โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากร จ.ชุมพร (๓)


ใช้หลัก “๓ พอ”

วันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๕๐

เราเริ่มประชุมเวลา ๐๙.๐๐ น. ช่วงเช้าเป็นเรื่องของการออกกำลังกาย ซึ่งรับผิดชอบโดย รศ.สมนึก กุลสถิตพร และคุณยุพา งามไพรเนตร ไพรงามเนตร จากคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มด้วยการให้ผู้เข้าประชุมออกกำลังกายตาม VCD มีคุณยุพาช่วยนำ ใช้เวลาประมาณ ๑๐ นาที แล้วให้ประเมินตนเองว่าเป็นอย่างไรบ้าง (หัวใจเต้นเร็วขึ้น หายใจเร็วขึ้น) พร้อมกับเฉลยว่าท่าที่ให้ออกกำลังกายสักครู่นั้น เป็นการออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ

 

 เริ่มต้นด้วยการออกกำลังกาย ๑๐ นาที

ต่อจากนั้นให้กระดาษคนละแผ่น ให้ทุกคนเขียนปัญหาหรือคำถามเกี่ยวกับการออกกำลังกาย อาจเป็นเรื่องของตนเองหรือของผู้ป่วยก็ได้ เอาปัญหาที่เด่นๆ คนละ ๓ ข้อ เมื่อได้ปัญหาของตนเองแล้วก็เข้ากลุ่ม ช่วยกันจัดกลุ่มปัญหาแล้วเลือกคำถามสุดยอดที่คิดว่าอยากจะแก้ให้ได้ กลุ่มละ ๓ ข้อ ปรากฏว่าบางกลุ่มก็มีคำถามมากกว่า ๓ ข้อ อาจารย์สมนึกอ่านปัญหาแล้วพยายามสอนให้ครอบคลุมตามคำถามที่มี

 

 เข้ากลุ่มช่วยกันเลือกคำถามสำคัญ

คำถามยอดฮิตที่เวทีไหนก็จะมีคนถามเสมอว่า ทำงาน..............เป็นการออกกำลังกายหรือไม่


คำตอบคือให้พิจารณาโดยใช้หลัก “๓ พอ”
 
พอ ที่ ๑ : หนักพอ ดูจากอะไร ตามทฤษฎีให้ดูว่าร่างกายเอาออกซิเจนไปใช้มากน้อยแค่ไหน แต่เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ ใช้ได้แต่ในห้องปฏิบัติการ การวัด VO2 ดีที่สุด บังเอิญสิ่งนี้ไปสัมพันธ์อย่างมากกับอัตราการเต้นของหัวใจ/ชีพจรและแปรผันตรง จับชีพจรแล้วไปเทียบในตาราง แต่ชาวบ้านเอาไปใช้ได้ยาก บังเอิญหัวใจเต้นเร็วไปสัมพันธ์กับการแสดงออกของร่างกายคือความเหนื่อย ดังนั้นวิธีการประเมินความหนักของการออกกำลังกายให้ถามว่าขณะออกกำลังกายรู้สึกอย่างไร ใช้ RPE (ถ้าจดไม่ผิด) Scale 6-20 โดย 6 = ไม่เหนื่อยเลย 20 = เหนื่อยแทบขาดใจ เอาแค่ 12-13 ก็พอ ถ้าทำแล้วรู้สึกเหนื่อย ๑๒-๑๓ ก็พอแล้ว หรือใช้ Rating : ไม่เหนื่อยเลย เริ่มเหนื่อย ค่อนข้างเหนื่อย เหนื่อย เหนื่อยมาก เอาแค่ค่อนข้างเหนื่อยก็พอ

พอ ที่ ๒ : นานพอไหม ควร ๒๐-๖๐ นาที

พอ ที่ ๓ : สม่ำเสมอ ถี่พอไหม ถ้าเป็นเบาหวานต้องดูเรื่องพลังงานด้วย

กิจกรรมอะไรก็ตาม ถ้าเข้าข่าย ๓ พอ ก็เป็นการออกกำลังกาย

 รศ.สมนึก กุลสถิตพร

  <p>นอกจากนี้อาจารย์สมนึกยังใช้ Transtheoretical Model มาให้ผู้เข้าประชุมมาพิจารณาความพร้อมในการออกกำลังกายของตนเอง เมื่อถามว่าใครมีความตั้งใจจะไปออกกำลังกายเร็วๆ นี้บ้าง มีคนยกมือไม่กี่คน เพื่อจะบอกให้รู้ว่าการที่จะช่วยให้ผู้ป่วยหรือประชาชนออกกำลังกายได้นั้น เขาต้องพร้อมก่อน ถ้ายังไม่มีความพร้อมก็จะคุยกันไม่รู้เรื่อง กลับไปก็จะไม่ทำ ถ้ายังไม่มีความตั้งใจ อย่าไปบังคับ ต้องเปลี่ยนใจเขาก่อน พอเขามีความตั้งใจจะง่าย เพราะเขาจะแสวงหาความรู้แสวงหาสถานที่ คนที่บอกว่าตั้งใจมานานแล้ว แต่ไม่ได้เริ่มสักที ต้องหาวิธีการหลอกล่อ คนที่ออกกำลังกายอยู่แล้ว สามารถสอนเชิงลึกได้เลย</p><p>วัลลา ตันตโยทัย</p><p> </p>

หมายเลขบันทึก: 73863เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2007 08:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 20:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
รศ. สมนึก กุลสถิตพร

เคยเข้ามาอ่าน blog ของอาจารย์วัลลาหลายครั้ง รู้สึกเป็นเวทีที่ดีมาก แต่ยังไม่มีโอกาสได้เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น คราวนี้มีโอกาสดี ขออนุญาตใช้สิทธิถูกพาดพิง แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมดังนี้ครับ

1. ประเด็นเรื่องของ 3 พอ นั้น อาจใช้เป็นแนวทางกว้างๆ ในการพิจารณากิจกรรมทางกายต่างๆ ว่าเข้าข่ายเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิกหรือไม่ (เป็นการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับผู้เป็นเบาหวาน) ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้ว อาจมีแนวทางการให้คำแนะนำเพิ่มเติมดังนี้ครับ

- หากกิจกรรมนั้นๆ ไม่เข้าข่ายครบทั้ง 3 พอ เราอาจปรับเปลี่ยนลักษณะการทำกิจกรรมนั้นๆ ให้เข้าข่ายได้ เช่น การขุดดินนั้น หากไม่เข้าข่ายในเรื่องของนานพอ อาจแนะนำให้ผู้เป็นเบาหวานขุดดินที่ความหนักน้อยลงเล็กน้อย แต่ใช้เวลาในการขุดนานขึ้น อย่างน้อยให้ได้ 10 นาที ทำซ้ำหลายๆ ครั้งใน 1 วัน หรืออาจทำกิจกรรมขุดดินที่เข้าข่าย 3 พอ 10 นาที และหากิจกรรมอื่นๆ ทำเพิ่มเติมอีก เช่น ไถนา หรือ ดำนา ที่เข้าข่าย 3 พอ ก็จะเป็นการทำให้ผู้เป็นเบาหวานได้ทำงานพร้อมๆ ไปกับการออกกำลังกายไปในตัวได้ครับ

- หากกิจกรรมนั้นๆ เข้าข่าย 3 พอ แล้ว เราควรแนะนำให้ไปออกกำลังกายอย่างอื่นเพิ่มเติมบ้าง เช่น แนะนำให้ไปเดินเร็ว (สำหรับผู้ที่ไม่มีปัญหาเรื่องข้อเข่าเสื่อม) หรือแนะนำให้ทำกายบริหารท่าง่ายๆ เพื่อยืดเหยียดกล้ามเนื้อ หรือเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อบ้าง จะทำให้ผู้เป็นเบาหวานมีสุขภาพร่างกายในภาพรวมดีขึ้น เนื่องจากประโยชน์ของการออกกำลังกายนั้น ค่อนข้างจะเฉพาะเจาะจง เช่น ถ้าเราออกกำลังกายแบบแอโรบิก จะทำให้ความดื้อต่ออินซูลินของร่างกายลดลง หัวใจและปอดทำงานดีขึ้น แต่ไม่ทำให้กล้ามเนื้อมีความอ่อนตัว และแข็งแรงมากขึ้น เป็นต้น

2. เรื่องของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนั้น เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และทำได้ค่อนข้างยาก คงไม่สามารถให้รายละเอียดเพิ่มเติมได้ในขณะนี้ หากมีข้อสงสัยประการใด ลองแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันดูครับ หากผมสามารถแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ได้ จะเข้ามาแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมครับ

และสุดท้ายผู้ช่วยของผม เธอชื่อ คุณยุพา ไพรงามเนตร ครับ

ขอบคุณอาจารย์สมนึกที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมและขอโทษน้องต่าย (คุณยุพา) ที่เขียนนามสกุลผิด แก้ให้แล้วค่ะ

สวัสดีค่ะ

ดิฉันเป็นนักศึกษา ปโท มหาวิทยาลัย ขอนแก่น กำลังสนใจศึกษา การนำTranstheoretical model มาใช้ในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในผู้สูงอายุ โรคเบาหวาน เนื่องจากการหาหลักฐานเชิงประจักษ์แล้ว ออกมาแล้วเป็น การให้โปรแกรมการให้คำปรึกษาโดยใช้ TRans เพื่อส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกาย แต่ตอนนี้ยังลอยเท้งเต้งค่ะไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร เพราะเอกสารภาษาไทย หาอ่านลำบาก จึงขอความอนุเคราะห์ผ่าน รศ สมนึก กุลสถิพร ค่ะ เพื่อจะได้กระจ่างและสามารถนำมาใช้ได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท