กรณีของนางสาวนุชรา ตันตะราช กับพวกตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1450/2536 : คนเชื้อชาติเวียดนามที่ประสบปัญหาในการมีสัญชาติไทยเมื่อมีการประกาศใช้ ปว.337


ศาลไทยได้วินิจฉัยตัดสินคดีโดยยืนอยู่บนความถูกต้อง และเป็นธรรมมิได้นำเอาความเป็นบุคคลที่มีเชื้อชาติต่างประเทศของคู่ความมาจำกัดในการให้ความยุติธรรมแต่อย่างใด

                นางหง๊อก หวู เกิดที่จังหวัดนครพนม เมื่อปี พ.ศ.2493 จากนายเตียม หวูกับนางแบ๋ หวู ซึ่งเป็นคนญวนอพยพ

 

                ต่อมานางหง๊อก  หวูได้อยู่กินฉันท์สามีภริยากับนายแดง ตันติราช และมีบุตรด้วยกัน 6 คนคือ       นางสาวนุชรา นายปรีชา นายปรีดา ด.ญ.จินตนา ด.ญ.วีนา และด.ช.เอก บุตรทุกคนเกิดในประเทศไทย      นางสาวนุชรา นายปรีชา และนายปรีดาเกิดก่อนวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2515 ส่วนด.ญ.จินตนา   ด.ญ.วีนา      และด.ช.เอกเกิดหลังวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2515 นางสาวนุชราเกิดที่จังหวัดนครพนม         ส่วนนายปรีชา นายปรีดา ด.ญ.จินตนา ด.ญ.วีนา และด.ช.เอกเกิดที่จังหวัดอุบลราชธานี

 

                เมื่อประมาณ พ.ศ.2514 เจ้าหน้าที่ของสำนักงานกิจการญวนอพยพ   จังหวัดอุบลราชธานีไปสอบประวัติบุคคลในครอบครัวของนายแดงกับนางหง๊อก หวู  และอ้างว่าบุตรของคนทั้งสองเป็นญวนอพยพเช่นเดียวกับนางหง๊อก หวู เจ้าหน้าที่จึงใส่ชื่อโจทก์ทั้งหกลงในทะเบียนบ้านญวนอพยพ

 

                นางหง๊อก หวูอ้างว่าตนมีสัญชาติไทย  เพราะเกิดในประเทศไทยแต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองโต้แย้งว่านางหง๊อก หวูเป็นคนต่างด้าวเพราะเป็นบุตรของคนต่างด้าวประเภทญวนอพยพ

 

                นอกจากนั้น        เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองดังกล่าวยังปฏิเสธสัญชาติไทยของบุตรทุกคนของนางหง๊อก  หวูว่ามีสถานะเป็นคนต่างด้าวประเภทญวนอพยพ แต่นางหง๊อก หวู ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของนางสาวนุชรา  นายปรีชา   นายปรีดา ด.ญ.จินตนา ด.ญ.วีนา และด.ช.เอก ก็ต่อสู้อีกว่าบุตรทั้ง 6 คนของตนมีสัญชาติไทยโดยการเกิดเพราะเกิดในประเทศไทย

 

                เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ.2520 ปลัดจังหวัดอุบลราชธานีในฐานะนายทะเบียนบ้านญวนอพยพและอยู่ในความดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี     ได้ร่วมกันเพิ่มชื่อบุตรทั้งหกของนางหง๊อก หวูลงในทะเบียนบ้านญวนอพยพเลขที่ 126/4  ถนนเขื่อนธานี             ต่อมาเปลี่ยนเป็นบ้านเลขที่ 11/4 ถนนเทพโยธีและบ้านเลขที่ 19 ถนนสุรพล ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี

 

                นางหง๊อก หวู ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของนางสาวนุชรา นายปรีชา   นายปรีดา ด.ญ.จินตนา ด.ญ.วีนา และด.ช.เอก จึงฟ้องปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นจำเลยที่ 1 ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีเป็นจำเลยที่ 2    และปลัดจังหวัดอุบลราชธานีเป็นจำเลยที่ 3              ต่อศาลจังหวัดอุบลราชธานีโดยอ้างว่าจำเลยทั้งหมดโต้แย้งสัญชาติไทย  ของตนโดยการเพิ่มชื่อของโจทก์ทั้งหมดลงในทะเบียนคนต่างด้าวอย่างไม่มีอำนาจจึงขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์ทั้งหกมีสัญชาติไทย และห้ามจำเลยโต้แย้งเรื่องสัญชาติไทยของโจทก์ทั้งหกรวมทั้งให้จำเลยที่ 2 และ 3ร่วมกันถอนชื่อโจทก์ทั้งหกออกจาก    ทะเบียนบ้านญวนอพยพเลขที่ 19  ถนนสุรพล   ตำบลในเมือง          อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี

 

                คดีทำในสามศาลโดยศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาว่าโจทก์ที่      1 ถึงที่ 3 เป็นผู้มีสัญชาติไทย ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ถอนชื่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3      ออกจากทะเบียนบ้านญวนอพยพเลขที่ 19 ถนนสุรพล ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานีจังหวัดอุบลราชธานี ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 4 ถึงที่ 6

 

                ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าโจทก์ที่ 4 ถึงที่ 6   เป็นผู้มีสัญชาติไทย ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ถอนชื่อโจทก์ที่ 4 ถึงที่ 6 ออกจากทะเบียนบ้านญวนอพยพ    เลขที่ 19 ถนนสุรพล ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี

 

                ศาลฎีกาพิจารณาพิพากษาโดยแบ่งเป็นประเด็นต่างๆ ได้ดังนี้

 

                ประเด็นแรก การกระทำของจำเลยโต้แย้งสิทธิในสัญชาติไทยของโจทก์หรือไม่

 

                ศาลฎีกาเห็นว่า     การที่เจ้าหน้าที่ผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยทั้งสามได้ขอคืนสูติบัตรของโจทก์ที่1 ถึงที่ 3 คืนโดยอ้างว่าเป็นคนญวนอพยพ    และได้จัดทำทะเบียนบ้านญวนอพยพโดยเพิ่มชื่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ลงในทะเบียนบ้านญวนอพยพทั้งที่นางสาวนุชรา    นายปรีชา นายปรีดา ด.ญ.จินตนา และด.ญ.วีนา ซึ่งเป็นโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 เป็นผู้มีสัญชาติไทย   และทั้งที่สำเนาทะเบียนบ้านก็ระบุสัญชาติของบุคคลทั้งหมดว่ามีสัญชาติไทย ดังนี้ศาลฎีกาจึงเห็นว่า จำเลยมีการกระทำเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 แล้ว

 

                ดังนั้น ศาลฎีกาจึงชี้ว่านางสาวนุชรา นายปรีชา นายปรีดา ด.ญ.จินตนา  และด.ญ.วีนาซึ่งเป็นโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสาม อันได้แก่ปลัดกระทรวงมหาดไทย      ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี และปลัดจังหวัดอุบลราชธานี

 

                ประเด็นที่สอง โจทก์มีสัญชาติไทยหรือไม่

 

                กรณีจะต้องแยกพิจารณาออกเป็น 3 ประเด็น กล่าวคือกรณีของนางสาวนุชรา นายปรีชา และนายปรีดา กรณีของด.ญ.จินตนา และด.ญ.วีนา และกรณีของด.ช.เอก

 

                กรณีของนางสาวนุชรา นายปรีชา และนายปรีดา

 

                1.มีข้อเท็จจริงอันทำให้นางสาวนุชรา นายปรีชา และนายปรีดาได้สัญชาติไทย       หรือไม่                ศาลฎีกาพิพากษาว่าโจทก์ที่ 1       ถึงที่ 3 เกิดในราชอาณาจักรไทยก่อน พ.ศ.2514 ดังนั้นในขณะที่เกิด มารดาจึงยังมีสัญชาติไทย ดังนั้นนางสาวนุชรา นายปรีชา และนายปรีดา       ซึ่งเป็นโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 จึงได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508    มาตรา 7 (1) ซึ่งถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535       เพราะมาตรา 10     แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ   (ฉบับที่ 2)   พ.ศ.2535   บัญญัติให้มาตรา 7 (1) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508       มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 มีผลบังคับ

 

                2.มีข้อเท็จจริงอันทำให้นางสาวนุชรา   นายปรีชา    และนายปรีดาเสียสัญชาติไทยหรือไม่

 

                ศาลฎีกาพิพากษาว่า   การที่นางหง๊อก หวู     มีบิดามารดาเป็นคนญวนอพยพ     จึงไม่ได้สัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 นางสาวนุชรา นายปรีชา และนายปรีดา   ซึ่งเป็นบุตรของนางหง๊อก หวูจึงต้องถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337

 

                3.มีข้อเท็จจริงอันทำให้นางสาวนุชรา นายปรีชา       และนายปรีดาได้กลับคืนสัญชาติไทยหรือไม่

 

                เมื่อบุคคลทั้งสามได้สัญชาติไทยและไม่เคยเสียสัญชาติไทย           ก็ไม่มีความจำเป็นต้องพิจารณาว่าบุคคลดังกล่าวได้กลับคืนสัญชาติไทยแล้วหรือไม่

 

                กรณีของด.ญ.จินตนา และด.ญ.วีนา

 

                1.มีข้อเท็จจริงอันทำให้ด.ญ.จินตนาและด.ญ.วีนาได้สัญชาติไทยหรือไม่

 

                ศาลฎีกาพิพากษาว่าด.ญ.จินตนา และด.ญ.วีนา เกิดในประเทศไทย  หลังจากที่นางหง๊อก หวูผู้เป็นมารดาถูกถอนสัญชาติไทยกลายเป็นคนต่างด้าวตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337   ข้อ 1 เมื่อ  นางหง๊อก หวู   เกิดในราชอาณาจักรไทยจึงมิใช่ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักร             ตาม ความหมายแห่งประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ดังนั้นด.ญ.จินตนา และด.ญ.วีนาซึ่งเป็นโจทก์ที่ 4 และที่ 5       จึงมีสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ   พ.ศ.2508  เดิมก่อนการแก้ไขเพิ่มเติม เพราะไม่เข้าเงื่อนไขที่จะไม่ได้รับสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ข้อ 2

 

                2.มีข้อเท็จจริงอันทำให้ด.ญ.จินตนาและด.ญ.วีนาเสียสัญชาติไทยหรือไม่

 

                ศาลฎีกาพิพากษาว่าด.ญ.จินตนา    และด.ญ.วีนาไม่เสียสัญชาติไทยตามาตรา 7 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508  ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 5      แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ที่บัญญัติให้บทบัญญัติแห่งมาตรา 7 ทวิ       มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ใช้บังคับด้วยก็ตาม    เพราะด.ญ.จินตนาและด.ญ.วีนามีบิดาซึ่งมิได้มีการสมรสกับมารดาเป็นคนสัญชาติไทยจึงไม่ตกอยู่ภายใต้มาตรา 7 ทวิ

 

                กรณีของด.ช.เอก

                 1.มีข้อเท็จจริงอันทำให้ด.ช.เอกได้สัญชาติไทยหรือไม่

                ศาลฎีกาพิพากษาว่า ด.ช.เอกไม่ใช่บุตรของนางแดงและนางหง๊อก หวู ดังที่กล่าวมาแล้วในประเด็นแห่งคดีที่ 2 ดังนั้นศาลฎีกาจึงไม่อาจยอมรับให้ด.ช.เอกอ้างว่ามีสัญชาติไทยเพราะเหตุว่าเป็นบุตรของนายแดง       และนางหง๊อก หวูไม่ได้ เมื่อไม่มีข้อเท็จจริงอื่นที่แสดงว่ามีสัญชาติไทย ศาลฎีกาก็ไม่อาจจะยืนยันว่า ด.ช.เอกมีสัญชาติไทย

                 2.มีข้อเท็จจริงอันทำให้ด.ช.เอกเสียสัญชาติไทยหรือไม่

                ไม่มีการพิจารณา        ประเด็นแห่งคดีนี้เพราะเมื่อด.ช.เอกไม่มีสัญชาติไทยตั้งแต่เกิด ก็ไม่จำเป็นจะต้องพิจารณาว่าเสียสัญชาติไทยแล้วหรือยัง

                 3.มีข้อเท็จจริงอันทำให้ด.ช.เอกกลับคืนสัญชาติไทยหรือไม่

                เมื่อไม่มีประเด็นแห่งคดีให้พิจารณาว่าด.ช.เอกเสียสัญชาติไทยแล้วหรือยังก็ไม่จำเป็นที่จะพิจารณาว่า ด.ช.เอกกลับคืนสัญชาติไทยแล้วหรือยัง

 

                ในการพิจารณาตัดสินคดีของนางสาวนุชรา         ตันตะราช กับพวก จะเห็นว่าศาลไทยได้วินิจฉัยตัดสินคดีโดยยืนอยู่บนความถูกต้อง              และเป็นธรรมมิได้นำเอาความเป็นบุคคลที่มีเชื้อชาติต่างประเทศของคู่ความมาจำกัดในการให้ความยุติธรรมแต่อย่างใด    ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าศาลไทยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนอันเป็นสิทธิของมนุษย์ที่ไม่ควรถูกละเมิด

 

                จากคดีของนางสาวนุชรา ตันตะราช กับพวก       ได้แสดงให้เห็นถึงปัญหาของบุคคลที่มีสัญชาติไทยโดยหลักดินแดน     ซึ่งแม้บุคคลดังกล่าวจะมีองค์ประกอบในการได้สัญชาติไทยตามที่กฎหมายกำหนดแล้วก็ตามแต่เนื่องจากการที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องยังขาดความชัดเจนทำให้ การใช้กฎหมายไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายประกอบกับ      การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐขาดความรู้ความเข้าใจในกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องอย่างถ่องแท้     จึงเป็นเหตุให้เกิดข้อโต้แย้งในกรณีการถูกถอนสัญชาติไทย   แต่อย่างไรก็ตามเมื่อศาลไทยได้ให้ความยุติธรรมจึงทำให้ปัญหาดังกล่าวยุติลงไปได้

                 ปัจจุบันนางสาวนุชรา นายปรีชา นายปรีดา ด.ญ.จินตนา ด.ญ.วีนา มีสถานะเป็นคนไทยโดยมีสัญชาติไทยตามกฎหมายสัญชาติที่มีผลใช้บังคับอยู่ในขณะเกิด 
หมายเลขบันทึก: 72875เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2007 11:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 14:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท