“เรื่องเล่าจากดงหลวง” เรื่องที่ 5 ไก่ป่า และไก่บ้าน


....ชาวบ้านที่รังเกียจเจ้านายที่ชอบเข้าไปกินไก่ชาวบ้านจนหมดเล้าก็พูดเปรียบเปรยลับหลังว่า “ห่ามันกินไก่จนตายหมดเล้า” ไก่ชาวบ้านที่เลี้ยงตามเถียงนามักไม่ค่อยเป็นโรคห่า เพราะมันอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ไม่เหมือนในเล้าที่เป็นไก่เศรษฐกิจหากติดห่าก็ตายยกฟาร์ม แต่มาสมัยโรคหวัดนกนี่ ไก่บ้านโดนเป็นเป้ามากกว่า คุมไม่ได้...

1.        ไก่พื้นบ้านสัตว์ปีกคู่ชนบท: วันไหนที่ชาวบ้านต้มไก่ให้กิน เท่ากับมีสิ่งพิเศษขึ้นในวันนั้น บางแห่งแอบใส่ใบกัญชาเข้าไปยิ่งพิเศษใหญ่  ..อร่อยน่ะซี...  เวลาเจ้านายเข้าพื้นที่ก็มักขอให้ชาวบ้านต้มไก่ให้กิน  ทั้งนายใหญ่และนายเล็ก ชาวบ้านก็ไม่ขัด ไม่มีก็หามาให้ จนมีการเล่าขานถึงเรื่องไก่ในชนบทมากมาย เช่น ไก่บ้านอร่อยกว่าไก่เลี้ยง  ไก่หนุ่มสาวอร่อยกว่าไก่แก่ หนังมันเหนียว  ไก่ที่เป็นโรคตายก็ว่า ห่ากินไก่ตาย  ชาวบ้านที่รังเกียจเจ้านายที่ชอบเข้าไปกินไก่ชาวบ้านจนหมดเล้าก็พูดเปรียบเปรยลับหลังว่า ห่ามันกินไก่จนตายหมดเล้า ไก่ชาวบ้านที่เลี้ยงตามเถียงนามักไม่ค่อยเป็นโรคห่า  เพราะมันอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ไม่เหมือนในเล้าที่เป็นไก่เศรษฐกิจหากติดห่าก็ตายยกฟาร์ม  แต่มาสมัยโรคหวัดนกนี่  ไก่บ้านโดนเป็นเป้ามากกว่า คุมไม่ได้ เพราะปล่อยไปตามธรรมชาติ

2.        ไก่ป่าและไก่บ้านของไทโซ่:  ไก่ป่าและไก่บ้านในที่นี้ไม่ใช่ไก่ที่มีชีวิตแบบเอามาย่างกินกับข้าวเหนียวส้มตำนะ แต่เป็นคำเปรียบเทียบที่ใช้เรียกคนไทโซ่ที่เกิดในชุมชน โตในชุมชนนั้นๆ หรือเป็นคนที่มาจากที่อื่นแล้วเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านนี้ คือ คนไทโซ่ที่เกิดและโตที่บ้านนี่ก็เรียกว่า ไก่บ้านแต่คนที่มาจากบ้านอื่นแล้วย้ายเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านนี้เพราะมาเป็นเขย หรือมาเป็นสะใภ้นั้น เขาเรียกว่า ไก่ป่า  หากจะเรียกสั้นๆก็ได้ว่า ไก่บ้านคือ คนใน ส่วนไก่ป่าคือ คนนอกที่เข้ามาเป็น คนใน

3.        วัฒนธรรมโบราณของไทโซ่: การแบ่งคนแบบนี้มีความหมายสำหรับไทโซ่  มีความหมายมากเสียด้วยโดยเฉพาะชุมชนที่ยังยึดถือวัฒนธรรมโบราณอย่างเข้มแข็ง ชุมชนที่มีผู้หลักผู้ใหญ่ของชุมชนอยู่  ชุมชนที่มีสภาผู้เฒ่า  ชุมชนที่เจ้าโคตรยังมีบทบาทนั้น ไก่ป่าไก่บ้านมีความหมายยิ่งนัก คนทำงานพัฒนาที่ไม่เข้าใจวัฒนธรรมนี้ อาจทำงานไม่สำเร็จ หรือเผชิญปัญหาได้ แต่ไม่ได้หมายความตรงข้ามว่าใครที่เข้าใจวัฒนธรรมนี้แล้วจะทำงานอย่างมีความสำเร็จนะ  ความหมายก็คือ  ในการปกครองชุมชนไทโซ่นั้น ชุมชนจะคัดเลือกผู้ที่มีอาวุโส และมีคุณธรรม มีบทบาทที่ปรากฏชัดเจน คนคนนั้นมักจะถูกเสนอชื่อให้มีตำแหน่งหน้าที่การงานตลอด โดยคนคนนั้นต้องเป็น คนใน คือเป็น ไก่บ้านจะเป็นผู้ถูกเสนอชื่อให้มีตำแหน่งสูงสุดในชุมชนนั้นๆ เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ส่วน คนนอกหรือไก่ป่านั้นไม่มีสิทธิได้ถูกเสนอชื่อให้เป็นผู้อยู่ในตำแหน่งสูงสุดดังกล่าวได้  หรือถูกเสนอชื่อโดยคนนอกด้วยกันเอง แต่จะไม่ถูกเลือกให้ดำรงตำแหน่งนั้นๆ  ส่วนตำแหน่งอื่นๆที่รองลงมานั้นไม่มีปัญหา  เป็นได้หมด และมักจะได้เป็นเพราะให้ผู้มีตำแหน่งสูงสุดใช้งานได้

4.        กรณีตัวอย่างที่บ้านพังแดง:  ตลอดอายุของหมู่บ้านพังแดงนั้นชาวไทโซ่คนในต่างผลัดกันขึ้นปกครองหมู่บ้านมาตลอด ล้วนแต่นามสกุล เชื้อคำฮด ทั้งน้านน เมื่อนามสกุลเหมือนกันความรู้สึกคนนอกอาจจะคิดว่าเป็นพี่น้องกันหมด และน่าที่จะสามัคคีกันแน่นปึก อะไรทำนองนั้น แต่ไม่ครับ เชื้อคำฮดเหมือนกัน แต่มากันหลายสาย..... แม้ว่าจะมีเขยมาอยู่มากมายแต่ไม่มีใครก้าวขึ้นไปถึงตำแหน่งนั้นได้เลย (ต่อไปไม่แน่) พ่อโอ่ง(นามสมมุติ) เชื้อคำฮด  มีตำแหน่งมากมายในหมู่บ้าน เช่น เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน  เคยเป็นสารวัตร เป็นหมอเหยา  เป็นผู้นำกลุ่มต่างๆ รวมทั้งเครือข่ายไทบรู ตำบลพังแดง เป็นผู้แทนชุมชนเข้าร่วมประชุมสัมมนาต่างๆมากมาย และเป็นผู้ที่ทำงานมากที่สุดผู้หนึ่ง ความจริงในทัศนะผู้เขียน พ่อโอ่งมีความรู้ ความสามารถมากกว่ากำนันคนปัจจุบันเสียอีก  มีความเที่ยงธรรมมากว่า  รู้จักพูด รู้จักปกครอง รู้จักเข้ากับข้าราชการ  แต่พ่อโอ่ง  แม้จะนามสกุลเชื้อคำฮด แต่พ่อโอ่งเป็น ไก่ป่าเป็นเขยบ้านพังแดง (เป็นเขย 2 ครั้ง) เดิมพ่อโอ่งเป็นคนบ้านหนองหมู อันเป็นบ้านแรกๆของตำบลพังแดงด้วยซ้ำไป  แต่ไม่ได้ขึ้นเป็นกำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน  ทั้งนี้เพราะวัฒนธรรมไทโซ่พังแดงในเรื่องเกี่ยวกับ ไก่ป่าไก่บ้านนั่นเอง....  ที่ว่าพ่อโอ่งเป็นเขยสองครั้งเพราะพ่อโอ่งมีเมียน้อย เมื่อปีที่แล้วนี่เอง ขณะอายุปาเข้าไป 60 เศษเมียน้อยอายุแค่ 25 เศษ แต่มีลูกติด 1 คน  เมียหลวงก็มองเจ้าหน้าที่แบบเคืองๆ พ่อโอ่งออกจากบ้านบ่อยเพราะเจ้าหน้าที่เอาไปประชุม สัมมนา (สาบานได้ว่าเราไม่มีส่วน นะ.)  แล้วก็ไปเอาเมียน้อยมา ซึ่งก็เป็นคนบ้านพังแดงนี่เองแหละครับ..  เหตุนี้เองชื่อพ่อโอ่ง Rating ลดลงมาเยอะ  แต่ก็ยังเป็นคนทำงานเพื่อสังคมหนักอยู่เช่นเคยแม้จะบ่น  แต่ก็ทำ....

5.        อนาคตของไก่ป่า ไก่บ้าน”: ผู้เขียนเห็นการเปลี่ยนแปลงในสังคมชุมชนมาก็มาก  ทางวิชาการก็สรุปไว้มากมายว่าคลื่นใหม่จะมาแทนคลื่นเก่า  วัฒนธรรมใหม่จะเข้ามาแทนวัฒนธรรมเก่าทั้งดีและไม่ดี (ส่วนใหญ่ไม่ดี..) เหลือแต่ว่าชุมชนจะศรัทธาคุณค่าของวัฒนธรรมเดิมมากน้อยแค่ไหน  หรือไหลไปตามกระแสหลักที่คืบคลานมาตามถนน อากาศ และมาตามคนนี่แหละ ในบ้านพังแดงมีคนนอก นอกจริงๆที่ไม่ใช่โซ่ นามสกุลไม่ใช่เชื้อคำฮด เป็นพวกเข้ามาทำการค้า ในหมู่บ้าน เรียกตรงๆคือพ่อค้า เห็นมาหลายปีนี่เขาแสดงตัวต่อสาธารณะมากขึ้น อำนาจเงินกำลังเข้าสู่ชุมชน  แล้วเขาก็เสนอตัวเป็น อบต. เข้าไปนั่งในสภาองค์การบริหารส่วนตำบลพังแดง..อีกไม่กี่ปีข้างหน้าถ้าผู้เฒ่าและผู้มีพลังธรรมในชุมชนไม่เห็นคุณค่าเดิม  ถ้าชุมชนไม่ตระหนักเรื่องเหล่านี้และคอยมีกลุ่มคนคัดกรองสิ่งเดิมที่ดีให้สืบสานไป  สิ่งใหม่ที่ดีเอาเข้ามา อะไรที่ไม่เหมาะก็ชะรอไว้ หรือสร้างกำแพงการไม่ยึดติด แล้วละก็ ผู้เขียนคิดว่า ทั้งไก่ป่าไก่บ้านคงตายหมด ตายไปจากคุณค่า  เหลือแต่เฒ่าแก่ผู้มีเงินเป็นอำนาจ..ขึ้นเป็นผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล...เพราะเป็นที่รู้กันว่าตำแหน่งเหล่านี้เป็นทางผ่านของงบประมาณราชการต่างๆ เพราะคนในระบบทุนนิยมเสรีนั้นมองแต่ช่องทางการหาเงินเข้ากระเป๋าให้มากที่สุด โดยไม่สนใจคุณค่าทางวัฒนธรรม จริยธรรม และความเป็นพี่เป็นน้องของสังคมชุมชน ????  คำถามที่น่าจะคิดต่อคือ ใครจะเป็นคนทำ  ทำกับใคร เมื่อไหร่ อย่างไร.ฯลฯ
คำสำคัญ (Tags): #ไก่ป่า#ไก่บ้าน
หมายเลขบันทึก: 73003เขียนเมื่อ 17 มกราคม 2007 00:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 22:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท