โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากร จ.ชุมพร (๑)


การดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมีความสำคัญมาก ใช้มาแล้วทุกศาสตร์ในการจัดการ ตอนนี้อาศัยพระช่วยเทศน์

ดิฉันหายหน้าไป ๑ สัปดาห์เต็มๆ เนื่องจากมีภารกิจที่จังหวัดชุมพรและนครศรีธรรมราช ออกเดินทางไปตั้งแต่เย็นวันอาทิตย์ที่ ๑๔ มกราคม กลับกรุงเทพก็บ่ายวันศุกร์ที่ ๑๙ มกราคมแล้ว อยู่ที่ชุมพร โรงแรมที่พักไม่มีอินเตอร์เน็ต ส่วนที่นครศรีธรรมราชมีอินเตอร์เน็ตแต่คิวพบปะกับคนนั้นคนนี้มีเต็มไปหมด กลับมากรุงเทพพอมีจังหวะจะรีบบันทึกเรื่องราวต่างๆ GotoKnow ก็ป่วยเสียก่อน เช้านี้เปิดมาเข้าได้ แต่ upload รูปยังไม่ได้ ขอรายงานตัวไปพลางๆ ก่อนนะคะ (ช่วงบ่ายกลับเข้ามาเติมรูปได้แล้วค่ะ)

ระหว่างวันที่ ๑๕-๑๗ มกราคม ๒๕๕๐ ทีมวิทยากรของ รพ.เทพธารินทร์ ประกอบด้วย ศ.นพ.เทพ หิมะทองคำ ดิฉัน อาจารย์ศัลยา คงสมบูรณ์เวช คุณชนิกา จรจำรัส และคุณยอดขวัญ เศวตรักต รวมทั้ง รศ.สมนึก กุลสถิตพร และคุณยุพา ไพรงามเนตร จากคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ไปให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันและการดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังแก่บุคลากรของจังหวัดชุมพร ที่โรงแรมชุมพรการ์เด้น เราทยอยเดินทางไป-กลับไม่พร้อมกัน โดยมีดิฉัน คุณชนิกาและคุณยอดขวัญอยู่ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้าย

งานนี้เป็นดำริของ นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชุมพร ที่เคยอยู่ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และเมื่อปี ๒๕๔๗ ทีมของเราเคยไปอบรมให้แก่บุคลากรชาวสุราษฎร์ธานีมาแล้ว คุณหมอณัฐวุฒิต้องการให้เรามาให้ความรู้ที่ชุมพรบ้าง และได้มอบหมายให้คุณภัทราวดี ชุมพลวีระพงษ์ พยาบาลวิชาชีพ ๗ รับผิดชอบและประสานงานกับดิฉัน เราติดต่อกันมาตั้งแต่ประมาณเดือนตุลาคม ๒๕๔๙ ได้กำหนดเวลาที่ลงตัวในเดือนนี้เอง ได้ทราบว่ามีผู้สนใจจากจังหวัดนครศรีธรรมราช พังงา กระบี่มาเข้าประชุมด้วย

แผนการอบรมของเรา มีทั้งส่วนที่เป็นการบรรยายและกิจกรรมกลุ่มย่อย ช่วงที่เป็นการบรรยายเราเปิดให้ผู้สนใจเข้าฟังได้ มีคนมาลงทะเบียนประมาณ ๑๖๐ คน เต็มทุกที่นั่งในห้องประชุม สำหรับกลุ่มย่อยเราขอให้จัด ๖ กลุ่มๆ ละ ๘-๑๐ คน ขอให้เป็นผู้ที่ทำงานกับผู้ป่วยเรื้อรังโดยตรง ทางทีมจัดงานจึงให้ผู้ที่มาจากโรงพยาบาลต่างๆ เข้ากลุ่มย่อย ส่วนที่มาจาก สสอ.และสอ.ให้เป็นผู้สังเกตการณ์

เช้าวันที่ ๑๕ มกราคม เรานั่งสังเกตการณ์อยู่ในห้องรับประทานอาหารของโรงแรม พอ ๐๘ น. กว่าก็เห็นผู้เข้าประชุมทยอยกันมาเรื่อยๆ ทีมจาก รพ.พะโต๊ะ ซึ่งเป็น รพ.ที่อยู่ไกลที่สุดก็มาถึงก่อนเวลา เวลา ๐๙.๐๐ น. คุณหมอณัฐวุฒิ กล่าวเปิดงาน บอกว่าการดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมีความสำคัญมาก ใช้มาแล้วทุกศาสตร์ในการจัดการ ตอนนี้อาศัยพระช่วยเทศน์ ในงานศพแทนที่พระจะเทศน์เรื่องเวรเรื่องกรรม ให้เทศน์สอนด้วยว่าคนตายตายจากสาเหตุอะไร คุณหมอณัฐวุฒิบอกว่าหลังๆ นี้คนที่ตายหนีไม่พ้นเรื่องของความดันโลหิตสูง CVA ดิฉันจึงได้ความรู้มาอีกว่าจังหวัดมีโครงการวัดส่งเสริมสุขภาพ

 

 นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ กล่าวเปิดงาน

ช่วงเช้าวันแรก ศ.นพ.เทพ บรรยายความรู้ใหม่ๆ และนวัตกรรมเกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ดิฉันจัดเวลาให้อย่างเต็มที่ ตั้งแต่ ๐๙.๓๐-๑๒ น. เล่นเอาเสียงแหบไปเหมือนกัน ทีมงานแอบไปได้ยินคนที่เข้าประชุมคุยกันว่าบรรยายแบบนี้น่าสนใจดีกว่าที่เคยเจอในการประชุมอื่นที่วิทยากรพูดตาม handout ที่อ่านเอาเองก็ได้

 

 

 บรรยากาศในห้องประชุม

ช่วงบ่ายดิฉันและคุณชนิกาช่วยกันบรรยายเกี่ยวกับการประเมินความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โมเดลการดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง การจัดการตนเอง และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เราจัดมุมโต๊ะของวิทยากรใหม่ เพื่อกระตุ้นความสนใจผู้ฟัง หลังพักรับประทานอาหารว่าง ดิฉันนำเสนอแนวทางการสร้างเครือข่ายทีมดูแลกลุ่มเสี่ยงและผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยใช้กรณีเครือข่าย KM เบาหวานเป็นตัวอย่าง น่าประทับใจที่ผู้เข้าประชุมอยู่กันเกือบเต็มห้องจนถึงเย็น

เย็นนี้อาจารย์เทพเดินทางกลับกรุงเทพ ดิฉัน คุณชนิกา และคุณยอดขวัญ รับประทานอาหารเย็นที่โรงแรม หลังจากนั้นเดินเที่ยวสำรวจตลาดสดใกล้ๆ ตลาดที่นี่ใหญ่พอดู ขายของกันจนค่ำ เราซื้อผลไม้เอาไว้รับประทาน ก่อนแยกย้ายกันไปพักผ่อน รอเวลาที่อาจารย์ศัลยา คงสมบูรณ์เวชจะเดินทางมาถึง

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 73857เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2007 08:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 13:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ยินดีต้อนรับอาจารย์วัลลากลับสู่กรุงเทพมหานครครับ ขอบคุณสำหรับเรื่องเล่า ....ทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าได้ร่วมเดินทางไปด้วยครับ ....อย่าลืมดูแลสุขภาพด้วยนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท