แลกเปลี่ยนเรียนรู้ชุมชนบ้านสามขา


ชุมชนบ้านสามขาใช้เวลาเกือบสิบปีกว่าจะหลอมรวมความคิดกันได้จากการเอาความคิดต่างกันมาหลอม

        

   วันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๐ ผมได้นำคณะกศน.จังหวัด

ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชนบ้านสามขา อำเภอแม่ทะ

จังหวัดลำปาง ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่มี

ความเข้มแข็งแห่งหนึ่ง ที่พิสูจน์ให้เห็นว่าผู้รู้มิใช่จบ

ปริญญาตรี ปริญญาโท คนไม่รู้หนังสือก็รู้ไปอีกแบบหนึ่ง

ทุกคนสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ปันใจแก้ไขปัญหา นำ

พาพัฒนาชุมชนหมู่บ้านได้ถ้าใจใฝ่เรียนรู้ที่จะลงมือทำ

ร่วมกัน เริ่มจากตระหนักในปัญหา หาเครื่องมือในการ

จำแนกให้ได้ว่าปัญหามาจากอะไร และหาวิธีแก้ไขร่วมกัน

จากการประชุมในตอนเย็นค่ำเพราะกลางวันต่างต้องทำ

งาน กรรมการอาสางานด้านต่างๆก็ทำด้วยใจ กว่าจะถึง

วันนี้นับสิบปีที่ทีมผู้นำที่เป็นกรรมการหมู่บ้านมุ่งมั่นผัน

เปลี่ยนให้ชุมชนที่เคยมีปัญหาด้านหนี้สิน ปัญหาด้านยา

เสพติด และปัญหาอื่นๆ กลายเป็นชุมชนที่น่าเชื่อถือ มี

กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ที่มีเงินทุนหมุนเวียนกว่า ๖ ล้านบาท

มีการดูแลทรัพยากรป่าไม้โดยจัดทำฝายแม้วจำนวนมาก

ในแนวป่า มีสถานีวิทยุในหมู่บ้าน มีจุดบริการ Internet

ให้เรียนรู้ มีการใช้ เครื่องGPS กำหนดพิกัดเป็นแผนที่

ทางภูมิศาสตร์แสดงที่ตั้งฝายแม้วแลุจุดสำคัญต่าง ๆใน

ป่าชุมชน ที่สำคัญคือชาวบ้านมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไม่

อยู่หยุดนิ่ง ประเด็นที่น่าสนใจที่ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านได้เล่า

ให้ฟังคือที่ชุมชนบ้านสามขานี้ได้กล่าวถึงกลุ่มคนในหมู่

บ้านถูกแบ่งเป็น ๔ กลุ่มคือ
      
       คนกลุ่มแกนนำ ๑๐ เปอร์เซนต์ บน เป็นคนประเภท

หัวไว ใจสู้ รู้งาน ประสานเก่ง
       คนกลุ่ม ๓๐ เปอร์เซนต์ ถัดมา คนกลุ่มนี้เป็นผู้มีฐานะ

ทำเพื่อครอบครัว และรอดูทีท่า
       คนกลุ่ม ๔๐ เปอร์เซนต์ เอาหมู่มากเข้าว่า พวกนี้

ยกมือไม่พ้นหู
       คนกลุ่ม ๒๐ เปอร์เซนต์ล่าง กลุ่มนี้ไม่เอาไหนเลย

ได้แต่พูด ให้ทำก็ไม่กล้าทำได้แต่นินทาคนอื่น แต่อย่าง

ไรกลุ่มนี้ก็ไม่ได้ถือเป็นศัตรูแต่เอาไว้เป็นกระจกส่องงาน

เมื่อมีการประชุมต้องปล่อยให้เขาพูด ถ้าห้ามไว้จะไปเล่า

ต่อให้เมียฟังและเมียเขาก็ไปเล่าต่อในที่อื่นๆ อีกเป็นข่าว

เสีย  กลุ่มนี้ให้ผลประโยชน์เอา แต่ให้ทำประโยชน์ไม่ทำ

       ชุมชนบ้านสามขาใช้เวลาเกือบสิบปีกว่าจะหลอม

รวมความคิดกันได้จากการเอาความคิดต่างกันมาหลอม

รวมกัน ปัญหาอุปสรรคไม่ใช่สิ่งน่ากลัวการไม่ทำอะไรเลย

น่ากลัวที่สุด เหล่านี้เป็นข้อคิดจากการไปแลกเปลี่ยนเรียน

รู้ที่ชุมชนบ้านสามขา

        ขอขอบคุณศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัด

ลำปางที่อำนวยความสดวกและประสานการเข้าไปให้เรา

ได้โอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชนบ้านสามขา ขอ

ขอบคุณภูมิปัญญาบ้านสามขาที่ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จาก

ใจถึงใจ


 

หมายเลขบันทึก: 73367เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2007 00:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 10:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)
  • เดินทางไกลจังครับท่าน ผอ
  • อยากดูรูปด้วยครับผม
  • ขอบคุณครับ
บุคลากร ศบอ.บางน้ำเปรี้ยว
น่าสนุกดีนะค่ะ เป็นแนวทางที่ดีค่ะ ถ้าแต่ละที่ทำได้ก็ดีค่ะ  ควรมีการพา คณะทำงานของศบอ.ต่างๆ ไปดูบ้างก็ดีนะค่ะ
  • เดินทางสิบลี้ดีกว่าอ่านหนังสือร้อยเล่มครับ อาจารย์ขจิต
  • รูปเดี๋ยวจะจัดแทรกให้ครับ

คุณบุคลากร ศบอ.บางน้ำเปรี้ยวครับ

     อยากพาคณะจากศบอ.ต่าง ๆ ไปเหมือนกันหากบริหารงบประมาณแล้วเหลือเงินที่จะจัดให้ไปได้

ไปคราวนี้ใช้งบประมาณของการบริหารงานปวช.ที่คำนวณแล้วเหลือพอที่จะจัดให้ผู้คนที่เกี่ยวข้องไปได้จำนวนหนึ่งครับ

บุคลากร ศบอ.บางนำเปรี้ยว
ถ้าโอกาสหน้ามีงบประมาณเพียงพอขอให้พาบุคลากรจาก ศบอ.ต่างๆไปด้วย
บ้านสามขาฟังชื่อแล้วทำให้รู้สึกโอนเอนชอบกล   คิดเล่นๆว่า 4  ขาคงสมดุลกว่านะคะ  ฮิๆๆ  แต่เมื่อได้โอกาสเข้าไปสัมผัส    วันนั้น  อึ้งกับกลยุทธ์การคิด  การทำงานของบ้านสามขา  ที่มีผู้นำและทีมงานที่เข้มแข็ง  และเสียสละ  แถมยังจบในระดับ  ป.  เท่านั้น  คงต้องยกนิ้วให้ในความเยี่ยมยุทธ์ของพวกเขา  ที่สามารถนำหลักเศรษฐกิจพอเพียง  การทำบัญชีรายรับรายจ่าย  มาปลดหนี้ให้กับชาวบ้าน  รวมถึงการสร้างระเบียบให้กับสังคมบ้านสามขาที่น่าชื่นชม  และยังไม่ละทิ้งความทันสมัยที่ยอดเยี่ยมในด้าน ICT  มีคอมพิวเตอร์พัฒนาเด็กและผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน  มีระบบยุทธศาสตร์ที่สามารถเจอะลึกไปยังจุดต่างๆ  ของบ้านสามขาได้เป็นอย่างดี 

         ตัวอย่างดีๆ  เช่นนี้  อยากให้ท่านที่สนใจลองเข้าไปสัมผัสนะคะ  และเราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในหน่วยงานได้เป็นอย่างดี 

เนื่องจากเป็นคนหนึ่งที่ได้ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ชุมชนบ้านสามขา  ขอบอกว่าประทับใจมากที่ได้ไปในชุมชนบ้านสามขา แทบไม่น่าเชื่อว่าเขาจะทำได้ขนาดนั้น  เขามีผู้นำที่ดีและสมาชิกทุกคนมีความสามัคคีกลมเกลียวกัน  ช่วยเหลือกันในทุกด้าน  ทั้งที่ผู้นำ ที่เป็นกรรมการมีวุฒิการศึกษาแค่ชั้นประถม แต่ความคิดความอ่าน การแก้ไขปัญหา และประสบการณ์ต่างๆของเขา เปรียบได้กับผู้จบปริญญาเลยทีเดียว เป็นชุมชนที่มีความทันสมัยมาก 

ขอขอบคุณท่านผอ.ศนจ.ที่ได้นำพาคณะของศนจ.ฉช.ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่หมู่บ้านสามขา ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่ดีที่จะนำไปปรับใช้ในตัวเองได้ ในเรื่องของความเผชิญกับปัญหาต่างๆ และมั่นคง  ไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ  ประสบการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นจะทำให้เราเป็นคนที่แข้มแข็งต่อไปในอนาคต   

ท่านผอ.ดิศกุลค่ะ การไปเหมืองแม่เมาะ ทำให้เราได้มองเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่า  อีก 40 ปีข้างหน้าจะไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้อีกแล้ว  เนื่องจากไม่มีทรัพยากรถ่านหินในการผลิตกระแสไฟฟ้า จึงอยากให้ท่าน ผอ.ขึ้นบทความเกี่ยวกับความสำคัญของการประหยัดพลังงานในทุกวันนี้  ซึ่งหลาย ๆ คนยังไม่ทราบว่า อะไรจะเกิดขึ้นข้างหน้า  ทำให้ทุกคนได้รับความรู้เกี่ยวความเป็นมาและเป็นไปของเหมืองแม่เมาะ

 

 

ชูวิทย์ ศบอ.บางปะกง
     ไม่ว่าองค์กรหรือหน่วยงานใดหากมีความมุ่งมั่นและกล้าคิด  กล้าทำ  และกล้าที่จะออกจากเงาของตนเอง  ความสว่างทางปัญญาจะต้องก่อเกิดอย่างแน่นอน
  • เป็นกิจกรรมที่ดีมาก โดยเฉพาะในมิติของการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม
  • ผมสนใจเรื่อง "ชื่อบ้านนามเมือง" มาก โดยเฉพาะ "สามขา"  พอจะรู้หรือเปล่าครับว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร

คุณแผ่นดินครับ

  ชื่อของบ้านสามขานั้นมาจาก เรื่องเล่าของชาวบ้านว่า  แต่ก่อนมีตนมายิงเก้ง ซึ่งตัวใหญ่มาก คนยิงไม่สามารถเอาเก้งไปหมดทั้งตัวได้จึงตัดขาเก้งไป ๑ ขา เหลือเก้งนอนตายอยู่มี ๓ ขา  จึงตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่าบ้านสามขา ครับ

ข้อมูลที่ค้นหาได้ ประวัติบ้านสามขา …………………………………………………………………………. ตามประวัติเดิมเล่าสืบกันมาว่า ชาวบ้านสามขาเดิมเป็นคนเชื้อสายมาจากบ้านเหล่าหนองปล้อง ในเมืองลำปาง แถวๆบ้านพระบาทหนองหมู พวกที่ยากจนไม่มีอันจะกินได้พากันรอนแรมออกป่าล่าสัตว์ พอได้เนื้อสัตว์ก็นำเนื้อสัตว์นั้นย่างไฟเก็บไว้ เพื่อนำไปขายในเมือง นานเข้าบ่อยครั้งก็พากันทำไร่ข้าว ปลูกกระท่อมฟากอยู่ในบริเวณนั้นซึ่งมีสัตว์ป่าชุกชุมมาก พอเพื่อนบ้านทราบข่าวเล่าสืบต่อๆกันไป ก็เดินทางมาสมทบและอพยพมาเรื่อยๆ พอมาพบทำเลเหมาะ ดิน น้ำ อุดมสมบูรณ์ดี จึงพากันมาตั้งถิ่นฐานปลูกบ้านหลายหลัง จนกลายเป็นหมู่บ้านหนึ่งอยู่ที่ทุ่งนาบ้านเก่าและตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านแม่หยวก เพราะบริเวณนั้นมีต้นกล้วยป่าเต็มไปหมด เมื่อมีคนตายในหมู่บ้านจึงจัดให้มีป่าช้าขึ้นทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านที่ ม่อนป่าช้า (ปัจจุบันเรียก ม่อนป่าช้า) และได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ทำบุญ และเป็นที่พึ่งทางใจของคนในหมู่บ้าน ปัจจุบันเรียกว่า ทุ่งวัดห่าง (วัดร้าง) อยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้าน ซึ่งหมู่บ้านในขณะนั้นมีประมาณ 30 ครัวเรือน พอนานเข้าทนต่อภัยธรรมชาติไม่ไหว เกิดน้ำป่าไหลหลาก ท่วมบ้านตลอดฤดูฝน จะทำมาหากิน ไปทางไหนก็ลำบาก จึงพากันอพยพมาอยู่บนเชิงเขาที่ราบสูงทางทิศตะวันออก ซึ่งเป็นหมู่บ้านในปัจจุบันนี้และขยายครัวเรือนมากขึ้นเรื่อยๆมา ต่อมาได้ย้ายวัดมาอยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้านและย้ายป่าช้ามาไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของหมู่บ้าน คนในสมัยนั้นมีความเชื่อว่า ป่าช้าอยู่ทางไหนต้องสร้างวัดปิดทางเข้าหมู่บ้าน เพื่อป้องกันมิให้ผีร้ายเข้ามาอาละวาดในหมู่บ้าน สมัยนั้นยังมีหมู่บ้านเล็กๆ อยู่อีกหมู่บ้านหนึ่งมีประมาณ 20 กว่าหลังคาเรือน แต่ไม่ปรากฏชื่อหมู่บ้านตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของของบ้านห้วยมะเกลือปัจจุบันนี้ แต่ตามคำบอกเล่าสืบกันมาว่า ขณะนั้นบ้านห้วยมะเกลือยังไม่มี มีแต่หมู่บ้านเล็กๆดังกล่าว ในหมู่บ้านมีคนล่าสัตว์เลี้ยงชีพอยู่หลายคน และวันหนึ่งมีชาวบ้านคนหนึ่งออกล่าสัตว์ แล้วไปพบเห็นรอยเก้งกินลูกมะกอกป่า จึงตัดไม้ทำเป็นห้างหรือนั่งร้านอยู่บนต้นไม้เพื่อดักยิงเก้ง พลบค่ำลงเก้งตัวนั้นได้ออกมากินมะกอกป่าอีก ชาวบ้านคนนั้นจึงใช้ปืนคาบศิลา ยิงเก้งถึงแก่ความตาย เมื่อเก้งตายแล้วชาวบ้านคนนั้นไม่สามารถนำเก้งทั้งหมดกลับบ้านได้ เนื่องจากเป็นเก้งที่ใหญ่มาก จึงใช้มีดตัดเอาเฉพาะขาหลังเพียงขาเดียว ส่วนที่เหลือก็นำใบไม้มาปกปิดไว้กันไม่ให้คนอื่นมาเห็น เมื่อนำขาเก้งกลับมาถึงบ้านแล้ว พอรุ่งเช้าก็ทำเป็นอาหารกินโดยชวนเพื่อนบ้านมาร่วมกินด้วย หลังจากกินอิ่มแล้วจึงพาเพื่อนบ้านกลับไปเอาเนื้อเก้งที่เหลือ แต่เมื่อไปถึงที่ซ่อนเนื้อเก้งไว้กลับไม่เจอเนื้อเก้งดังกล่าว เนื่องจากมีงูใหญ่มาพบเก้งที่เหลือสามขา จึงลากเข้าไปกินในถ้ำที่อยู่ทางทิศตะวันตกของบ้านแม่หยวก (ปัจจุบันคือ บ้านสามขา) ชาวบ้านจึงพากันตามรอยงูใหญ่ที่ลากเก้งเป็นทางไป และไปสิ้นสุดที่ปากถ้ำ จึงคิดว่างูใหญ่ตัวนั้นนำเก้งไปกินในถ้ำ ดังนั้นจึงพากันกลับบ้านเพื่อหารือว่าจะทำอย่างไรกับงูใหญ่ตัวนั้น เมื่อมีความเห็นสอดคล้องตรงกัน จึงหาเชือกมามัดเป็นเกลียวเส้นใหญ่และยาวที่สุด ได้นำเอาหูหิ้วถังตักน้ำมาทำเป็นขอเบ็ด ผูกกับเชือกแล้วฆ่าสุนัขตัวหนึ่งผูกติดกับเบ็ดหย่อนลงไปในรูถ้ำ ปลายเชือกผูกติดกับต้นไม้ที่ปากถ้ำ พอวันรุ่งขึ้นก็พากันมาดู เห็นเชือกตึงจึงรู้ทันทีว่างูใหญ่คงติดเบ็ดแล้ว จึงช่วยกันดึงงูออกมา แต่ดึงเท่าไหร่ก็ไม่สามารถดึงออกมาได้เนื่องจากงูใหญ่มาก จึงได้ระดมคนในหมู่บ้านทั้งชายและหญิงให้ไปช่วยกันทุกคน ยกเว้นหญิงหม้ายเพียงคนเดียวที่ไม่ไปช่วย พอชาวบ้านทั้งหมดมาถึงก็ได้ช่วยกันดึงอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ดึงไม่ออกเหมือนเดิม จึงได้นำเอา ช้างสามปาย ควายสามศึก เกวียนสามเล่ม ใช้เชือกผูกตามกัน แล้วควาญช้างก็ไสช้างให้เดินหน้าและเฆี่ยนควายให้เดินตาม ในที่สุดก็สามารถดึงออกมาได้ เมื่อออกมาพ้นปากถ้ำแล้วก็ใช้เกวียนสามเล่มต่อกัน ใช้ช้างยกงูขึ้นใส่เกวียน แล้วจึงให้ช้างเดินนำหน้าช่วยลากงูไปจนถึงหมู่บ้าน เมื่อถึงหมู่บ้านแล้วพวกเขาจึงพากันลงมือชำแหละเนื้องูออกมาทำเป็นอาหาร แจกจ่ายกันกินทั้งหมู่บ้าน มีทั้งเหล้ายา สาโท จ้อย ซอ กันอย่างสนุกสนานร่าเริงเต็มที่ ส่วนเนื้องูที่เหลือก็แบ่งปันกันทุกครัวเรือน ยกเว้นหญิงหม้ายผู้นั้นเพราะไม่ได้ไปช่วยเขาลากงู จึงไม่ได้รับส่วนแบ่ง พอเวลากลางคืน ตอนดึกได้มีเทวดามาเข้าฝันโดยแปลงตัวเป็นคนแก่ ผมขาว หนวดยาว หลังโก่งถือไม้เท้าขึ้นบันไดมาหาหญิงหม้ายคนนั้นแล้วกำชับว่า คืนนี้ถ้าได้ยินเสียงอะไรที่อึกทึกครึกโครม หรือเสียงอะไรก็ตามห้ามออกจากบ้านเป็นอันขาด อย่าลงบ้านไปไหนเพราะจะเป็นอันตราย พอสั่งแล้วเทวดาก็หายวับไปกับตา พอหญิงหม้ายนอนหลับไปก็ตกใจตื่นเนื่องจากมีเสียงดังอึกทึกครึกโครมเหมือนแผ่นดินจะถล่มทลาย หญิงหม้ายผู้นั้นจึงรีบวิ่งออกมาจากประตูเรือน พอนึกถึงคำเตือนของชายชราก็กลับไปนอนดังเดิม ครั้นต่อมาก็วิ่งออกนอกประตูเรือนมาดูอีกก็นึกถึงคำเตือนอีกครั้งก็กลับเข้าไปนอน พอครั้งที่สามวิ่งออกมาถึงหัวบันได จึงมองดูเวิ้งว้าง บ้านเรือนที่ใกล้ชิดติดกันหายไปหมดไม่เหลือสักหลัง โล่งเป็นบริเวณกว้าง หญิงหม้ายก็กลับเข้าไปนอน ไหว้พระสวดมนต์ พอรุ่งเช้าจึงออกมาดูข้างนอกเห็นบริเวณหมู่บ้านยุบลงไปหมด เหลือแต่บ้านของตนเพียงหลังเดียว หญิงหม้ายผู้นั้นจึงเก็บข้าวของที่มีค่าไปอาศัยอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของบ้านที่ถล่มนั้น ปัจจุบันเรียกถ้ำนั้นว่า ถ้ำย่าเถ็ก หมู่บ้านที่ถล่มลงไปนั้นปัจจุบันเรียกว่า โป่งหล่ม บริเวณบ้านแม่หยวกนั้น ต่อมาต้นกล้วยได้ถูกทำลายจนหมดสิ้น จึงขุดทำเป็นไร่นาไปหมด เมื่อไม่มีหยวกกล้วยเหลืออยู่แล้วจึงพากันเปลี่ยนชื่อบ้านใหม่ ให้ชื่อว่า “ บ้านสามขา “ ตามขาเก้งที่เหลือ ซึ่งหมายถึงความมั่นคง เปรียบดังก้อนเส้าสามก้อน และแก้วสามประการคือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มาจนทุกวันนี้ ส่วนถ้ำนั้น ปัจจุบันอยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 800 เมตร บรรพบุรุษได้เล่าสืบต่อกันมาว่า เป็นถ้ำที่มีความศักดิ์สิทธิ์มาก มีของดีอยู่มากมายหลายอย่าง มีคนเคยพบเห็นฆ้องทองคำและพระพุทธรูปทองคำหลายองค์หลายขนาด แต่ไม่สามารถนำออกมาจากถ้ำได้มีอันเป็นไปต่างๆนาๆ เช่นเดินวกไปวนมาหาที่ออกไม่ได้ พอวางของนั้นลงก็จะเห็นช่องทางออกทันที มีผู้แสวงหาโชคลาภคิดจะขโมยของดังกล่าว แต่ก็ถูกสัตว์เช่น เสือ งู กัดตายจนไม่มีใครกล้าเสี่ยงขโมยอีก เมื่อประมาณ 60 กว่าปีที่ผ่านมาชาวบ้านมักจะได้ยินเสียงตีฆ้องดังออกมาจากในถ้ำนั้น เมื่อถึงวันพระทุกครั้ง ในสมัยนั้นปากถ้ำยังปรากฏให้เห็นอยู่และสามารถเดินเข้าไปได้ เมื่อเดินเข้าไปจะพบก้อนหินใหญ่ก้อนกนึ่งสวยงามมาก ชาวบ้านใช้เป็นแท่นบูชาพระสืบต่อกันมา ต่อมามีฝนตกหนักติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายวัน ทำให้ดินพังทลายลงมาปิดปากถ้ำหมด เป็นแนวยาวประมาณ 180 เมตร ไม่มีใครกล้าไปเปิดปากถ้ำอีก สำหรับชาวบ้านสามขาปัจจุบัน มีครัวเรือนจำนวน 169 ครัวเรือน นายจำนงค์ จันทร์จอม เป็นผู้ใหญ่บ้าน
อยากให้ลงภาพการไปโรงไฟฟ้าแม่เมาะ
แนวคิดการพัฒนาชุมชนที่บ้านสามขา เป็นสิ่งที่ดี  ทำอย่างไร จึงจะนำมาประยุกต์ใช้กับชุมชนกับชาวแปดริ้วได้บ้าง ฝากข้อคิดไว้เล็กน้อย จะเริ่มต้นอย่างไรดี เพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง 

ประทับใจบ้านสามขามาก ได้ไปนอนบ้านพ่อบุญธรรม คิดถึงพ่อบุญธรรมและแม่อวยพร ค่ะ ขอให้พ่อและแม่มีความสุขมาก ๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท