ทักษะการสอน (ต่อ)


วิชาชีพครูจะต้องใช้ศิลปะในการจัดการเรียนรู้ให้เกิดประสิทธิภาพ

ทักษะการใช้คำถาม

    ทักษะการใช้คำถาม คือ ความสามารถในการใช้คำพูดหรือประโยคที่มีแนวโน้มที่จะกระตุ้นหรือดึง (elicit) การตอบสนองของผู้เรียนออกมา จุดมุ่งหมายที่ครูใช้คำถามถามนักเรียนมีหลายประการด้วยกัน  เช่น ต้องการทราบว่านักเรียนเข้าใจหรือรู้เรื่องที่ครูสอนแล้วหรือไม่เพียงไร   นักเรียนอ่านหรือทำการบ้านที่กำหนดให้หรือไม่ หรืออาจจะถามเพื่อเร้าความสนใจหรือทำความกระจ่างในจุดใดจุดหนึ่งโดยตรงก็ได้  การใช้คำถามนับว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากสำหรับการสอนในปัจจุบัน ที่ผู้สอนควรจะใช้คำถามเป็นสื่อให้ผู้เรียนได้คิดตาม หรือเป็นสื่อในการให้ผู้เรียนได้เสาะแสวงหาความรู้ด้วยตัวของเขาเอง ครูควรใช้คำถามเป็นสื่อตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นการสอนด้วยวิธีใด เช่น การสาธิตประกอบการใช้คำถาม หรือการบรรยายประกอบกับการใช้คำถามเพื่อสร้างความเข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้วิธีสอนแบบสืบเสาะหาความรู้แล้ว  จะขาดการใช้คำถามประกอบในขั้นตอนการอภิปรายก่อนการทดลอง การทดลอง และการอภิปรายหลังการทดลองไปไม่ได้เลย คำถามที่ใช้กันโดยทั่วไปมีหลายลักษณะ ดังนี้
1.  คำถามขั้นพื้นฐาน เป็นคำถามที่ต้องการคำตอบในระดับ ความรู้ ความเข้าใจ และการนำไปใช้  ตัวอย่างคำถามได้แก่
    1.1  การถามเกี่ยวกับข้อเท็จจริง ซึ่งมักจะประกอบด้วยคำว่า “ใคร” “อะไร” “เมื่อไร” และ “ที่ไหน”  เป็นการถามให้ผู้เรียนระลึกถึงข้อมูลหรือสิ่งที่เคยเรียนมาก่อน   เช่น ถามว่า จังหวัดในเขตภาคเหนือตอนล่างได้แก่จังหวัดอะไรบ้าง หรือใครคือบิดาแห่งวิทยาศาสตร์
    1.2  การถามให้อธิบาย  เป็นคำถามที่ยากกว่าการถามเกี่ยวกับข้อเท็จจริง  แต่การตอบก็ยังคงอาศัยความจำเป็นสำคัญ แต่ผู้ตอบจะต้องอาศัยความสามารถในทางเหตุผลหรือความสามารถในการมองเห็นความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ ที่จำได้ประกอบกันด้วย จึงจะสามารถตอบคำถามได้ ซึ่งมักจะประกอบด้วยคำว่า “อย่างไร” เช่น ถามว่า “พระนเรศวรมหาราชรบชนะพระมหาอุปราชได้อย่างไร”
    1.3  การถามถึงการนำความรู้ไปใช้ในการแก้ปัญหาที่คล้ายกับสถานการณ์ที่เรียน หรือต้องประยุกต์ใช้ความรู้เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องที่เรียน หรือเรื่องใหม่ หรือการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน เช่น ถามว่า นักเรียนจะนำหลักการของการนำความร้อน ไปใช้ในชีวิตประจำวันของนักเรียนได้อย่างไรบ้าง
    1.4  คำถามเพื่อให้แก้ปัญหา  เป็นการถามให้นักเรียนใช้ความรู้เดิมที่เคยเรียนมาแก้ปัญหาใหม่ ๆ ที่เขาประสบ เช่น “จงหาสมการของวงรีที่มีจุดยอดอยู่ที่ (6,0) และ (-6,0) และมีโฟกัสจุดหนึ่งอยู่ที่ (5,0)” หรือ ”นักเรียนจะนำกฎเมนเดลมาใช้ในการคัดเลือกพันธุ์ได้ อย่างไร”
2.  คำถามขั้นสูง เป็นคำถามในระดับที่สูงกว่าการนำไปใช้ ได้แก่ การถามเพื่อให้วิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมินค่า รวมทั้งคิดอย่างสร้างสรรค์ โดยมุ่งให้ผู้เรียนคิดแบบนามธรรม โดยอาศัยข้อเท็จจริงหรือคำอธิบาย แล้วนำไปสรุปหาความสัมพันธ์ ความหมาย เปรียบเทียบ อ้างอิง และเหตุผล เพื่อหาคำตอบถูก ปกติคำถามประเภทนี้จะมีคำ “ทำไม” ประกอบอยู่ด้วยเสมอ ผู้สอนมักมักนิยมใช้ถามเพื่อดูความสามารถด้านการคิดของผู้เรียนลักษณะของคำถามประเภทนี้คือ
    2.1 คำถามเพื่อให้ประเมิน  เป็นคำถามที่ต้องการให้ตัดสินใจ หรือเลือกโดยใช้คุณค่าเป็นเกณฑ์ เช่นถามว่า “การลอกงานเพื่อนเป็นสิ่งที่ควรกระทำหรือไม่เพราะเหตุใด”
    2.2  คำถามเพื่อให้อ้างอิง  เป็นการถามให้อุปมาน (inductive)  คือถามให้สรุปหรือค้นพบกฎเกณฑ์จากการรวบรวมข้อมูลหรือข้อเท็จจริงหลาย ๆ อย่าง และให้อนุมาน (deductive) คือถามให้นำกฎเกณฑ์หรือทฤษฎีไปอธิบายเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์ต่าง ๆ เช่นถามว่า
 “ถ้าอุณหภูมิของก๊าซเท่าเดิม  เมื่อนำก๊าซนี้ไปไว้สูง 4,000 ฟุตเหนือระดับน้ำทะเล ความดันของก๊าซจะเป็นอย่างไร เพราะเหตุใด”  (อนุมาน)
 “จงบอกคุณสมบัติที่สำคัญที่ผู้นำในโลกทั่ว ๆ ไปมีอยู่ พร้อมทั้งบอกถึงลักษณะของผู้นำที่ท่านอยากเป็น เพราะเหตุใดจึงคิดเช่นนั้น”  (อุปมาน)
    2.3  คำถามเพื่อให้เปรียบเทียบ  เป็นการถามให้ผู้เรียนบอกความแตกต่าง ความคล้ายคลึง ความสัมพันธ์ และความขัดแย้งกันของความคิดหรือสิ่งของต่าง ๆ เช่น “การเป็นคนเก่งและดีกับคนเก่งแบบเห็นแก่ตัวเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร” หรือ “สารสองหมู่นี้มีคุณสมบัติเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร”
    2.4  คำถามเพื่อให้หาเหตุและผล  เป็นคำถามที่ให้ผู้เรียนหาความสัมพันธ์ระหว่างเหตุการณ์ บุคคล วัตถุ ความคิด ว่าอะไรเป็นเหตุผลกัน เช่น “นักเรียนคิดว่าอะไรเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มนุษย์มีวิวัฒนาการ”
    2.5  คำถามเพื่อให้คิดริเริ่ม นิยมใช้คำถามแบบอเนกนัย (Divergent Question)  เป็นการถามความคิดริเริ่มเป็นคำถามแบบเปิด ผู้เรียนมีอิสระเต็มที่ในการคิดและการตอบ เช่น ถามว่า “นักเรียนเชื่อว่าโลกจะแตกหรือไม่ เพราะเหตุใด” หรือ “ทำอย่างไรประชากรของโลกจึงจะอยู่กันอย่างมีสันติภาพ”
    2.6  คำถามเพื่อให้เกิดการค้นพบ โดยใช้คำถามและคำตอบก่อน ๆ เป็นแนวทาง (Probing Questions)  เป็นการถามที่เริ่มด้วยผู้สอนให้ผู้เรียนตอบคำถาม แล้วใช้    คำตอบของผู้เรียนเป็นแนวในการถามเพื่อให้ผู้เรียนตอบหรือเข้าใจในสิ่งที่ผู้สอนต้องการ เช่น
              ครู :   รากที่สองของ 54 คืออะไร
  นักเรียน  : ไม่ทราบครับ
  ครู  : รากที่สองของ 64 คืออะไร
  นักเรียน  :  8 ค่ะ
  ครู : ดีแล้ว  รากที่สองของ 49 เท่ากับเท่าไร
  นักเรียน  : 7  ค่ะ
   ครู  :            แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่ารากที่สองของ 54 เท่ากับเท่าไร
  นักเรียน  :            หนูว่ามันจะต้องมีค่าระหว่าง 7 กับ 8 ค่ะ
คำถามประเภทนี้มีลักษณะสำคัญคือ หลังจากผู้เรียนตอบจบแล้ว ผู้สอนควรเริ่มถามคำถามทันที เพื่อให้ผู้เรียนคิดสอดคล้องสัมพันธ์กับคำตอบเดิมของเขาเอง
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เสนอว่าการตั้งคำถามมี 4 ระดับ เรียกว่า O-E-P-C ซึ่งเหมือนกับระดับขั้นของการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ ดังนี้
1.  คำถามขั้นการสังเกต  (Observation Question)  เป็นคำถามที่ให้ผู้ตอบใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าในการรับรู้และตอบปัญหา   หรือเป็นการรวบรวมข้อมูล  เพื่อวิเคราะห์ปัญหาและแก้ปัญหาในขั้นต่อไป เช่น เมื่อเทน้ำใส่กระป๋องใบหนึ่งจนเต็มแล้วเปิดจุกที่ปิดรูบนกระป๋องในระดับต่าง ๆ ทำให้น้ำพุ่งออกมา  ครูถามว่า “น้ำจากรูที่เท่าไรไหลแรงหรือไกลที่สุด”
2.  คำถามขั้นการอธิบาย  (Explanation Question) หมายถึงคำถามที่ต้องการให้ผู้ตอบใช้เหตุผลประกอบกับข้อมูลต่าง ๆ ที่รวบรวมได้จากการสังเกตในสถานการณ์ปัจจุบันและจากความรู้เดิม เช่น จากตัวอย่างการทดลองในข้อ 1. ผู้สอนอาจถามให้ผู้เรียนตอบว่า “ทำไมน้ำในรูล่างสุดจึงไหลออกไปไกลที่สุด”
3.  คำถามขั้นการตั้งสมมติฐานหรือขั้นการทำนาย  (Prediction Question)  เป็นคำถามที่ต้องการให้ผู้ตอบคาดการณ์ว่าจะเกิดอะไรขึ้น  เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่าง หรือคาดการณ์เพื่อขยายข้อสรุปในขั้นอธิบายให้กว้างขวางออกไป จากตัวอย่างการทดลองในข้อ 1.ครูอาจถามนักเรียนในขั้นนี้ได้ว่า  “ถ้าเจาะรูที่ก้นกระป๋อง น้ำที่ไหลออกจากรูที่เจาะใหม่จะไหลค่อยหรือแรงกว่าน้ำที่ไหลออกจากรูเดิม”
4.  คำถามขั้นควบคุมและสร้างสรรค์  (Control and Creativity Question)  เป็นคำถามที่ต้องการให้ผู้เรียนนำกฎเกณฑ์และความรู้ต่าง ๆ ที่มีอยู่ไปประยุกต์ให้เข้ากับเหตุการณ์หรือสิ่งอื่น ๆ เป็นการคิดสิ่งที่แปลก ๆ ใหม่ ๆ ออกมา จากตัวอย่างการทดลองในข้อ 1. ผู้สอนอาจถาม ผู้เรียนว่า “ถ้าเราดำน้ำลึกจะรู้สึกอย่างไร เพราะเหตุใด”
หลักในการสร้างคำถาม
1.  คำถามที่สร้างขึ้นต้องมีคุณค่าทางวิชาการและเร้าให้อยากตอบ
2.  คำถามควรเป็นประเภทปลายเปิด จะช่วยทำให้ผู้เรียนทุกคนกระตือรือร้นที่จะตอบ เพราะเป็นคำถามในลักษณะให้แสดงความคิดเห็น ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนได้ใช้ความคิดประกอบการใช้เหตุผลในการตอบ ส่วนคำถามประเภทปลายปิดที่มีคำตอบคงที่ตายตัวควรจะลดจำนวนการใช้ลง
3.  คำถามควรเน้นให้ผู้เรียนได้อธิบายประกอบกับการใช้หลักเหตุผลในการตอบ ซึ่งอาจจะใช้คำว่า “อย่างไร” ประกอบ เช่น “กราฟที่มีสมการเป็น 9x2  - 16 y2  = 144 มีลักษณะอย่างไร” หรือ “ทำอย่างไรจึงจะเรียกว่ามีการนำเสนอข้อมูลอย่างเป็นแบบแผน”
4.  คำถามควรมุ่งถามเหตุผลซึ่งมักจะประกอบด้วยคำว่า “ทำไม” หรือ “เพราะเหตุใด” เช่น ถามว่า “ทำไมจึงเกิดรุ้งกินน้ำ” หรือ “เพราะเหตุใดครูจึงควรสอนให้เด็กเกิดกระบวนการเรียนรู้มากกว่าการสอนความรู้ให้เขา”
5.  คำถามที่ดีจะต้องช่วยให้ผู้เรียนได้พัฒนาความสามารถด้านการคิด มีพัฒนาการทางสมองได้ดีขั้น โดยประกอบไปด้วย
     5.1  การรับรู้  (perceiving)  เป็นการถามเพื่อให้ผู้เรียนจดจ่อหรือใส่ใจในเรื่องที่กำลังเรียน
     5.2  การสัมพันธ์  (relating)  เป็นการถามเพื่อให้ผู้เรียนนำข้อมูลต่าง ๆ มาสัมพันธ์กัน เพื่อความเข้าใจและกระจ่างแจ้งในเรื่องที่ได้เรียนไป
     5.3  ถามความจำหรือการระลึกได้  (reproducing)  เป็นการถามเรื่องราวหรือ  ข้อมูลต่าง ๆ จากความจำของผู้เรียน
     5.4  ถามให้ประยุกต์  (applying) เป็นการถามเพื่อให้ผู้เรียนนำข้อมูลที่ได้รับไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในสถานการณ์หรือปัญหาใหม่ที่ไปพบ
     5.5  ถามให้วิเคราะห์  (analyzing) เป็นการถามเพื่อให้ผู้เรียนแยกแยะรายละเอียดและข้อเท็จจริงต่าง ๆ จากข้อมูลที่ได้รับหรือเรียนรู้ไปแล้ว
     5.6  ถามให้ประเมินคุณค่า  (evaluating)  เป็นการถามเพื่อให้ผู้เรียนประเมิน คุณค่าหรือตัดสินใจในเหตุการณ์หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่าดี เลว ถูก หรือ ไม่ถูกอย่างไร
     5.7  ถามให้สร้างหรือผลิตสิ่งใหม่  (producing) เป็นการถามเพื่อให้ผู้เรียนรู้จักสังเคราะห์สิ่งต่าง ๆ ขึ้นมา เช่น ถามว่า “ถ้าเป็นตัวท่านในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ท่านจะสร้างรูปแบบของการสอนได้อย่างไร”
6.  พยายามหลีกเลี่ยงคำถามที่ต้องการคำตอบเพียง “ใช่” หรือ “ไม่ใช่”
7.  คำถามควรสั้นและชัดเจนที่สุด
8.  ใช้ภาษาง่าย ๆ ที่เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไป
ข้อควรปฏิบัติในการถามคำถาม
1. ควรถามคำถามก่อนแล้วจึงเรียกชื่อผู้เรียนให้ตอบ เพราะการเรียกชื่อก่อนจะทำให้เด็กคนอื่น ๆ ที่ไม่ถูกเรียกชื่อขาดความสนใจได้
2. เว้นช่วงเวลาหลังจากถามจบ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ใช้ความคิดในการตอบ โดยเฉพาะการถามเพื่อให้ผู้เรียนได้ใช้ความคิดและเหตุผล ควรจะต้องให้เวลาในการคิดพอสมควร การรีบเร่งเกินไปอาจทำให้ผู้เรียนรู้สึกอึดอัดและเบื่อ รวมทั้งอาจไม่ทำให้ผู้เรียนแสดงความคิดอันเฉียบคมของตัวเขาออกมาได้
3. เปลี่ยนคำถามหรือคำพูดใหม่ถ้าผู้เรียนยังตอบไม่ได้
4. แสดงการยอมรับคำตอบและคำถามของเด็กโดยไม่ต้องพูด อาจใช้ท่าทางประกอบ    ก็ได้ เช่น ยิ้ม พยักหน้า เป็นต้น
5. ถามผู้เรียนทั้งชั้นโดยไม่เจาะจงเฉพาะคนใดคนหนึ่ง
6. พยายามให้ผู้เรียนตอบในลักษณะที่พูดกับเพื่อนทั้งชั้น ไม่ใช่พูดกับผู้สอนเพียงคนเดียว
7. ให้การเสริมแรงเมื่อผู้เรียนตอบเสร็จแล้ว และถ้าตอบไม่ได้ หรือตอบผิดก็ไม่ควรจะ ดุว่า แต่ควรหายุทธวิธีอื่น ๆ ในการให้เขาพบคำตอบด้วยตนเองหรือจากเพื่อน ๆ ด้วยกันเอง
8. ไม่แนะแนวทางหรือคำตอบให้ทันทีหลังจากถาม จนกว่าเด็กจะไม่สามารถตอบได้จึงจะใช้คำถามแนะทีละน้อยทีละน้อย
สิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติในการถาม
1.  เปลี่ยนคำถามใหม่โดยที่เด็กยังไม่ตอบคำถามเดิม
2.  ถามคำถามซ้ำ ๆ ซาก ๆ โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้หยุดคิดเพื่อตอบคำถาม
3.  ผู้สอนตอบคำถามของตนเองเนื่องจากหมดความอดทนที่จะรอให้ผู้เรียนตอบ
4.  พูดซ้ำหรือทวนคำตอบของผู้เรียนเพราะจะทำให้ผู้เรียนไม่ค่อยตั้งใจฟัง

คุณลักษณะที่ประเมิน
1. ชัดเจน เข้าใจง่าย และเหมาะสมกับระดับและความสามารถของผู้เรียน
2. ถามได้ตรงตรงประเด็นตามจุดมุ่งหมาย และไม่มีหลายแง่
3. ส่งเสริมให้ผู้เรียนคิด
4. มีการหยุดเว้นระยะเพื่อให้ผู้เรียนคิดหาคำตอบ
5. มีการกระตุ้นให้ผู้เรียนสนใจในการตอบคำถามของผู้สอนอยู่เสมอ
6. มีการให้กำลังใจแก่ผู้เรียนในการตอบคำถาม เช่น คำชมเชยหรือท่าทางที่ให้กำลังใจในการตอบคำถาม     
7. ผู้เรียนส่วนใหญ่มีส่วนในการตอบคำถาม (แจกคำถามได้ทั่วถึง)
8. ในกรณีที่ผู้เรียนตอบไม่ได้ ผู้สอนมีวิธีการในการทำให้คำถามนั้นง่ายลง

หมายเลขบันทึก: 73574เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2007 07:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2012 15:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มีประโยชน์มากค่ะกำลังหางานส่งอาจารย์อยู่พอดี ขอบคุณมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท