สว่างรำไร


ค่ำคืนนี้มีตะเกียงปัญญาอยู่หลายใบ เราผู้แสวงหาความสว่าง กำลังควาญหาไม้ขีดสำหรับจุดใส้ตะเกียงให้ลุกโพลง ท่ามกลางความมืด มือซ้ายไขว่คว้าพบกล่องหมากฝรั่ง "โอ้ ฉันเจอไม้ขีดแล้ว" มือขวาควาญหาตะเกียง ที่ตั้งไว้ตะกี้ "โอ ฉันพบตะเกียงแล้ว" จากนั้นจึงนำถังขยะที่เข้าใจว่าตะเกียง และนำกล่องหมากฝรั่งที่คิดว่าเป็นไม้ขีด มารวมกัน เขาคือตัวฉันจึงนำกล่องหมากฝรั่งใส่ในถังขยะ "ใครกัน เอากล่องหมากฝรั่งมาทิ้งในที่ไม่ควรทิ้ง ต้องให้เป็นภาระของคนอื่นอยู่เรื่อย"

     เนื้อหาที่จะกล่าวต่อไปนี้ คงไม่เกี่ยวข้องกับประโยคเด่น เนื่องจากประโยคเด่นด้านบน เป็นการคร่ำครวญในใจที่เกิดขึ้นมาลอยๆ เมื่อรอกและไซอยู่ตรงหน้า ก็ต้องดักจับความคิดนั้นไว้ก่อน คิดไปพร่ำเพรื่อไป ไร้ประโยชน์ เอาเป็นว่าเมื่อวานนี้ฉันได้ทำอะไรลงไปบ้าง

     เริ่มตั้งแต่เช้าตรู่ รีบลุกขึ้นอาบน้ำ แต่งตัวด้วยเสื้อกร้ามภายในสีขาว เสื้อนอกสีบานเย็นอ่อน ผูกด้วยผ้ารัดคอสีน้ำหมากคุณป้า สวมกางเกงสีดำที่รีดตระเตรียมไว้ตั้งแต่ก่อนนอนพร้อมด้วยของที่คิดว่าสำคัญบรรจุลงในถุงย่าม เพื่อหวังว่าเช้าตรู่จะต้องรีบไปที่ทำงาน วันนี้นอกจากมีงานสอนเช้าบ่ายแล้ว ตกเย็นจะต้องออกไปพื้นที่ แสวงหาความรู้ที่เป็นจริงเชิงสังคม

     เวลา ๑๕.๔๐ น. สิ้นภาระกิจการสอนในชั้นเรียนประจำวัน สะพายถุงย่ามสีฟ้า ที่เพื่อนซื้อให้ ภายในจะเป็นสมุดบันทึก กล้องเก็บภาพ ปากกา เอกสารบางอย่างที่สำคัญส่วนตัว เดินออกจากประตูห้องทำงานที่ขึ้นป้ายหน้าห้องว่า "ปรัชญา" ของคณะมนุษย์ฯ มุ่งตรงไปที่ ห้องทำงานสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ เปิดประตูเข้าไป เห็นอาจารย์ที่ควรแก่การแสดงความเคารพ จึงโน้มตัวแสดงความเคารพด้วยการไหว้ ทั้งที่ท่านก้มหน้าก้มตาทำงานโดยไม่ได้รู้หรอกว่า "ผมเดินเข้าไปหาเพื่อน"

    "พร้อมจะไปหรือยัง" เสียงผู้ชายคนหนึ่งซึ่งเป็นผมเองที่ทักทาย หัวหน้าทีมงานวิจัย "เดี๋ยวพี่ เดี๋ยวเขียนแผ่น (disk) ให้จุ๊บก่อน" มิได้ใส่ถ้อยคำนั้นไว้ในหัวใจมากนัก "อะไรบ้างล่ะ ที่ต้องนำไปพื้นที่" "ปากกาพี่" "กระดาษนี้ด้วยหรือเปล่า" มือข้างหนึ่งหยิบปากกาเส้นใหญ่ที่ใช้เขียนกระดานมันสีขาวประมาณ ๑๕ แท่ง เปิดกล่องพลาสติกที่อยู่บนพื้นเตรียมใส่ "กล่องนี้ไม่เอาไป จะใช้กล่องลังกระดาษ" "อันโน้นหรอ" "อะหะ" เมื่อนำสิ่งที่อยู่ในมือไปใส่กล่องกระดาษเป็นที่เรียบร้อย จึงหอบกระดาษที่ หน.ทีมวิจัย เตรียมไปพื้นที่และกล่องกระดาษบรรจุสิ่งของ เดินออกจากห้องสิ่งแวดล้อม "ผมไปรอข้างล่างนะ"

    สักครู่หนึ่ง เมื่อทีมงานพร้อม ทั้งสี่ชีวิตจึงเดินทางออกจาก มหาวิทยาลัย........โดยมี หน.ทีมวิจัยเป็นมือขับ (ฉมังกว่า) ระหว่างการเดินทาง เสียงจ๊อกแจ๊กจอแจ ตลอดทาง เป็นบรรยากาศของความเป็นกันเอง ส่วนตัวข้าพเจ้าได้แน่นั่งฟัง "อิตฺถีสทฺโท วิย หิ นาญฺโญ......." เสียงของผู้หญิงนั้น แม้จะเป็นเสียงจ๊อกแจ๊ก จอแจ แต่เป็นเสียงที่มีแก้วเสียง ชายใดได้ฟังและฟังอย่างตั้งใจ มักจะเลยหลง เนื่องจากเสียงนั้นจะมีความอ่อนหวาน แหลมเล็กถึงจุดลึกสุดของหัวใจ อย่างเพลง "เสียง......รถด่านขบวนสุดท้าย...ฯลฯ" เมื่อตั้งใจฟัง เสียงนั้นช่างลึก ลึก และลึก ประมาณ ๒ ชั่วโมง ทีมงานจึงถึงที่หมาย คราวนี้มิใช่ องค์การบริหารส่วนตำบลแล้ว หากแต่เป็นวัด

------------------------------

   เราถูกเชื้อเชิญจากเจ้าของพื้นที่ด้วยความอุ่นใจ รอยยิ้มที่แสดงออก ความโกลาหลในการจัดการให้เหมาะสม คงไม่ใช่สิ่งที่คิดไปเอง ลมหนาวลอยล่องมาทางหน้าต่าง เสียงฟ้าครืนในบางคราว

   จากการจัดเวที พอจะเก็บตัวอย่างการสนทนาได้ดังนี้

   เริ่มโดย ผู้ใหญ่เทพพิทักษ์ เป็นผู้ปรารภเรื่องราวในเบื้องแรก และเชิญ คุณนิสา (เบียร์คุง) เป็นผู้แถลง......

   นิสา : เริ่มโดยการแนะนำทีมงาน "(เสียงสูง).....แต่ละหมู่ก็มีผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๑๓ ประธานเครือข่าย ตำบล ท่านอาจารย์เทพพิทักษ์ ทนทานค่ะ (เสียงปรบมือ) ละก้อ สำหรับ..สำหรับทีมงานที่เป็นคุณอำนวย ก็จะอำนวยความสะดวกให้กับ..หมู่ ๓ ของเรา ก็จะมีประธาน รองประธาน โอ้ ลืมแนะนำอีกคนหนึ่งค่ะ เป็นคุณเอื้อให้กับเราเหมือนกัน พี่ตุ๊กตา ตะเพียนทองค่ะ (เสียงปรบมือ) อันนี้ก็อาจจะคุ้นๆหน้าคุ้นๆตากันอยู่ ก็ ทีมงานของเราก็จะเข้ามาทำวิจัยและพัฒนาให้กับเราที่นี้ แต่ว่าเราคงจะทำอะไรได้ไม่มาก หากท่านสมาชิกไม่..ไม่ร่วมมือกันดำเนินการ สำหรับทีมงาน ที่เราเคยตั้งเป้าหมายไว้ เราเคยมาทำเวทีแล้ว แต่ว่าเป็นในรูปของเครือข่ายตำบล แต่ครั้งนี้ เราจะลงมาที่เครือข่ายที่เป็นกองทุน เราเริ่มจาก หมู่ ๓ เป็นอันดับแรก อาจจะขลุกขลักเล็กน้อยนะคะ สิ่งที่เราจะทำร่วมกับท่านก็คือ อยากให้ท่านวิเคราะห์ตัวเองว่า ตอนนี้สภาพของกองทุนของท่านเป็นอย่างไร .... (เสียงเบาลง) ตอนนี้ก็... ๓ ปีที่ผ่านมา ท่านเห็นว่ากองทุนของท่านเป็นอย่างไรละคะ ๓ ปีที่ผ่านมามีอะไรบ้าง เดี๋ยวจะมีเลขา ช่วยจดนะคะ " (เสียงเบาเชิงปรึกษาและหันหน้าไปทาง อ.ดวง) "อ.ดวง ช่วยเขียนกระดาษใหญ่ ว่าตั้งแต่ที่ผ่านมา..ได้ทำ....(เสียงสูงขึ้นและหันไปมองที่ประชุม) เดี่ยวจะให้สมาชิกช่วยกันคิดนะคะ..สามปีที่ผ่านมาว่า การดำเนินการของคณะกรรมการเป็นอย่างไรกันบ้าง ได้เต็มที่นะคะ" (เสียงหัวเราะในลำคอคล้ายกับจะให้บรรยากาศเป็นไปด้วยความเป็นกันเอง)

  ประธาน : บอกเขาไปว่า การดำเนินการเป็นอย่างไร

  เสียงแทรก (สตรีในที่ประชุม) : ประธานก็ดี การจัดการติดต่อสะดวก น้ำไหลไฟสว่าง (พร้อมกับเสียงหัวเราะแบบสบายใจของที่ประชุม)

  นิสา : ตกลงเป็นกองทุนทำให้น้ำไหลไฟสว่างหรือคะ (ฮา)

  ประธาน : (เสียงเหน่อๆ พลังเสียงหนักแน่นของผู้สูงอายุที่ผมคิดในใจว่า คนนี้น่าเชื่อถือ) การบริหารการจัดการที่นี้ เราใช้แบบ พี่ช่วยพี่น้องช่วยน้อง เอื้ออาทรซึ่งกันและกัน เราไม่ได้ตึงจนเกินไป อย่างคนนี้ประวัติเขาพอจะไปได้ เราก็เอื้ออาทรต่อเขา ที่เข้ามาร้องทุกข์ การติดตามทวงหนี้ก็เหมือนกัน เราก็พยายามเอื้ออาทรที่สุด การส่งหนี้ เขามีความสามารถเท่าไรก็ให้เขาทำตามความสามารถ นอกจากนั้น การติดตามทวงหนี้ผมจะใช้ระบบหลายอย่าง... หนังสือก็ไม่ใช่จะเอาข้อความอย่างเดียว การติดตามใช้งบประมาณเยอะเหมือนกัน

  นิสา  : ท่านสมาชิกพอจะรู้ไหมว่า คณะกรรมการดำเนินการอะไรไปบ้าง

  หนึ่งหญิงในที่ประชุม (พี่ตุ๊กตา) : ตั้งแต่เริ่มแรก ที่ว่า กองทุนมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นมาตั้งแต่รอบแรก กรรมการชุดแรก คือที่อยู่ที่นี้ พอมีการออมเงิน กองทุนเข้ามา เขาไม่ได้มีความรู้เรื่องระบบบัญชี เขาเป็นแค่ชาวบ้านและมีใจจะมาทำเหมือนกัน การบริการจัดการในชุดแรกมีปัญหามาก พอถึงปีที่สอง การแก้ปัญหาเริ่มให้แก้มากยิ่งขึ้นเช่น หนี้สูญ หนี้เสีย ตามกันไม่ได้ และมีการสับเปลี่ยนประธานกัน ไม่รู้จะทำอย่างไร หนี้ที่หายไปอยู่ทีไหน มีการเปลี่ยนประธานหลายรอบ จนมาถึงลุง...(ประธาน) ก็พยายามแก้ไขทั้งด้านการบริหารการจัดการระบบบัญชี การปล่อยเงินกู้ มีการเอื้อต่อสมาชิกที่มาขอรับการกู้ และมีการติดตามออกหนังสือ สองสามครั้งถ้าไม่มาก็จะตัดสิทธิ์ คนไม่มาก็จะละอายใจ ถึงแม้จะไม่ใช่นักบริหารจัดการที่ดี แต่ระดับชาวบ้าน คิดว่าทำแล้วร้อยเปอร์เซ็นต์

   นิสา : สรุปว่า เรามีปัญหาเกิดขึ้น เราก็หาทางแก้ไขปัญหาใช่ไหมคะ แล้ววิธีการแก้ไขสมาชิกเข้ามามีส่วนร่วมบ้างไหมคะ เช่นเรื่องของหนี้ มีการออกความคิดว่าควรทำอย่างโน้นอย่างนี้ มีไหมคะ

   ตุ๊กตา : เมื่อกลางปีสี่เจ็ด มีการเปิดเวทีประชุม ประมาณกลางเดือนมิถุนามีการเรียกสมาชิกมารับรองเพื่อให้รู้ว่า ออกหนังสือสองสามครั้งดีไหม ของพวกเราควรมีการติดตามกันหรือไม่

  นิสา : เปิดเวทีวิสามัญหนึ่งครั้งเพื่อ....คนเยอะไหมคะที่มาวันนั้น

  ประธาน : เยอะกว่าที่คราวประชุมใหญ่ ที่ประชุมให้ความเห็นว่า เวลาจะทำอะไรต้องขออนุมัติจากที่ประชุม ถึงจะทำงานได้

  นิสา : การปิดป้ายประกาศนี้เป็นความคิดเห็นของใครคะ

   ประธาน : เป็นความคิดเห็นของที่ประชุม แล้วแต่ที่ประชุมจะรับรอง

   นิสา : เวลาเชิญมาประชุมเป็นแบบใด มีความรู้สึกอย่างไรที่มีการเรียกประชุมบ่อยๆ

   สมาชิก : ดีค่ะ เรียกก็มา รียกไม่เรียกก็มา (ฮา)

   ประธาน : เป็นหนังสือเชิญมา

   อ.วิทยา : ส่วนใหญ่สมาชิกเป็นเจ้าของเงิน เมื่อเงินสูญไปก็ต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน ก็เห็นด้วยที่ว่ามีการติดประกาศผู้มีปัญหากลางหมู่บ้าน

   นิสา : (เสียงสูง เน้นเสียง) ค่ะ การชำระหนี้ เป็นปัญหาระดับชาติ ไม่ใช่แค่ระดับกองทุน อันนี้เป็นกรณีศึกษาที่ดีว่า เราใช้วิธีนี้แล้วมันได้ผลขึ้นมา คนภายนอกมองว่า วิถีชีวิตคนหมู่ ๓ มีความหลากหลาย วิธีการแก้ไขดูเหมือนจะรุนแรง แต่เป็นวิธีการที่ชาวบ้านยินยอม.... กองทุนจะเข้มแข็งได้ ก็ขึ้นอยู่กับสมาชิกของกองทุน สำหรับหมู่สาม เป็นตัวอย่างที่ดีของสมาชิกที่มีความเข้มแข็ง อันเป็นตัวอย่างที่ดีต่อกองทุนอื่นๆ ที่เขามีปัญหาอย่างนี้ เกี่ยวกับการวิจัย อยากให้เครือข่ายระดับตำบล เป็นศูนย์กลางในการแก้ไขปัญหาทุกอย่างที่เกิดในกองทุนหมู่บ้านตำบลนี้ อันที่สองคือ พัฒนาฐานข้อมูล เป้าหมายต่อไปคือ ธนาคารระดับตำบล เกิดธุรกิจชุมชนที่จะเชื่อมโยงถ่ายทอดกัน เช่น หมู่สามทำผ้าวน หมู่สองทำขนม เราจะมีความเข้มแข็งระดับตำบล ต่อมาคือทุกกองทุนดำเนินการเข้มแข็งอย่างจริงจัง เพราะถ้าระดับตำบลเข้มแข็งเราก็จะก้าวไปข้างหน้าได้ แต่โดรงการนี้ มีอยู่อย่างหนึ่งก็คือ เราจะดำเนินการกับกองทุนที่อยากจะร่วมกับเรา วันนี้เราต้องมาช่วยกันคิดกันว่า ถ้าอยากให้เป้าหมายเป็นจริง เราจะทำอย่างไรบ้าง อันแรกคือ ๑) ที่เราเคยคิดกันที่เวที อบต. คณะกรรมการเครือข่ายร่วมกันคิด ถ้าอยากให้มีการพัฒนากองทุน เราต้องทำอย่างนี้จึงจะเกิดการพัฒนากองทุน อันแรกคือ กองทุนสวัสดิการ คราวที่แล้ว อ.วิทยาได้พูดถึงเรื่องสัจจะวันละหนึ่งบาท เป็นกองทุนสวัสดิการ คือเราเป็นชาวบ้าน ไม่มีบำเหน็จบำนาญเหมือนข้าราชการ กองทุนสวัสดิการจะช่วยพวกเราในยามเจ็บป่วย แก่ตัว แต่ชาวบ้านต้องร่วมมือกัน โดยทำเพื่อลูกหลานเราเอง อันที่ ๒ คือ ให้กองทุนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของกองทุน อย่างที่นี้ เป็นศูนย์กลางที่ดี เช่นมีเด็กน้อยมาช่วยกันทำบ้านขอนไม้ มีการทำพวงพรีด มีการทำเกษตร มันก็เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ จากนั้น ส่วนกำไรเราอาจจะปันมาสู่กองทุนสวัสดิการ อันที่ ๓ คือ เป้าหมายการบริหารจัดการมีประสิทธิภาพ เช่นมีระบบบัญชีที่ดี เราจะต้องทำด้วยความคิดของเราเอง โดยพัฒนาไปเรื่อยๆ

   ตุ๊กตา : ที่เคยเข้าไปอบรมการทำบัญชี เขาสอนแค่เปิดปิดเครื่อง ซึ่งมันไม่ใช่ ...สิ่งที่เราต้องการคือ การทำบัญชีตามโปรแกรมว่าช่องไหนใส่อะไร....

ข้อสังเกต

    ๑.  ภาวะกลุ่ม

         ดูเหมือนจะเป็นกลุ่มเล็กๆ การพูดคุยก็จะเป็นการพูดคุยแบบชาวบ้าน คือความเป็นกันเอง ใครคิดเห็นอย่างไรก็จะแสดงความคิดเห็นออกมาทันที ช่วยกันเสริม ช่วยกันแต่ง และแสดงความคิดเห็นขัดแย้งในบางคราวหากไม่เห็นด้วย แต่ไม่ใช่ออกมาในรูปของการถกเถียง ระหว่างการพูดคุย มีสมาชิกเดินเข้ามาร่วม ก็จะมีสมาชิกที่เข้าร่วมแล้วนั้นชักชวนขึ้นสอดแทรกระหว่างการประชุม เกี่ยวกับความคิดเห็น ดูเหมือนผู้มีส่วนในการเดินเรื่องได้ดีคือ ประธาน และ ตุ๊กตา (เฉพาะสมาชิกกองทุนไม่เกี่ยวกับนักวิจัยและทีมงาน) ทั้งสองท่านจะเป็นคลังข้อมูลของกองทุนหมู่นี้ ส่วนท่านอื่นๆ จะนิ่งฟัง บางคนขอซ่อนตัวอยู่ด้านหลัง (สังเกตการณ์จากผู้เก็บภาพ)

        ข้อดีคือ ๑) ความเป็นกันเอง ๒) ความกล้าหาญที่จะแสดงความคิดเห็นของบางคน

        ข้อที่ต้องทำให้ดียิ่งขึ้นคือ ๑) ทำอย่างไรให้ผู้เข้าประชุมทุกคนกล้าแสดงความคิดเห็นทั้งในเชิงขัดแย้งและเห็นด้วย ๒) ทำอย่างไรในขณะที่มีผู้หนึ่งเดินเข้ามา โดยเดินเข้ามาเงียบๆ และนั่งอย่างเงียบๆ โดยที่ผู้กำลังประชุมไม่ส่งเสียงสอดแทรก โดยให้ความเคารพต่อที่ประชุม (ซึ่งอาจจะไม่ดีก็ได้ หากเราอยากให้เป็นอย่างที่เราคิด และอาจจะดีก็ได้ หากให้เป็นไปอย่างที่ชาวบ้านเป็น) ๓) สมาชิกผู้เข้าประชุม ยังเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ และอายุปานกลาง คนหนุ่มสาวไปอยู่ที่ไหน ข้อนี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของพ่อแม่-ลูก

    ๒.  ประธาน

         บุคลิกประธานที่น่าเป็นแบบที่ดีคือ ๑) ความเป็นประชาธิปไตย "แล้วแต่ที่ประชุมจะตกลงกัน" ๒) ความมุ่งมั่น ที่ไม่หวังอะไรมากเกินไป แต่ไมได้หมายถึงไม่หวังอะไร "ต่อไปเมื่อเรามีดอกผลเยอะ เราจะได้ปันผลให้สมาชิก"

* ความเห็นนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวซึ่งอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เป็นจริงก็ได้

 

  

  

 

หมายเลขบันทึก: 7289เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2005 10:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2015 10:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
อ.เอกบันทึกได้ละเอียด แม้แต่เทปเสียงหรือวีดีโอยังอาย ขยันเขียนเล่ามาบ่อยๆนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท