"เรื่องเล่าจากดงหลวง" เรื่องที่ 7 ความขัดแย้งแบบเผชิญหน้า


การทำงานพัฒนาที่ไม่ได้ผลเต็มที่ก็คือการทำงานตามระเบียบราชการ ไม่ได้เอาชาวบ้านเป็นตัวตั้ง แต่เอาระเบียบราชการเป็นที่ตั้งจึงติดขัดไปหมด แม้ว่าเพื่อนข้าราชการบางท่านจะเอาชาวบ้านเป็นตัวตั้งแต่ก็ไม่สามารถจะข้ามระเบียบราชการไปได้ สรุปว่างานพัฒนาชนบทนั้นการทำงานภายใต้ระเบียบราชการมีข้อจำกัดมาก ไม่อาจเป็นเงื่อนไขการทำงานที่เสริมพลังชุมชนอย่างแท้จริงได้

1.             Mob: มหาวิทยาลัยเป็นอาณาเขตที่อิสระเสรี เป็นขอบเขตผืนแผ่นดินที่เป็นต้นเรื่องของการเดินขบวนต่อต้านผู้ที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริตต่างๆทางสังคม สมัย 14 ตุลา 16 ขบวนการนักศึกษากำลังเติบโตเต็มที่ การเคลื่อนไหวสาระทางการบ้านการเมืองจึงมีมาก จากในรั้วมหาวิทยาลัยจนออกไปถึงชาวไร่ชาวนา จนเกิดคลื่นการเดินขบวนกันบ่อย ซึ่งสังคมสมัยนั้นเป็นยุคเผด็จการ มีการคอรัปชั่นมีความไม่ยุติธรรมมากมาย 

นักศึกษาจึงเป็นหัวหอก Mob จึงเกิดบ่อยครั้งจากเรื่องเล็กไปสู่เรื่องใหญ่ จากเรื่องเฉพาะท้องถิ่นไปจนถึงเรื่องระดับชาติ ในความหมายของ Mob  ก็คือการจัดขบวนการคนออกไปต่อต้านสิ่งไม่ดีไม่งามทั้งหลายในสังคมโดยสันติ

2.             การก่อตัวความขัดแย้งที่บ้านหนองหมู: เมื่อปี พ.ศ. 2545 โครงการมีแผนงานพัฒนาถนนสายหนึ่งจะต้องสร้างผ่านหมู่บ้านหนองหมูไปสิ้นสุดที่ริมห้วยบางทรายที่อีกฝั่งหนึ่งเป็นถนนดำสายหลักที่ชื่อ ถนนเปรมพัฒนา

บ้านหนองหมูสมัยนั้นเป็นหมู่บ้านปิดเพราะที่ตั้งหมู่บ้านอยู่บนฝั่งขวาห้วยบางทรายไม่มีสะพานข้าม ต้องเดินหรือข้ามสะพานแขวน สร้างความเดือดร้อนมาก โดยเฉพาะการนำผลผลิตการเกษตรออกขาย.. ชาวบ้านร้องเรียนราชการให้ช่วยสร้างสะพาน แต่ไม่ผ่านกรอบระเบียบเพราะจะต้องใช้งบประมาณนับสิบล้านบาท มีผู้ได้ประโยชน์เพียงหมู่บ้านเดียว ไม่คุ้ม 

ส.ป.ก.จะสร้างถนนให้มาจ่อริมห้วยรองบประมาณหน่วยใดก็ได้ที่พิจารณาสร้างสะพาน... เมื่อ ส.ป.ก.ลงมือก่อสร้างโดยบริษัทผู้รับเหมา เรื่องก็เกิดขึ้น ผู้นำชาวบ้านที่เป็น อบต.คนหนึ่งแจ้งทาง ส.ป.ก. ว่า ไม่ให้ส.ป.ก.ทำถนนแล้ว จะให้ สำนักงานทางหลวงชนบท (รพช.เดิม) เป็นผู้สร้าง

......ทุกคนงง มันเป็นอย่างไรกัน...เมื่อติดตามข้อมูล..พบว่าเกิดการซ้ำซ้อนในการก่อสร้างถนนขึ้น คือ ส.ป.ก.กับ ทางหลวงชนบทมีแผนตรงกันที่จะสร้างถนนเข้าบ้านหนองหมู โดยเงื่อนไขของ ทางหลวงชนบทดีกว่ากล่าวคือ จะสร้างสะพานด้วย และขนาดถนนที่จะสร้างกว้าง 6 เมตรตามมาตรฐาน ส่วน ส.ป.ก.ไม่มีสะพานและขนาดถนนเพียง 4 เมตรแต่ ส.ป.ก.ยาวมากกว่า ชาวบ้านไม่พอใจ ส.ป.ก. และระดมคนจะเดินขบวนไปร้องต่อผู้ว่าราชการจังหวัด...และยื่นเงื่อนไขให้ คนของ ส.ป.ก.ไปเจรจาที่หมู่บ้านหนองหมูภายในวันนั้น...

3.             เผชิญหน้า Mob : เจ้าหน้าที่ราชการเมื่อทราบรายละเอียดไม่มีใครเสนอตัวเข้าไปเจรจากับกลุ่มชาวบ้านเลย ผู้เขียนรับอาสาเผชิญ Mob ลานกลางหมู่บ้านมีชาวบ้านประมาณ 150 คนนั่งเกาะกลุ่มกันอยู่ แต่ละคนคุยเสียงดัง หน้าตาจะเอาเป็นเอาตาย 

ฝ่ายราชการนำคณะนายช่างควบคุมงาน ส.ป.ก. ผู้รับเหมาก่อสร้าง และเจ้าหน้าที่อื่นๆอีก 2-3 คน ไปนั่งเก้าอี้เผชิญหน้ากลุ่มชาวบ้าน  แล้วการเจรจาก็เริ่มโดยผู้นำชาวบ้านลุกขึ้นกล่าวสาระรายละเอียดต่างๆและปัญหาที่เกิดขึ้น แน่นอนจะรวมไปถึงความบกพร่องของฝ่ายราชการ คนของทางราชการ พนักงานบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่อาจจะพลาดพลั้งไปในเรื่องต่างๆระหว่างการทำงาน ทั้งวาจา ท่าที

ขณะผู้นำพูดนั้นจะมีเสียงชาวบ้าน เฮ ฮาเสียงดังลั่น ในทำนองเห็นด้วยกับผู้นำ mob ผู้เขียนลุกขึ้นกล่าวถึง แผนงานของ ส.ป.ก.ที่จะสร้างถนนเข้าหมู่บ้าน ซึ่งก็เป็นความต้องการของชาวบ้าน การจัดทำแผนงานก็จะต้องมาปรึกษาหารือกับผู้ใหญ่บ้าน เจ้าของที่ดิน ส.ป.ก.ที่ถนนจะผ่านแล้ว ทุกคนก็ไม่ขัดข้อง และเป็นเจตนาดีของทางราชการที่จะทำถนนเพื่อให้เกิดประโยชน์กับชาวบ้าน  แต่เมื่อมาเป็นแผนงานที่ซ้ำซ้อนกันเช่นนี้ ก็ต้องร่วมกันพิจารณาทางระเบียบราชการโดยเอาผลประโยชน์ของชาวบ้านเป็นที่ตั้ง

บัดนี้ชาวบ้านหนองหมูยืนยันต้องการให้ทางหลวงชนบทเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างถนนและสะพาน แต่ทาง ส.ป.ก.ก็ติดขัดเรื่องการยกเลิกสัญญาก่อสร้างซึ่งจะเป็นความเสียหายต่อทางราชการเช่นกัน ขอเวลาให้ฝ่ายราชการปรึกษาหารือกัน 2 วันแล้วจะมาประชุมกันใหม่ที่นี่

4.             ราชการเผชิญหน้ากัน: เจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. ระดมความคิดกันและยืนยันความถูกต้องที่จะก่อสร้างต่อไป เมื่อเผชิญหน้าเจรจาปรากฏว่าทางหลวงชนบทก็ยืนยันที่จะดำเนินการต่อไปเพราะเป็นคำสั่งที่มาจากราชเลขาและเป็นการก่อสร้างตามการเสนอขอจากบ้านหนองหมูเอง

....เอาละซี...ผู้เขียนเห็นการระเบิดครั้งใหญ่ของกาแลกซี่อยู่ข้างหน้าแล้ว...แต่ในที่สุดการประนีประนอมก็เกิดขึ้นแบบ วินวินเมื่อผู้รับเหมาทาง ส.ป.ก. ใจป้ำ ตัดสินใจขอเป็นผู้ก่อสร้างถนนเองโดยใช้มาตรฐานทางหลวงชนบทคือถนนกว้าง 6 เมตรตามระยะที่ทางหลวงชนบทมีแผนไว้ ส่วนสะพานทางหลวงชนบทก็สร้างต่อไปตามแผนงาน 

เรื่องก็จบลงโดยมีอารมณ์คั่งค้างไปบ้าง ผลประโยชน์ชาวบ้านได้เต็มที่ ได้สะพานที่หวังมานับสิบ สิบ ปี ได้ถนนมาตรฐานทางหลวงชนบท ได้ถนน ส.ป.ก.ตามระยะเดิม....

5.  ประเด็น:

§      การบูรณาการแผนงานพัฒนาพื้นที่ เมื่อใดจะสำเร็จเป็นรูปธรรมเสียทีหนอ..

§      การทำงานพัฒนาที่ไม่ได้ผลเต็มที่ก็คือการทำงานตามระเบียบราชการ  ไม่ได้เอาชาวบ้านเป็นตัวตั้ง  แต่เอาระเบียบราชการเป็นที่ตั้งจึงติดขัดไปหมด  แม้ว่าเพื่อนข้าราชบางท่านจะเอาชาวบ้านเป็นตัวตั้งแต่ก็ไม่สามารถจะข้ามระเบียบราชการไปได้ งานพัฒนาชนบทนั้นการทำงานภายใต้ระเบียบราชการมีข้อจำกัดมาก ระบบและระเบียบราชการมีโอกาสพัฒนาให้เอื้อต่องานพัฒนาจริงบ้างหรือไม่นี่..??

หมายเลขบันทึก: 73641เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2007 19:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีคะ คุณบางทราย

แวะมาเยี่ยม เอากำลังใจจากเด็กรักป่า มาฝากคะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท