กรณีนางสาวมุ่ย หวูทิ กับพวก ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 3449/2525 : คนเชื้อชาติเวียดนามที่ประสบปัญหาในการมีสัญชาติไทยโดยหลักดินแดน เมื่อมีการประกาศใช้ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337


ศาลไทยได้วินิจฉัยตัดสินคดีโดยยืนอยู่บนความถูกต้องและเป็นธรรมมิได้นำเอาความเป็นบุคคลที่มีเชื้อชาติต่างประเทศของคู่ความมาจำกัดในการให้ความยุติธรรมแต่อย่างใด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าศาลไทยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนอันเป็นสิทธิของมนุษย์ที่ไม่ควรถูกละเมิด

                นางสาวมุ่ย     หวูทิ กับพวก เกิดในราชอาณาจักรไทย เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายหวู เตียนแค้ง และนางนำ  เตียนแค้ง เกิดที่ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมือง  จังหวัดอุดรธานี โดยบิดามารดาของนางสาวมุ่ย หวูทิกับพวกได้จดทะเบียนสมรสที่อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย  บิดาของนางสาวมุ่ย    หวูทิกับพวกเป็นคนต่างด้าวได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองและมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว  ส่วนมารดาเป็นคนต่างด้าวอพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย           ว่าด้วยคนเข้าเมือง นางสาวมุ่ย หวูทิกับพวกจึงมีสัญชาติไทยโดยหลักดินแดน

 

                เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2520  ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337       ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2515 มีคำสั่งที่ อ.ด.19/4497 ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์   พ.ศ.2520   เรื่องถอนสัญชาติโดยส่งสำเนา           หนังสือที่ อ.ด.19/3780 ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2520           เรื่องการถอนสัญชาติ แจ้งคำสั่งที่ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีสั่งถอนสัญชาติไทยของนางสาวมุ่ย   หวูทิกับพวก       ให้นายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองอุดรธานีแก้ไขทะเบียนบ้านโดยให้ถอนสัญชาติไทยและจำหน่ายชื่อนางสาวมุ่ย หวูทิกับพวก     ออกจากทะเบียนบ้านเลขที่ 57   ถนนแสงฉ่ำอุทิศ    ตำบลหมากแข้ง ซึ่งนางสาวมุ่ย หวูทิกับพวกมีภูมิลำเนาอยู่ เป็นเหตุให้นายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองอุดรธานีขีดฆ่าและถอนชื่อและสัญชาติไทย  ของนางสาวมุ่ย หวูทิกับพวกออกจากทะเบียนบ้านดังกล่าว

 

                นายหวู เตียนแค้ง ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของนางสาวมุ่ย    หวูทิกับพวกจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลขอให้พิพากษา     หรือสั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีเพิกถอนคำสั่งที่ อ.ด.19/4497เกี่ยวกับการถอนสัญชาติไทยของนางสาวมุ่ย    หวูทิกับพวกโดยนางสาวมุ่ย หวูทิกับพวกมีสัญชาติไทยตามเดิมต่อไป และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีสั่ง       ให้นายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองอุดรธานีเพิกถอนการถอนชื่อและสัญชาติของนางสาวมุ่ย      หวูทิกับพวกในทะเบียนบ้านเลขที่ 57 ถนนแสงฉ่ำอุทิศ

 

                คดีทำในสามศาลโดยศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาว่า คำสั่งของจำเลยมีความหมายเพียงว่าจำเลยอ้างว่าโจทก์ทั้ง 7 คนถูกถอนสัญชาติไทยแล้วตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 จึงมีคำสั่งให้นายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองอุดรธานีจำหน่าย   ชื่อโจทก์ทั้ง 7 คนออกจากทะเบียนบ้านดังกล่าวซึ่งตามฟ้องและคำขอท้ายฟ้อง      ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์จะให้มีการเปลี่ยนแปลงรายการในทะเบียนบ้านเลขที่ 57 ถนนแสงฉ่ำอุทิศ เกี่ยวกับสัญชาติซึ่งโจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้อง โจทก์จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่พระราชบัญญัติทะเบียนราษฎร์ พ.ศ.2499 กำหนดไว้เสียก่อนเมื่อโจทก์ยังไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายดังกล่าว   โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง

 

                ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาว่าคำสั่งของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง โจทก์ได้สัญชาติไทยและไม่ถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 จำเลยไม่มีอำนาจถอนสัญชาติของโจทก์      และไม่มีอำนาจสั่งให้เทศบาลเมืองอุดรธานีถอนชื่อโจทก์ออกจากทะเบียนบ้านเลขที่ 57       ถนนแสงฉ่ำอุทิศ พิพากษากลับว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง ให้จำเลยเพิกถอนคำสั่ง (หนังสือ) ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีที่ อ.ด.19/4497 ในส่วนที่เกี่ยวกับการถอนสัญชาติของโจทก์เสีย ให้จำเลยสั่งให้นายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองอุดรธานีเพิกถอนการถอนชื่อและสัญชาติของโจทก์ในทะเบียนบ้านเลขที่ 57 ถนนแสงฉ่ำอุทิศ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ศาลละ 1,000 บาท

 

                ศาลฎีกาพิจารณาพิพากษาว่าบุคคลที่จะถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ข้อ 1 (3) ดังกล่าวนั้นได้แก่บุคคล 2 ประเภทคือ

 

                1.บุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยจากบิดาที่เป็นคนต่างด้าว และบิดานั้นเป็นคนต่างด้าวผู้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง หรือ

 

                2.บุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยจากมารดาซึ่งเป็นคนต่างด้าวแต่ไม่ปรากฎบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และมารดานั้นเป็นคนต่างด้าวผู้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

 

                คดีนี้ข้อเท็จจริงรับกันว่าบิดาโจทก์คือนายหวู เตียนแค้งเป็นคนต่างด้าวผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าเมืองและมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวโดยชอบด้วยกฎหมายส่วนมารดาโจทก์แม้ข้อเท็จจริงจะรับกันว่ามารดาโจทก์เป็นคนต่างด้าวอพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดย ไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง แต่ข้อเท็จจริงก็รับกันว่าบิดา   และมารดาโจทก์จดทะเบียนสมรสกันถูกต้องตามกฎหมายที่อำเภอเมืองหนองคาย เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2494 และโจทก์ทั้ง 7 คนเกิดในประเทศไทยหลังจากนั้นนายหวู เตียนแค้ง    จึงเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์เกิดจากมารดาซึ่งเป็นคนต่างด้าวแต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายไม่ โจทก์ทั้ง 7 คน จึงไม่ใช่บุคคลประเภทหนึ่งประเภทใด     ที่จะต้องถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2515 ข้อ 1(3) ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยผู้รักษาการตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ก็เข้าใจเช่นนี้ดังที่ปรากฏตามสรุปข้อวินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องสัญชาติของบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย ข้อ 9       ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ มท.0313/ว.793 ลงวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ.2520    เมื่อเป็นเช่นนี้คำสั่งของจำเลยที่ให้ถอนสัญชาติไทยของโจทก์ทั้ง 3 คน จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยประกาศของคณะปฎิวัติฉบับที่ 337 ข้อ 1 (3) ซึ่งมีผลให้คำสั่งของจำเลยที่สั่งให้       นายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองอุดรธานีดำเนินการแก้ไขทะเบียนบ้านเลขที่ 57   เกี่ยวกับเรื่องการถอนสัญชาติไทยของโจทก์เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีมาชอบแล้ว    ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 500 บาทแทนโจทก์ด้วย

 

                ในการพิจารณาตัดสินคดีของนางสาวมุ่ย   หวูทิกับพวกจะเห็นว่าศาลไทยได้วินิจฉัยตัดสินคดีโดยยืนอยู่บนความถูกต้องและเป็นธรรมมิได้นำเอาความเป็นบุคคลที่มีเชื้อชาติต่างประเทศของคู่ความมาจำกัดในการให้ความยุติธรรมแต่อย่างใด         ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าศาลไทยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนอันเป็นสิทธิของมนุษย์ที่ไม่ควรถูกละเมิด

 

                จากคดีของนางสาวมุ่ย หวูทิกับพวก          ได้แสดงให้เห็นถึงปัญหาของบุคคลที่มีสัญชาติไทยโดยหลักดินแดน   ซึ่งแม้บุคคลดังกล่าวจะมีองค์ประกอบในการได้สัญชาติไทยตามที่กฎหมายกำหนดแล้วก็ตามแต่เนื่องจากการที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องยังขาดความชัดเจนทำให้ การใช้กฎหมายไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายประกอบกับ  การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐขาดความรู้ความเข้าใจในกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องอย่างถ่องแท้     จึงเป็นเหตุให้เกิดข้อโต้แย้งในกรณีการถูกถอนสัญชาติไทย   แต่อย่างไรก็ตามเมื่อศาลไทยได้ให้ความยุติธรรมจึงทำให้ปัญหาดังกล่าวยุติลงไปได้

                 ปัจจุบันนางสาวมุ่ย หวูทิกับพวก มีสถานะเป็นคนไทยโดยมีสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนตามกฎหมายสัญชาติที่มีผลใช้บังคับอยู่ในขณะที่นางสาวมุ่ย หวูทิกับพวกเกิด           
หมายเลขบันทึก: 72871เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2007 11:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 11:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท