การประเมินตามสภาพจริง (12)


การเรียนรู้ตามสภาพจริง (Authentic Learning) เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสามารถของผู้เรียน ในการประยุกต์ใช้ทักษะที่เรียนรู้มาให้เข้ากับชีวิตจริงและสภาพแวดล้อมที่เป็นบริบท
บันทึกฉบับที่แล้วครูอ้อยเขียนเรื่อง  การวัดผลการเรียนรู้ด้านความรู้  ท่านผู้อ่านสนใจและอ่านได้ที่ การประเมินตามสภาพจริง (11)
น่าสนใจนะคะ  ยิ่งอาชีพเป็นครูยิ่งต้องสนใจเชียวค่ะ 
ปัจจุบันนี้ท่านผู้ปกครองก็ให้ความสนใจเหมือนกัน  เมื่อวันก่อนยังมี อีเมลล์มาหาครูอ้อย  มาจากท่านผู้ปกครองที่เป็นห่วงลูกหลานของตนเอง  สนใจเรื่อง  แบบทดสอบวัดผลนี่ล่ะค่ะ 
วิธีการวัดผลและ เครื่องมือวัด  ที่สามารถนำมาใช้ควบคู่กับการจัดการเรียนการสอน  ได้แก่  แบบทดสอบ.....แบบทดสอบผลสัมฤทธิ์  (Achievement Test) .....แบบทดสอบวัดความถนัด  (Aptitude Test).....แบบทดสอบความสามารถจริง  (Authentic Performance Test)  แบบสังเกต   แบบสัมภาษณ์  แบบสอบถาม  และแบบจัดอันดับคุณภาพ  สำหรับวันนี้จะเป็นเรื่อง  การวัดผลการเรียนรู้ด้านทักษะกระบวนการ

การวัดผลการเรียนรู้ด้านทักษะกระบวนการ (Skill and Process)  การจัดการเรียนรู้ในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้  หรือ กลุ่มวิชา  และการจัดทำโครงงานมีทักษะต่างๆ  ที่นักเรียนต้องได้รับการฝึกฝนจากการปฏิบัติจริง  ดังนั้น  การวัดผล  ประเมินผล  จึงควรวัดจากผลการปฏิบัติจริง  (Authentic Performance - Based Assessment)  วิธีการวัดและเครื่องมือวัดที่สามารถนำมาใช้  ได้แก่..... 

1.  การสังเกตพฤติกรรม  ทั้งแบบที่เป็นทางการ  และไม่เป็นทางการ  กรณีที่ต้องการประเมินคุณภาพของการปฏิบัติงาน  ควรจัดทำแบบสังเกตพฤติกรรมในลักษณะของแบบประเมินค่า 

2.  การทดสอบ  การวัดทักษะบางทักษะ  ที่เน้นการปฏิบัติงานตามขั้นตอน  ควรใช้แบบทอสอบภาคปฏิบัติ  สำหรับบางทักษะ  เช่น  ทักษะการคิด  อาจใช้แบบทอสอบวัดความสามารถจริงจากข้อคำถามที่เป็นปัญหา  ที่มีความหมายสำหรับนักเรียน 

3.  แฟ้มผลงาน  (Portfolio)  เหมาะสำหรับการประเมินในองค์รวม  เพื่อตรวจสอบว่า  นักเรียนสามารถนำทักษะต่างๆ ไปบูรณาการใช้ได้อย่างผสมกลมกลืนเป็นธรรมชาติ  สอดคล้องกับชีวิตจริง  แฟ้มสะสมงานที่สามารถนำมาใช้พัฒนานักเรียน  ได้แก่ 

          3.1  แฟ้มรวบรวมผลงาน (Working Portfolio)  สำหรับรวบรวมหลักฐานที่แสดงถึง  การได้พัฒนาและปรับปรุงงาน 

          3.2  แฟ้มเฉพาะเรื่อง (Subject Portfolio)  สำหรับนำเสนอให้เห็นภาพรวมทั้งหมด  ตั้งแต่เริ่มต้น  จนสิ้นสุดการปฏิบัติงาน  เหมาะสำหรับการประเมินโครงงาน 

         3.3  แฟ้มผลงานกลุ่ม (Group Portfolio)  สำหรับการประเมินกระบวนการและทักษะการปฏิบัติงานกลุ่ม 

         3.4  แฟ้มฝึกงาน  (On the Job Training Portfolio)  สำหรับการประเมินการปฏิบัติงานของนักเรียนที่ได้ฝึกงานในสถานประกอบการจริง 

         3.5  แฟ้มผลงานดีเด่น (Showcase Portfolio)  สำหรับนำไปเสนอผลงานในการสมัครเข้าทำงาน  หรือ  ศึกษาต่อในระดับสูงขึ้นไป 

4.  การบันทึกพฤติกรรม  เป็นเครื่องมือประเมินในลักษณะที่ให้นักเรียนจดบันทึกรายงานความสามารถของตนเอง  และยังเป็นการฝึกทักษะการเขียนได้อีกทางหนึ่ง  การบันทึกอาจทำได้หลายแบบ  เช่น  บันทึกเกร็ดชีวิต  (Anecdotal Records)  เขียนบรรยายพฤติกรรมของตนเอง  และเพื่อนที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง  หรือทำบันทึกภาคสนาม (Fields Notes)  โดยเพิ่มเติมความคิดเห็น  ความประทับใจ  และการแปลความหมายของผู้บันทึกด้วย  การบันทึกพฤติกรรมอีกแบบหนึ่งที่อาจนำมาใช้  คือ  การให้นักเรียนทำบันทึกประจำวัน  เพื่อบันทึกเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องในหัวข้อที่สนใจเป็นการส่วนตัว..

ครูอ้อยคงจะขอจบเรื่องนี้แต่เพียงเท่านี้นะคะ  พบกันอีกครั้งในเรื่อง...การวัดผลการเรียนรู้ด้านเจตคติ

หมายเลขบันทึก: 73841เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2007 03:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2014 15:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท