Mr.Kong
นาย กิตตินันท์ อนัมบุตร

ตลาดมือถือบลูทูธเดือด โนเกีย-ซัมซุง-พานาโซนิคถูกฟ้อง


โนเกีย ซัมซุง และพานาโซนิคเจออุปสรรคเข้าอย่างจัง เมื่อสถาบันวิจัยชื่อดังของสหรัฐอเมริกาได้ทำการศึกษา พร้อมยื่นฟ้องโดยระบุว่าสามบริษัทยักษ์ใหญ่ดังกล่าวได้ทำการละเมิดลิขสิทธิ์เทคโนโลยีบลูทูธ และอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในการใช้งานกับผลิตภัณฑ์ที่ติดตั้งเทคโนโลยีบลูทูธในอนาคตได้
          มูลนิธิเพื่อการวิจัยแห่งวอชิงตัน (The Washington Research Foundation) ในฐานะผู้ศึกษาเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีบลูทูธในโทรศัพท์มือถือของโนเกีย ซัมซุง และพานาโซนิค ได้ออกมาระบุว่า ปัจจุบัน ผู้ผลิตทั้งสามค่ายได้มีการนำเทคโนโลยีบลูทูธไปใช้โดยไม่มีการขออนุญาตอย่างถูกต้อง รวมถึงการไม่จ่ายเงินค่ารอยัลตี้ (Royalty) พร้อมอ้างว่า การกระทำดังกล่าวส่งผลให้การใช้งานบลูทูธในโทรศัพท์มือถือของผู้บริโภคอาจไม่ปลอดภัยได้ และได้ยื่นเรื่องฟ้องร้องต่อศาลในวอชิงตันไปแล้ว
       
       ทั้งนี้ ทางทีมผู้บริหารของโนเกีย ซัมซุง และพานาโซนิคยังไม่มีการออกมาชี้แจง หรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการฟ้องร้องในครั้งนี้แต่อย่างใด
       
       แน่นอนว่าประเด็นการฟ้องร้องดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการทำตลาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ติดตั้งบลูทูธในตลาดสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือ เนื่องจากการติดตั้งบลูทูธเอาไว้ในตัวเครื่องได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากขึ้นเพราะมีความสะดวกสบายในการใช้งาน โดยตัวเลขตลาดมือถืออเมริกามีส่วนแบ่งประมาณ 15 - 20 เปอร์เซ็นต์ของวงการโทรศัพท์มือถือที่ติดตั้งบลูทูธทั่วโลก
    
การออกมาฟ้องร้องในครั้งนี้ของมูลนิธิเพื่อการวิจัยแห่งวอชิงตันอาจไม่เหมาะสมมากนัก เนื่องจากในปัจจุบัน ได้มีกลุ่มองค์กรที่มีชื่อว่า The Bluetooth SIG หรือย่อมาจาก The Bluetooth Special Interest Group ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยไม่แสวงกำไรภายใต้การร่วมมือของภาคเอกชนในหลายอุตสาหกรรมกว่า 7,000 บริษัท โดยมีจุดประสงค์ในการร่วมกันพัฒนา และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบลูทูธเพื่อการใช้งานในเชิงพาณิชย์
       
       "จากความร่วมมือดังกล่าวทำให้หลายคนเข้าใจว่า บริษัทที่อยู่ใน SIG สามารถนำเทคโนโลยีบลูทูธไปประยุกต์ใช้งานได้โดยไม่ต้องเสียเงินค่ารอยัลตี้อีก แต่กลับกลายเป็นว่า การนำเทคโนโลยีบลูทูธไปใช้ก็อาจถูกเรียกเก็บเงินได้เช่นกัน"
       
       นอกจากนั้น รายงานข่าวจากรอยเตอร์ยังระบุว่าทั้งโนเกีย ซัมซุง และพานาโซนิคได้ซื้อชิปบลูทูธจากบริษัทสัญชาติอังกฤษที่มีชื่อว่า CSR ซึ่งเป็นบริษัทที่ครองส่วนแบ่งในวงการชิปบลูทูธไว้ได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ และบริษัทเดียวกันนี้เองไม่เคยจ่ายค่ารอยัลตี้ในการใช้งานเทคโนโลยีดังกล่าวเสียด้วย
       
       ข้อสังเกตครั้งนี้ อาจทำให้ส้มหล่นใส่บริษัทคู่แข่งสัญชาติสหรัฐอเมริกาอย่างบรอดคอม (Broadcom) ซึ่งมีการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ในการใช้ผลิตชิปบลูทูธอย่างถูกต้องเข้าอย่างจังก็เป็นได้ เนื่องจากโนเกีย ซัมซุง และพานาโซนิคอาจหันมาซื้อชิปจากบรอดคอมแทนเพื่อหลีกเลี่ยงการต่อสู้คดีในศาล
       
       "เห็นได้อย่างชัดเจนว่า การยื่นฟ้องครั้งนี้ส่งผลดีต่อบริษัทบรอดคอม แต่สร้างผลเสียแก่ CSR ซึ่งทั้งสองบริษัทต่างก็เป็นผู้ค้าชิปบลูทูธรายใหญ่ในตลาดสื่อสาร" เมลสตันกล่าว
       
       ด้านโฆษกของ CSR ยังปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นใด ๆ เกี่ยวกับคำฟ้องร้องดังกล่าว พร้อมขอเวลาในการศึกษาเอกสารคำฟ้องให้ถี่ถ้วนเสียก่อน ซึ่งแม้ว่าจะไม่มีชื่อเป็นผู้ถูกฟ้องในคดีดังกล่าว แต่หลังจากข่าวดังกล่าวแพร่สะพัดออกไป หุ้นของ CSR ก็ดิ่งลงประมาณ 6.6 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว ขณะที่ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของกลุ่ม Bluetooth SIG นาย Anders Edlund ได้ออกมาปฏิเสธการออกความเห็นใด ๆ ต่อคดีดังกล่าวด้วยเช่นกัน
       
       ล่าสุด ทางโฆษกของ CSR ได้ออกมาตอบโต้การฟ้องร้องดังกล่าวแล้ว แม้บริษัท CSR จะไม่มีรายชื่อเป็นผู้ถูกฟ้องในคดี โดยระบุว่า เมื่อเทคโนโลยีบลูทูธของ CSR คือประเด็นสำคัญของการฟ้องร้อง และโนเกีย ซัมซุง และพานาโซนิคเลือกใช้ชิปบลูทูธของ CSR ทำได้ต้องออกมาตอบโต้
       
       โดยโฆษกของ CSR ได้ปฏิเสธว่าบริษัทไม่เคยกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ของทางมหาวิทยาลัย และการฟ้องร้องครั้งนี้ต้องเชื่อมโยงไปถึงประเด็นชิปบลูทูธของทาง CSR อย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งในเรื่องของชิป ทางบริษัทจะดำเนินการต่อสู้อย่างเต็มกำลัง
       
       อย่างไรก็ดี การดำเนินคดีทางกฎหมายเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีบลูทูธในอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือครั้งนี้ทำให้หลายฝ่ายหันกลับมาให้ความสนใจกับค่ารอยัลตี้ในบลูทูธอีกครั้งหนึ่ง เพราะถ้าหากทางมูลนิธิเพื่อการวิจัยแห่งวอชิงตันเป็นฝ่ายชนะคดี ก็อาจทำให้พวกเขาหันไปเรียกร้องค่าเสียหายจากอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่นำบลูทูธไปใช้งานด้วยเช่นกัน
       
       นอกจากนั้น หากข้อบังคับดังกล่าวส่งผลถึงตลาดในภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลกด้วย ผลกระทบที่หนักที่สุดอาจตกอยู่ในกลุ่มผู้บริโภคแถบสหภาพยุโรปและเอเชียมากกว่า เนื่องจากความนิยมในการใช้งานบลูทูธมีค่อนข้างสูง ส่วนมูลนิธิเพื่อการวิจัยแห่งวอชิงตันในฐานะผู้เปิดประเด็นการฟ้องร้อง เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบนำผลงานทางเทคโนโลยีที่คิดค้น หรือพัฒนาขึ้นโดยมหาวิทยาลัยวอชิงตันมาทำตลาดในเชิงพาณิชย์
       
       "ประเด็นดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่คลุมเครือในการใช้งานสินทรัพย์ทางปัญญาของอุตสาหกรรมมือถือ ว่าสิ่งใดถูกหรือผิดกฎหมายกันแน่ อีกทั้งอุตสาหกรรมมือถือมีมูลค่าตลาดสูงมาก การฟ้องร้องครั้งนี้อาจก่อให้เกิดผลกระทบครั้งใหญ่ต่อผู้ผลิตและผู้บริโภคในอนาคตด้วยก็เป็นได้"
 
ที่มาข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์
หมายเลขบันทึก: 73824เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2007 14:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 10:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

กรณีนี้น่าสนใจ

1.มูลนิธิเพื่อการวิจัยแห่งวอชิงตัน เป็นใคร และเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี Bluetooth อย่างไร

2.กลุ่มองค์กรที่มีชื่อว่า The Bluetooth SIG หรือย่อมาจาก The Bluetooth Special Interest Group ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยไม่แสวงกำไรภายใต้การร่วมมือของภาคเอกชนในหลายอุตสาหกรรมกว่า 7,000 บริษัท โดยมีจุดประสงค์ในการร่วมกันพัฒนา และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบลูทูธเพื่อการใช้งานในเชิงพาณิชย์--เป็นใคร เกิดขึ้นอย่างไร เป็นเจ้าของเทคโนโลยีบลูทูธ ? แค่ไหน

3.CSR เป็นใคร คนขายชิบให้กับ 3 บริษัท แล้วเขามีสิทธิในเทคโนโลยีบลูทูธ ?

4.บริษัทบรอดคอม (Broadcom) เขามีสิทธิในเทคโนโลยีบลูทูธ ?

1. เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ในการวิจัยเทคโนโลยี ครับ โดยทางองค์กรนี้เกี่ยวข้องกับตัวเทคโนโลยี Bluetooth โดยทำหน้าที่โดยการวิจัยและพัฒนาตัวเทคโนโลยี Bluetooth ครับ

2. Bluetooth SIG (The Bluetooth Special Interest Group) เป็นสมาคมที่ถูกก็ตั้งขึ้นมา โดยกลุ่มผู้นำบริษัทด้านเทคโนโลยีหลักมีด้วยกัน 5 บริษัท ครับได้แก่ Ericsson, IBM, Intel, Nokia, Toshiba เมื่อปี ค.ศ. 1998 จุดประสงค์หลักขององค์กร คือ เพื่อ ร่วมกันวิจัยและพัฒนาตัวเทคโนโลยี Bluetooth อีกทั้งยังทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานของเทคโนโลยี Bluetooth ขึ้นมาเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

3. CSR เป็นบริษัทที่ทำหน้าที่ในการผลิตตัว ชิปBluetooth ที่จะนำไปใช้กับอุปกรณ์มือถือครับ ซึ่งถ้าหากทาง CSR ได้เป็นสมาชิกกับ Bluetooth SiG ก็มีสิทธิในการนำเอาตัวเทคโนโลยีนี้มาใช้เพื่อการค้าได้ครับ แต่ทั้งนี้ก็ต้อง ศึกษาถึงข้อตกลงการจ่ายค่า royalty อีกครั้งครับ

4.Broadcom ก็เป็นอีกบริษัทนึงครับ ที่เป็นบริษัทที่ทำการผลิต ชิป Bluetooth ซึ่งข้อได้เปรียบของบริษัทนี้คือ เป็นบริษัทที่ยอมเสียค่า royalty ครับ

5.แต่อีกประเด็นที่น่าจะมองก็คือ ทำไมทาง Bluetooth SIG ไม่ฟ้อง แต่ มูลนิธิเพื่อการวิจัยแห่งวอชิงตัน กลับเป็นผู้ฟ้องซะเอง ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท