"เรื่องเล่าจากดงหลวง" เรื่องที่ 8 วันนี้เป็นวันสำคัญของชาวไทยอีสานโบราณ


สิ่งที่สะท้อนจากประเพณีการเปิดประตูเล้าข้าวที่ยังเหนียวแน่นอยู่ในกลุ่มราษฎรไทยเชื้อสายกะโซ่ แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชนเผ่าที่นอกเหนือจากความเชื่อในจิตวิญญาณของธรรมชาติแล้ว ชาวกะโซ่ยังให้ความสำคัญต่อข้าวเป็นอย่างสูง และให้ความสำคัญต่อทุกขั้นตอนการผลิตข้าว ตั้งแต่แรงงานสัตว์ เครื่องมือคราดไถ จนถึงการเตรียมพื้นที่เพาะปลูก

ความสำคัญ 

วันที่ 21 มกราคม 2550 คือวันนี้เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของชาวไทยอีสาน ท่านที่เป็นชาวอีสานคงจะงง งง ว่ามันสำคัญอย่างไร ? จริงๆแล้ว วันที่ ไม่ใช่ความสำคัญแต่บังเอิญมันตรงกับปฏิทินทางจันทรคติคือ เป็นวัน 3 ค่ำเดือน 3 ซึ่งเป็นวันที่ประเพณีโบราณของชาวไทยอีสานเรียกว่า วันเปิดประตูเล้าข้าว แต่ปัจจุบันนี้ประเพณีดังกล่าวได้ถูกละเลยงดเว้น หรือยกเลิกไปในแทบทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในแถบที่วิถีชีวิตชาวชนบทได้ถูกรบกวนโดยกระแสความเจริญทางด้านวัตถุ และวิถีแห่งเศรษฐกิจชาวเมือง ประเพณีทำขวัญยุ้งฉางข้าว หรือ บุญเปิดประตูเล้าข้าว เป็นประเพณีดั้งเดิมประจำถิ่นอีสาน ประเพณีนี้ ยังคงสืบทอดและปฏิบัติกันอย่างเหนียวแน่นในหมู่ของชนเผ่าที่อยู่รอบเทือกเขาภูพาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มราษฎรไทยเชื้อสายกะโซ่ ที่อำเภอดงหลวงจังหวัดมุกดาหาร ได้ถือเอาวันนี้ของทุกปีเป็นวัน ตรุษโซ่ซึ่งกิจกรรมที่จัดขึ้นในวันดังกล่าวเกือบทั้งหมดเกี่ยวเนื่องกับการทำนาแทบทั้งสิ้น เน้นให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อข้าวเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น การศึกษาวิถีชนเผ่าที่สะท้อนจากประเพณีที่อนุรักษ์กันมาอย่างเหนียวแน่นแล้วสอดแทรกแผนการพัฒนาด้านต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความต้องการพื้นฐานของชุมชน จึงน่าจะเป็นแนวทางการพัฒนาที่ประสบความสำเร็จ   

พิธีกรรม

กิจกรรมในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 เป็นพิธีกรรมที่ปฏิบัติเป็นรายครอบครัว โดยไม่มีการรวมกลุ่มกันจัดกิจกรรมแต่อย่างใด พิธีกรรมจะเริ่มในตอนเช้าโดยประกอบพิธีทำขวัญข้าวและยุ้งฉางเป็นอันดับแรก พาขวัญหรือ ภาชนะที่ใช้ประกอบพิธีประกอบด้วย ดอกไม้ ธูปเทียน 5 ชุด (ขันธ์ 5) ผ้าผืน แพรวา ข้าวเหนียวนึ่ง ไข่ต้ม ขนม น้ำ น้ำหอม ใบยอ ใบคูณ และด้ายผูกขวัญ เจ้าของเรือนเปิดประตูยุ้งฉางนำเครื่องประกอบพิธีไปวางไว้บริเวณหน้าประตู แล้วกล่าวคำทำขวัญข้าว   

คำกล่าวเริ่มด้วยการเชิญขวัญข้าวมาสถิตอยู่ในยุ้งฉาง ตามด้วยคำขอบคุณหรือการสำนึกในบุญคุณของข้าว และการร้องขอให้ผลผลิตข้าวในปีต่อไปเพิ่มพูนขึ้น จากนั้นจะนำน้ำหอมที่อยู่ใน พาขวัญไปประพรมทั่วบริเวณยุ้งฉางรวมถึง คราด ไถ และอุปกรณ์ที่ใช้ทำนาอื่น ๆ ที่มักเก็บรักษาไว้ในบริเวณยุ้งฉาง   

ต่อจากนั้น เป็นพิธีผูกขวัญวัวควายโดยนำด้ายมาผูกที่ เขา วัวควายที่อยู่ในคอกพร้อมกล่าวคำทำขวัญวัว ควาย คำกล่าวเริ่มด้วยการเชิญขวัญมาอยู่กับตัวของวัว ควาย การขออโหสิกรรมที่ดุด่าทุบตี คำขอบคุณหรือสำนึกในบุญคุณที่ช่วยเหลือในการไถนา และตามด้วยการร้องขอให้วัว ควาย ออกลูกเพิ่มเติมให้แพร่หลายยิ่งขึ้น   

พิธีกรรม

สุดท้ายเป็นการเตรียมพื้นที่สำหรับหว่านกล้าและดำนา โดยเกษตรกรจะนำปุ๋ยคอกไปหว่านยังแปลงนา พร้อมทั้งปรับแต่งคันนาที่ถูกปูนาเจาะ  และการปิดทางระบายน้ำออกจากแปลงนา เพื่อเตรียมเก็บกักนั้นในฤดูฝนที่จะมาถึง    

ปัจจุบันนี้ กิจกรรมเตรียมแปลงนาในบางพื้นที่ ได้ถูกจำกัดให้เหลือเพียงนามธรรม หรือปฏิบัติเฉพาะในแปลงนาที่จะหว่านกล้าเพียงกระทงนาเล็ก ๆ เท่านั้น การหว่านปุ๋ยคอกก็เช่นกัน ในหลายพื้นที่ปัจจุบันหว่านเพียงเล็กน้อยพอเป็นประเพณี   

นอกเหนือจากกิจกรรมที่เกี่ยวกับข้าวแล้ว ยังมีพิธีการผูกแขนผู้เฒ่า หรือผู้อาวุโสของแต่ละครอบครัว โดยลูกหลานหรือแม้แต่ผู้น้อยที่เคารพนับถือผู้ใหญ่ท่านนั้นๆก็จะมาร่วมพิธีโดยจะนำด้ายไปผูกที่แขนของผู้อาวุโสรุ่นปู่ ย่า ตา ยาย พร้อมทั้งกล่าวอวยพรให้มีสุขภาพแข็งแรง มีอายุยืนยาว และมอบเงินหรือสิ่งของเสื้อผ้าไว้ให้สำหรับใช้สอย แล้วก็จะกินข้าวพร้อมหน้ากัน พูดคุยกัน  

สรุป  

สิ่งที่สะท้อนจากประเพณีการเปิดประตูเล้าข้าวที่ยังเหนียวแน่นอยู่ในกลุ่มราษฎรไทยเชื้อสายกะโซ่ แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชนเผ่าที่นอกเหนือจากความเชื่อในจิตวิญญาณของธรรมชาติแล้ว ชาวกะโซ่ยังให้ความสำคัญต่อข้าวเป็นอย่างสูง และให้ความสำคัญต่อทุกขั้นตอนการผลิตข้าว ตั้งแต่แรงงานสัตว์ เครื่องมือคราดไถ จนถึงการเตรียมพื้นที่เพาะปลูก   

นอกจากนี้ ประเพณีดังกล่าว ยังแสดงถึงภูมิปัญญาโบราณของท้องถิ่นที่รู้จักการปรับปรุงบำรุงดินโดยใช้ปุ๋ยคอกอีกด้วย การเปิดประตูเล้าข้าวในเดือน 3 ยังเป็นการกำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะตรวจสอบคุณภาพ และปริมาณของข้าวที่เก็บไว้ในยุ้งฉาง ซึ่งอาจถูกทำลายโดยนก หนู หรือแมลงมอดต่าง ๆ นอกจากนี้ยังถือโอกาสซ่อมแซมยุ้งฉางในคราวเดียวกัน นอกจากนี้พิธีกรรมนี้ยังเป็นการเสริมสร้างคุณค่าด้านจิตใจอันดีงามยิ่งที่แสดงสำนึกต่อสิ่งมีชีวิตและธรรมชาติที่ได้พึ่งพาอาศัยกัน  ต่อสิ่งที่มีชีวิตคือ การแสดงคารวะต่อปู่ ย่า ตา ยาย ผู้อาวุโสในครัวเรือน ต่อสัตว์คือการแสดงการขออโหสิต่อ สัตว์เลี้ยงที่ใช้แรงงาน เช่น วัว ควาย   

การเข้าไปแสดงไมตรีและเอามือลูบไล้สัตว์อย่างเมตตานั้น เป็นเจตนาที่แสดงถึงด้านลึกแห่งสำนึกของจิตใจสูงส่งที่ประเพณีโบราณได้สร้างขึ้นและมีวาระที่ต้องแสดงออก ต่อเครือญาติและสรรพสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเพื่อยังชีพเพื่ออยู่เพื่อกิน ซึ่งการแสดงออกด้านลึกนี้หาไม่ได้กับการผลิตแบบการค้า ของสังคมสมัยใหม่  

แต่ปัจจุบันนี้ประเพณีดังกล่าวได้ถูกละเลยงดเว้นหรือยกเลิกไปในแทบทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในแถบที่วิถีชีวิตชาวชนบทได้ถูกรบกวนโดยกระแสความเจริญทางด้านวัตถุ และวิถีแห่งเศรษฐกิจชาวเมือง พี่น้องคนอีสานไม่สืบสานพิธีกรรมความเชื่อที่สวยงาม และสูงสุดด้วยคุณค่า ความหมาย เช่น พิธี 3 ค่ำเดือน 3 ต่อไปหรือครับ...

หมายเลขบันทึก: 73723เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2007 12:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 11:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท