กิจกรรมนิสิต: ตัวตนและทางเลือกกิจกรรมของคณะ(ที่มีค่ามากกว่าการถูกมองข้าม)


เพราะมันคือทางเลือกของการสร้างและเสพกิจกรรมขนานหนึ่งของปัญญาชนในมหาวิทยาลัย

ปีการศึกษา  2538  เป็นต้นมา  นับได้ว่าเป็นจุดแรกเริ่มของกิจกรรมอันหลากรูปแบบ  หลากรสชาติ  และหลากสีสัน (โหด มัน ฮา)  หรือเรียกให้เต็มศัพท์หน่อยก็คือ  หลากล้นด้วยกิจกรรมรื่นรมย์และเริงปัญญา 

 

           ทั้งหมดทั้งปวงเป็นผลพวงของการยกฐานะให้มีสโมสรนิสิตคณะต่าง ๆ  และสโมสรนิสิตคณะนี่เองคือองค์กรใหม่ของการขับเคลื่อนกิจกรรม   หลังจากที่ก่อนหน้าที่มีแต่เฉพาะองค์การนิสิตเท่านั้นที่เป็นหัวเรือใหญ่ในการจัดกิจกรรม  ส่วนชมรมสังกัดองค์การนิสิตก็มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น

          

           การยกฐานะให้มีสโมสรนิสิตคณะอย่างเป็นทางการในยุคนั้น บรรดาเกจิทั้งหลายมองต่างมุม  ถึงลูกถึงคนไปคนละทิศคนละทาง กลุ่มอนุรักษ์นิยมก็มีเสียงเล็ดลอดมาว่า  จะทำให้นิสิตมีความ แปลกแยก  ทางกิจกรรม ขาดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และนำไปสู่ความ  แตกแยก  ระหว่างคณะในอนาคต

  

          ขณะที่กลุ่มใหม่ขานรับเซ็งแซ่  ตีอกชกตัวด้วยความดีใจที่จะมีสโมสรนิสิตคณะอย่างถูกต้องเป็นทางการ  สามารถจัดกิจกรรมได้ตามกิเลสของตนเองกันซะที  หลังจากจมจ่อมอยู่กับวังวนขนบเดิม ๆ  อันเป็นแบบฉบับทางกิจกรรมที่มีมาอย่างยาวนาน

            โดยส่วนตัวแล้ว   ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับคนกลุ่มใหม่  เพราะอย่างน้อยก็เป็นกลุ่มขับเคลื่อนการยกฐานะสโมสรนิสิตคณะสืบมาตั้งแต่ปี  ๒๕๓๕   รวมทั้งการผลักดันองค์การนิสิตให้ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีชมรมในสังกัดสโมสรนิสิตคณะ (๒๕๔๐)  เพราะเชื่อว่า สโมสรนิสิตคณะหรือทางเลือกใหม่ของการ สร้างสรรค์  กิจกรรม

และในอีกนัยหนึ่งก็คือ  ทางเลือกหนึ่งในการเสริมสร้างการบูรณาการการเรียนรู้ระหว่างทักษะวิชาชีพกับกิจกรรมเพื่อสังคม

            การขับเคลื่อนครั้งนั้นต้องให้เครดิตกับองค์การนิสิตยุคปี  ๒๕๔๐ เป็นกรณีพิเศษ  เพราะผลักดันให้มีชมรมในสังกัดคณะได้อย่างเสรี  ที่สำคัญคือการทลายกำแพงประเพณีองค์กรแม่ให้โครงการจัดตั้งคณะ  มีอำนาจในการจัดกิจกรรมโดยไม่ขึ้นกับคณะใดคณะหนึ่ง นั่นคือ  โครงการจัดตั้งคณะศิลปกรรมฯ  (ขณะนั้นรวมอยู่กับคณะมนุษย์ฯ)

          รวมความถึงโครงการจัดตั้งคณะสถาปัตย์ฯ  ด้วยเช่นกัน  !

  

          ถึงตรงนี้  เมื่อวันเวลาล่วงผ่านมานับสิบปี ข้าพเจ้าก็ยังเชื่อว่าคนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการก่อเกิดกิจกรรมในระดับคณะอย่างแน่นอน  เพราะมันคือทางเลือกของการสร้างและเสพกิจกรรมขนานหนึ่งของปัญญาชนในมหาวิทยาลัย

 

          ทางเลือกที่ข้าพเจ้ากล่าวถึงมันอาจจะหมายถึงเสรีภาพทางความคิดที่นิสิตในคณะนั้นมีความเป็นอิสระในการเสกสร้าง ปรุงแต่ง 

และต่อเติมวิญญาณความรู้สึกของตนเองลงในเนื้องานอันเป็นกิจกรรม

           หลากคณะ   ย่อมหมายถึงความแตกต่างที่หลากหลายกันออกไป กิจกรรมหนึ่ง ๆ  จึงสามารถบ่งบอกความเป็น ตัวตน ของแต่ละคณะอย่างไม่ผิดเพี้ยน  จะบ้าระห่ำ  ลุ่มลึก  คลาสสิค  โรแมนติค  หรือแม้แต่อิโรติค ก็ขึ้นอยู่กับวิถีชีวิต (life  style) ของแต่ละคณะ 

          ซึ่งวิถีชีวิตนี้ก็ถูกอธิบายหรือจำกัดความตามเหตุตามผล  (rationality)  ของแต่ละคณะด้วยเช่นกัน

  

          ทุกวันนี้ถึงแม้แต่ละคณะจะมีตัวตนของตนเองค่อนข้างสูง  มีความเป็นปัจเจกที่ข้นเข้ม  แต่ข้าพเจ้าก็ยังมองว่า  ทั้งหลายทั้งปวงนั้นยังคงมีศูนย์รวมที่เป็น มมส  อยู่อย่างไม่ขาดหาย   มีกิจกรรมภาพรวมอันเป็นประเพณีให้สืบและสร้างร่วมกันในทุกปี  ซึ่งทุกคณะก็ล้วนให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อน ขับเคลื่อนความเป็นคณะเข้าสู่ศูนย์รวมได้อย่างกลมกลืน 

 

จะมีบ้างแหละที่ว่าความกลมกลืนนั้น  ช่างสุดแสนที่จะเป็นอัตลักษณ์อันหลากหลายตามบุคลิกของแต่ละคณะ  แต่ความหลากหลายที่ว่านี้ก็เสมือนความกลมกล่อมของการเสพกิจกรรมของนิสิตนั่นแหละที่สามารถเลือกสรรสัญจรเสพได้ตามเสรีนิยมของแต่ละบุคคล

 

          ที่สำคัญหลายท่านคงมองในมุมที่ไม่ต่างไปจากข้าพเจ้านักว่ากิจกรรมของแต่ละสโมสรนิสิตคณะนั้น  ได้สะท้อนภาพหรือฉายให้เห็นภาพ ตัวตน  ของแต่ละคณะได้อย่างแช่มชัด  ! ริ่มต้นจากกลุ่มดั้งเดิมอันเป็น รากเหง้า  ของสถาบันแห่งนี้  ย่อมหมายถึงคณะศึกษาศาสตร์  กิจกรรมของบรรดาว่าที่ คุณครู ของแผ่นดิน ทั้งหลายก็มักเกี่ยวโยงสัมพันธ์กับศาสตร์สาขาของคณะ  มีชมรมในสังกัดที่เกี่ยวกับกิจกรรมการศึกษาและเด็กนักเรียนสืบมาจนปัจจุบัน  อาทิ  ชมรมไทสร้างสรรค์  ชมรมครูอาสา  นิยมชมชอบกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ด้านการเรียนการสอนในรูปของการผลิตสื่อ  สอนหนังสือ  สร้างสนามกีฬา  อบรมจริยธรรม คุณธรรมแก่เด็กนักเรียน เป็นต้น 

           ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้เมื่อครั้งยุค มศว มค. นั้นจะมีชมรมคุรุทายาทสังกัดองค์การนิสิต แต่เบ้าหลอมถูกสร้างขึ้นมาจากบรรดานิสิตคณะศึกษาศาสตร์ทั้งสิ้น 

          ในทำนองคล้ายกันนี้  คณะพยาบาลศาสตร์  ก็มีชมรมส่งเสริมสุขภาพที่ขับเคลื่อนกิจกรรมในแบบฉบับที่สันทัดและจัดเจนของตนเอง  พบเห็นบ่อยครั้งไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับสุขภาพพลานามัยทั้งโดยอิสระและจับมือร่วมใจกับองค์กรอื่น ๆ  ซึ่งก็มักจะถูก จีบ ไปร่วมกิจกรรมอยู่ต่อเนื่องร่วมกับชมรมอาสาพัฒนา  พรรคชาวดิน พรรคพลังสังคม  ฯลฯ

 

          ในขณะที่คณะวิทยาศาสตร์ที่แต่ก่อนข้าพเจ้าเคยขนานนามว่าเป็น มหาอำนาจกิจกรรม  นั้นก็มีชมรมหลายองค์กรที่สะท้อนตัวตนของตนเองชัดเจนและต่อเนื่อง นับจากชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่รวมตัวกันมาจากกลุ่มสาขาชีววิทยาและสานต่อกันมาจากยุค มศว มค.  ซึ่งในช่วงหนึ่งชมรมนี้ดูเหมือนจะรุ่งเรือง  มีบทบาทสำคัญอยู่แถวหน้าพอสมควร  ดังจะเห็นได้จากการได้รับงบประมาณจัดสรรจากทบวงมหาวิทยาลัย (ปัจจุบัน คือ สกอ.)  ทั้งที่ส่วนใหญ่จะเป็นองค์กรหลักและสังกัดองค์การนิสิตเท่านั้นที่ได้รับการสนับสนุนจากส่วนนี้  และกิจกรรมที่กลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรก็คือ  การเดินป่า  ศึกษาธรรมชาติ  อบรมเยาชนรักษา  รวมทั้งการอนุรักษ์  (บวชป่า)   เป็นสำคัญ

 

          และนัยสำคัญยุคหลังพยายามเหลือหลายที่จะกระโดดเข้ามาสังกัดองค์การนิสิต  แต่ก็ล้มเลิกความตั้งใจ เพราะต้องการปักหลักสร้างฐานอันเป็นรากเหง้าของตนเองที่คณะต่อไป  

  

          ข้ามฟากจากกลุ่มศาสตร์สาขาอันเป็นวิชาการและมาสู่สายศิลปะศิลปินกันบ้าง

           ข้าพเจ้ามองว่าในยุคนี้คงไม่มีใครเกินคณะสถาปัตย์ฯ  เป็นแน่ 

(นอกเรื่อง -  เสียงกลองอันเผ็ดร้อน  รุ่มเร้า  ผนวกกับถ้อยคำที่ดิบเถื่อนจากเพลงบางเพลงตามสไตล์ศิลปินมักจะสะกดใจให้เพื่อนต่างคณะสงบนิ่ง  จังงัง  ประหนึ่งต้องมนต์ปานนั้น  !

 

          ในอดีตไม่มีใครปฏิเสธว่า สาวสวยต้องคณะมนุษย์  แต่ในโลกไอทีสวยแบบบูรณาการสีสันทันสมัยต้องยกนิ้วให้สาวสวยจากคณะวิทยาการ

 

          เช่นเดียวกัน  หนุ่มหล่อมาดเข้มในอดีตรางวัลนี้ตกเป็นของคณะเทคโนฯ  และวิทยาศาสตร์อย่างไม่ผิดเพี้ยน 

           ตรงกันข้ามทุกวันนี้โลกเปลี่ยน รสนิยมเปลี่ยนไปตามโลก  หนุ่มหล่อมาดเซอร์  ผมยาวที่สาว ๆ กล่าวขานถึงข้าพเจ้าก็ได้ยินแว่วมาว่าเป็นหนุ่มสถาปัตย์ฯ  ที่มักจะผูกไทด์  ใส่รองเท้าผ้าใบ  นั้นเอง          (ทั้งหมดนี้จะจริงเท็จแค่ไหน  ก็เป็นแต่เพียงบทสังเกตการณ์ของข้าพเจ้าเท่านั้น)         

          อย่างไรก็ตามเหตุที่ข้าพเจ้าเลือกที่จะกล่าวถึงคณะสถาปัตย์ฯ เป็นมุมมองในเรื่องกิจกรรมนิสิตเป็นที่ตั้ง  โดยเฉพาะการพยายามดำเนินกิจกรรม สถาปัตย์สัญจร  อย่างต่อเนื่องสืบมาในระยะหลัง

 

          กิจกรรมที่ว่านี้เต็มไปด้วยกลิ่นอายวัฒนธรรมของชาวสถาปัตย์ฯ  ที่ครบครัน ซึ่งเมื่อครั้งที่ข้าพเจ้ายังเคยดูแลด้านกิจกรรมก็เคยเสนอขออนุมัติงบสนับสนุนกิจกรรมนี้ไม่น้อยกว่า ๒ - ๓ ครั้ง  เพราะเห็นว่าเป็นกิจกรรมที่นำความรู้ลงสู่ชุมชน   โดยเฉพาะเยาวชนนักเรียนในโรงเรียนต่าง ๆ  ให้มีโอกาสสัมผัสกับกิจกรรมทางศิลปะ   ซึ่งข้าพเจ้ามองว่าผู้จัดสามารถจัดกิจกรรมนี้ได้อย่างไม่อึดอัดนัก  เพราะเป็นการนำทักษะจากศาสตร์สาขาที่เรียนมาประยุกต์ในรูปกิจกรรม ซ้ำยังสามารถสร้างสรรค์บรรยากาศสนุกสนานตามแบบศิลปินได้อย่างไม่ยากเย็น

 

          โดยเฉพาะในช่วงหลังนี้กำลังเป็นที่จับตามองในเรื่องของ ละครเวที ที่ดูเหมือนจะกลายเป็นเอกลักษณ์และตัวตนหนึ่งของชาวสถาปัตย์ไปแล้ว   

           ขณะที่องค์กรอื่น ๆ  ที่จัดกิจกรรมในแนวศิลปะและศิลปินเช่นนี้  เป็นที่น่าเสียดายว่าไม่สานต่อความต่อเนื่องอย่างที่ควรจะเป็น  องค์กรบางองค์กรในบางคณะยุบตัวไปตามเงื่อนไขการจัดกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็น  ชมรมดนตรีสากล  ชมรมศิลปะ  ชมรมสื่อสร้างสรรค์  เป็นต้น

          

          ท้ายที่สุดเรื่องเล่าของข้าพเจ้า  อาจไม่สามารถบอกเล่าหรือบ่งชี้ประเด็นแนวคิดที่ลุ่มลึกอะไรได้  แต่ก็พยายามที่จะบอกเล่าในฐานะผู้สังเกตการณ์ว่า  กิจกรรมขององค์กรระดับคณะนั้น  ย่อมมีเอกลักษณ์ ตัวตนของตนเองแตกต่างกันออกไปตามบริบทวัฒนธรรมของแต่ละองค์กร  ซึ่งมันอาจจะหมายถึงทางเลือกหนึ่งของกิจกรรมนิสิตอันเป็นรสชาติชีวิตของชาวปัญญาชนได้  เฉกเช่นกับกิจกรรมที่ผลิตออกจากวัฒนธรรมเดิม ๆ  ขององค์กรบริหารหลักของมหาวิทยาลัย ซึ่งช่วยเติมเติมสีสันบรรยากาศให้น่าสนใจและหลากหลายทางเลือก รวมทั้งการเป็นเสมือนเวทีให้นิสิตนั้น ๆ  ได้สามารถถ่ายเทตัวตนของตนเองลงสู่กิจกรรมนั้น ๆ  ได้อย่างเต็มที่ภายใต้เงื่อนไขของวัฒนธรรมตนเอง

 

          และข้าพเจ้าก็ยังยืนยันว่า เหมาะสมแล้วที่มีการยกฐานะให้สโมสรนิสิตได้มีอำนาจในการจัดกิจกรรมและควรพิจารณางบสนับสนุนกิจกรรมหลักของคณะที่สะท้อนความเป็นตัวตน ขององค์กรนั้น ๆ  อย่างเต็มที่และต่อเนื่อง  โดยปล่อยให้เขามีอิสระในตัวตนของเขาและเพียรบอกเล่ากรอบวัฒนธรรมที่ต้องยึดปฏิบัติหรือบูรณาการเพื่อคงไว้ซึ่งภาพรวมของสถาบัน

 

          มิใช่  คิดที่จะล้มเลิก หรือยุบเลิกชมรมหรือองค์กรนิสิตในระดับคณะไป ดังที่เกจิอาจารย์บางท่านกำลังส่งเสียงมา

 เพราะนั่นอาจจะหมายถึงการทำลายหรือบั่นทอน ตัวตน ของคณะ และปิดกั้นทางเลือกในสายธารกิจกรรมด้วยเช่นกัน ........... 
คำสำคัญ (Tags): #msu km กิจกรรมนิสิต
หมายเลขบันทึก: 73806เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2007 08:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

คุณแผ่นดิน ครับ

คงมีเวลาบ้างแล้วนะครับ

กิจกรรม กลุ่ม ชมรม ในรั้วมหาลัย เป็นการแสดงออกของนักศึกษาที่อิสระ (มาก) ในความคิดของผม อิสระแบบนี้หละที่ผมชอบ เพราะที่นี่เป็นพื้นที่เรียนรู้ เรียนรู้ตนเอง สังคมไปด้วยกัน

แต่ละคณะจะสุดโต่งและเรียบง่ายขนาดไหนนั้น ตามบุคลิก แต่ผมก็ชอบความต่าง

กิจกรรมให้เกิดชีวิต ชีวาในมหาวิทยาลัย

อีกนัยหนึ่ง อาจเป็นทางออกของนักศึกษาที่เบื่อแล้วกับระบบการเรียนที่ซ้ำซาก และน่าเบื่อหน่ายด้วยการท่อง การเรียนที่ไม่ต่างจากมัธยม(ในบางคณะ)

ยังไงก็ตาม กิจกรรมในมหาวิทยาลัย ช่วยสร้างคนครับ

  • กิจกรรมที่ผู้เรียนทุกระดับ ได้มีโอกาสสัมผัส เป็นโอกาสแห่งการบูรณาการสิ่งที่ได้รับจากห้องเรียนและสำคัญที่สุดคือการได้สัมผัสกับความจริง 
  • นักมวยที่ชกกระสอบทรายกับการได้ขึ้นชกบนเวทีจริง  มันได้อะไรคนละอย่าง

 

นานาจิตตังนะคะ แต่กิจกรรมที่หลากหลายทำให้นิสิตนักศึกษาได้พัฒนาตนเองตามความชอบและศักยภาพของตนเอง เรียนรู้ตนเอง เรียนรู้ผู้อื่นและเรียนรู้วิถีชีวิตในโลกแห่งความเป็นจริงค่ะ

  • สวัสดีครุบคุณเอก จตุพร
  • ขอบคุณนะครับที่ยังแวะมาเป็นกำลังอยู่อย่างสม่ำเสมอ..และเสมอไป
  • ช่วงนี้จริงแล้วก็ยังไม่มีเวลามากมายนัก..ตื่นตี 5 กลับที่พัก 10 โมง เที่ยงก็พานักมวยไปต่อยกลับมาอีกทีก็ดึก...
  • ผมเห็นด้วยครับ เพราะกิจกรรมคือความมีชีวิตชีวาของมหาวิทยาลัย  และเป็นบรรยากาศเสริมการเรียนรู้ในห้องเรียนได้อย่างดียิ่ง
  • แต่เป็นที่น่าเสียใจว่าทุกวันนี้กิจกรรมโดนบีบรัดจากการเรียนค่อนข้างเยอะ...เสาร์ อาทิตย์ ยังมีการเรียนการสอน ทำให้นิสิตมีเวลาการเข้าร่วมกิจกรรมน้อยลง
  • มันเป็นภาพสะท้อนการเติบโตของธุรกิจการศึกษา เหมือนกัน !
  • ขอบคุณครับ...วันที่ 26 มกราคม 50 ก็จะกลับสารคามแล้ว และคงมีเวลาเข้าสู่การบันทึกอย่างเป็นปกติเสียที
  • สวัสดีครับอาจารย์  เม็กดำ 1
  • เป็นจริงดังที่อาจารย์กล่าวครับ...กิจกรรมที่ผู้เรียนทุกระดับ ได้มีโอกาสสัมผัส เป็นโอกาสแห่งการบูรณาการสิ่งที่ได้รับจากห้องเรียนและสำคัญที่สุดคือการได้สัมผัสกับความจริง 
  • กิจกรรม ช่วยให้เราได้สัมผัสจริงกับการเรียนรู้ทั้งในมหาวิทยาลัยและนอกมหาวิทยาลัย
  • กิจกรรมเหมือนการฝึกปฏิบัติกับชีวิต...เช่นที่อาจารยืเปรียบเปรยการชกกระสอบกับการชกบนเวทีแตกต่างกันมากจริง ๆ  ...นักมวยผมก็ได้เรียนรู้ตามที่อาจารย์กล่าวเช่นนั้นจริง ๆ
  • ขอบพระคุณครับ...
  • ขอบพระคุณท่านอาจารย์ อัมพร
  • ไม่ว่ายุคสมัยใด หรือสังคมเปลี่ยนแปลงไปแก่ไหน  เก็ยังเชื่อว่ากิจกรรมเป็นรสชาติชีวิตปัญญาชนและเป็นกลไกสำคัญในการเรียนรู้ความเป็นจริงของตนเอง คนอื่นและสังคมโลก
  • ใช่ค่ะ เราทำงานกับนักศึกษา
  • จนมีความเคยชินไปแล้วนักศึกษาจบไปรุ่นแล้วรุ่นเล่า
  • เราก็ทำงานด้วยความรัก
  • และความภาคภูมิใจเสมองาน
  • และเราสัญญาว่าจะช่วยกันพัฒนานิสิตนักศึกษาต่อไป
  • สวัสดีครับอาจารย์อัมพร
  • ขออภัยครับที่แวะกลับมาดูบันทึกนี้เนิ่นช้ามาก...
  • ทุกวันนี้ไม่เงียบเหงาเพราะมีนิสิตเป็นเพื่อนพ้องน้องพี่ วนเวียนมาพูดคุยตลอดเวลา (แม้กระทั่งเวลาทำงาน) ..เราก็มีความสุขที่จะพบปะ
  • ขอบคุณมากครับอาจารย์
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท