บันทึกครั้งที่ ๑๓/๓ ตัวอย่างกรณีศึกษาจริงที่เกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า


ตัวอย่างกรณีจริงที่เกิดขึ้น

ตัวอย่างคดีเครื่องหมายการค้า เพื่อใช้ศึกษาทำความเข้าใจ 

 http://www.ipthailand.org/dip/index.php?option=com_docman&task=cat_view&gid=82&Itemid=162

คดีเครื่องหมายการค้าประเด็นเหมือนหรือคล้าย ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 คำพิพากษาฎีกาที่ 5567/2548 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2548

               บริษัท สยามคูโบต้าอุตสาหกรรม จำกัด       โจทก์
ระหว่าง
               บริษัท อามาโก้ปิโตรเลียม จำกัด ที่ 1 กับพวกรวม 11 คน จำเลย

               คดีนี้มีข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ได้ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปช้างมีปีก อยู่ในรูปเฟืองและคำว่า ช้างบิน รวม 2 คำขอ เพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 4 รายการสินค้า น้ำมันเกียร์ และน้ำมันเครื่อง ตามคำขอเลขที่ 363989 และ 363990 ตามลำดับ
              ต่อมาโจทก์ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ทั้ง 2 คำขอ โดยอ้างว่าเครื่องหมายของจำเลยที่ 1 คล้ายกับเครื่องหมายของโจทก์เป็นรูปช้างอยู่ในเฟือง ซึ่งนายทะเบียนได้มีคำวินิจฉัยว่าเครื่องหมายของทั้งสองฝ่ายไม่คล้ายกัน จึงไม่ขัดต่อมาตรา 13 และไม่ต้องห้ามตามมาตรา 8 (10) และ (11) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 โจทก์ได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเพื่อขอให้ระงับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ทั้ง 2 คำขอ และได้มีคำวินิจฉัยยืนตามนายทะเบียน โจทก์จึงได้ฟ้องคดีต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง คดีหมายเลขดำที่ ทป. 97/2544 ซึ่งศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
               โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ซึ่งได้วินิจฉัยว่า แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยที่ 1 จะเป็นรูปช้างอยู่ในฟันเฟืองเหมือนกัน แต่มีความแตกต่างกันอยู่หลายประการคือรูปช้างของโจทก์ไม่มีปีก แต่รูปช้างของจำเลยที่ 1 อยู่ในท่าทะยานบิน ใต้รูปมีอักษรคำว่า ช้างบิน ขนาดใหญ่ กำกับไว้ด้วย จะเห็นว่ารูปลักษณะองค์ประกอบโดยรวมแตกต่างกันชัดเจน เชื่อว่าสาธารณชนมองเห็นความแตกต่างนั้นได้ เมื่อพิจารณาถึงการเรียกขาน เครื่องหมายการค้าของโจทก์อาจเรียกขานได้ว่า ตราช้าง หรือช้างในเฟืองหรือช้างในฟันเฟืองตามที่โจทก์นำสืบ แต่ของจำเลยที่ 1 อาจเรียกขานได้ว่า ตราช้างบิน หรือช้างบินในเฟือง ตามที่โจทก์นำสืบ เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยที่ 1 จึงมีเสียงเรียกขานแตกต่างกัน สาธารณชนที่ได้เห็นหรือได้ยินเสียงเรียกขานย่อมเห็นและรู้ได้ว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิด ในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า จึงพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
กลุ่มงานคดี
23 กุมภาพันธ์ 2549

 คดีเครื่องหมายการค้า ประเด็นเหมือนหรือคล้าย คำพิพากษาฎีกาที่ 12590/2547 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2547

              บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) โจทก์
ระหว่าง
              บริษัท ยูเนียนเซลล์ จำกัด ที่ 1 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ 2
จำเลย
              กรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 3-12

              คดีนี้มีข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปช้างสามเศียร อยู่ในวงกลมและคำว่า ตราเอราวัณ เพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 12 รายการสินค้า ยางรถยนต์ ตามคำขอเลขที่ 289988 ซึ่งนายทะเบียนเห็นว่าชอบที่จะรับจดทะเบียนได้จึงประกาศโฆษณาในหนังสือจดหมายเหตุแสดง รายการเครื่องหมายการค้า
              โจทก์ได้ยื่นคำคัดค้านต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าขอให้ระงับการจดทะเบียนโดยอ้างว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ซึ่งเป็นรูปช้างสามเศียร อยู่ในวงกลมมีเส้นรอบวง 4  เส้นล้อมรอบ ซึ่งแม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์จะใช้กับสินค้าต่างจำพวกกับจำเลยที่ 1
ก็ตาม แต่โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ยางสยาม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายยางรถยนต์มาเป็นเวลานาน การขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 จึงแสดงถึงเจตนาลอกเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์
              จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำโต้แย้งว่า ตนประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับยางต่างๆ เช่น ยางรถยนต์ แหวนยาง สายพานยาง ซีลกันน้ำมัน ฯลฯ ซึ่งเป็นสินค้าต่างจำพวกและต่างชนิดกับสินค้าของโจทก์ไม่มีผลกระทบต่อโจทก์แต่อย่างใด
              นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้พิจารณาคำคัดค้านและคำโต้แย้งแล้วได้มีคำวินิจฉัยว่า แม้เครื่องหมายของทั้งสองฝ่ายจะมีรูปช้างสามเศียรเป็นสาระสำคัญเช่นเดียวกันและอาจเรียกขานได้ว่า ช้างสามเศียร หรือช้างเอราวัณ เหมือนกันก็ตาม แต่รูปช้างสามเศียรก็ยังมีลักษณะการประดิษฐ์แตกต่างกัน เครื่องหมายการค้าทั้งสองฝ่ายจึงมิใช่เครื่องหมายเดียวกันหรือเหมือนกัน และเครื่องหมายทั้งสองฝ่ายใช้กับ สินค้าต่างจำพวกกัน และมีรายการสินค้าไม่กระทบหรือครอบคลุมถึงกันแต่อย่างใด และจากหลักฐานของโจทก์แม้จะได้จดทะเบียนไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 และแสดงให้เห็นว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวมีความแพร่หลาย พอสมควรก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ก็ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนกับเครื่องหมายการค้าที่ยื่นขอจดทะเบียนไว้แล้วตั้งแต่ปี 2514 เช่นกัน ฉะนั้นโอกาสที่สาธารณชนจะสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของ สินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าย่อมเกิดขึ้นได้ยาก จึงให้ยกคำคัดค้านและรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ต่อไป
              ต่อมาโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเพื่อขอให้ระงับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาแล้วเห็นตามนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า จึงได้มีคำวินิจฉัยยืนตามคำวินิจฉัยของนายทะเบียน โจทก์ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ตามคดีหมายเลขดำที่ ทป. 76/2541 และศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ เป็นคดีหมายเลขแดงที่ ทป. 69/2544 เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2544
              โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาฎีกาให้ยืนตามคำพิพากษาของ ศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
กลุ่มงานคดี
10 สิงหาคม 2548

 คดีเครื่องหมายการค้า ประเด็นเหมือนหรือคล้าย
คำพิพากษาฎีกาที่ 7936-7937/2547 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

บริษัท เอส.ที.เบเกอรี่ จำกัด โจทก์
ระหว่าง
กรมทรัพย์สินทางปัญญา จำเลยที่ 1
กรรมการเครื่องหมายการค้า รวม 8 คน จำเลยที่ 2-9

โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารวม 2 เครื่องหมาย คือ คำว่า ทวิสต์ ในลักษณะประดิษฐ์ คำขอเลขที่ 254146 และคำว่า TWIST ในลักษณะประดิษฐ์ คำขอเลขที่ 254148 ต่อมายูนิลิเวอร์ เอ็น วี ได้ยื่นคำคัดค้านว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองเครื่องหมายเหมือนหรือคล้ายกับคำว่า TWISTER ตามทะเบียนเลขที่ ค.53254 (คำขอเลขที่ 322349) ใช้กับสินค้าจำพวกที่ 30 รายการสินค้าไอศกรีมหวานเย็น ขนมหวานเย็นแช่แข็ง และทะเบียนเลขที่ ค.21027 (คำขอเลขที่ 239092) ใช้กับสินค้าจำพวกที่ 30 รายการสินค้า ไอศกรีม ซึ่งนายทะเบียนได้วินิจฉัยให้ระงับการจดทะเบียน โจทก์ ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า และคณะกรรมการได้มีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการยืน ตามคำวินิจฉัยของนายทะเบียน โจทก์จึงได้ฟ้องคดีต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง โดยศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 3522/2542 และ 3523/2543 ต่อมาจำเลยได้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ซึ่งได้วินิจฉัยในประเด็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านคำว่า TWISTER ที่จดทะเบียนไว้แล้ว จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ โดยเห็นว่า แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์จะเป็นอักษรประดิษฐ์ขนาดของตัวอักษรเรียงลำดับจากตัวแรกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดไปจนถึงอักษรตัวสุดท้าย ซึ่งมีขนาดเล็กที่สุด แต่ของผู้คัดค้านเป็นตัวพิมพ์ใหญ่และขนาดเท่ากันทุกตัว เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้ว เครื่องหมายการค้าของโจทก์และผู้คัดค้านมีอักษร 5 ตัวแรกเป็นสาระสำคัญเป็นตัวอักษรเดียวกัน อ่านออกเสียง 2 พยางค์แรกเป็นเสียงเดียวกัน เพียงแต่ผู้คัดค้านมีอักษร ER ต่อท้ายอ่านว่าเตอร์เป็นพยางค์ที่ 3 เครื่องหมายทั้งสองเรียกขานได้ใกล้เคียงกันมาก บุคคลไม่คุ้นเคยภาษาต่างประเทศอาจไม่สังเกตถึงความแตกต่างได้ ประกอบกับสินค้าทั้ง 2 ฝ่ายใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกัน จึงอาจทำให้สาธารณชน สับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ จึงพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
กลุ่มงานคดี
19 เม.ย. 48

คดีเครื่องหมายการค้า ประเด็นเหมือนหรือคล้าย
คำพิพากษาฎีกาที่ 7631/2547 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2547
               บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) โจทก์
ระหว่าง
               บริษัท ทัสโก้ ทราโฟ จำกัด จำเลยที่ 1
               กรมทรัพย์สินทางปัญญา กับพวก จำเลยที่ 2-11

               จำเลยที่ 1 ได้ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า รูปช้างอยู่ในลวดลายสี่เหลี่ยม ทั้งหมดอยู่ในวงกลมพื้นทึบและมีคำว่า TUSCO TRAFO เพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 9 รายการสินค้า หม้อแปลงกระแสไฟฟ้า คำขอเลขที่ 317322 ซึ่งนายทะเบียนได้พิจารณาแล้วเห็นควรรับจดทะเบียน ได้จึงได้ประกาศโฆษณาในหนังสือจดหมายเหตุแสดงรายการเครื่องหมายการค้า ต่อมาโจทก์ได้ยื่นคำคัดค้าน อ้างว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของตน ซึ่งเป็นรูปช้างและ ช้างเอราวัณหลายเครื่องหมาย เพราะมีรูปลักษณะและเสียงเรียกขานเหมือนหรือคล้ายกัน อาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ และโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายตราช้างมานานกว่า 80 ปีแล้ว การขอจดทะเบียนของจำเลยที่ 1 จึงมีเจตนาลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ขอให้ระงับการจดทะเบียน ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำโต้แย้งว่า ได้คิดประดิษฐ์เครื่องหมายขึ้นเองโดยมิได้ลอกเลียนแบบ รูปลักษณะและเสียงเรียกขานเครื่องหมายทั้งสองฝ่ายแตกต่างกันอย่างชัดเจน และใช้กับสินค้าต่างจำพวกกัน ไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดแต่อย่างใด นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้พิจารณาคำคัดค้านและคำโต้แย้งแล้วเห็นว่า แม้เครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายจะมีรูปช้างเป็นสาระสำคัญเช่นเดียวกันก็ตาม แต่รูปลักษณะแตกต่างกัน และเรียกขานได้แตกต่างกัน อีกทั้งใช้กับสินค้าต่างจำพวกกันมีรายการสินค้า ไม่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันแต่อย่างใด ไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดได้ จึงให้ยกคำคัดค้านและรับจดทะเบียนต่อไป โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า เพื่อขอให้ระงับการจดทะเบียน เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ซึ่งคณะกรรมการได้พิจารณาแล้วยืนตามคำวินิจฉัยของนายทะเบียน เครื่องหมายการค้า โดยยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์ได้นำคดีสู่ศาลเพื่อขอให้มีคำพิพากษาเพิกถอนคำวินิจฉัย ของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า
               ศาลชั้นต้นได้พิจารณาให้ยกฟ้องโจทก์ และให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นค่าทนายความ 5,000 บาท โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
               ศาลฎีกาได้พิจารณาแล้วเห็นว่าคดีนี้มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้ารูปช้าง ของโจทก์ กับจำเลยที่ 1 คล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือ แหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ ซึ่งศาลเห็นว่า แม้เครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายจะมีรูปช้างเป็นสาระสำคัญ ของเครื่องหมายเช่นเดียวกันก็ตาม แต่การนำรูปช้างซึ่งเป็นสัตว์ธรรมชาติหรือช้างเอราวัณ ซึ่งเป็นสัตว์ ในวรรณคดีมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้านั้นบุคคลใดก็อาจนำมาใช้ได้ การที่บุคคลใดนำรูปช้างหรือรูปช้างเอราวัณไปใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของตนก็มิได้หมายความว่าจะเป็นการตัดสิทธิบุคคลอื่นไม่ให้ใช้รูปช้าง หรือรูปช้างเอราวัณโดยเด็ดขาดเพียงแต่ผู้ที่จะนำรูปช้างหรือรูปช้างเอราวัณไปใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของตน ในภายหลังจะต้องทำเครื่องหมายการค้าให้มีความแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้ใช้มาก่อน มากพอที่จะไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า เมื่อพิจารณาเครื่องหมายของจำเลยที่ 1 แล้ว เห็นว่า มีข้อแตกต่างจากโจทก์หลายประการที่จะไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ จึงพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และให้โจทก์ ใช้ค่าทนายความทั้งสองชั้นรวม 4,500 บาท

กลุ่มงานคดี
 1 มิ.ย. 48
 

หมายเลขบันทึก: 73446เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2007 14:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

---- ขอบคุน มาก มาก มาก มาก -----

---- จิงๆๆ ------

ขอบคุณมากจิงๆ ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท