การเรียนรู้ไม่มีกำหนดการ


งง..กำหนดการไม่มี
การเรียนรู้ไม่มีกำหนดการ เขียนจากเวทีฝึกอบรมการสร้างเสริมความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง(คนพิการ) โดยใช้กระบวนการการจัดการความรู้ระหว่างวันที่ ๕-๗ พฤษภาคม ๒๕๔๙ ณ มูลนิธิพระมหาไถ่ จ.ชลบุรีโดย : นวลทิพย์  ชูศรีโฉม  ระหว่างวันที่ ๕-๗ พฤษภาคม ๒๕๔๙ อาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข ได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรให้กับเครือข่ายคนพิการ (พิการทางการเคลื่อนไหว พิการทางสายตา) จำนวนประมาณ ๕๐ คน ในหัวข้อ การสร้างผู้นำเปลี่ยนแปลงโดยใช้กระบวนการการจัดการความรู้  งง!  กำหนดการอะไรก็ไม่มี ไม่รู้เวทีอะไร  จะทำอะไร ให้ทำอะไร เวลาไหนก็ไม่รู้เรื่อง..ไม่เคยเห็นแบบนี้. เป็นเสียง (บ่น) ของผู้เข้าร่วมเวที เท่าที่ผู้เขียนได้ติดตามอาจารย์ไปในเวทีต่าง ๆ ผู้เขียนสังเกตเห็นว่าอาจารย์จะไม่มีกำหนดการใด ๆ ให้กับผู้เข้าร่วมเวทีหรือเจ้าของงานได้ทราบล่วงหน้าก่อน จะบอกแค่เวลาที่เริ่มกับเวลาที่จบเวทีเท่านั้น วิธีการแบบนี้เรียกว่า เป็นวิธีการที่ทำให้ผู้เข้าร่วมเวที งง ๆ เบลอ ๆ มีคำถามไว้ก่อน เอ๊ะ! ก่อน...แล้วสุดท้ายจะ อ๋อ! ว่างั้นเถอะ  ส่วนจะอ๋อ! (หรือจะเอ๋อ! ไปเลย)  หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับกระบวนการและฝีมือของวิทยากร ท่านไม่ต้องกังวลใจ ขอให้ท่านมาด้วยใจ มาช่วยเติมเสริมซึ่งกันและกัน ขอให้ท่านมีใจมุ่งมั่นจะเป็นทุนที่สำคัญที่สุด  ทุกอย่างเราสามารถจะเริ่มต้นตรงจุดไหนก็ได้  กระบวนการที่เราจะมาเรียนรู้ร่วมกัน  ผมเป็นเพียงมาช่วยท่านตั้งคำถามสร้างกระบวนการให้ท่านได้คิด ได้ ปิ้งแว็ป!  ขอให้ท่านเรียนรู้ด้วยความผ่อนคลายและสบายใจ เรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม ขอให้ท่านกลับไปโดยได้ประโยชน์การออกแบบการเรียนรู้เป็นเรื่องค่อนข้างไม่ง่าย วิทยากรส่วนใหญ่จะบรรยาย ได้เอกสาร แต่กลับไปก็เอาไปขึ้นหิ้ง  ดังนั้น จึง คิดว่าการเรียนรู้ที่ดีที่สุด คือ การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม บางช่วงจะพาท่านทำกิจกรรม บางช่วงเรามีหนังมาให้ดู แต่ขอให้ดูแล้วตีเป็นความรู้ ฟังให้เป็นความรู้ใหม่ของเราเราต้องเรียนรู้ให้สนุก เรียนให้มีความสุข แล้วถอยกลับมาในหลักการ..  ถ้าเราเข้าใจเรื่องการเรียนรู้ ความคิดเราจะไม่แข็งตัว ต้องเปิดกว้างยืดหยุ่น เปิดใจพร้อมที่จะรับ  ถ้าเรายังแข็งอยู่เราจะเจอปัญหาอย่างแน่นอนการออกแบบการเรียนรู้ โดยการเอางานของท่านเป็นตัวตั้ง เอางานของท่านมาตรวจสอบว่างานที่ท่านทำมันรัดกุมมันรอบคอบหรือมีทางเลือกอื่นหรือไม่ ถ้าเรามีหลักมีแนวคิด เราสามารถนำมาเทียบเคียงหาวิธีที่ดีที่สุด เป็นคำพูดของอาจารย์ ที่อธิบายให้กับผู้เข้าร่วมเวทีให้เข้าใจถึงที่มาของการไม่มีกำหนดการและวิธีการเรียนรู้ร่วมกันในเวทีกระบวนการแบบนี้วิทยากรจะต้องแน่มาก ๆ ต้องใจเย็น ใช้ความช้า อดทน ความลุ่มลึก ใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์และทั้งใจรวมเข้าไปอยู่ในกระบวนการ เพราะคนแต่ละคนมีพื้นฐานต่างกัน ทั้งฐานคิด ฐานความรู้ ฐานอารมณ์ (รวมถึงฐานันดร ด้วยหรือเปล่า...) อีกทั้งยังเป็นกลุ่มการเรียนรู้ที่เป็นผู้พิการ วิทยากรต้องออกแบบกระบวนการให้เป็นที่น่าสนใจของผู้เข้าร่วม ต้องมีแรงดึงดูดใจให้ทุกคนมองและคิดไปในทางเดียวกันและเดินไปด้วยกัน เรียกว่า ต้องร่วมคิด ร่วมทำ  ไปพร้อมกันในส่วนของผู้เข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้แบบนี้ จะต้องเป็นคนที่มีความ ตื่นตัว ตื่นรู้ อยากรู้ อยากเห็น อยากมีส่วนร่วม  แล้วจะทำอย่างไรล่ะ จึงจะทำให้ผู้เข้าร่วมเป็นอย่างที่ว่า  นี่แหละ! คือโจทย์ที่ท้ายทายคนที่เป็นวิทยากร                 เวทีครั้งนี้ เน้นให้ผู้เข้าร่วมเรียนรู้ เรื่องการ การจัดการความรู้ การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง โดยการเรียนรู้ผ่านสื่อภาพยนต์ เรื่อง ครูใหญ่เกาหลี เมื่อทำกิจกรรมแล้วจะมีการแบ่งกลุ่มย่อยระดมความคิดเห็น ได้เรียนรู้อะไรจากการดูภาพยนต์  กระบวนการแบบนี้เรียกว่า การเรียนรู้ผ่านสื่อ ผ่านกิจกรรม ทำกิจกรรมแล้ววิทยากรจะชวนถอดความรู้ ถอดบทเรียนจากกิจกรรมโดยให้ผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น และตบท้ายด้วยวิทยากรช่วยเติมเต็มและให้หลักการ   วิธีการแบบนี้ผู้เข้าร่วมจะมีการตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาเพราะต้องเข้ากระบวนการคิด กระบวนการมีส่วนร่วม ทุกความคิดเห็นของทุกคนมีค่า ไม่มีผิดไม่มีถูก วิทยากรจะพูดให้กำลังใจแผนผู้เข้าร่วมเป็นระยะ เช่น บางคนไม่กล้าพูด ไม่กล้า แสดงออก วิทยากร และเพื่อน ๆ ในกลุ่มก็จะช่วยกันให้กำลังใจเรียกว่า เชียร์ ให้พูด พูดอะไรก็ได้ ขอให้พูดเถอะ... พอได้พูดครั้งที่หนึ่งแล้ว ครั้งที่สองจะเหลือเหรอ ก็ชักมันละสิ... นี่แหละ! เรียกว่า ความเป็น กัลยาณมิตรของกลุ่มการเรียนรู้ เป็นกลุ่มการเรียนรู้ที่มีพลัง มีความสุข ทุกคนจะต้องดูแลซึ่งกันและกัน เอื้ออาทรกัน มีความเสียสละ มีความเห็นใจกับคนที่ยังตามเพื่อนไม่ทัน มีการกระตุกกระตุ้นซึ่งกันและกัน เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน ได้ความรู้ ได้แนวคิดไปใช้ทำงานต่อ  ได้เพื่อน ได้ความหนุกหนาน  ได้อารมณ์ ได้ความสุข...  ดีจังเลยครับเวทีแบบนี้ เคยไปเวทีอื่น ได้แต่นั่งฟังอย่างเดียววิทยากรก็พูดไป  แต่เวทีนี้ได้ทำกิจกรรมและมีส่วนร่วมตลอด สนุกและได้ความรู้ อยากให้เพื่อน ๆ ได้มาเวทีแบบนี้บ้าง ถ้ามีเวทีอีกคราวหน้าไม่ชวนผม ผมจะโกรธ...                เป็นอีกเสียงหนึ่งที่สะท้อนจากความรู้สึก ความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมเวที ตอนที่มีการประเมินเวทีก่อนการปิดเวทีการเรียนรู้ครั้งนี้            กระบวนแบบนี้จะถือว่าเป็นกระบวนการที่เยี่ยมยอดหรือไม่ (หรือเปล่า)  แต่สิ่งที่เห็น คือ การทำให้คนมีข้อสงสัย ถือว่าเป็นกุศโลบาย ที่ทำให้คนอยากรู้ เมื่ออยากรู้ก็จะมีการตั้งคำถาม เข้าตามหลักการการเรียนรู้ที่ว่า การตั้งคำถามเป็นที่มาของการเรียนรู้  แต่! ทุกอย่างมักจะมีสองขั้ว หรือมีขาวและดำ บางคนเห็นแล้วอยากจะรู้ แต่จะมีอีกบางประเภทที่เข้าไม่เข้าแล้วก็ไม่อยากจะถามอีก (ต่างหาก) ประเภทหลังนี่เรียกว่า บุคคลที่ไม่ฝักใฝ่การเรียนรู้  แต่ หากเขาผู้นั้น เป็นคนที่มีฐานของความเป็นผู้อยากเรียนรู้ รับรองวิธีนี้ ได้ผลแน่นอน ขอรับรองด้วยฝีมือวิทยากร            คุณจะเป็นอะไรก็ช่าง  จะเป็นช่างอะไรก็ตาม   หากคุณอยากเป็นผู้ที่ฝักใฝ่การเรียนรู้  คุณจะต้องเป็นหลายช่าง... ช่างคิด ช่างถาม ช่างฝัน ช่างจินตนาการ ช่างสงสัย ช่างตั้งคำถาม ... ขอให้เป็นได้ทุกช่าง ยกเว้น! ช่างมัน (เถอะ).                การเรียนรู้ไม่มีกำหนดการ  ความรู้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ความรู้อยู่ในตัวเรา ความรู้อยู่รอบๆ ตัวเรา ความรู้มีอยู่ทุกที่ทั้งในโลกและนอกโลก  ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเก็บเกี่ยวสิ่งเหล่านั้นมาเป็นความรู้ แล้วนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร (เรื่องนี้ต้องอาศัยเครื่องมือการเรียนรู้) การเรียนรู้แบบอิสระ แบบผ่อนคลาย แบบมีส่วนร่วม จะได้ทั้งความรู้ ได้ทั้งความสุข ได้หลายๆ อย่างไปพร้อมกัน เมื่อเป็นดังนี้แล้ว คุณยังจะถามหากำหนดการอีกหรือไม่.  คำแนะนำ : กระบวนการแบบนี้ใช้กับกลุ่มการเรียนรู้ที่เป็นคนปกติทางร่างกาย (ไม่พิการ) ก็ได้ด่ะ ใช้ได้กับทุกเพศ ทุกวัย  ไม่สงวนลิขสิทธิ์ คำเตือน :  หากคุณยังเป็นวิทยากรมือใหม่หัดขับ ขอให้ระมัดระวังในการนำกระบวนการแบบนี้ไปใช้ หากไม่ระวังอาจถึงชีวิต  อิ ๆ ๆ ๆ                                                                    *****************************************
คำสำคัญ (Tags): #เก็บตก#km
หมายเลขบันทึก: 72916เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2007 16:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท