออกไป การเรียบเรียงความคิดเพื่อเล่าเรื่อง ตลอดจนการเลือกใช้คำศัพท์ ไม่มีใครทำให้เราเป็นคนที่มีค่ามากขึ้นได้ หากเราไม่ได้ต้องการเช่นนั้น

ผมเลือกเขียนเรื่องหนักๆที่ต้องคิด และไม่พยายามฝืนเขียนโดยปราศจากประเด็นที่ต้องการจะสื่อ (ข้อแก้ตัวที่ไม่ได้เขียนบันทึกบ่อยนัก)

ดีใจที่อาจารย์ชอบครับ และจะยินดีเป็นที่สุดหากเรื่องที่เขียน มีผู้นำไปปรับใช้ได้

ขอขอบคุณอาจารย์ Conductor...

  • ขอขอบคุณสำหรับบันทึกที่ทรงคุณค่า และนำไปใช้ได้จริง (practical)

คุณโยม Conductor

เข้ามาอ่าน....

อ่านไปได้ครึ่งหนึ่งก็ระลึกได้ว่าสอดคล้องกับคำวิพากษ์ของนักคิดไทยคนหนึ่ง ทำนองว่างง

ในสังคมไทย เฉพาะสถานศึกษาและวัด ซึ่งเป็นองค์กรเกี่ยวกับความรู้โดยตรง (ไม่จำเป็นต้องอ้างถึงองค์กรอื่น) ถนัดแต่ การบริหารอำนาจ ไม่ใช่ บริหารความรู้...

ผู้เขียนเห็นด้วยกับประเด็นนี้เลย ซึ่งสอดรับกับความเห็นของบันทึกนี้ นั่นคือ เมื่อมีแต่การบริหารอำนาจให้เกิดความสมดุลในองค์กรเพื่อความมั่นคง การมุ่งหวังเพื่อประสิทธิผลในด้านอื่นก็ด้อยไป การประจบสอพลอก็ตามมา...

และการเมืองไทยตอนนี้ อาตมาก็รู้สึกว่า กำลังดำเนินไปทำนองนี้ เช่นเดียวกัน

เจริญพร

 

ขอบคุณอาจารย์วัลลภครับ ผมไม่ได้เป็นอาจารย์โดยสถานะใดๆ แต่คำว่าอาจารย์นี้มีความหมายพิเศษกับผมเสมอมา รู้สึกได้รับเกียรติเป็นอย่างยิ่งเมื่อมีผู้เรียกหาว่าอาจารย์ทั้งที่ตัวไม่ใช่และไม่อยากรับสมอ้างครับ

เป็นอาจารย์มาลินีและอาจารย์มาโนชที่กรุณาช่วยเรียกลูกค้าให้ มีแพลนเน็ตที่รับบล็อกนี้เพิ่มขึ้นมากในช่วงนี้ เรื่องนี้ทำให้เกิดความคุ้มค่าและยั่งยืนยิ่งกว่าจำนวนผู้อ่านบันทึกนี้เสียอีก

กราบนมัสการครับ เรื่องของอำนาจ ผมเห็นด้วยกับวิกิพีเดีย ว่ายิ่งใช้อำนาจ ก็เหมือนยิ่งแสดงให้เห็นว่าไม่มีอำนาจ (ดูตรง "แรงจูงใจใฝ่อำนาจ")

บ้านเมืองเรามีปัญหาหลายอย่าง แต่ปัญหาใหญ่ของสังคมไทยตามความเห็นของผมนั้น คืออาการ sensory deficiency (?อายตนะบกพร่อง?) กล่าวคือ

  1. ฟังแต่ไม่ได้ยิน-มองแต่ไม่เห็น-...-คิดไตร่ตรองแต่ไม่เข้าใจปัญหาที่แท้จริง ไม่กล้าเผชิญหน้ากับปัญหา เกรงใจ กลัวเสียหน้า จึงตั้งคำถามผิด เขียน problem statement ไม่ชัดเจน
  2. การวิเคราะห์วินิจฉัยถึงสาเหตุก็ผิดเพี้ยนไป
  3. เป้าหมายในการแก้ไขปัญหาก็ไม่ตรงประเด็น ไม่รู้ว่าต้องการอะไร จะแก้อะไรให้เป็นอะไร
  4. จะแก้กี่ครั้งกี่ครั้ง ก็เป็นเพียงการบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้า เพราะเพี้ยนมาตั้งแต่ต้นกระบวนการ

ขอคัดส่วนหน้าที่ของอริยสัจ ๔ จากตอนท้ายๆของบทความเรื่อง หัวใจพุทธศาสนา โดยพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต) มาดังนี้ เพื่อเป็นแง่คิดเชิงตรรกะและปรัชญาสำหรับฆราวาสท่านอื่นๆนะครับ

พระพุทธเจ้าตรัสกิจ หรือ หน้าที่ต่ออริยสัจสี่ไว้ครบถ้วนแล้วแต่ละอย่าง ๆ

๑. หน้าที่ต่อทุกข์ คือ " ปริญญา " แปลว่า กำหนดรู้ รู้เท่าทัน จับตัวมันให้ได้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า " ทุกขัง ปริญเญยยัง " ภาษาพระแปลกันว่า " กำหนดรู้ " ทุกข์นั้นเป็นสิ่งที่จะต้องรู้เท่าทัน ปริญเญยยัง เป็นคุณศัพท์ ถ้าใช้เป็นคำนามก็เป็น ปริญญา เป็นชื่อของการสำเร็จการศึกษา ทุกข์นั้นเป็นตัวปัญหา เป็นปรากฏการณ์ ท่านเปรียบเหมือนกับ " โรค " ในทางร่างกายของเรา เมื่อเรามีโรคเราก็จะแก้ไขบำบัดหรือกำจัดโรค แต่พอเอาเข้าจริง เรากำจัดโรคไม่ได้ เราต้องเรียนรู้จักโรค เหมือนหมอจะแก้ไขโรค ต้องกำหนดรู้ให้ได้ว่าเป็นโรคอะไร เป็นที่ไหนตรงไหน และรู้ร่างกายซึ่งเป็นที่ตั้งของโรคด้วย ทำนองเดียวกัน ทุกข์ จึงไม่ใช่เรียนเฉพาะปัญหา แต่เรียนชีวิตซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งปัญหาด้วย ปัญหาเกิดที่ไหน มันเกิดที่ชีวิต หรือ เกิดในโลก เราก็ต้องรู้จักโลก รู้จักชีวิตและดูที่ชีวิต (นามรูป / ขันธ์ ๕ )

๒. หน้าที่ต่อ สมุทัย คือ " ปหานะ " แปลว่า ละ หรือ กำจัด พอรู้โรคว่าเป็นโรคอะไร จับได้แล้ว ต้องสืบหาสาเหตุของโรค ต้องจับให้ได้ เหมือนกับแพทย์ที่วินิจฉัยโรคให้ได้ สืบหาตัวสาเหตุของโรค อาจจะเป็นเชื้อโรค หรือ ความบกพร่องของอวัยวะ ไม่ใช่เชื้อโรคอย่างเดียว เมื่อมีโรคก็ต้องมี สมุฏฐาน หรือ สมุทัย นี่แหละเป็นตัวที่ต้องแก้ไข หรือ กำจัด

๓. หน้าที่ต่อ นิโรธ เรียกว่า " สัจฉิกิริยา " แปลว่า ทำให้ประจักษ์แจ้ง คือ บรรลุถึงนั่นเอง เราต้องมีเป้าหมายว่าเราจะเอาอะไร และทำได้แค่ไหน จุดหมายอะไรที่ต้องการ กำหนดให้ได้และรู้ความเป็นไปได้ในการแก้ไข คนที่ไม่มีความชัดเจนว่าต้องการอะไร มีความเป็นไปได้อย่างไร ก็จะทำอะไรไม่สำเร็จ แพทย์ก็ต้องวางเป้าหมายในการรักษาโรคว่าเป็นไปได้แค่ไหน เอาอะไรเป็นจุดหมายในการรักษา แล้วทำให้ได้ ให้บรรลุจุดหมายนั้น

๔. หน้าที่ต่อ มรรค เรียกว่า " ภาวนา " แปลว่า บำเพ็ญ คือ ปฏิบัติ ลงมือทำ ทำให้เกิด ทำให้มีขึ้น พอวางเป้าหมายเสร็จก็มาถึงขั้นลงมือปฏิบัติ จะผ่าตัดให้ยา และให้คนไข้ปฏิบัติตัวบริหารร่างกายอย่างไร วิธีรักษาทั้งหมดมาอยู่ในข้อ ๔ คือ มรรค เป็นขั้นที่ต้องลงมือทำ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มีรายละเอียดมากมาย

เพราะฉะนั้น อริยสัจสี่ จึงเป็นวิธีการวิทยาศาสตร์ จะใช้ในการสอนก็ได้ ในการรักษาโรคก็ได้ แพทย์ก็ใช้วิธีการนี้

สรุปความว่า พระพุทธศาสนาสอนเรื่องทุกข์ไว้สำหรับปัญญารู้ แต่สอนเรื่องสุขสำหรับให้เรามีชีวิตเป็นจริงอย่างนั้น พูดอย่างสั้นว่า พุทธศาสนาสอนให้รู้ทันทุกข์ และให้การอยู่เป็นสุข หรือให้สั้นกว่านั้นอีกว่า พุทธศาสนาสอนให้เห็นทุกข์ แต่ให้เป็นสุข คือ ทุกข์สำหรับเห็น แต่สุขสำหรับเป็น

เพราะฉะนั้น ต้องมองพระพุทธศาสนาว่าเป็นศาสนาแห่งความสุข ไม่ใช่ศาสนาแห่งความทุกข์

ขอบคุณสำหรับบันทึกดีๆนี้ค่ะ

แวะตาม อ.หมอมาโนช  เข้ามาอ่านค่ะ

 เคยฟัง-อบรมด้านบริหารองค์กรมาเล็กน้อย จึงพอเข้าใจบ้าง แต่อาจจะไม่ลึกซึ้งพอ  กระนั้นก็เหมือนจะมองเห็นอะไรบางอย่าง ที่มันเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ขององค์กร ซึ่งสะท้อนออกมาจากบันทึกเรื่องนี้ เหมือนกับการยืนมองหน้ากระจกเงา 

เป็นปัญหาที่เราสำนึกว่ามันคือปัญหา.. แต่ไม่รู้ว่าปัญหาอยู่ตรงไหน ปัญหาคืออะไร และอะไรคือปัญหา

ดังนั้น.. ปัญหาจึงยังคงอยู่ แล้วมีทีท่าว่า จะลุกลามกว้างออกไป ทั้งนี้เพราะ..เราไม่สามารถจัดการได้ตรงปัญหาเสียที

ของคุณคุณ k-jira ครับ

สติและสัมปชัญญะ เป็นจุดเริ่มต้นของปัญญาครับ

ตามมาอ่านอีกค่ะอาจารย์  บันทึกนี้ตอบโจทย์ตัวเองได้เป็นอย่างดี  ขอบคุณนะค่ะที่แนะนำ ทำให้ราณีได้อ่านบันทึกที่ดี

เข้ามาหาข้อมูล และได้พบบันทึกนี้

ขอบคุณมาก บันทึกที่ดีมากได้ใจความ สั้นและตรงประเด็น และสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท