ชีวิตที่พอเพียง : 201. เรียนรู้จากหนัง "เด็กโต๋"


         วันที่ ๓ มค. ๕๐ คุณทวีสิน ฉัตรเฉลิมวิทย์ แห่งปูนซีเม็นต์แก่งคอย เอาแผ่น ดีวีดี หนังเรื่อง "เด็กโต๋" มาสวัสดีปีใหม่     ตกเย็นผมดูไปเช็ดน้ำตาไป    ด้วยความซาบซึ้งในความดีของครูโรงเรียนบ้านแม่โต๋ อ. สะเมิง  จ. เชียงใหม่    นำโดยผู้อำนวยการโรงเรียน    ซึ้งในความรักความผูกพันระหว่างครูกับนักเรียนชาวเขา

         หนังเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง    ใช้ตัวแสดงจริงทั้งหมด    ถ่ายทำโดย ป๊อป อารียา และ นิสา คงศรี     ด้วยกล้อง มินิ ดีวี ตัวเดียว   ที่หน้าปกดีวีดีเขียนว่า "การมองโลกด้วยสายตาเด็ก เป็นการมองโลกที่สวยงามที่สุด"    เป็นหนังที่ได้รับรางวัลจาก Pusan International Film Festival. รางวัลของ French Cultural Centre ใน Cinemekong Film Festival, และรางวัลจาก Bangkok International Film Festival  

        ดูหนังนี้แล้วผมมีความคิดว่า กระทรวงศึกษา น่าจะเสาะหาโรงเรียนแบบนี้เอามายกย่อง     ชักชวนให้สังคมช่วยกันสนับสนุนโรงเรียนแบบนี้     และหาทางขยายผลไปยังโรงเรียนอื่นๆ     การแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษา ก็จะมีลู่ทาง     ไม่มัวเมาอยู่กับการบริหารแบบควบคุมสั่งการจากศูนย์อำนาจอย่างในปัจจุบัน     อยากให้ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงฯ ทุกคนได้ดู     จะได้เปลี่ยนใจว่าครูดีๆ ผู้บริหารโรงเรียนดีๆ มีอยู่     และเกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจของตนเอง     เกิดจากแรงขับดันจากภายในโดยไม่มีการสั่งการก็ได้ 

         ครูใหญ่หรือ ผอ. กับ "ครูหนวด" เล่าที่มาที่ไปของการก่อตั้งโรงเรียนเมื่อกว่า ๒๐ ปีที่แล้ว     ที่ครูช่วยกันสร้าง "หอพัก" ให้นักเรียนชาวเขา     ไปรับสมัครลงทะเบียนนักเรียนแบบชักชวนเด็กมาเรียนถึงบ้าน       นักเรียนบางคนบ้านอยู่ห่างโรงเรียนถึง ๑๒๐ กม.     นักเรียนอยู่กันเหมือนครอบครัวใหญ่     ช่วยกันปลูกผักเลี้ยงสัตว์สำหรับเป็นอาหาร     นักเรียนกับครูสนิทสนมกันเหมือนพ่อแม่ลูก   นักเรียนร่าเริงสนุกสนาน  แต่มีวินัย และช่วยตัวเอง ช่วยเหลือกันเอง     โรงเรียนมีพิธีผูกข้อมือรับเด็กเข้ามาในครอบครัว     และครูร่วมกันจัดพิธีมอบเกียรติบัตรจบการศึกษาชั้นสูงสุดของโรงเรียน คือ ม. ๓ อย่างยิ่งใหญ่ประทับใจ    ในพิธีฉลองมีการแสดงพื้นเมือง     และก่อนเด็กจะจบ ม. ๓ ทุกคนจะได้ไปเที่ยวทะเล    เป็นการได้เห็นและเล่นน้ำทะเลเป็นครั้งแรกในชีวิต

        ดูหนังแล้วผมตีความว่าความสำเร็จของคณะครูโรงเรียนบ้านแม่โต๋อยู่ที่ครูทุ่มเทชีวิตให้กับเด็ก     และรักเด็กเหมือนลูก    ครูที่ควรได้รับการยกย่อง และได้รับรางวัลหรือเลื่อนระดับ  คือครูที่เอาใจใส่ลูกศิษย์  รักลูกศิษย์  เหมือนเช่นครูโรงเรียนบ้านแม่โต๋    ไม่ใช่ครูที่คอยติดตามเอาใจ หรือประจบนาย     และควรส่งเสริม ยกย่อง ให้เลื่อนขั้น เลื่อนซี แก่ครูที่อยู่ติดโรงเรียน และสร้างความเจริญก้าวหน้าแก่โรงเรียนอย่างต่อเนื่อง     ไม่ควรใช้วิธีย้ายผู้บริหารโรงเรียนแบบเล่นเก้าอี้ดนตรี     ย้ายมาเพียงปีสองปี ยังไม่ทันสร้างความเจริญแก่โรงเรียนก็ย้ายไปแล้ว

        หนังเรื่องนี้บอกเรื่องราวดีๆ ในสังคม     เผยแพร่น้ำใจอันดีงามของครู     เป็นหนังที่ทุกคนควรได้ดู

วิจารณ์ พานิช
๓ มค. ๕๐     

หมายเลขบันทึก: 73862เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2007 08:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 18:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

อืม คงต้องหาหนังเรื่องนี้มาดู ครูดอยใจดีคงมีอีกเยอะนะคะ

โรงเรียนบ้านแม่โต๋ ตั้งอยู่ที่ อ.แม่สะเมิง จ.เชียงใหม่ ก่อตั้งเมื่อปี 2524 และในปี 2526 นายประยูร คำชัย    ได้ย้ายมาเป็นครูใหญ่ จึงได้พบปัญหาการด้อยโอกาสทางการศึกษาของเด็กชาวเขา เนื่องจากในขณะนั้นโรงเรียนไม่มีอาคาร มีนักเรียนเป็นเด็กชาวกระเหรี่ยงอยู่ประมาณ 10 คน

เด็ก ๆ ไม่มีอาหารกลางวันกิน เด็กต้องไปเก็บผัก มะเขือต่างๆ ที่ขึ้นตามข้างโรงเรียนมากินแทนอาหารกลางวัน ครูใหญ่ได้เข้าสำรวจพื้นที่และศึกษาวิถีความเป็นอยู่ของชาวเขาโดยนำปัญหามาวิเคราะห์ แล้วจึงเริ่มพัฒนาโรงเรียน โดยได้รับความช่วยเหลือจาก TPA Kanagawa ได้เงินทุนมาสร้างอาคารเรียนมีการปลูกผักเลี้ยงหมู เพื่อเป็นอาหารของเด็กๆ และเริ่มสร้างหอพักให้เด็กที่อยู่ห่างไกลได้เข้ามาพักนอนที่โรงเรียน โดยทางโรงเรียนเก็บค่าใช้จ่ายเพียงปีละ 600 บาทเท่านั้น ปัจจุบันมีเด็กเข้ามาพักนอนอยู่ที่โรงเรียนบ้านแม่โต๋ 200 กว่าคน ในทุกๆ ปีจะมีเด็กชาวเขาเดินทางมาจากที่ห่างไกล เพื่อมาขอเข้าเรียนที่นี่

เด็กโต๋...เป็นเรื่องราวของเด็กชาวเขาเผ่าต่างๆ ที่เดินทางมาเรียนต่อในชั้นมัธยมต้นที่โรงเรียนบ้านแม่โต๋ เด็กชาวเขาที่มาจากหลากหลายเผ่าทำให้ภาษาที่ใช้แตกต่างกันออกไป

ที่นี่เด็กทุกคนจึงได้รับการสอนภาษาไทยและใช้สื่อสารเป็นภาษากลาง  การดำเนินเรื่องราวนั้นได้ติดตามชีวิตของเด็กชาวเขา 3 คน ที่มาจากต่างเผ่าและต่างหมู่บ้าน

   

  เรียงใจ  เป็นเด็กชาวเขาเผ่าม้งมาจากบ้านขุนสาใน อ.ปาย  จ.แม่ฮ่องสอน พ่อของเรียงใจถูกยิงตายในขณะที่ออกไปล่าสัตว์ในป่า ส่วน พี่สาวเรียนไม่จบเพราะโดนฉุดจำเป็นต้องแต่งงาน ทำให้เรียงใจกลายเป็นพี่สาวคนโตที่มีน้องอีก 3 คน มีปู่กับย่าที่แก่ และมีแม่ที่ต้องสู้ชีวิตเพียงลำพัง เรียงใจจึงเป็นที่พึ่งและความหวังเดียวที่เหลืออยู่ของครอบครัว


อำไพ เป็นเด็กชาวเขาเผ่าม้งมาจากบ้านห้วยเต่ารู อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ อำไพเป็นเด็กร่าเริง อยู่ด้วยกัน 4 คนกับ พ่อ แม่ และพี่ชาย มีอาชีพทำไร่ซึ่งมีรายได้น้อยมาก ทุกคนอาศัยอยู่ในกระท่อมหลังเล็กๆ แม่ของอำไพต้องการให้ลูกมีชีวิตที่ดีกว่า จึงส่งอำไพเข้าเรียนที่โรงเรียนบ้านแม่โต๋


วรุฒ เป็นเด็กชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยง มาจากบ้านแม่ขอ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่วรุฒมีการพัฒนาการทางสมองค่อนข้างช้า ทำให้ในช่วงแรกที่มาเรียนจึงมีปัญหามากเพราะ
วรุฒไม่ยอมเข้าเรียน และชอบหนีเที่ยวในหมู่บ้านใกล้ๆ โรงเรียนทำให้ครูใหญ่ต้องเข้าไปดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด


การอยู่อาศัยของเด็กๆ และครูเป็นเหมือนครอบครัวใหญ่ เพราะนอกเหนือจากการเรียนในห้องเรียนแล้ว พวกเขาจะต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน ช่วยกันทำงานรวมไปถึงช่วยกันทำอาหารกินเอง โรงเรียนบ้านแม่โต๋จึงเปรียบเสมือนเป็นบ้านหลังที่สองของพวกเขา

    

ภาพยนต์เรื่องนี้ทำในรูปแบบของสารคดีความยาว 100 นาที ที่จะมีครูใหญ่เป็นคนเล่าถึงความชีวิตความเป็นไปในโรงเรียนแห่งนี้ ได้แสดงถึงความสัมพันธ์นักเรียนกับนักเรียน และนักเรียนกับครู ที่เหมือนกับคนในครอบครัวเดียวกัน บางตอนสามารถเรียกน้ำตาได้จากผู้ชม อย่างเช่น ตอนที่ครูใหญ่ที่เป็นเสาหลักของโรงเรียนจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคมะเร็งลำไส้ที่เป็นมานานกว่า 2 ปี  ทั้งครูและเด็กๆ ต่างช่วยกันสวดภาวนาเพื่อให้ครูใหญ่หายป่วยและปลอดภัยจากโรคร้าย กลับมาเป็นเสาหลักให้กับโรงเรียนอีกครั้ง โรงเรียนบ้านแม่โต๋ยังคงต้องการทุนสนับสนุน เพื่อใช้เป็นค่าอาหารในการเลี้ยงดู

ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.hunsa.com

ดีจังเลยคะอาจารย์........ถ้าเป็นอย่างที่อาจารย์ดิด สังคมเราคงมีแต่คนดี ๆ แล้วก้อเป็นที่ภูมิใจของในหลวงด้วนนะคะ...................(ขอยกย่อง)
เคยได้ดูการสัมภาษณ์คุณอารียา ศิริโสภา อดีตนางสาวไทยซึ่งเป็นผู้ถ่ายทำเรื่องนี้ จำได้ว่าประทับใจกับความคิดความอ่านของเธอมากค่ะ เป็นผู้หญิงที่มีความสวยความงามทั้งภายนอกและภายใน เธอเล่าความรู้สึกตอนที่ตั้งใจถ่ายทำเรื่องนี้ อ่านที่อาจารย์เล่าแล้ว อยากให้มีใครเชิญเธอมาเล่าความรู้สึก พร้อมๆกับดูหนังเรื่องนี้ คงจะยิ่งน่าประทับใจนะคะ

เด็กโต๋ อย่าเพิ่งรีบโต มาโต๋กันก่อน

เรื่องนี้รับทราบครั้งแรกจากการอ่านหนังสือของ หนุ่มเมืองจันท์ ในคอลัมน์ ฟาสฟู้ดธุรกิจ ในมติชนรายสัปดาห์ เขาพูดเรื่องความมุ่งมั่นและเอาจริง แล้วยกตัวอย่าง ป็อป อารียา ที่อยากถ่ายทอดเรื่องราวของนักเรียนโรงเรียนบ้านแม่โต๋ จึงลงทุนไปเรียนการเขียนบท จากนั้นก็กลับมาทำหนังสารคดี ตอนแรกไปนำเสนอ เถ้าแก่จะถามว่าป๊อปเล่นด้วยไหม ก็ได้รับคำตอบว่า ไม่ ก็เลยไม่ได้ฉายเสียที
แต่ด้วยความใสของเด็กๆ ชาวเขาในหนัง อีกทั้งทำให้เห็นว่าครูดีๆ ในเมืองไทยมีอยู่ทั่วไป หนังเลยได้รางวัลเพียบ ของดียังงัยก็คงมีคนมองเห็น
แต่กว่าจะหามาได้ก็รอนานทีเดียว เห็นใน B2S ครั้งแรก ดีใจ แต่ยังไม่ได้ซื้อ จะไปซื้อครั้งหลังที่ B2S เขาบอกบริษัทเก็บคืนหมด จึงต้องรบกวนพี่ที่บริษัทซื้อมาให้ ได้ย่าม, เข็มกลัด, โปสการ์ด และ หนังสือติดมาด้วย

เริ่มดูก็เป็นแนวสารคดีที่ไม่ค่อยถนัด แต่ดูง่ายดี และเป็นธรรมชาติมาก ครูและเด็กที่มาสัมภาษณ์เป็นธรรมชาติมากครับ
ฉากชอบใจมีหลายฉากทีเดียว เช่น ฉากครูใหญ่ผ่าตัด, ฉากครูแดงย้าย และ ที่ทุกคนยอมรับคือเด็กวิ่งลงทะเล ไม่ต้องต่อเติมใดๆ จับกล้องแล้ววิ่งถ่ายตามก็พอแล้ว
บางครั้งหากเราได้ทำ ได้พบ ได้ไป ในที่ที่เราอยากทำ อยากพบ อยากไปมากๆ มันน่าจะเป็นอารมณ์เดียวกับน้องๆ ชาวเขากลุ่มนี้แหละครับ คนที่ชื่นใจอีกกลุ่มคือคุณครูครับ ขอกราบคารวะบูชนียบุคคลกล่มนี้ครับ ท่านเป็นมากกว่าเรือจ้างจริงๆ

ผมก็คิคเหมือนอาจารย์คิดเหมือนกัน ว่าไม่ต้องมีการย้ายผู้บริหาร ผมอยากให้ผู้บริหารของโรงเรียนบ้านแม่โต๋ อยู่กับเด็กๆนักเรียนนานๆ เป็นเสาหลักให้แก่เด็กนักเรียนต่อไป

ดูแล้วรู้สึกปลื้มมากๆเลยครับ คุณครูใจดีมากๆเลย รักเด็กๆ กันเองกับเด็กๆมากๆเลย น่ารักทั้งครูและเด็กครับ ต่างจากครูที่บ้านผมสมัยก่อน โดนแต่ครูพุดจาดูถูกดูแคลน (อ๋อ ลืมบอกไปว่าผมก็เป็นคนชาวเขาเหมือนกันครับ) สร้างแต่ความกดดันให้เด็กๆ เด็กๆเห็นครูทีไร เป็นผวาทุกที จนไม่อยากไปโรงเรียนกัน เด๋วนี้ไม่รู้ว่าครูรุ่นหลังๆ ยังเป็นแแบนั้นอยู่หรือเปล่า ผมอยากฝากถึงคุณครูที่เป็นคนพื้นเมืองว่า ถ้าไม่มีใจรักเด็กชาวเขาจริงๆ ก็อย่าไปสอนเลย เช่นครูที่บ้านผมสมัยก่อนครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท