กระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ...เสริมสร้างพลังให้แก่เครือข่ายคนพิการ


            ระหว่างวันที่ 4-6 พฤศจิกายน 2548  แผนงานสร้างเสริมสุขภาพคนพิการในสังคมไทย ซึ่งนำโดยแพทย์หญิงวัชรา  ริ้วทอง ได้จัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อกำหนดแนวทางและแผนงานในการพัฒนาแกนนำเครือข่ายคนพิการ ซึ่งในเวทีนี้ได้เชิญเครือข่ายคนพิการจากหลากหลายองค์การเข้าร่วมเวที อาทิเช่น เครือข่ายผู้พิการทางร่างกาย เครือข่ายผู้พิการหูหนวก เครือข่ายผู้พิการตาบอด เครือข่ายผู้พิการทางจิต และเครือข่ายครอบครัว เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางและแผนงานในการพัฒนาแกนนำเครือข่ายคนพิการ   
            เวทีครั้งนี้ ได้เชิญ คุณทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการโครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาสถาบันการจัดการความรู้ชุมชนท้องถิ่น มาเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้กับแกนนำเครือข่ายคนพิการ หรือเรียกว่า
“ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” (Change Agent) โดยใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเครือข่ายคนพิการ
            การจัดกระบวนการเรียนรู้ในครั้งนี้ คุณทรงพลได้เน้น “กระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ” โดยให้ผู้เข้าร่วมเวทีได้รับชมภาพยนตร์สลับกับการถอดความรู้จากเนื้อหาของเรื่อง ซึ่งมีถึง 3 เรื่องด้วยกัน
            เรื่องแรกเป็นภาพยนตร์เกาหลี คือ เรื่อง “เสียงกู่จากครูใหญ่” ผู้ซึ่งมีอุดมการณ์ที่ว่า “การทำงานหนักเป็นดอกไม้ของชีวิต” ครูใหญ่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงจากจุดเล็กๆ ในโรงเรียน จนสร้างผลเป็นรูปธรรมให้คนทั้งชุมชนได้อยู่ดีมีสุขร่วมกัน โดยใช้ระยะเวลาถึง 8 ปีจึงจะประสบผลสำเร็จ
            เรื่องที่สองเป็นภาพยนตร์เกาหลีอีกเช่นกัน คือเรื่อง “วีรสตรีเกาหลี” ซึ่งเป็นเรื่องราวชีวิตของภรรยาซึ่งสามีเสียชีวิตกะทันหัน จึงจำเป็นต้องมาเลี้ยงดูครอบครัวของสามีตามประเพณี เธออดทนบุกเบิกพื้นที่ป่าเขาเพื่อนำมาเป็นพื้นที่ทำกินตลอดระยะเวลา 3 ปี จึงเห็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรมมีสวนไม้ผล ซึ่งทำให้ครอบครัวสามารถลืมตาอ้าปากได้ และได้ชักชวนเพื่อนบ้านให้มาร่วมกันตั้งสหกรณ์ส่งผลผลิตออกขายในตลาด สร้างถนนหนทางเข้าสู่หมู่บ้านเพื่อพัฒนาหมู่บ้านให้เกิดความเจริญ
            และเรื่องที่ 3 เป็นเรื่อง “15 ค่ำ เดือน 11” ซึ่งคุ้นชื่อคุ้นหูกันเป็นอย่างดี เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าความเชื่อของมนุษย์มีอยู่ในวิถีชีวิตซึ่งไม่อาจปฏิเสธได้ เป็นความเชื่อความศรัทธาต่อศาสนาและปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มนุษย์ต้องการพิสูจน์ให้ได้พบกับคำตอบ ซึ่งก็ไม่สามารถอธิบายได้ว่าบั้งไฟพญานาคเกิดขึ้นได้อย่างไร และสุดท้ายช่องว่างของความต่างระหว่างวิทยาศาสตร์ของโลกตะวันตกกับความเชื่อ ภูมิปัญญาของโลกตะวันออกจะสามารถหาจุดร่วมเข้าด้วยกันได้หรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้บอกไปแล้วก็คือไม่ว่าจะทำอะไร ในมุมมองไหน ความคิดเห็นแตกต่างกันอย่างไร สิ่งสุดท้ายทุกคนก็ต้อง “เชื่อในสิ่งที่ทำและทำในสิ่งที่เชื่อ”
            ภาพยนตร์ทั้ง 3 เรื่อง ได้สอนให้รู้ว่า ความศรัทธาต่อสิ่งที่เราทำหรือการมีใจรักในสิ่งที่ทำ ย่อมต้องมาก่อนสิ่งใดๆ ทั้งหมด เพราะถ้าใจไม่มาหรือไม่มีให้กับงานที่ทำเสียแล้ว ความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสร้างสรรค์งานให้สำเร็จก็เป็นไปได้ยากเช่นกัน
            การใช้สื่อภาพยนตร์ในกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ โดยใช้การถอดความรู้หลังจบกิจกรรม จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้เข้าร่วมเวทีได้นำไปใช้เพื่อหาจุดร่วมสำหรับการทำงานร่วมกันต่อไปในอนาคต เหมือนกับคำกล่าวที่ว่า “ดูหนัง ดูละคร แล้วย้อนดูตัวเรา” เพื่อนำข้อคิดจากภาพยนตร์มาสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เพื่อนร่วมเครือข่าย
            การสร้างแรงบันดาลใจมีหลายวิธีด้วยกัน และการเรียนรู้ร่วมกันอีกวิธีหนึ่งก็คือ การสนทนาแบบสุนทรียะหรือ Dialoque ซึ่งเป็นการสนทนากลุ่มโดยที่ไม่มีการกำหนดวาระ ไม่มีประเด็น ไม่มีหมวก บทบาท ตำแหน่ง ทุกคนสามารถพูดเรื่องอะไรก็ได้ ขณะเดียวกันทุกคนก็ต้องฟังผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง เข้าใจ ไม่ตัดสิน และสามารถเชื่อมโยง เปลี่ยนประเด็นก็ได้ เพราะประเด็นการพูดคุยทั้งหมดจะถูกโยนเข้ามาในวงตรงกลาง ไม่มีถูกไม่มีผิด เมื่อพูดแล้วก็เว้นให้เพื่อนคนอื่นได้พูดต่อไป
            สิ่งที่ได้รับจากการสนทนาแบบสุนทรียะสะท้อนให้เห็นว่าในเครือข่ายคนพิการนั้น ต้องการความเข้าใจจากสังคม ต้องการกำลังใจที่จะทำงาน และต้องการความเชื่อมั่นความศรัทธาต่อการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่จะสามารถขับเคลื่อนและพัฒนาคนพิการในสังคมไทยให้มีชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องหนุนเสริมแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ที่จะเข้ามาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในเครือข่าย แต่การที่จะเคลื่อนงานร่วมกันนั้น จำเป็นจะต้องมีการวางแผน กำหนดเข็มทิศที่จะเดินต่อไปข้างหน้า คุณทรงพลจึงได้ให้แต่ละเครือข่ายได้ร่วมกันระดมความคิดกำหนดแผนงานใน 1 ปีข้างหน้าเพื่อดำเนินงานร่วมกัน โดยให้ผู้ที่ต้องการพัฒนาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้เรียนรู้บนฐานงานจริงและยกระดับศักยภาพของตนเองให้เป็นคุณอำนวยกระบวนการเรียนรู้ที่จะไปผลักดันการจัดการความรู้ในเนื้องาน
            การสร้างแรงบันดาลใจจึงเป็นส่วนสำคัญสำหรับการจัดกระบวนการเรียนรู้แก่ผู้ทำงานขับเคลื่อนทางสังคม ให้ได้รับการหนุนเสริมความคิด ทัศนะคติ แนวคิดการทำงานซึ่งต้องเรียนรู้ผ่านเพื่อนร่วมอุดมการณ์                                                  ทำงาน และสิ่งที่คุณทรงพลได้ถ่ายทอดให้แก่เครือข่ายคนพิการครั้งนี้ ย่อมสะท้อนให้เห็นว่านอกจากเพื่อนร่วมอุดมการณ์แล้ว เราสามารถที่จะเรียนรู้ในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับตัวเองได้ ผ่านสื่อดีๆ ที่สามารถให้แง่คิด มุมมองและเสริมสร้างกำลังใจแก่กันได้ หากว่าเพื่อนคนใดหมดกำลังในการทำงานก็ลองหยิบหนังดีๆ ซักเรื่อง นำมาดูร่วมกันกับเพื่อนๆ และแชร์ความรู้สึก สร้างแรงบันดาลใจให้แก่กันก็ได้นะครับ…
ข้อสังเกตจากเวที :
1.      เวทีครั้งนี้ทำให้ผู้เขียนได้เห็นพลังบางอย่างที่สะท้อนออกมา นั่นคือ ความมุ่งมั่น ตั้งใจของผู้เข้าร่วมเวที แม้บางคนจะมีอุปสรรคต่อการมองเห็น บางคนมีอุปสรรคต่อการได้ยินต่อการพูด บางคนมีอุปสรรคต่อการเคลื่อนไหวร่างกาย แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ของผู้พิการแต่อย่างใด ด้วยใจที่มุ่งมั่นจึงสามารถเอาชนะต่ออุปสรรคของร่างกายได้
2.      ทุนเดิมของแต่ละคนมีอยู่สูงมาก จากที่สังเกตอาจจะเป็นเพราะผู้เข้าร่วมเวทีส่วนใหญ่เป็นตัวแทนจากองค์กรต่างๆ ซึ่งเคยผ่านประสบการณ์ทำงานทางสังคมและช่วยเหลือผู้พิการมาก่อนแล้ว เมื่อเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ ทุกคนก็สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยน รับฟังและจับประเด็นได้อย่างมั่นใจ สามารถเป็นคุณอำนวยในกลุ่มย่อยได้เป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นทุนเดิมของแต่ละคน เช่น ความรู้ ทักษะ ความสามารถ ความคิด จึงมีอยู่มากมายในเครือข่ายคนพิการ
3.      สิ่งสำคัญสำหรับการจัดกระบวนการเรียนรู้ คือ ต้องหมั่นเสริมกำลังใจ กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความเชื่อมั่นในศักยภาพที่ตนมีอยู่ และหนุนให้ผู้เรียนได้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนมากๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพคุณอำนวย
4.      การจัดกระบวนการเรียนรู้สำหรับคนพิการ จำเป็นต้องเข้าใจวัฒนธรรมการเรียนรู้สำหรับคนพิการ ต้องศึกษาข้อมูล/หลักสูตร วิธีการและการออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสม อันประกอบด้วย
                        - เกมสนุกๆ ผ่อนคลายความเครียด
                        - กิจกรรมเสริมการเรียนรู้ เช่น ดูหนัง ฝึกสมาธิ ฯลฯ
                        - และเนื้อหาหลักของกระบวนการเรียนรู้ในแต่ละครั้ง
                        เมื่อสะสมข้อมูลได้เพียงพอ (สรุปถอดความรู้หลังจบ) ก็สามารถนำมาสร้างเป็นหลักสูตรเรียนรู้การพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงสำหรับผู้พิการในครั้งต่อไปได้
5.      การพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลง จำเป็นต้องมีการติดตามการนำความรู้ไปใช้อย่างใกล้ชิด เพราะผู้นำการเปลี่ยนแปลงจะต้องทำงานในลักษณะของการทำงานเชิงรุก ต้องไปผลักดันให้งานในพื้นที่ขับเคลื่อน และผู้นำการเปลี่ยนแปลงจะต้องมีความสามารถในการออกแบบการเรียนรู้สำหรับจัดเวทีเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี
6.      ควรมีการทำทะเบียนประวัติของผู้เข้าร่วมเวทีพร้อมรูปถ่ายไว้เป็นฐานข้อมูลด้วย เช่น ชื่อ ที่อยู่ ประวัติการทำงาน ประวัติการฝึกอบรม ความต้องการในการฝึกอบรม ฯลฯ

            …

(บันทึกโดย ชยุต อินพรหม ; เจ้าหน้าที่โครงการฯ)

หมายเลขบันทึก: 7346เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2005 18:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 21:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

     ผมขออนุญาตนำมาปรับใช้กับเครือข่ายคนพิการ จว.พัทลุง ด้วยครับ ได้ผลอย่างไรจะเล่าไว้ที่ Blog ต่อไปครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท