โกมล คีมทอง : ครูของแผ่นดิน


การตายของครูโกมล คีมทอง เป็นการตายเพื่อเกิดใหม่ของครูจำนวนมหาศาลในแผ่นดิน และเป็นแบบอย่างของคนหนุ่มสาวในรั้วมหาวิทยาลัยที่มีอุดมคติในการเป็นครูในถิ่นทุรกันดาร

เป็นที่ทราบกันดีว่า "โกมล คีมทอง"  เป็นชื่อของเด็กหนุ่มแห่งลุ่มน้ำลพบุรีที่ก้าวเข้ามาเป็นนิสิตคณะครุศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ผู้ซึ่งต่อมาเรื่องราวของเขาได้กลายมาเป็น "เรื่องราวแห่งยุคสมัย"  เป็นเรื่องเล่าที่ไม่รู้จบบนวิถีถนนแห่งอุดมการณ์เพื่อการสืบสานสังคม...

เมื่อครั้งที่ผมเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย   ผมมีโอกาสได้ซึมซับเรื่องราวของนักคิดนักฝันอันเป็นคนหนุ่มสาวแห่งยุคสมัย   หรือปัญญาชนในรั้วมหาวิทยาลัยหลายท่าน  หนึ่งในนั้นก็คือ  "โกมล  คีมทอง"

โกมล  คีมทอง...เป็นแบบอย่างของคนที่เรียนดี  ดูได้จากการสามารถสอบเข้าศึกษาได้ทั้งคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์  และคณะครุศาสตร์ จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย  แต่ท้ายที่สุดก็ตัดสินใจเดินเข้าสู่กระบวนการทางการศึกษาเพื่อการเป็น "ครู"  ...

นอกจากนี้  ในวิถีเส้นทางกิจกรรมของการเรียนในมหาวิทยาลัย,  โกมล  คีมทอง  ยังถือได้ว่าเป็นนักกิจกรรมตัวยงของสถาบัน เป็นนักคิด นักเขียน  และนักปฏิบัติเพื่อสังคมอย่างแท้จริง  ลงมือริเริ่มก่อตั้งชุมนุมวิชาการศึกษาขึ้นมา  เพื่อจัดกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาทางการศึกษาที่ฉีกไปจากขนบค่ายอาสาทั่ว ๆ  ไป  โดยไม่เน้นการปลูกสร้างถาวรวัตถุ  หากแต่เน้นเรื่องกิจกรรมการให้การศึกษาแก่เด็กนักเรียน  เป็นสำคัญ

ผมชอบแนวคิดของครูโกมลอยู่หลายประการ   แต่ที่นำมาใช้ถี่ซ้ำมากที่สุดก็คือ การสอนให้นิสิตโดยเฉพาะกลุ่มผู้นำนิสิตได้ตระหนักว่า  การจัดกิจกรรมเพื่อสังคมนั้น มิใช่หมายถึงว่า  นิสิตเป็นผู้ให้  หรือผู้สังเคราะห์แก่ชาวบ้าน  แต่นิสิตคือผู้ที่อยู่ในฐานะการไปเรียนรู้ชีวิตนอกหลักสูตร  ไปเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมชุมชน  ไปเรียนรู้การทำงานร่วมกันนอกห้องเรียน  ...

ไม่เพียงแต่เฉพาะกิจกรรมอาสาพัฒนานอกมหาวิทยาลัยเท่านั้นที่ครูโกมลได้รับการยอมรับนับถือในแวดวงคนทำกิจกรรมทั้งในหมู่นิสิตและคณาจารย์   กิจกรรมในสถาบันก็ปรากฏชัดเจนว่าโกมล คีมทอง คือ  นักกิจกรรมที่เต็มไปด้วยพลังทางปัญญา  มีผลงานทางการเขียนที่เกี่ยวกับการศึกษาที่ลุ่มลึกและแหลมคมตีพิมพ์เผยแพร่อยู่อย่างต่อเนื่อง 

เช่นเดียวกันนั้นครูโกมล  ยังมุ่งมั่นจัดกิจกรรมเสวนาทางความคิด  อย่างไม่ลดละ  เข้าไปเป็นกำลังสำคัญของคณะบรรณกรหนังสือสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฯ  จนกระทั่งเข้าขึ้นเป็นบรรณกรให้หนังสือสังคมศาสตร์ปริทัศน์ฉบับนิสิตนักศึกษา ฉบับที่ 9  เดือนกุมภาพันธ์  2513 

..........

ในปีพ.ศ. 2513    อันเป็นปีที่ผมยังไม่มีโอกาสแม้แต่ลืมตาดูโลกได้ตัดสินใจเดินทางไปตามความฝันของตนเองด้วยการสมัครเป็น "ครู" เพื่อสอนหนังสือให้กับเด็กผู้ยากไร้ในเขตทุรกันดารอันไกลโพ้น -

โรงเรียนเหมืองห้วยในเขา  ตำบลบ้านส้อง  กิ่งอำเภอเวียงสระ  จังหวัดสุราษฎร์ธานี  คือโรงเรียนที่โกมล  คีมทอง ได้เริ่มต้นความเป็นครูที่นั่น...ทุ่มเทพลังปัญญากายและใจสู่การ "สอนคน"  และสร้างชุมชนในวิถีวัฒนธรรมของชุมชน 

อย่างไรก็ดี,  ครูโกมล  มีโอกาสใช้ชีวิตความเป็นครูได้ไม่ถึงปีก็ถูกยิงเข้าด้านหลังจนเสียชีวิต  ทิ้งไว้แต่เพียงเสียงร่ำไห้ของผู้คน และธารน้ำตาจากดวงตาเล็ก ๆ ของเด็กนักเรียน

.....

การตายของครูโกมล  คีมทอง  เป็นการตายเพื่อเกิดใหม่ของครูจำนวนมหาศาลในแผ่นดิน  และเป็นแบบอย่างของคนหนุ่มสาวในรั้วมหาวิทยาลัยที่มีอุดมคติในการเป็นครูในถิ่นทุรกันดาร...

วันครูปีนี้... ครูโกมล  คีมทอง  เป็นครูอีกคนที่ผมขอกราบสักการะ ..ครูโกมล คีมทอง  ครูของแผ่นดิน

 

หมายเลขบันทึก: 72989เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2007 23:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 20:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
มาทักทายครับ เคยไปที่โกมลเสียชีวิตที่ภาคใต้ ตอนนี้มีมูลนิธิโกมล คีมทอง อยู่ตรงข้ามวัดวิเศษการ ข้างโรงพยาบาลศิริราชครับ
"วันนี้เราขาดคนที่ยอมตนเป็นก้อนอิฐ ก้อนแรกที่ทิ้งลงจนจมมิด เพื่อให้สิทธิ์ก้อนอื่นยืนทะนง" จากโกมล คีมทองที่ผมจำขึ้นใจครับ
  • ขอบคุณครับอาจารย์ ขจิต 
  • ผมเองก็เคยบันทึกวาทะนี้ไว้..แต่ค้นไม่เจอ จึงต้องขอบคุณอาจารย์เป็นอย่างสูง เห็นที่จะต้องท่องให้ขึ้นใจเสียแล้ว
  • โดยส่วนตัว อยากเป็นครูในชนบทมาก แต่ท้ายที่สุดก็ไม่มีโอกาสสอบบรรจุกับเขาเลย
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท