AnthroCat-Thailand
นาย ปรัชญาณินทร์ วงศ์อทิติกุล

คำร้องที่หายไป


"อาจารย์ ครับ ผมยื่นไปตั้งนานแล้ว ทำไมไม่ได้สักที ?" .......ผู้เขียนเลยถามว่า แล้วคำร้องที่ยื่นไปนั้น รู้ไหมว่าต้องได้รับการลงเลขที่คำร้องและลงวันที่รับคำร้อง พร้อมกับ ได้รับส่วนฉีกของคำร้องที่ต้องได้รับจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียน หรือผู้ที่รับคำร้อง ......"เงินจำนวนไม่น้อยที่อ้างว่าเป็นค่าธรรมเนียมสำหรับคำร้อง คำร้องละ 300 บาท ค่าถ่ายรูปรวมทั้งครอบครัว ขนาด โปสการ์ด ใบละ 80 บาท รูปถ่าย 2 นิ้ว ของแต่ละคน (ประมาณ คนละ 4 ใบ) คนละ 120 บาท ที่เก็บไปนั้น" ไปที่ไหน ???

          "อาจารย์ ครับ ผมยื่นไปตั้งนานแล้ว ทำไมไม่ได้สักที ?"

           เป็นคำถามที่ผู้เขียนถูกถามบ่อยครั้ง เมื่อเข้าไปหาข้อมูลเกี่ยวกับภาวะไร้สัญชาติ และการดำเนินงานด้านการยื่นคำร้องเกี่ยวกับสัญชาติ ของชาวบ้าน ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งใน อ.แม่ฟ้าหลวง

           เมื่อผู้เขียนได้รับคำถามเช่นนี้ ก็จำเป็นต้อง ยิงคำถามกลับไปที่ชาวบ้านเหมือนกันว่า

          "แล้วตอนที่ยื่นไป ยื่นแบบไหน ได้อะไรกลับมาบ้าง ?"

          ชาวบ้าน ตอบ คำเดียวว่า "มะสิ ยะ ยะ" (ไม่รู้สิ)ไม่เห็นได้อะไรมาสักอย่าง เขาให้ยื่นก็ยื่น เขาให้จ่ายตังค์ ก็จ่าย แล้ว "เขา" ก็บอกว่า 'เดี๋ยวจะพิจารณาให้' ตั้งนานมาแล้ว ยังไม่เห็นอะไรสักอย่าง"

           ซึ่งคงไม่แปลกหรอกครับ ที่ชาวบ้านจะเชื่อและทำตามที่ เจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านนี้บอกให้ทำตามและให้รอ เพราะ ชาวบ้านไม่รู้ ว่า ในการยื่นคำร้องของตนที่ผ่านมาจะต้องได้อะไรกลับติดไม้ติดมือมาบ้านเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานในการ "อ้างความชอบธรรมที่ถูกต้องตามระเบียบที่ราชการเป็นฝ่ายออก"

          เมื่อสอบถามมากขึ้นอีกหน่อยก็ทราบว่า คำร้องที่ชาวบ้านยื่นไว้ที่อำเภอนั้น เป็นคำร้องที่เรียกว่า "ระเบียบ43"

          ผู้เขียนเลยถามว่า แล้วคำร้องที่ยื่นไปนั้น รู้ไหมว่าต้องได้รับการลงเลขที่คำร้องและลงวันที่รับคำร้อง พร้อมกับ ได้รับส่วนฉีกของคำร้องที่ต้องได้รับจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียน หรือผู้ที่รับคำร้อง เพราะ "ส่วนฉีก" เล็ก ๆ รูปสามเหลี่ยมจากมุมบนสุดขวามือของส่วนหน้าแรกของคำร้อง

          นี่แหละ คือ อาวุธและหลักฐานในการติดตามความก้าวหน้าของคำร้องของตน อีกทั้งยังเป็น "ส่วนเล็ก ๆ " ที่ ไป บังคับ ให้ เจ้าหน้าที่ ต้องทำงานตามกำหนดเวลา คือ ภายใน 30 วัน นับแต่ยื่น คำร้องได้รับเลขที่คำร้องและลงวันที่ ชาวบ้านต้องได้รับคำตอบว่า จะอนุมัติหรือไม่อนุมัติ

          ส่วนนี้ ชาวบ้านไม่รู้เลยสักนิดว่า จะต้องมีลักษณะเช่นนี้ ผู้เขียน เองก็ตระหนักตั้งแต่แรกแล้วว่า "ถ้าชาวบ้านมีความรู้ด้านนี้บ้าง ก็คงไม่ถูกปล่อยให้เป็นส่วนที่ขึ้นอยู่กับอารมณ์ความรู้สึกและ "นโยบายเอาหน้า" ของทางอำเภอ เพราะโดยระเบียบ 43 นั้น เป็นระเบียบที่ใช้สำหรับบุคคลที่มีสัญชาติไทย อยู่แล้ว แต่ไม่ได้รับการเพิ่มชื่อเข้าไปในทะเบียนบ้าน (ท.ร. 14) เท่านั้นเอง ซึ่งเมื่อจะทำการพิจารณาให้หรือไม่ให้ ลงหรือไม่ลง ก็คงไม่ยาก เพราะเพียงแค่ปลายปากกาของนายอำเภอ

          และสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนใคร่ถาม ใคร่รู้ ว่า "เงินจำนวนไม่น้อยที่อ้างว่าเป็นค่าธรรมเนียมสำหรับคำร้อง คำร้องละ 300 บาท ค่าถ่ายรูปรวมทั้งครอบครัว ขนาด โปสการ์ด ใบละ 80 บาท รูปถ่าย 2 นิ้ว ของแต่ละคน (ประมาณ คนละ 4 ใบ) คนละ 120 บาท ที่เก็บไปนั้น" ไปที่ไหน ???

         โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้า คำร้องเหล่านั้น "ไม่ได้ถูกลง เลขที่คำร้อง และ ประทับวันที่รับคำร้อง" ก็เท่ากับว่า คำร้องเหล่านั้น เป็นเพียงแค่กระดาษที่ไม่มีความหมายอะไรและกลายเป็นขยะที่ห้องเก็บของของอำเภอ อย่างนั้นหรือ ?????

หมายเลขบันทึก: 73031เขียนเมื่อ 17 มกราคม 2007 10:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
อืม ชาวบ้านไม่มีความรู้เรื่องอะไรที่เกี่ยวกับข้อกฎหมาย แม้แต่ชาวเมืองมีการศึกษาหลายๆคนก็ไม่รู้เรื่องกฎหมายที่เป็นประโยชน์กับตัวเองหรอกค่ะ ทีนี้ปัญหาคือ มีใครได้พยายามเข้าไปให้ความรู้กับชาวบ้านบ้างไหมคะ

มีครับ กำลัง วางแผนจะเปิดห้องเรียนเกี่ยวกับกฎหมาย สถานะบุคคล ให้แก่กลุ่มบุคคลที่ไร้รัฐ ไร้สัญชาติให้มีความรู้ที่จะสามารถประเมินสถานะบุคคลของตนเองได้ ว่า ตนเอง เป็นบุคคลที่เข้า/ไม่เข้า ข่ายที่จะได้/รับ สัญชาติไทยหรือไม่

 ร่วมมือกับ ทางท่านอาจารย์ พันธุ์ทิพย์ ม.ธรรมศาสตร์ และ อาจาย์ผู้ช่วยของอาจารย์ อีกหลายท่านด้วยกัน

 ครับ

 ความรู้ คือ อาวุธ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท