การมีส่วนร่วมของประชาชน


ถ้าผุ้บริหารเทศบาลเชื่อในการมีส่วนร่วมของประชาชน ก็จะสนใจและขยันที่จะสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชน รวมทั้งขอความร่วมมือประชาชน ถ้าประชาชนเข้าใจและเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นทั้งต่อตนเองและส่วนรวม ก็จะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทำให้การงานต่างๆสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

การมีส่วนร่วมของประชาชน

              การทำงานของเทศบาลนครพิษณุโลก จะเน้นที่การมีส่วนร่วมของประชาชน นอกจากจะให้ประชาชนร่วมคิด เช่นการให้ประชาชนมีส่วนในการทำแผนพัฒนาเทศบาลแล้ว ยังได้ขยายลงไปถึงการทำแผนพัฒนาชุมชนประจำปี ซึ่งเป็นการจัดทำประชาคม ให้สมาชิกในชุมชนมีส่วนร่วมในการทำแผนพัฒนาชุมชนของตัวเองและได้เรียงลำดับความสำคัญหรือความต้องการของชุมชนนั้นๆไว้ด้วย ทางเทศบาลก็ได้นำเอาแผนดังกล่าวไปใช้ประกอบในการพิจารณาทำแผนพัฒนาเทศบาล

              ในการจะออกเทศบัญญัติการเลี้ยงและการปล่อยสุนัข ทางเทศบาลก็ได้จัดทำประชาคมเพื่อให้ประชาชนได้มาร่วมแสดงความคิดเห็นกันถึงสามครั้ง ทางผู้บริหาร สมาชิกสภาเทศบาลและพนักงานเทศบาลก็ได้รวบรวมความคิดเห็นต่างๆ รวมทั้งข้อเสนอแนะไปใช้ประกอบในการพิจารณายกร่างเทศบัญญัติฯ และหลังจากยกร่างเสร็จก็จะมีการนำเสนอและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอีกครั้งก่อนที่นำเข้าสู่สภาเพื่อให้สภาเทศบาลให้ความเห็นชอบประกาศใช้เป็นเทศบัญญัติต่อไป

              ประชาชนยังมีส่วนในการร่วมทำ ตัวอย่างเช่นการจัดการขยะมูลฝอยของเทศบาล สมัยก่อนเทศบาลมีรถขยะประมาณ 30 คัน มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานอยู่ประมาณ 100 กว่าคน แต่บ้านเมืองก็ยังสกปรก แถมยังเก็บค่าธรรมเนียมขยะมูลฝอยได้น้อย คือเก็บได้เพียงปีละประมาณ 5 แสนบาท ปัจจุบันมีรถขยะอยู่แค่ 17 คัน ( แถมยังเป็นรถสำรองถึง 2 คัน ) เจ้าหน้าที่เหลืออยู่แค่ 70 คน แต่บ้านเมืองสะอาดขึ้น สามารถเก็บค่าธรรมเนียมขยะมูลฝอยได้มากขึ้นถึงปีละเกือบ 10 ล้านบาท

               การที่สามารถทำเช่นนี้ได้ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเจ้าหน้าที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น แต่ที่สำคัญที่สุดเกิดจากการที่เทศบาลได้ให้โอกาสประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการขยะมูลฝอย

               ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผน ทางเทศบาลได้มีการจัดทำแผนเฉพาะการจัดการขยะมูลฝอยของเทศบาล โดยให้ประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้ามามีส่วนร่วมในการทำแผน และได้เริ่มขยายการจัดทำแผนการจัดการขยะมูลฝอยลงในชุมชนบางแห่ง มีการอบรมให้ความรู้ด้านการจัดการขยะมูลฝอยแก่ประชาชนในชุมชนและกลุ่มต่างๆเช่น ชมรมสตรีอาสาพัฒนา กลุ่มผู้ประกอบการอาหาร นักธุรกิจ สถานศึกษาในพื้นที่ กลุ่มเยาชน กลุ่มออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ฯลฯ พร้อมทั้งขอความร่วมมือในการจัดการขยะมูลฝอย เช่นช่วยในการคัดแยกของขายได้ ( หรือขยะรีไซเคิล ) ระดับครัวเรือน ช่วยคัดแยกขยะอินทรีย์หรือขยะชีวภาพทำปุ๋ยหมักที่บ้านหรือร่วมมือกันทำระดับชุมชน ช่วยจัดหาถังขยะของแต่ละครัวเรือนเอง นำถังขยะออกมาให้สัมพันธ์กับเวลาจัดเก็บ ทำให้ชุมชนปลอดถังขยะหรือถนนปลอดถังขยะ เทศบาลสามารถลดความถี่ในการจัดเก็บขยะมูลฝอยลงได้ บางชุมชนนัดหมายเทศบาลมาเก็บขยะสัปดาห์ละครั้ง หรืออย่างน้อยก็สามารถลดลงได้เป็นวันเว้นวัน ทั้งยังให้ความร่วมมืออย่างดีในการชำระค่าธรรมเนียมขยะมูลฝอย

               จากที่เล่าให้ฟังจะเห็นได้ว่า ถ้าผุ้บริหารเทศบาลเชื่อในการมีส่วนร่วมของประชาชน ก็จะสนใจและขยันที่จะสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชน รวมทั้งขอความร่วมมือประชาชน ถ้าประชาชนเข้าใจและเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นทั้งต่อตนเองและส่วนรวม ก็จะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทำให้การงานต่างๆสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

หมายเลขบันทึก: 73541เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2007 22:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 14:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

การมาทำงานในส่วนของการเป็นผู้เก็บขยะตัวจริง  มันทำให้เรียนรู้ว่า จริง ๆ แล้ว คนเก็บขยะ เป็นคนที่น่ารัก เพียงแต่ มุมมองของมาตรฐานงานต่างกัน ดีของเขา กับดีของเรา ไม่เท่ากัน   ถึงแม้ว่าเราพยายามที่จะวางแผนเส้นทาง และแผนการกำกับดูแล แต่ผลที่ได้ยังไม่น่าพอใจ

รู้สึกถึงความอ่อนหัดของตัวเอง ในด้านของ KM อยากได้ข้อมูล ในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร ที่ส่วนใหญ่ พื้นฐานความรู้ไม่เกิน ประถม  และมักจะนึกถึงปากท้องของตัวเองเป็นสำคัญ  

อยากพัฒนาประสิทธิภาพบุคลากรให้สอดคล้องกับการทำงานในส่วนของการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนค่ะ

ขอบคุณคุณ Iem มากครับที่มาเยี่ยมและช่วยแสดงความคิดเห็นไว้
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท