มีปัญหากับอาจารย์คุมคลินิก


สังคมของเราทุกวันนี้ แม้ดูเหมือนมีคนที่สร้างปัญหาให้คนอื่นมาก แต่ก็ยังเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับประชากรโลก (5% ของสังคม) เรายังมีคนปกติที่เป็นคนดีและช่วยจรรโลงสังคมอีกมากกว่านั้น การกำจัดคนในกลุ่มนี้ออกไปจากสารบบย่อมทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ขึ้นกับกรรมเวรของแต่ละคน เราคงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะพานพบคนเหล่านี้บ้างในชีวิต ดังนั้น การที่ตัวเราสร้างภูมิคุ้มกัน โดยมีสติ รู้เท่าทันย่อมจะทำให้เราสามารถรอดพ้นจากปัญหาได้เสมอ

มีนักศึกษาเคยบ่นให้ฟังว่า  ในคลินิกมีอาจารย์ที่ไม่ค่อยใส่ใจตรวจงานของนักศึกษา  และขึ้นเช็คงานช้า ลงจากคลินิกก็เร็ว ทำให้นักศึกษาไม่ค่อยได้เรียนรู้ และทำงานไม่ทัน  นักศึกษาคนนี้รู้สึกคับข้องใจกับอาจารย์ท่านนี้ค่อนข้างมาก

อยากจะบอกว่าในสมัยที่อาจารย์เรียนอยู่ก็มีอาจารย์แบบนี้เหมือนกัน  จึงเห็นว่าเรื่องอย่างนี้มีมานานแล้ว  และดูเหมือนจะเป็นปกติในโรงเรียนทันตแพทย์หรือแม้แต่ในสถาบันการศึกษาอื่นๆ 

ที่ว่าเป็นเรื่องปกตินั้นไม่ได้หมายความว่าเป็นเรื่องดี  แต่มันคือ "ธรรมชาติ" ของสังคมที่เราคงเปลี่ยนแปลงไม่ได้  คำแนะนำในเบื้องต้นมี 2 วิธี ดังนี้

วิธีที่หนึ่ง  ศิษย์ลองหวนคิดถึงตัวเองสักหน่อยดีไหม  ว่าถ้าเราเกิดกลับร่างเป็นอาจารย์ท่านนั้น  ต้องมีวิถีชีวิต มีครอบครัว มีปัญหาแบบนั้น เราจะยังทำเหมือนกับที่อาจารย์ท่านนี้ทำหรือไม่  นั่นก็คือหลักอิทัปปัจจยตาของศาสนาพุทธ  คือทุกปรากฏการณ์บนโลกนี้ล้วนมีที่มาและมีที่ไป และเป็นเหตุผลสืบเนื่องกัน  ดังนั้นเราอาจจะต้องให้โอกาสอาจารย์ท่านนั้น คือพยายามเอาใจท่านมาใส่ใจเราดูก่อน  บางครั้งปัญหาความไม่เข้าใจหลายอย่างจะมีคำตอบได้จากวิธีนี้

วิธีที่สอง  หากอาจารย์ท่านนั้นทำไม่ถูกต้องจริงๆ  (หมายถึงหากเราพยายามเอาใจท่านมาใส่ใจเราแล้ว  ก็ยังรู้สึกว่าท่านทำเกินไป)  อาจารย์ก็อยากให้นึกถึงกราฟรูประฆังคว่ำที่ อ. นพ. บุญเลิศเคยพูดให้ฟัง (มีรายละเอียดอยู่ใน blog ความเห็นเรื่อง "ขาดความมั่นใจในการเรียน")  ว่าอาจารย์ท่านนั้นคงตกอยู่ในส่วน 5% สุดท้ายของคนที่เป็นอาจารย์  ดังนั้นลองแผ่เมตตาให้ท่าน  เพื่อให้ท่านเกิดปัญญาและขยับตัวเองมาอยู่ในกลุ่มปกติ

ชีวิตของศิษย์คงไม่ได้ขึ้นกับอาจารย์ท่านนี้ท่านเดียวหรอก  และก็คงไม่ได้อยู่ด้วยกันไปตลอดชีวิต  เดี๋ยวเราก็จากกันไปแล้ว  ดังนั้น  การที่ตัวเราเองรู้เท่าทันสถานการณ์เหล่านี้ แล้วตั้งสติ  สร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเองน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดของปัญหาในลักษณะนี้

ป.ล. สังคมของเราทุกวันนี้ แม้ดูเหมือนมีคนที่สร้างปัญหาให้คนอื่นมาก แต่ก็ยังเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับประชากรโลก (5% ของสังคม) เรายังมีคนปกติที่เป็นคนดีและช่วยจรรโลงสังคมอีกมากกว่านั้น  การกำจัดคนในกลุ่มนี้ออกไปจากสารบบย่อมทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ขึ้นกับกรรมเวรของแต่ละคน  เราคงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะพานพบคนเหล่านี้บ้างในชีวิต  ดังนั้น การที่ตัวเราสร้างภูมิคุ้มกัน โดยมีสติ รู้เท่าทันย่อมจะทำให้เราสามารถรอดพ้นจากปัญหาได้เสมอ

ขอให้เจ้าของคำถามและผู้เข้ามาอ่านบล็อกช่วยอีเมล์ถึงอาจารย์อ๊อดด้วยครับว่าได้รับประโยชน์จากคำแนะนำของเราหรือไม่ อย่างไร เพื่อเราจะได้นำไปปรับปรุง จะขอบคุณมาก

หมายเลขบันทึก: 73724เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2007 12:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

พี่ก็เคยไม่เข้าใจเหมือนกัน แต่ถ้าคิดดูดี ๆ แล้วจะพบว่าอาจารย์ก็เป็นเหมือน ๆ กันกับเรา ท่านก็อาจมีธุระ  มีความชอบหรือไม่ชอบในสิ่งต่าง ๆ ได้ มีลักษณะนิสัยที่แตกต่างกันไป ซึ่งบางอย่างเราอาจชอบหรือไม่ชอบก็ได้ ลองคิดย้อนดูมาที่ตัวเราก็จะพบว่าเพื่อนบางคนก็ชอบเรา บางคนก็อาจไม่ชอบเราก็ได้ ทั้ง ๆ ที่เราแสดงออกกับเพื่อน ๆ เหมือนกัน แต่การที่เราเป็นนักศึกษา การเรียน lecture ก็ทำให้เราเครียดอยู่แล้ว และเวลาขึ้นปฏิบัติงานใน clinic ยิ่งเครียดมากขึ้นไปอีก ดังนั้นพี่คิดว่าเราควรที่จะตั้งสติให้ดี ควรมีความเคารพต่ออาจารย์ และมุ่งความสนใจไปที่การให้การรักษาผู้ป่วยและการศึกษาหาความรู้ให้มากที่สุด โดยไม่มีอคติ จะทำให้เรามีความสุขมากขึ้นในการเรียน ซึ่งการเริ่มต้นที่ดีก็จะทำให้มีความสุขไปตลอดวัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท