บุคคลแห่งปี คือ "คุณ"


นิตยสารไทม์ได้จัดให้ "คุณ" คือบุคคลแห่งปี

เหตุผลก็คือ ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันได้ก้าวมาถึงขั้นที่ข้อมูลข่าวสารไม่ได้ไหลจากผู้ผลิตสื่อหลักไปสู่ผู้บริโภคแบบทางเดียวอีกต่อไป

ข้อมูลข่าวสารจากคนธรรมดาในทุกรูปแบบ (ตัวอักษร, ภาพ, เสียง, ภาพยนต์) ก็สามารถถ่ายทอดจากใครก็ได้ไปสู่คนทั่วโลกในไซเบอร์สเปซ

ปรากฎการณ์ utube เป็นก้าวสำคัญ เป็นอิฐก้อนสุดท้ายบนโครงสร้างของการสื่อสารแบบสองทาง เพราะ utube ช่วยให้คนธรรมดาได้สื่อข้อมูล ความคิด ความรู้สึก ผ่านถึงคนอื่นทั่วโลกด้วยภาพเคลื่อนไหว แต่เดิมการสื่อสารผ่านตัวอักษร หรือภาพนิ่ง หรือเสียง ไม่สามารถครอบคลุม "สาร" ในส่วนของอวัจนภาษาได้เท่ากับภาพเคลื่อนไหว

ปรากฎการณ์ วิกิพีเดีย ก็เป็นหมุดอันสำคัญที่บอกว่า องค์ความรู้ไม่ได้ผูกขาดโดยสถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิชาการอีกต่อไป ใครก็ได้ที่มีความรู้ในเรื่องใดก็ได้ สามารถเผยแพร่ความรู้เหล่านั้นรวมอยู่ในวิกิพีเดีย

อำนาจของ "คุณ" คนธรรมดาที่เข้าใจและสามารถที่จะใช้ระบบการสื่อสารนี้ รวมพลังคนเล็กๆ จากทั่วโลก ให้เป็นความเคลื่อนไหวที่สำคัญ ให้เกิดการเผยแพร่ข้อมูล และองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่พอที่จะทำให้ไทม์ จัดให้เป็นบุคคลแห่งปีได้

 

หมายเลขบันทึก: 73036เขียนเมื่อ 17 มกราคม 2007 10:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ,

จะแวะมาขอบพระคุณคุณหมอสุธีค่ะที่กรุณาแอ๊ดบล๊อกเข้าในแพลนเน็ต  Living Between Paradigms

ชื่อแพลนเน็ต เพราะและมีความหมายลุ่มลึกเสียจนตัวเองเกร็งเลยค่ะว่าจะต้องตั้งใจเขียนให้ดีที่สุดเพื่อให้มีคุณค่าสมกับความไว้วางใจนี้

บทความของไทม์ส นี้ก็ได้อ่านด้วยความสนใจเหมือนกันค่ะ  แล้วความจริง  เมื่อสองสามปีนี้ไทมส์ก็ได้เคยเขียนอะไรคล้าย ๆ อย่างนี้มาแล้วทีหนึ่ง  แต่ไม่ได้ถึงขั้นยกเป็นเรื่อง บุคคลแห่งปี แค่นั้นเอง

ตัวเองในฐานะที่เคยเรียนเกี่ยวกับการสื่อสารมวลชนมาก่อน  พออ่านจบปุ๊บประโยคแรกที่แวบเข้ามาในหัวเหมือนจะอยากร่วมด้วยช่วยเขียนเป็นประโยคสรุปให้บทความเขาก็คือ  "...We communicate, therefore we are..." น่ะค่ะ

คล้าย ๆ กับว่าสิ่งที่เราสื่อสารนั่นแหละ define ความเป็นตัวเรา  คุณหมอว่าอย่างนั้นไหมคะ?

สวัสดี และขอบพระคุณอีกครั้งค่ะ,

ณัชร

ขอบคุณครับคุณณัชร

ที่ได้ ADD บล๊อกเพราะมีความสนใจในศิลปวัฒนธรรมญี่ปุ่นครับ

เริ่มจากเมื่อสมัยเด็กๆ ได้อ่านงานของ อ.นพพร สุวรรณพานิช

ต่อมาก็มีโอกาสได้ไปเที่ยวที่เกียวโต และโตเกียวเมื่อสักสิบกว่าปีก่อน ประทับใจเกียวโตที่ผสมผสานไฮเทค กับความโบราณเข้ากันได้อย่างลงตัว

ที่สนใจเป็นพิเศษก็คือปรัชญาเซนครับ

ล่าสุด กำลังอ่านเรื่อง THE TRILOGY OF OTORI ซึ่งเป็นนิยายย้อนยุคญี่ปุ่นโบราณครับ แต่คนเขียนคน SOUTH AUSTRALIA รัฐที่ผมเรียนอยู่นี่ครับ ฮ่าๆ โลกนี้มันเชื่อมโยงกันแบบแปลกๆ นะครับ

ส่วนเรื่องการสื่อสารนั้นก็เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ

แต่ลองฟังประโยคนี้ดูหน่อยครับ

"การสื่อสารคือพาหนะของความคิด" 

"เพราะฉันคิด ฉันจึงเป็นฉัน"

ดังนั้น "เพราะฉันสื่อสาร ฉันจึงเป็นฉัน"

แต่

(ถ้าไปถามอาจารย์เซน เขาน่าจะบอกว่า)

"แม้แต่ฉัน ก็ไม่ใช่ฉัน" ฮ่า ฮ่า

 

ประเด็นการสื่อสารอีกประการหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ

ผมมีความเข้าใจว่าคนในวัฒนธรรมการทำงานของคนแถบเอเชีย ไม่ว่าประเทศไทยหรือ ญี่ปุ่น นิยม "พูดน้อย" แต่สื่อสารกันด้วยวิถีทางอื่นเสียมากกว่า

มาอยู่เมืองฝรั่งเขาใช้คำพูดเยอะมาก เหมือนเขาจะรู้สึกอึดอัดที่จะนั่งอยู่เงียบๆ จะต้องหาเรื่องมาคุยกันตลอดเวลา

คุณณัชรเห็นด้วยไหมครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท