เดินทางโดยรถไฟ (1)


เป็นการเดินทางโดยรถไฟเป็นครั้งแรกในรอบประมาณเกือบ 20 ปี โดยใช้เวลาเดินทางเกือบ 12 ชั่วโมง...ครับ อ่านไม่ผิดแน่ นั่งรถไฟไปอุดรครั้งนี้ ใช้เวลาเกือบ 12 ชั่วโมง และเป็น 12 ชั่วโมงที่ให้ประสบการณ์อะไรหลายอย่าง ทั้งในด้านบวก และด้านลบที่จะต้องบันทึกเอาไว้

วันที่ 19 มกราคม 2550 ผมมีภาระกิจที่จะต้องไปทำที่จังหวัดอุดรธานี การเดินทางไปในครั้งนี้ ได้ตัดสินใจทดลองเดินทางไปโดยรถไฟ ซึ่งก็นับได้ว่า เป็นการเดินทางโดยรถไฟเป็นครั้งแรกในรอบประมาณเกือบ 20 ปี โดยใช้เวลาเดินทางเกือบ 12 ชั่วโมง...ครับ อ่านไม่ผิดแน่ นั่งรถไฟไปอุดรครั้งนี้ ใช้เวลาเกือบ 12 ชั่วโมง และเป็น 12 ชั่วโมงที่ให้ประสบการณ์อะไรหลายอย่าง ทั้งในด้านบวก และด้านลบที่จะต้องบันทึกเอาไว้

ก่อนอื่นคงต้องบอกไว้ก่อนว่า ตามปกติผมมักจะเลือกเดินทางโดยเครื่องบิน หรือรถประจำทางปรับอากาศ (ในกรณีที่จังหวัดปลายทางไม่มีเครื่องบิน) แต่ทว่า ตั้งแต่สนามบินแห่งชาติของเราย้ายไปอยู่ที่สุวรรณภูมิ ผมก็ต้องพยายามหลีกเลี่ยงการเดินโดยทางอากาศตั้งแต่นั้นมา เหตุผลที่ต้องทำเช่นนี้ ก็เป็นเพราะความไม่สะดวกนานาประการ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่จะต้องเพิ่มขึ้นจากปกติอีกรอบละ (ไป-กลับ) 7-8 ร้อยบาท โดยไม่จำเป็น และทุกวันนี้ ก็กำลังรอคอยด้วยใจจดใจจ่อ ที่จะให้มีการย้ายสายการบินเพื่อสายการบินในประเทศกลับมาสู่สนามบินดอนเมือง

ดังที่เกรินไว้แล้วว่า การเดินทางโดยรถไฟเป็นครั้งแรกในรอบประมาณ 20 ปี โดยใช้เวลาเกือบ 12 ชั่วโมง บนรถดีเซลรางชั้น 2 นั่งปรับอากาศ กับรถด่วน ขนวน 75 (เที่ยวกลางวัน) จาก กรุงเทพถึงอุดรธานี ในครั้งนี้ ให้ประสบการณ์หลายอย่างที่ต้องบันทึกเอาไว้...

ประการแรก ผมอยากจะมอบ รางวัลยอดเยี่ยมในด้านการอนุรักษ์วิถีชีวิต และความเป็นอยู่ของไทยแบบดั่งเดิม ให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย...ทำไมหรือครับ ก็เพราะว่า ตลอดระยะเวลเกือบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา (เท่าที่ผมสัมผัสได้ด้วยตนเอง) การรถไฟมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก ผมเป็นคนใต้ ตอนผมเรียนอยู่ชั้นมัธยมต้น คุณพ่อ-คุณแม่ส่งให้ลูกๆ มาเข้าโรงเรียนประจำที่กรุงเทพ และทุกๆ เปิด-ปิดภาคเรียน (ปีละ 6 ครั้ง เป็นอย่างน้อย) เราก็จะนั่งรถไฟมาเข้าโรงเรียน และกลับบ้าน สมัยก่อน แม้ไม่มีตู้นอนปรับอากาศ แต่การบริการหลายอย่างทำได้ดีกว่านี้มาก ตู้รถไฟค่อนข้างสะอาด...ครับ ผมใช้คำว่า "ค่อนข้าง" ซึ่งหมายความว่า คงจะไม่สะอาดหมดจด แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่พอรับได้ แต่ทุกวันนี้ ตู้รถไฟเก่าและสกปรก ทรุดโทรม เหมือนขาดการดูแลเอาใจใส่ ก็อาจเป็นการอนุรักษ์ขั้นที่หนึ่งที่จะได้รางวัลไง...ผมคิดเช่นนั้น พอเข้าห้องน้ำในตู้รถไฟ โอโฮ! ทุกอย่างยิ่งถูกอนุรักษ์ไว้ได้เป็นอย่างดีอีก เพราะยังเป็นห้องน้ำที่เก่าแบบเดิมที่ผมเคยคุ้นเคย โถนั่งส้วมยังคงเป็นแบบยองตามวิถีไทย และที่แน่นอนกว่านั้น การรถไฟฯ ยังคงให้ผู้โดยสารปล่อยสิ่งปฏิกูลทุกชนิดลงสู่รางรถไฟ โดยไม่สนใจแยแสถึงสุขอนามัยใดๆทั้งสิ้น...เหมือนดังเช่นตู้รถไฟในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่พระองค์ทรงพระราชทานการรถไฟเป็นครั้งแรก...ถ้าไม่เรียกว่า ยอดนักอนุรักษ์ จะให้เรียกว่าอะไร

มองไปนอกรถบ้างจะดีไหม เพื่อความสบายใจ ครับ...สภาพ 2 ข้างทางยังคงเป็นภาพชนบทไทยแบบดั่งเดิม มองดูแล้วสบายใจ และการรถไฟฯ ก็คงไปเปลี่ยนอะไรเหล่านี้ไม่ได้ แต่พอรถไฟเข้าสถานี บรรยากาศเก่าๆ ก็กลับมาได้รับการเน้นย้ำมากขึ้นอีกครั้ง ภาพสถานีรถไฟเล็กๆ แบบเดิมๆ กับวิถีชีวิตไทยแบบเดิมๆ ของคนในสถานี ช่างเป็นบรรยากาศที่สะท้อนความเป็นเอกลักษณ์ไทยได้เป็นอย่างดี ยังมองเห็นชาวบ้านหิ้วกล่องกระดาษซึ่งบรรจุสัมภาระของตนขึ้น-ลงรถไฟ พ่อค้า-แม่ค้า นำอาหาร และน้ำ ใส่ถุง ใส่กล่อง (ที่พัฒนาแล้ว คือ ใช้กล่องโฟม และถุงพลาสติก) เดินร้องขายไป-มา ทำให้นึกถึงบรรยากาศแบบเดิมๆ ของสถานีรถไฟได้เป็นอย่างดี และเมื่อถึงเวลารถไฟออก นายสถานีในชุดสีกากีแบบเดิมก็จะเดินไปตีระฆัง และถือธงเขียว ธงแดงโบก เหมือนเดิมทุกประการ ทำให้นึกถามตัวเอง การรถไฟฯ ยังคงใช้การตีระฆังและให้คนถือธงเขียว ธงแดงอยู่เหมือนเดิมอีกหรือ นี่เป็นภาพในอดีตที่การรถไฟฯ ต้องการอนุรักษ์ไว้ หรืออย่างไร เพราะภาพแบบนี้ ในต่างประเทศไม่มีให้ได้เห็นอีกแล้ว ยกเว้น เป็นการอนุรักษ์เพื่อการท่องเที่ยวเท่านั้น

อยากจะสรุปว่า ในด้านการอนุรักษ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย ทำได้ยอดเยี่ยมจริงๆ และที่กล่าวมาก็เป็นเพียงส่วนน้อยของการอนุรักษ์ในกิจการของการรถไฟแห่งประเทศไทยเท่านั้น แต่หากมองด้วยมุมมองสมัยใหม่ คงต้องมีคำถามให้คณะผู้บริหารของการรถไฟฯ ว่า แล้วอย่างนี้ ท่านจะไปแข่งขันทางธุรกิจกับใครได้ การรถไฟฯ ไม่พยายามพัฒนา หรือเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างเลยหรือ รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานกิจการรถไฟให้คนไทยไว้อย่างไร พวกท่านก็จะอนุรักษ์กิจการไปตามสภาพเดิมดังเช่นที่ได้รับพระราชทานมาเท่านั้นหรือ ความกว้างของรางรถไฟยังคงเท่าเดิม ระบบรางยังคงเหมือนเดิมและเป็นอุปสรรคต่อการเดินรถ ท่านก็ไม่มีนโยบายปรับปรุง ปรับแก้อะไรเลยหรือ

ประสบการณ์นี้ ทำให้นึกถึงมหาวิทยาลัยของไทยบางแห่ง ที่พยายามอนุรักษ์ชื่อเสียงของตนไว้ (โดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) โดยไม่พยายามปรับตัวให้เข้ากับสังคมการแข่งขัน ในไม่ช้าเมื่อบุญเก่าหมด ก็คงเป็นเหมือนเช่นการรถไฟแห่งประเทศไทย เรื่องนี้จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยยิ่งนัก

นี่เป็นเพียงประสบการณ์แรกเท่านั้น ผมยังมีประสบการณ์อื่นๆ อีกบางรายการที่จะต้องบันทึกไว้ จากการเดินทางในครั้งนี้ หากใครสนใจ รอติดตามได้ต่อไป...

หมายเลขบันทึก: 73904เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2007 11:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 01:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท