คนดีคนเก่งเมืองพิจิตร:ลุงหวาน แต้มทอง


“...ทุกวันนี้มีความสุข และพอเพียงแล้ว แต่ทำไมพ่อถึงต้องทำ ทำเพื่อนำลูก ถ้าเกิดสมมุติว่าพ่อไม่สร้างโครงฐานไว้เช่นนี้ ทำนามันก็ทำทั้งปีทั้งชาติอยู่นั่นแหล่ะ มันไม่ใช่ว่าทำไม่ได้นะ มันทำได้ ถ้าหัวพาไป มีปัญญาของตัวเอง หาคนแนะนำ คนเราอยู่ได้จะต้องมีสมอง...”

ลุงหวาน แต้มทอง: พื้นที่สวนผสม 122 ไร่ อาณาจักรสร้างงาน ทำอยู่ทำกิน ให้กับลูกหลานพึ่งตนเองได้อย่างมีศักดิ์ศรี 

บนเนื้อที่กว่า 122 ไร่ แน่นอนใครๆ ก็ต่างมองว่า การใช้ประโยชน์ในหนทางของเกษตรกรรมจะต้องดำเนินไปในวิถีทุนนิยม คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้สามารถผลิตได้มากๆขายให้ได้กำไรเยอะๆ  เพื่อให้ได้เงินมาซื้อ ความสุขโอกาสเช่นนี้มีความเป็นไปได้สูง หากสามารถบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การผลิตสู่การตลาด หากทำไม่ได้ก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกันที่จะสูญเสียอย่างหนัก นั่นคือ เจ๊ง!!! แล้วก็เป็นหนี้ท่วมหัว จำต้องแลกความล้มเหลวที่เกิดขึ้นด้วยต้นทุนที่มีอยู่ อย่าง ที่ดิน  บ้าน ทรัพย์สินเงินทอง ถ้าไม่มีทางออกอื่นที่ดีไปกว่านี้ก็จำต้อง ส่งลูกหลานญาติพี่น้อง ไปประกอบอาชีพอื่น เพื่อนำเงินมาใช้หนี้   ลุงหวาน  แต้มทอง เกษตรกรแห่งบ้านเกษตรพัฒนา ต.ทุ่งใหญ่ อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร ปฏิเสธหนทางเดินเช่นนั้นอย่างเต็มอก และภูมิใจ

                ...ทุกวันนี้มีความสุข และพอเพียงแล้ว แต่ทำไมพ่อถึงต้องทำ ทำเพื่อนำลูก ถ้าเกิดสมมุติว่าพ่อไม่สร้างโครงฐานไว้เช่นนี้ ทำนามันก็ทำทั้งปีทั้งชาติอยู่นั่นแหล่ะ มันไม่ใช่ว่าทำไม่ได้นะ มันทำได้ ถ้าหัวพาไป มีปัญญาของตัวเอง หาคนแนะนำ คนเราอยู่ได้จะต้องมีสมอง... 

  

ด้วยความมุ่งมั่นของ ลุงหวาน แต้มทอง พื้นที่ 122 ไร่ ที่ซื้อไว้ในราคาไร่ละ 100 บาท ช่วง 40 กว่าปีที่แล้ว เต็มไปได้ป่าทึบ รก ที่ลุ่มน้ำก็ท่วม แทบไม่มีราคา ลุงหวาน  มีแนวคิดที่จะแปลงพื้นที่แห่งนี้สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ด้วยการทำนาเต็มพื้นที่  เพราะหลังจากทนอยู่กับปัญหาน้ำท่วมที่อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นบ้านเกิดไม่ไหว จึงระเห็จระเหินมาอยู่ที่พิจิตร ด้วยคำชักจูงของคุณน้า ที่มาตั้งหลักปักฐานอยู่ก่อนหน้า  ช่วงแรกๆที่มาอยู่นั้นคุณน้า ให้อุปกรณ์ทำอยู่ทำกิน ไม่กี่อย่าง เช่น เตา มีด 2 เล่ม อีหวด 2 เล่ม จัดการฟันป่า ตกแต่งให้มีรูปร่างพอที่จะมีพื้นที่ว่างพอทำกิน ระยะเวลาถึง 3 ปี กว่าจะเห็นเป็นรูปร่าง      พออายุได้ 21 ปี หลังจากคัดเลือกทหารแล้วก็ได้แต่งงานกับคนพิจิตร  มีลูกที่เป็นดวงใจอยู่ 5 คน  ใช้ชีวิตร่วมกันด้วยอาชีพทำนา  และปรับเปลี่ยนมาทำสวนผสมผสาน ในปี 2548 ด้วยเหตุผลไม่มีอะไรดีขึ้นถ้าทำนาอย่างเดียว

...ช่วงนั้นทำนาได้ข้าว 4 เกวียนๆละ 500 บาท แล้วผมก็มาปลูกส้มโอ เกิดปัญหาเรื่องน้ำไม่มี    ต้องเดินไปหาบมารดส้ม  โดยอาศัยช่วงพาควายไปกินน้ำแล้วก็หาบน้ำกลับมาด้วยทำเช่นนี้ทุกวัน   ไปได้แนวคิดการปลูกส้มท่าข่อยมาจากพ่อตา ก็บอกไอ้ทิด ปลูกสวนเถอะดีกว่าทำนานะ  ผมก็มาปรับสภาพจนเป็นสวนผสม... 

...ผมไปกู้ ธกส. มา 3 แสนบาท บวกกับเงินตัวเอง 2 แสนบาท รวมเป็น 5 แสนบาท เพื่อเป็นต้นทุน   ช่วงนั้นคุณโกมิน เป็นหัวหน้าเกษตรฯ มาแนะนำให้ขุดบ่อรอบนา เค้าบอกถ้าทำไม่ได้แล้วจะทำอย่างไร?  ไม่มีปัญหาเพราะคิดแล้วว่าจะเอามาลงทุนปลูกต้นไม้  ทำนาในร่องนั้นแหล่ะ พอปีที่  5 ส่งเค้าได้หมดนะ ปลดหนี้ได้จากส้มโอเป็นหลัก...  

                 

                                 ลุงหวาน กับลูกชาย

หลังจากคิดว่าตัวเองเดินมาถูกทางแล้ว ก็เลยพยายามชักจูงลูกๆเดินตามรอย โดยมีปัจจัยเอื้อหลายๆอย่างในช่วงนั้นทำให้เชื่อมั่นอย่างสูงว่านี่คือทางออก  ไม่ว่าจะเป็น ค่าครองชีพไม่สูง น้ำมันไม่แพง ราคาปุ๋ยเคมีก็พอสู้ไหว ผลผลิตสูงได้ราคาดี ...ผมบอกลูกว่ามึงร่วมกันทำซิ   ทำนาเสมอตัว  ทำนากู้เค้า แปดพันหรือหมื่นบาท พอขายข้าวได้ก็ไปใช้เค้าก็เสมอตัว พอมาเป็นสวนเหลือปีละ 2-3 หมื่น ...

...ผมไม่ให้ลูกไปกรุงเทพเลย ผมบอกลูกว่าพ่อทำ ทำเพื่อลูกถ้ามึงไม่ทำแล้วพ่อจะทำอย่างไร ถ้าไปกรุงเทพฯกูขาย!!! ที่100 กว่าไร่แน่นอน การสอนลูกนั้นลูกทุกคนไม่ดื้อ พูดคำเดียวเชื่อฟัง การสอนลูกนั้นพ่อเป็นตัวอย่างที่ดีเพื่อลูกทุกคน  เพื่ออนาคตของลูก..."

          

             น้ำปลาหมักไว้กินเองสำหรับปรุงอาหาร

ดูเหมือนว่าลูกๆ แต่ละคนจะว่านอนสอนง่ายกันทุกๆคน ปักหลักทำอยู่ทำกินอยู่กับพ่อด้วยความเต็มใจ พอมีเงินเหลือเก็บแต่ละคนก็สร้างบ้านแยกครอบครัว แต่ยังคงอยู่ในบริเวณพื้นที่ 122 ไร่ ละแวกใกล้เคียงกัน 3 หลัง ลุงหวาน แบ่งให้คนละ 23 ไร่ โดยไม่รอให้มาวุ่นวายถ้าพ่อไม่อยู่ หนำซ้ำยังเกิดความแตกแยกในครอบครัวญาติพี่น้องอีก การเรียนรู้ของลุงหวานยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ แม้จะเริ่มรู้สึกอิ่มตัวบ้างแล้วก็ตามกับความสำเร็จที่ผ่านมา ภาระเรื่องลูกก็เผลาๆลงบ้างแล้ว  ด้วยความรู้สึกว่านี่ยังไม่เพียงพอหรอก อีกอย่างมีจังหวะของหน่วยงานต่างๆเข้ามาส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับเกษตรกร ลุงหวาน ก็สนใจที่จะเรียนรู้ด้วย เพื่อนำมาปรับใช้ในพื้นที่ตัวเองให้เห็นรูปธรรม ตั้งแต่เรื่องแนวคิดการพึ่งตนเองและพึ่งพากันเอง หลังจากที่มาเรียน วปอ.ภาคประชาชนรุ่นที่ 5 (วิทยากรกระบวนการเปลี่ยนแปลงสู่การพึ่งตนเองและพึ่งพากันเอง) โดยชมรมเกษตรธรรมชาติและอาหารปลอดสารพิษจังหวัดพิจิตร    แนวคิดการรวมกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามกลุ่มจึงเกิดขึ้น  เหมือนเปิดกะลาที่ถูกครอบไว้ ทำให้ได้เห็นโลกการทำเกษตรที่กว้างขึ้น ได้ความรู้จากพื้นที่นั้น กลุ่มนี้ นำมาใช้ในพื้นที่ตัวเอง 

...คุณนัท กับคุณแมว เป็นคนชวนไปเรียน  รวมถึงตาเชียร (ตาเชียรเค้าเรียน วปอ . มาก่อนคุณนัท ก็มานัดให้ไปเรียน)  ชวนไปก็ไม่ได้คิดอะไร พอผมได้ไปเรียน  วปอ. มา 5 วัน4 คืน แล้วกลับมาเล่าให้คนนั้นคนนี้ฟัง ว่าทำอย่างนี้ดีนะ  ว่าแล้วก็มารวมกลุ่มได้ 25 คน ลงหุ้นคนละ 200บาท แล้วก็ไปซื้ออุปกรณ์ มาทำน้ำหมักชีวภาพทดแทนสารเคมี  ทางคุณนัทก็มีถังให้ มีกากน้ำตาลให้...    

...ตอนนี้ก็ทำใช้แล้วในสวนส้ม  สวนลำไย รองลงมาก็มะนาว การปลูกการทำสวนต้องมีใจรักต้องคลุกคลีกับมัน บางทีทำถึงเที่ยงคืนทำคนเดียว มีปัญหาแมลงแดงคล้ายมดคันไฟ แก้อย่างไรสมัยก่อนก็ปลูกใหม่หรือหาทางออกจนให้แน่ใจก่อนตัดสินใจ วางแผนให้ดี...

 

 

                    แปลงนาในร่องมะนาว และเลี้ยงกบข้างๆแปลงนาด้วย

ลุงหวานสนใจการปลูกผักปลอดสารพิษ  หลังจากได้ไปอบรมที่ ต. ดงเสือเหลืองของกลุ่ม ผู้ใหญ่ดำ  เรียนจบแล้ว ก็มาทำร่วมกับกลุ่ม ครั้งแรก มีสมาชิก 4 คน(เฉพาะทำผัก)  ก็ยังไม่ได้ผล เท่าที่ควร มีปัญหาเกี่ยวกับการตลาด  จากนั้น ได้มีโครงการ โรงเรียนเกษตรกรผัก ในพระราชดำริ ปี 2547 ของสำนักงานเกษตรอำเภอโพธิ์ประทับช้าง เปิดอบรมและได้ทำแปลงสาธิตบ้านลุงหวานจนจบหลักสูตร ส่วนเรื่องการตลาดได้มีเจ้าหน้าที่ ของ มูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร โดยคุณแมว จำรัส เสือดี เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษาแนะนำ และหางบมาสนับสุนนในการเปิดตลาดปลอดสารพิษ   ในท้องถิ่น เมื่อวันที่ 24 ส.ค 47 ที่ผ่านมาได้มีกระแสตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี จวบจนทุกวันนี้            ตอนนี้จะเห็นได้ว่าปัญหาของกลุ่มเกษตรพัฒนา ของลุงหวานไม่ได้มีปัญหาทางการตลาดอีกแล้ว แต่กลับเป็นปัญหาการผลิต คือ ผลิตไม่ทัน ไม่มียานพาหนะขนส่ง  ตอนนี้มีเท่าไรก็ขายได้หมด ลูกค้าเริ่มรู้จัก และเชื่อมั่นว่าปลอดสารจริง

                 

                                          กลุ่มลุงหวานร่วมพูดคุยเยี่ยมชมพื้นที่สวน

การผลิตเองขายเอง ลูกค้าบางคนก็ค่อยเชื่อเท่าไร เพื่อความแน่ใจจึงอธิบายว่าผ่านการตรวจและรับรองจากสาธารณสุขอำเภอโพธิ์ประทับช้างแล้ว ช่วงหลังทางกลุ่มขายผักดี ผักก็สวย ลูกค้าอยากเห็นกับตาก็ตามมาดูที่สวนที่แปลงผักเลย  ทีนี้มาซื้อที่บ้านบ้างแล้วก็มี               

  ...ในปัจจุบันในกลุ่มผม มีคนอยากปลูกเพิ่มแต่ขาดยานพาหนะผมทำเรื่องไปขอ อบต. แต่ อบต. ก็บอกว่าเงินหมด กลุ่มผมที่มองเป็นฐานเรียนรู้(แปลงสาธิต) มี 3 แปลง  คนในกลุ่มเนี่ยเค้าจะทำมากๆไม่ได้ สมาชิก 25  คนแต่ละคนปลูกกันอย่างละ 2 –3 งานปลูกหลากหลาย คะน้า กวางตุ้ง กะหล่ำดอก อาทิตย์หนึ่งออกไปขาย 2 ครั้ง2 วัน ไปขายตลาดนัด เราขาดยานพาหนะ ทุกวันนี้จึงแก้ไขปัญหาด้วยการ เน้นขายในหมู่บ้านเป็นหลัก ไม่ต้องขนส่งไปไกล แต่ถ้าได้ยานพาหนะ ก็จะช่วยทางกลุ่มได้มาก...               

...พวกเราคิดว่าเราทำผักกินกันเองมันไม่ใช้สารเคมี เราจะรู้ได้ไม่ต้องไปซื้อตลาด สุขภาพดีขึ้น  ปลูกเล็กๆน้อยๆมันก็ได้กินแล้ว กิจกรรมของกลุ่มยังดำเนินต่อไปอยู่โดยประชุมกันทุกเดือนกำหนดให้เป็นวันที่ 5 ของเดือน...               

                          

                  กองปุ๋ยชีวภาพและเตาเผาถ่าน 

นับจากปี 2538 ที่ลุงหวาน ปรับเปลี่ยนการทำนาอย่างเดียว มาทำสวนผักผลไม้ จากการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องทำให้ผลผลิตมากมายไม่ว่าจะเป็น ส้มโอ ลำไย ขนุน มะนาว มะพร้าว กล้วย ฯลฯ   บ่อปลา นาข้าว  ได้ออกดอกออกผล ให้ลุงหวานได้เก็บเกี่ยว ตัดขาย สร้างรายได้มากมาย รายจ่ายที่เป็นปัญหาอยู่ อย่างปุ๋ยชีวภาพก็หมักใช้เอง  มีเตาเผ่าถ่าน ได้ถ่านเป็นเชื้อเพลิง ได้น้ำส้มควันไม้สารพัดประโยชน์มาใช้ด้วย ด้านการแปรรูป ภรรยาลุงหวาน ได้ทำมะนาวดอง ปลาร้า น้ำปลา ผักกาดดอง ไว้เก็บกินด้วย แทบมองไม่เห็นรอยรั่วของการใช้จ่ายเลยก็ว่าได้        

           ปัจจุบัน(พ.ศ.2550) ลุงหวาน มีหนี้อยู่เกือบ 2 ล้านบาท อันเป็นผลพวงจากการซื้อรถยนต์ให้ลูก 3 คนๆละ 1 คน  เพื่อเอาไว้ค้าขาย ที่ใช้ชื่อตัวลุงหวานในการซื้อขายก็เนื่องจากลูกๆให้เหตุผลว่ามันยุ่งยาก อีกอย่างลุงหวานมีเครดิตดี (เค้าคงประเมินถึงศักยภาพในการผ่อนส่งด้วย)  จุดนี้ไม่ได้ทำให้ลุงหวานตกใจแม้แต่น้อย เพราะด้วยผลผลิตที่กำลังออกดอกออกผล ได้สร้างความมั่นใจว่าอีกไม่เกิน 6 7 ปี หมดหนี้สินแน่นอน อาหารการกินต่างๆก็แทบจะไม่ต้องซื้ออะไรเลย ข้าวก็ปลูกไว้กินเพียงพอกับพื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน ไม่นับกับที่ปลูกในท้องร่องด้วยก็เหลือกินเหลือขาย  มีบ่อปลา บ่อกบ ผักผลไม้เพียบพร้อม  

                         การได้รวมกลุ่ม และไปประชุมเรียนรู้ในระดับอำเภอโพธิ์ประทับช้าง ทำให้ได้ความรู้ใหม่ๆ นำไปบอกต่อลูกกลุ่มสมาชิก ลุงหวาน เป็นคนที่ต้องลงมือปฏิบัติก่อนให้เห็นผลถึงจะบอกให้สมาชิกทำตาม รวมไปถึงลูกๆด้วย                

บนพื้นที่ 122 ไร่ที่ตอนแรกคิดจะขายหากไม่มีลูกหลานมารับช่วงต่อ นั้นลุงหวาน แน่ใจแล้วว่าผืนดินแห่งนี้จะยังคงอยู่ให้สืบต่อ และเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ให้กับเกษตรกรคนอื่นๆที่ยังเดินอยู่บนเส้นทางความเสี่ยงในเกษตรเชิงเดี่ยว ให้หันกลับมาทบทวนตัวเอง รู้ว่าตัวเองมีศักยภาพแค่ไหน ตัวเองเป็นใคร ไม่ใช่เชื่อแต่คำโฆษณาต่างๆ ใครชักจูงไปทางไหนก็ไป ทำอย่างนี้ก็มีแต่ หนี้ เป็นทุกข์ ไม่รู้จักความสุขที่แท้จริงเลย  

 

หมายเลขบันทึก: 73894เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2007 10:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • คนดีที่ได้ถูกเปิดเผยแล้ว
  • ขอบคุณแทนลุงหวานด้วยนะคะ

เป็นแนวคิด และแนวทางที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงเลยนะคะ

  • ขอบคุณครับที่นำเรื่องราวดี ๆ คนดี ๆ มาบันทึกและแบ่งปันสู่การเรียนรู้
  • ครั้งนึงพ่อผมขายสวนยางพารา 14 ไร่ให้กับเจ็กในตัวเมืองกาฬสินธุ์  เพียงเพราะลูกชายไปทำงานกรุงเทพ  ไม่มีคนทำไร่ทำสวน
  • ท่านบอกว่า  เก็บไว้ก็ไม่มีใครทำ...ขายไปเพื่อเปลื้องภาระหนี้สิน เพื่อมิให้เป็นภาระของลุกหลาน
  • ถึงวันนี้ผมเสียดายมาก...แต่ก็ไม่เคยโกรธพ่อ และไม่โกรธพี่ชาย
  • ทุกวันนี้พี่ชายเรียนรู้แล้วว่า พอเพียง และเพียงพอที่จะดำเนินชีวิตเป็นเช่นไร
  • เราไม่มีโอกาสได้สวนพารานั้นกลับคืนมาอย่างแน่นอน....บ่อยครั้งแอบไปซุ่ม ๆ มอง ๆ  อิ่มใจและสะท้อนใจระคนกัน

ยอดเยี่ยมจริงๆค่ะ  ถ้าคนส่วนใหญ่คิดได้แบบนี้ประเทศชาติรอดแน่ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท