บทเรียนจากการสอนนิสิตเภสัช


การเป็นวิทยากรบรรยายนั้นจะไม่ยากเพราะคนที่มาฟังเขาพอจะมีพื้นความรู้อยู่แล้วและมีประสบการณ์จริง แต่การเป็นเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาจะมีความยากและมีความรับผิดชอบสูงกว่ามาก
           ผมได้รับเชิญอาจารย์ ดร.มังกร ประพันธ์วัฒนะ รองคณะบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อร่วมบรรยายประมาณ 3 ชั่วโมง ในรายวิชา  151401 : Medication System Management for Hospital Accreditation เมื่อวันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน 2548  มีนิสิตเรียนจำนวน 55 คน ถือเป็นวิชาเลือก มีนิสิตสนใจเลือกเรียนประมาณครึ่งชั้นปี อาจารยฺมังกรถือเป็นคุรุทางด้านการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลโดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการยาและการบริหารจัดการความเสี่ยง ผมฟังอาจารยฺบรรยายรอบเดียวก็สามารถนำไปปฏิบัติได้เลย
           ผมบรรยาย ในหัวข้อประสบการณ์การบริหารโรงพยาบาลให้ได้รับการรับรองคุณภาพ ช่วงที่เตรียมบรรยายผมก็คิดว่าจะใช้เนื้อหาแบบไหนดี ก็ต้องยอมรับว่าได้คุยกับอาจารย์มังกรน้อยไปหน่อย ทำให้ผมต้องเตรียมบรรยายไว้ 2 ชุด ชุดแรกจะมีทฤษฎีหลักการมากหน่อย ชุดที่สองเป็นการเล่าให้ฟังเลยว่าทำอะไร  ก็ยอมรับว่าหาจุดโฟกัสของคนฟังได้ไม่ชัดนัก
           วันที่ 15 พฤศจิกายน ผมตื่นตี 5 กว่าๆ มาราวน์วอร์ดคนไข้ในตึกหญิงก่อน จนประมาณ 7 โมงครึ่งจึงเดินทางไปพิษณุโลก(ประมาณ 190 กิโลเมตร) ถึงประมาณ 9 โมง 5 นาที ก็เริ่มบรรยายตอน 9 โมง 15 นาที โดยใช้เอกสารชุดแรกก็คือมีเรื่องบริหารมากหน่อย  พอเบรคก็คุยกับอาจารย์มังกรที่นั่งฟังอยู่ด้วย ก็ได้ทราบว่าในรายละเอียดทางวิชาการมีอีกวิชาหนึ่งสอนอยู่แล้ว พอพักเบรคเสร็จผมก็เลยเปลี่ยนเอกสารบรรยายเป็นอีกชุดหนึ่ง เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้จัดให้มากที่สุด บรรยายเสร็จ 12.00 น. อาจารย์มังกร พาไปทานอาหารเจ ที่เป็นโครงการเพื่อสุขภาพของคณะเภสัชที่อาจารย์มาเป็นผู้ทำอาหารเพื่อสุขภาพจำหน่ายในราคาประหยัดแก่อาจารย์และนักศึกษา ซึ่งผมได้ทางสุกี้และสลัดเจที่อร่อยมาก พอ 12.30 น. ผมก็รีบเดินทางกลับบ้านตากเพื่อประชุมคณะกรรมการ คปสอ. บ้านตากต่อในเวลา 14.30 น.
            ผมได้มีประสบการณ์บรรยายประสบการณ์การทำงานให้นักศึกษาฟังมา 5 ครั้งแล้ว รู้สึกว่ายากกว่าบรรยายให้คนที่มีประสบการณ์ในการทำงานแล้วฟัง เพราะดูปฏิกิริยาตอบรับในการร่วมรับฟังจะดีมาก  แต่พอพูดกับนักศึกษาดูเขาจะตามได้ช้า ดูเงียบๆ ปฏิกิริยาตอบสนองน้อย ทำให้คนพูดไม่แน่ใจว่าเขารู้เรื่องหรือเปล่า ทำให้ผมมองเห็นว่าการเป็นวิทยากรบรรยายนั้นจะไม่ยากเพราะคนที่มาฟังเขาพอจะมีพื้นความรู้อยู่แล้วและมีประสบการณ์จริง แต่การเป็นอาจารย์พิเศษเพื่อบรรยายหรือเป็นอาจารย์ให้นักศึกษาจะมีความยากและมีความรับผิดชอบสูงกว่ามาก เป็นวิทยากรบรรยายเสร็จคนฟังรับได้แค่ไหนก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าสอนนักศึกษาต้องทำให้เขารู้เรื่อง เพราะต้องสอบ ต้องประเมินผลและต้องให้เขาสามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้ในอนาคต ดังนั้นไม่ใช่ใครก็ได้จะมาเป็นครูอาจารย์ได้ แม้จะทำงานได้ดีหรือรู้เรื่องนั้นๆมากก็ตาม ต้องมีเทคนิคการประเมินผู้ฟังเพื่อให้คนที่เข้าใจอะไรได้ยากที่สุดได้เข้าใจด้วย บทเรียนในการบรรยายให้นิสิตคณะเภสัชศาสตร์ จึงทำให้ผมได้ตระหนักในเรื่องนี้มากขึ้น และเห็นความแตกต่าง อาจารย์ กับ วิทยากร ได้ดีมาก  พอกลับจากการบรรยายผมจึงต้องส่งบทความที่เกี่ยวกับสิ่งที่ผมบรรยายไปให้นักศึกษาได้อ่านอีก 2 บทความ เพราะกลัวว่าเขาจะไม่เข้าใจและเสียเวลาเปล่า
 
หมายเลขบันทึก: 7386เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2005 10:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2012 20:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นธรรมดาสำหรับนักศึกษาส่วนใหญ่ ที่มักมองว่าเรื่องวิชาการเป็นเรื่องไกลตัวเสมอ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท