คนดีวันละคน : (9) ศ. นพ. ธาดา ยิบอินซอย


ศ. นพ. ธาดา ยิบอินซอย เป็นคนที่จิตใจบริสุทธิ์ที่สุด 1 ใน 10 คนที่ผมรู้จัก

                                     

                                  ศ. นพ. ธาดา ยิบอินซอย

         อาจารย์หมอธาดา  เป็นครูของผม   ท่านจบปริญญาแพทย์จากนคร Cardiff แคว้น Wales สหราชอาณาจักร  และได้ MRCP กลับมาเป็นอาจารย์ที่ศิริราชตอนผมเป็นนักเรียนแพทย์ปี 3   ท่านเป็นหมอโรคหัวใจ   การกลับมาของท่านสร้างความคึกคักให้แก่ศิริราชมาก   เพราะท่านเป็นคนขยัน  ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง   พา resident ไป round คนไข้ตอนกลางคืน   พอสองยามก็ชวนกันไปตีเทนนิส  แล้วกลับมาอาบน้ำและนอนเฝ้าคนไข้ผ่าตัดหัวใจที่ตึกตั้งตรงจิตร

         หมอผ่าตัดหัวใจในขณะนั้นได้แก่  ศ. นพ. กษาณ  จาติกวนิช,  ศ. นพ. กัมพล  ประจวบเหมาะ  และ ศ. นพ. มรว. กัลยาณกิติ์  กิติยากร   ดีใจมากที่ได้หมอโรคหัวใจทางอายุรศาสตร์อย่าง อ. หมอธาดา มาอยู่ที่ศิริราช   เพราะช่วยให้การวินิจฉัยก่อนผ่าตัดแม่นยำขึ้นมาก   และช่วยดูแลคนไข้หลังผ่าตัดแบบนอนเฝ้าให้

         อ. หมอธาดา เป็นฮีโร่  เป็น role model ของ นศพ.รุ่นผม   เป็นคนสร้างแรงบันดาลใจให้ นศพ. ทัศนะ  นิวัฒน์ภูมินทร์ คลั่งไคล้สาขาวิชาโรคหัวใจ   ไปฝึกอบรมและทำงานด้านนี้ในสหรัฐอเมริกาจนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญ   ทำงานอยู่ที่ รพ.Sedar Sinai   และในที่สุดได้มีโอกาสถวายการรักษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

         พร้อม ๆ กับที่แพทย์จบใหม่รุ่นผมไปฝึกอบรมและทำงานต่อที่สหรัฐอเมริกา   อ. หมอธาดาก็ไปด้วย   และไปเรียนระดับปริญญาเอกถึง 2 ปริญญา   คือด้านสรีรวิทยา และด้านคณิตศาสตร์   ท่านทำงานเป็นอาจารย์ที่สหรัฐอเมริกาจนเป็นศาสตราจารย์ด้านอายุรศาสตร์และสรีรวิทยา

         เมื่อจะกลับมาทำงานที่เมืองไทย   ท่านเลือกไปทำงานที่ รร.แพทย์แห่งใหม่คือ  คณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ซึ่งผมทำงานที่นั่นอยู่หลายปีแล้ว   จึงเป็นโชคดีของผมที่จะได้ทำงานใกล้ชิดกับท่าน

         ตอนแรกที่ท่านไปอยู่ท่านทำงานที่โรงพยาบาลหาดใหญ่   เพราะโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ยังสร้างไม่เสร็จ   ส่วนผมทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัย   อาศัยใต้ถุนคณะวิศวะอยู่   เราจึงไม่ค่อยรู้จักกัน

         ปลายปี 2524  คณะแพทยศาสตร์จะต้องหาคณบดีคนใหม่ที่จะต้องมาดำเนินการเปิดโรงพยาบาล 100 เตียงแรก   และขยายโรงพยาบาลโดยเร็ว   อาจารย์ที่มีกันอยู่สัก 20 - 30 คนประชุมกัน   โดยผมไม่ไปร่วมประชุมด้วย   อ. หมอธาดาถามภรรยาผมกลางที่ประชุม "อมรา  วิจารณ์เป็นได้ไหม"   "หนูว่าเขาเป็นได้   แต่เขาบอกว่าเขาไม่อยากเป็น"   ตอนนั้นผมเป็นที่เกลียดชังของคนในคณะแพทย์   เพราะตอนผมเป็นรองอธิการบดี (พ.ศ.2518 - 2521)  ผมไม่เอื้อเฟื้อเป็นพิเศษต่อคณะแพทย์

         อ. หมอธาดามีลักษณะเป็น concerned citizen คือเป็นทุกข์เป็นร้อนต่อองค์กรและสังคมที่ตนอยู่   จึงเข้าไปชักชวนพวกอาจารย์ช่วยกันคิดอ่านหาคณบดีคนใหม่   ซึ่งในที่สุดเขาก็ไม่รู้จะเอาใคร   จึงมาคว้าผมซึ่งมีความดีอยู่อย่างเดียวคือไม่กลัวงานยากลำบาก   และไม่กลัวศัตรูด้วย   ผมวางกุศโลบายเอาศัตรูมาเป็นมิตรหมด

         อ. หมอธาดายอมมาช่วยเป็นรองคณบดีให้ผม   ตอนแรกท่านไม่ค่อยรู้จักผมคงจะไม่ค่อยวางใจเท่าไรว่าผมจะทำได้   แต่การที่ได้ทำงานใกล้ชิดกัน   ทำให้ผมได้เรียนรู้วิธีคิดและเรียนรู้ความดีจากท่านมากมาย   ท่านกลับมาเป็นครูผมอีกครั้งหนึ่ง   และคราวนี้เป็นมาตลอดจนทุกวันนี้

         เรื่องของ อ. หมอธาดาผมเล่าได้ทั้งวัน   ได้กล่าวแล้วว่าท่านเป็น concerned citizen   เมื่อมีปัญหาการก่อการร้ายในภาคใต้   ขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลใน 3 จังหวัดภาคใต้ก็รวนเร   อ. หมอธาดาได้อาสาเข้าไปเป็นประธานคณะกรรมการสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายด้านสุขภาพ   ตามยุทธศาสตร์ของประเทศในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้   ท่านไม่ใช่แค่ทำหน้าที่ประธานการประชุม   แต่ได้เข้าไปทำงานในพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่

         ศ. นพ. ธาดา  ยิบอินซอย  เป็นคนที่จิตใจบริสุทธิ์ที่สุด 1 ใน 10 คนที่ผมรู้จัก

วิจารณ์  พานิช
 1 ม.ค.50

หมายเลขบันทึก: 72865เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2007 10:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (34)

ขอบพระคุณค่ะ....

อ่านแล้วรู้สึกปิติ...และชื่นชมอย่างยิ่งค่ะ...

ขณะอ่านหัวใจ...พอง...และหึกเหิมยิ่ง...ในความมุ่งมั่นทำสิ่งที่ดี...เรื่องนี้รู้สึกมีพลัง อาจเป็นเพราะได้มีโอกาสได้เจอท่าน ศ.นพ.ธาดา  ยิบอินซอย....จึงรับรู้พลังแห่งเรื่องเล่าได้มาก....

(^_____^)

กะปุ๋ม

  • ได้ยินชื่อเสียงท่านมานานแล้วค่ะ
  • ท่านเป็นคนดีมากๆ ค่ะ น้องชายดิฉันก็บอกเช่นนั้นค่ะ
อ. หมอธาดา เป็นฮีโร่ สำหรับตนเองเช่นเดียวกันค่ะ ตั้งแต่ที่เป็นนักศึกษาแพทย์ จนปัจจุบัน  อาจารย์เป็นคนตรงไปตรงมา คิดเห็นอย่างไร ก็ว่าอย่างนั้น ชอบวิธีคิด วิธีพูด และวิธีถ่ายทอดของอาจารย์เป็นที่สุด  ล่าสุดที่ได้ยินอาจารย์เล่าให้ฟังเรื่องที่รับเป็นประธานกรรมการชุดหนึ่งการพัฒนาสุขภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว (ซึ่งตั้งแต่ที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบ อาจารย์ก็ได้เข้าไปให้กำลังใจอย่างต่อเนื่อง) ยิ่งความประทับใจในตัวอาจารย์มากๆ 

    ชื่นชมอาจารย์มากตั้งแต่ได้ทำงานเรื่องรังสีรักษากับผู้ป่วยมะเร็งภายใต้การให้คำปรึกษาจากอ.ธาดา    และตลอดมาถึงการทำงานกับมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ    อาจารย์ยินดีให้คำปรึกษาในเรื่องที่อาจารย์เห็นว่าจะช่วยได้  แม้แต่เป็นเรื่องของสถาบันสุขภาพเด็กและหมอโรคหัวใจเด็กที่ต้องการแก้ปัญหาระบบการทำงาน   อาจารย์ก็ยินดีมาช่วยให้คำปรึกษา  ดิฉันรู้สึกปลื้มปิติมากที่อาจารย์ตอบรับให้ความช่วยเหลือแนะนำ

  

ขอชื่นชมด้วยคนครับ ผมทราบข้อมูลจาก นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ เมื่อวันนี้เอง ล่าสุดอาจารย์ธาดา กำลังเรียน sofeware STATA

อาจารย์ธาดา เป็นอาจารย์ของคุณหมอที่ผ่าตัด หัวใจให้ในหลวงของเราอีก

อ.ธาดา ไม่น่าชื่นชมอย่างที่คิดกัน พูดกับคนไข้รุนแรงไป "ไม่ต้องกลัวหรอกอีก 3 เดือน คุณก็ยังไม่ตายหรอก พูดไม่มีนุ่มนวล ไม่ให้กำลังใจคนไข้ นี่เหรอหมอ ที่จิตใจบริสุทธิ์ 1 ใน 10 ไม่จริง

ตอนยังไม่มีโอกาส พบตัวจริงอาจารย์ อ่านบทความนี้ ก็ไม่ inside เท่าไหร่คะ บอกตามตรง ว่าพอมีโอกาสมีวาสนาได้พบตัวจริง อาจารย์ ศ.นพ.ธาดา ในวันที่ 13 กพ. ที่ท่านและคณะเมตตามาเยี่ยมที่อ.หล่มสัก บอกตามตรงด้วยจิจใจคารวะนอบน้อมว่า เหมือนได้เข้าไปเดินในตัวหนังสือจินตนาการ ของ อาจารย์ ศ.นพ.วิจารย์ จริงๆคะ นึกภาพออก ดีใจมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ คะที่มีโอกาสได้พบ บุคคลที่มีคุณประโยชน์ต่อแผ่นดินมากมายขนาดนี้คะ

คุณหมอธาดา เป็นบุคคลที่มีพระคุณยิ่งกับครอบครัวบุญศิริ คุณพ่อของผม นายแปลก บุญศิริ ซึ่งมีชีวิตอยู่กับครอบครัวได้ทุกวันนี้ก็เพราะท่าน เริ่มจากท่านวินิจฉัยโรคส่งตัวคุณพ่อไปผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจที่รพ.ราชวิถีโดยคุณหมอที่เป็นศิษย์ของท่าน สมัยนั้นมอ.ยังไม่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ครบครันเหมือนสมัยนี้ จากวันนั้นถึงวันนี้คุณหมอธาดาก็ยังเป็นแพทย์รักษาคุณพ่อผมอยู่ ครอบครัวผมรักเคารพท่าน ท่านเป็นหมอที่ชัดเจน ตรงไปตรงมา ท่านเป็นผู้ใหญ่น่ารัก น่าเคารพและเป็นแบบอย่างที่ดีของหมอท่านอื่น ไม่เลี้ยงไข้มีจรรยาบรรณของแพทย์สูง ท่านใช้ความรู้ความสามารถความเสียสละความทุ่มเทที่มีอยู่ในตัวท่านให้กับเพื่อนมนุษย์ที่เจ็บทุกข์ไม่สบายจากโรคที่เกิดขึ้น เรียกได้ว่าท่านเป็นบุคคลตัวอย่างที่คนทุกทุกสาขาอาชีพควรเอาแบบอย่าง นั่นคือความมุ่งมั่นเสียสละเพื่อเพือนมนุษย์

ด้วยความเคารพรักอย่างสูง

ครอบครัวบุญศิริ

อาจารย์เป็นผู้ที่มีหัวใจของความเป็นครูอย่างยิ่ง เป็นคุณครูที่แสนดี และเป็นแบบอย่างที่ดีมากค่ะ

เคยได้ยินชื่อเสียง ผลงานวิจัย และคุณงามความดีของอาจารย์หมอธาดาเหมือนกันครับ

ขอคารวะ และยึดเป็นแบบอย่างที่ดี...

ขอบคุณครับ

ดรุณีวัลย์ วโรดมวิจิตร

ดีใจที่ได้เป็นลูกศิษย์และเรียนรู้จากอาจารย์ธาดา เห็นด้วยกับที่บทความข้างต้นอย่างยิ่ง อาจารย์อาจจะไม่ใช่คนที่พูดเพราะแต่เป็นคนตรงไปตรงมาและมุ่งมั่นในทุกงานที่อาจารย์ทำมากมาก

ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้อาจารย์มีสุขภาพดี แข็งแรงด้วยค่ะ

เป็นลูกศิษย์สงขลานครินทร์ค่ะ รักและศรัทธาในตัวอาจารย์มาตลอด

อาจารย์เป็นครูที่น่ารัก เป็น Role model และยังเป็นบุคคลสำคัญในโรงเรียนแพทย์ที่เข้าใจงาน Public health เป็นอย่างดีอีกด้วย

ระลึกถึงอาจารย์เสมอค่ะ และจะเป็นหมอที่ดีตามแบบอย่างอาจารย์นะคะ

ภารดี ปรีชาวิทยากุล

เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ "ศ. นพ. ธาดา ยิบอินซอย เป็นคนที่จิตใจบริสุทธิ์ที่สุดคนหนึ่ง" จริง ๆ

จากที่เคยมีโอกาสทำงานและได้รับคำแนะนำจากท่านในหลาย ๆ เรื่อง ท่านมีความเป็นเป็นครูสูงมาก พร้อมที่จะให้คำปรึกษาทุกเรื่อง ท่านเป็นนักอ่านตัวยงและพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ ท่านอ่านพบเรื่องอะไรดี ๆ น่าสนใจก็มักจะส่งต่อให้เราลองนำไปศึกษา ลองนำไปปรับใช้

ท่านเป็นนักคิด... คิดแต่จะทำอะไรให้เป็นประโยชน์อยู่เสมอ  ประโยชน์ของคนไข้ ประโยชน์ของลูกศิษย์ ประโยชน์ของประชาชน

ท่านมีส่วนอย่างมากในการหล่อหลอมพัฒนาแนวคิดและการทำงานของเราจนถึงทุกวันนี้ หัวใจของท่านเต็มไปด้วยการ "ให้" ให้โดยไม่มีข้อแม้ใด ๆ ท่านคำนึงถึงประโยชน์สุขของผู้ป่วยและประชาชนอยู่เสมอ สมศักดิ์และศรีแห่งสงขลานครินทร์ ดังพระราโชวาทของเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์

“ขอให้ถือผลประโยชน์ส่วนตัว เปนที่สอง

ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ เปนกิจที่หนึ่ง

ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศ จะตกมาแก่ท่านเอง

ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพย์ ไว้ให้บริสุทธิ ”

ชีวิตของท่านมีแต่ "มอบให้" หรือไม่ก็ "เป็นตัวอย่าง" อยู่เพื่องาน เพื่อความรู้เพื่อมนุษย์โดยแท้

ไม่เคยรู้จักคุณหมอธาดา แต่เคยรู้จักนามสกุลท่าน และก็รู้สึกดีใจทุกครั้งที่มีการยกย่องคนดี (ไม่ว่าจะดีมากหรือน้อยก็ตาม) มันทำให้ผู้ได้รับการยกย่องจะมีกำลังใจและประพฤติดียิ่งๆขึ้นไป หากเขาไม่ดีจริงเขาก็จะได้พยายามทำตัวให้ดีสมกับที่มีคนยกย่อง สรุปว่าดีทั้งขึ้นทั้งล่อง

แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากสำหรับการชื่นชม (โดยเฉพาะหากคำชื่นชมนั้นออกมาจากคนที่มีชื่อเสียงได้รับการยกย่อง เชื่อถือในสังคม) คือต้องมั่นใจว่าสิ่งนั้นดีจริง ...เป็นเช่นนั้นจริง ..มิฉะนั้นแล้วมันจะเป็นดาบสองคม ดิฉันเป็นคนที่เชื่อในความดี-ชั่ว เหมือน สีขาว-ดำ และไม่คิดว่า "สีเทา" จะค่อนข้างดี หรือค่อนข้างไม่ดี เพราะดีคือดี ในตัวของมันแล้ว และในทางตรงข้าม

บทเรียนที่เป็นภาพสะท้อนที่สะท้อนใจมากคือ...เคยมีคำชื่นชมยกย่องในเรื่องการประเมินคุณภาพการเรียนการสอนของสถาบันแห่งหนึ่ง และมีการชื่นชมโดยดูจากรายงานที่ส่งประเมิน โดยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิผู้ที่สังคมเชื่อมั่นว่าจะช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้ ว่าสถาบันแห่งนั้นคุณภาพในระดับดี-ดีมาก ผลที่ได่รับก็คือปีที่ผ่านมาเขียนอย่างไร-ทำอย่างไร ผลจึงออกมาเช่นนี้ ปีต่อไปก็ทำแบบเดียวกัน คุณภาพที่แท้จริงกลับไม่ได้รับการพัฒนา (เพราะเชื่อเท่าที่เห็นเอกสาร ไม่ดูสิ่งที่เป็นจริง) กรรมเป็นของนักศึกษา บาปตกกับสังคม ที่ได้บัณฑิตครึ่งสุกดิบออกไปพัฒนาชาติ นี่คือจริยธรรมอีกหรือไม่??

และหลายครั้งที่สังคมเรายกย่องเปลือกที่เห็น มากกว่าตัวตนที่เป็น คนที่มีแต่เปลือก(ไม่มีแก่น) จึงได้รับการชื่นชม ซึ่งเป็นอันตรายยิ่งโดยเฉพาะหากเขาผู้นั้นเป็นผู้บริหารองค์กร เพราะเขาจะเห็นกงจักรเป็นดอกบัวเรื่อยไป คุณภาพการศึกษาถูกพัฒนาไปทางวัตถุ ตึกสวย แอร์พร้อม แต่ไม่มี-ขาดแคลน อุปกรณ์การเรียนการสอน เพราะการชื่นชมและประเมินของท่านที่มีคุณภาพเหล่านั้น น่าเศร้าใจแทนมากที่ท่านเหล่านั้นมีโอกาสสร้าง แต่ไม่ใช้โอกาส

ท่านอาจารย์ธาดา ยิบอินซอยเป็นหนึ่งในผู้มีพระคุณสำหรับชีวิตของดิฉัน ไม่มีวันลืมความเมตตากรุณาที่ท่านมอบให้ค่ะ ด้วยความเคารพรักศรัทธาค่ะ

เรียน ทุกท่านที่ เคารพ ศรัทธา ใน ศ.นพ. ธาดา ยิบอินซอย (อาจารย์หมอ)

ด้วย เมื่อวันนี้ 9 ม.ค. 2554 เวลา 12.00 ศ.นพ. ธาดา ยิบอินซอย ได้เสียชีวิตลง อย่างสงบ ณ ห้อง ICU ชั้น 4 ม.สงขลานครินทร์ (มอ. หาดใหญ่) วันนี้ เวลา 15.00 จะมีพิธี รดน้ำศพ ที่ ห้อง ICU รพ.มอ. หาดใหญ่ และ จะตั้งศพบำเพ็ญกุศล ณ วัด คลองเปล เทศบาลนครหาดใหญ่ และจะมีการสวดพระอภิธรรม ทุกคืน เวลา 19.00 น. จึงขอเรียนเชิญ ทุกท่านที่รู้จัก และเคารพ ศรัทธาในตัวท่าน ร่วมไว้อาลัย และ ร่วมพิธี ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยเจ้าภาพจะแจ้ง กำหนดวัน ณาปนกิจ ให้ทราบอีกครั้ง

ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัว และ ญาติ ขอ อ.หมอ ศ.นพ. ธาดา ยิบอินซอย มา ณ โอกาสนี้

จึงเรียนมาเพื่อทราบ

ชมรมนักวิทยุสมัครเล่น มอ. หาดใหญ่

พีรพงษ์ เต็งธนกิจ

ขอให้อาจารย์อันเป็นที่รักของเรา ไปสู่สุขคติ พวกเราทุกคนจะทำตามคำสั่งสอนของอาจารย์ตลอดไป

ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวคุณหมอด้วยค่ะ ก็รู้มาว่าคุณหมอเป็นคนดี ช่วยเหลือผุ้ทุกข์ยาก มานานแล้ว ตอนนี้เราก็สูญเสียคนดีอีกคน ขอให้ท่านไปดีนะค่ะ

ประโชติ อินทร์ถาวร

ผมได้มีโอกาสทำกิจกรรมเพื่อสังคมร่วมกับคุณหมอธาดา มาหลายปีและหลายกิจกรรม ท่านเป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้ผมได้ทำกิจกรรมอนุรักษ์คลองอู่ตะเภา และสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นกิจกรรมที่สร้างจิตสำนึกให้กับประชาชนและเยาวชนมายาวนานจนถึงปัจจุบัน นอกจากได้มีโอกาสร่วมทำงานกับท่านแล้วท่านยังได้ช่วยเหลือดูแลสุขภาพของคุณแม่ ของทุกคนในครอบครัว และตัวกระผมเองมาโดยตลอด โชคดีที่ได้มีส่วนร่วมทำงานกับคุณหมอธาดา แม้เป็นเพียงกิจกรรมที่ทำแล้วรู้สึกพึงพอใจที่เราได้มีส่วนร่วมในการกระทำความดีบ้าง เท่าที่รู้จักกับคุณหมดธาดาท่านคิดทุกเรื่องที่เป็นส่วนรวม และกระทำทุกอย่างเพื่อคนอื่น รู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ่งที่ต้องสูญเสียท่านไปครับ

ประโชติ อินทร์ถาวร

นพ.อับดุลฮากิม กริยา

ผมในฐานะลูกศิษย์ และได้เคยเรียนกับท่านมา ครั้งแรกคนทั่วไปอาจคิดว่าท่าน พูดแรง เมื่อเราได้สัมผัสมากขึ้น จะรู้เลยว่า จริงๆแล้วท่านเป็นคนที่พูดตรงไปตรงมา แต่เต็มด้วยความจริงใจ และ ทุ่มเทในการทำงาน เพื่อคนไข้ล้วนๆ ท่านเป็นหมอในหัวใจ เต็มด้วยความโอบอ้อมอารี ผมเริ่มเรียนคณะแพทย์มอ.ตั้งแต่ปี 2525 ได้เจอท่านสอนอยู่ที่นั่น ผมจบไปปี 2532 และผมก็มักเยี่ยมคณะแพทย์มอ. เกือบทุกปี ก็เห็นท่านอยู่ในคณะแพทย์ ต่อมา ล่าสุด ปี 2552 แม้แต่ผมจบมานานเกือบ 20 ปี ก็ยังพบท่านที่นี่ และทักทายกับท่าน เห็นท่านยังอุทิศคณะแพทย์มอ. เสมือนคณะแพทย์มอ.เปรียบเสมือนบ้านของท่าน และเหล่านศพ. และศิษย์ๆทั้งหลายเหมือน ลูกๆหลานของท่าน

ผมเพิ่งรู้ข่าวการจากไปของท่านอย่างไม่มีวันกลับ เมื่อกี้(20.00น.)นี้เอง ผมรู้สึกเสียใจมากสูญเสียอาจารย์แพทย์ที่ดีคนหนึ่ง และขอให้ท่านได้พักกับการทำงานหนักอันยาวนาน และได้หลับให้สบายนะครับ อาจารย์ และผมจะไม่มีวันลืมอาจารย์ตลอดไป.

ศ. นพ. วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ส่ง อี-เมล์ มาดังนี้

ข้อเขียนของผมเป็นดังนี้ เผยแพร่ไปทางอิเล็คทรอนิกได้เลยครับ

==========================

ผมได้เรียนอะไรจากอาจารย์ธาดาบ้างใน 30 ปีที่ผ่านมา

1. ปรัชญาความเชื่อ

ส่วนใหญ่ออกไปในแนววิทยาศาสตร์วัตถุนิยม (scientific materialism) นั่นคือ ให้ความสำคัญกับ ข้อเท็จจริง (fact) ข้อมูล (data) และวิธีการวิเคราะห์ที่น่าเชื่อถือ ปรัชญานี้นำในชีวิตประจำวันทุกด้าน

2. อุดมการณ์ ทีท่านปฏิบัติให้ดูเป็นตัวอย่าง

2.1 ให้เวลาและความสำคัญกับคนอื่น ๆ เช่น ผู้ป่วยและญาติ คนด้อยโอกาส คนต่างวัฒนธรรม แพทย์และนักวิชาการรุ่นน้อง เยาวชนและลูกหลาน

2.2 สมถะ เรียบง่าย ปฏิเสธ ลาภ ยศ พิธีรีตรอง

2.3 ไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ

3. วิชาการ

3.1 ติดตามข้อมูลใหม่ (well informed)

3.2 ตั้งคำถาม (queristic mind) คิดอย่างมีวิจารณญาณ (criticality)

3.3 แลกเปลี่ยนเรียนรู้ปรึกษาจากผู้เชียวชาญสาขาต่าง ๆ

3.4 เขียนสั้นกระชับ คำพูดน้อย เนื้อหามาก และ เป็นระบบ (พวกเราต้องอ่านและฟังให้ดี)

4. ประสิทธิภาพในการจัดการ

4.1 จัดสรรเวลาและความสนใจของตนเอง สามารถส่งมอบงานทุกชิ้นตามเวลา

4.2 จดบันทึก ติดตามงานเก่าอย่างเป็็นระบบ ต่อเนื่อง ทบทวนปรับปรุงตลอดเวลา

4.3 สมดุลระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวของสมาชิกในทีมงานกับทรัพยากรของส่วนรวม

4.4 ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนรุ่นใหม่

4.5 มัธยัสถ์

5. บุคลิกภาพ

5.1 เปิดกว้าง รับฟังอย่างสุขุม (ดุหน่อย สมัยยังหนุ่ม ๆ)

5.2 วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา แต่ สรุปอย่างสร้างสรรค์

5.3 ส่งเสริมให้กำลังใจให้ทำสิ่งที่ดี

คำสั่งเสียของอาจารย์ ที่ปรากฏอยู่ในรอยยิ้มในภาพถ่าย

ไม่ว่ามองยังไงก็จะรู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่าอาจารย์บอกให้พวกเราชาว workoholic ทำงานต่อไปให้ได้ผลดีและสนุก

วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์

ขอไว้อาลัยแด่อาจารย์ธาดาที่เคารพรักอย่างสูง เป็นบุญของศิษย์ที่ได้เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ ได้รับความรู้ ดวามเมตตากรุณาและกำลังใจจากอาจารย์ตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์จนกระทั่งทำงาน ได้สัมผัสถึงความเสียสละ ดวามเมตตากรุณาและความเป็นผู้ให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนของอาจารย์ที่มีต่อผู้ป่วยและคนรอบข้าง อาจารย์ได้เสียสละและทุ่มเททำงานมายาวนาน การจากไปของอาจารย์เป็นความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง ขอให้อาจารย์และอาจารย์สมทรงพักผ่อนบนสวรรค์ให้สบายนะคะ พระคุณของอาจารย์ที่มีต่อศิษย์และครอบครัวชั่วชีวิตนี้จะไม่มีวันลืม

ขอขอบพระคุณอาจารย์ที่มีความเมตตาต่อลูกศิษย์ คนไข้ทุกคน อาจารย์เป็นคนจิตใจดี ขยัน ทำงานไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยมาตลอดชีวิต ส่วนตัวไม่อยากรับทราบว่าอาจารย์เสียชีวิตแล้ว อยากให้อาจารย์เดิน วิ่ง ทำงานอยู่ตลอดไป เป็นขวัญและกำลังใจแก่ลูกศิษย์และคนไข้ตลอดไป แต่อย่างไรก็ตามคนเราต้องยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น ขอให้อาจารย์หลับอย่างสงบและขอให้ดวงจิตของอาจารย์ไปสถิตย์อยู่บนสรวงสวรรค์อย่างสงบ พวกเราทุกคนที่ยังมีชีวิตอยู่จะต้องดำรงตนให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ต่อเพื่อนมนุษย์เฉกเช่นอาจารย์ที่กระทำมาตลอดเวลา และต้องหมั่นทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้อาจารย์อย่างสมำเสมอ ระลึกถึงและยกย่องเทิดทูนคุณงามความดีของอาจารย์ให้ลูกหลานรับทราบต่อไป

อาจารย์เป็นหมอรักษาหัวใจ ที่ชนะใจของคนไข้ทุกคน

อาจารย์เป็นผู้ใหญ่ที่มีความถ่อมตนและอบอุ่น ที่ทำให้รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของทีมอาจารย์

อาจารย์เป็นแบบอย่างของแพทย์ที่ทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ทันสมัยและเรียนรู้ตลอดเวลา

อาจารย์เป็นคนทำงานที่จริงจัง มุ่งมั่น และไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ

อาจารย์เป็นคนที่มองการณ์ไกล ให้โอกาสแก่ทุกคนที่อาจารย์คิดว่าเขาพร้อมจะพัฒนาตนเอง

อาจารย์เป็นคนเรียบง่าย แต่ยิ่งใหญ่

อาจารย์เป็นคนที่ชอบปิดทองหลังพระ แต่สร้างคุณค่ามากมายให้กับสังคม

ขอน้อมคารวะอาจารย์ด้วยความเคารพที่เป็นแบบอย่างให้ทำตาม

ด้วยความเคารพรักและอาลัย

ศุภวรรณ พึ่งรัศมี

ที่ปรึกษางานเยียวยา

ศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือ

ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบจังหวัดชายแดนใต้ (ศวชต.)

อาคาร 51B ชั้น 3 ห้อง 310 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

โทรศัพท์/แฟกซ์ 073-334088

-อาจารย์มีความเมตตาประดุจต้นไม้ใหญ่ที่ให้ความร่มเย็นกับสัตว์น้อยใหญ่ทั้งปวง แม้กระทั่งไส้เดือนดินตัวเล็กๆอย่างหนู-ความดีของอาจารย์เป็นดั่งทองแท้บริสุทธิ์ไม่มีอะไรเจือปน-อาจารย์ชี้ทางสว่างด้วยข้อเท็จจริงและไม่ครอบงำทางความคิด-อาจารย์ทำสิ่งที่เป็นไปได้ยากให้เป็นไปได้-อาจารย์เป็นแบบอย่างที่ดีของ ครู แพทย์ นักวิจัย และ มนุษย์แสนประเสริฐ-อาจารย์อบอุ่นเหมือนเป็นสมาชิกในครอบครัวที่มีแต่คำว่า “ให้”-อาจารย์ฟังและได้ยินในสิ่งที่เราบอกเสมอ-อาจารย์เป็นทั้งแรงบันดาลใจและแรงขับเคลื่อนในเวลาเดียวกัน-เมื่ออาจารย์ดุ เรารู้ว่าอาจารย์ “รัก” เมื่ออาจารย์ชม เรารู้ว่าอาจารย์ “ใส่ใจ”-งานของอาจารย์เสมือนสายฝนที่โปรยปรายจากที่สูงสู่ความฉ่ำเย็นให้สรรพสิ่งเบื้องล่างอย่างสมดุล เหมาะสม

อาจารย์จะอยู่ในใจเราตลอดไปค่ะ

อาจารย์พักผ่อนให้สบายนะคะ

Rassamee Sangthong

-----------------------------------------------

Epidemiology Unit, Faculty of Medicine

Prince of Songkla University

Hat Yai, Songkhla 90110 Thailand

Tel: 66 74 45 1165-6

ขอบคุณสำหรับพื้นที่ในการแสดงความรู้สึกที่มีต่ออาจารย์ธาดา ขอให้อาจารย์พักผ่อนอย่างสงบและสบายนะค่ะ หลังจากนี้ขอให้ทุกคนที่รักในคุณงามความดีของอาจารย์ยึกหลักการทำงานให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ป่วยต่อไปค่ะ อาจารย์ธาดาจะเป็นแบบอย่างในการทำงานต่อไป

โชคดีมากที่ได้มีโอกาสรู้จักคนดีที่งดงามจากภายใน อย่างคุณหมธาดา

ทุกครั้งที่คิดถึงคุณหมอธาดา

หนูจะนึกถึงรอยยิ้มที่อบอุ่น แววตาแห่งความอาทร (ภาพนั้นยังแจ่มชัดมากค่ะ)

และความฝันที่คุณหมออยากเห็น ....ความสมานฉันท์ในจิตวิญญาณของมนุษย์

คุณหมอทำงานอย่างสนุกสนานและมีคุณค่า

คุณหมอได้เป็นแบบอย่างของคนที่มีความสุขในการทำงาน

ตอนนี้...พักให้สบายนะค่ะ...

และคอยดูพวกเรา(คนที่คุณหมอไปนั่งในหัวใจ) ทำความฝันให้เป็นจริง

ด้วยรักและระลึกถึงเสมอค่ะ

จาก...นางฟ้าตาประกาย ค่ะ

เอกชัย มุกดาพิทักษ์ med PSU13

อาลัย อาจารย์ แพทย์ ผู้เป็น ครู และเป็นแบบอย่างการทำงาน และเป็นกำลังใจในการทำงานในชนบทให้กับผม แม้ ผมไม่เคยได้คุยรู้จักกับ อาจารย์เป็นการส่วนตัวเลย แต่ คำพูดและ การแสดงออกของอาจารย์ รวมทั้งกิจกรรมผลงานที่ท่านได้ทำให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผมรับรู้ และทราบซึ้งในความจริงใจของท่านในทุกเรื่องราว และไม่เคยเห็นว่าท่านทำ เพื่อส่วนตัวของท่านหรือพวกพ้องเลย เห็นด้วยอย่างยิ่ง กับคำว่า concerned citizen ของ อ.วิจารณ์ เพราะท่านสนใจทุก ทุกข์ร้อนของสังคม และเห็นได้ชัดว่าท่านช่วย ทุกโอกาสที่สามารถทำได้ โดยไม่ยึดติดกับ หัวโขน รูปแบบ ค่าตอบแทน ใดๆทั้งสิ้น ท่านจะเป็นกำลังใจให้พวกเราได้สืบทอด การเป็นบุคคลผู้มีจิตสาธารณะ สร้างความดีงาม ความมีสุขภาวะ ให้เกิดกับเพื่อนมนุษย์ ต่อไป

จาก..ศิษย์ ม.อ.

สวัสดีค่ะ

          ขอบพระคุณมากค่ะ บอกกล่าวเล่าเรื่องอ.หมอธาดาให้ทราบ

เคยตาม อ.จ.ธาดาดูคนไข้ประมาณเมื่อ20กว่าปีที่แล้ว วันหนึ่งมีคนไข้มีอาการทางระบบประสาท น่าจะมีพยาธิสภาพในสมอง

อ.จ.ธาดาได้ให้เงินส่วนตัวของท่านแก่ผม ให้ผมจัดการติดต่อCT scan Brain " ให้คุณช่วยติดต่อทำCT BRain เอาฟิล์มมาให้ผมดู"

สมัยนั้น โรงพยาบาล ม.อ. และโรงพยาบาลหาดใหญ๋ ยังไม่มีCT scanner ต้องอาศัยศูนย์เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของเอกชน

หายากมาก ยิ่งในปัจจุบันจะหาคนใจบุญแบบนี้ อาจารย์ให้โดยไม่หวังผลตอบแทน

ขอให้อาจารย์สู่สุขคติ

อาลัย ศ. นพ. ธาดา ยิบอินซอย :

ผู้ร่วมก่อตั้งชมรมข้อมูลข่าวสารทางการแพทย์และ

สาธารณสุขแห่งประเทศไทย(สมาคมเวชสารสนเทศไทย)

หนึ่งในผู้ที่ช่วยวางรากฐานงานด้านเวชสารสนเทศ (Medical/Health

informatics) ในไทย

งานเวชสารสนเทศในประเทศไทยกำเนิดเป็นรูปเป็นร่างในราวปี 2534

โดยความริเริ่มของ

อาจารย์แพทย์หลายท่านผู้มองเห็นความสำคัญของการนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาใช้ทางการแพทย์

ซึ่งรวมถึง ศ. นพ. ธาดา ยิบอินซอย

อาจารย์ธาดามีความรู้และประสบการณ์การใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในทางการแพทย์ตั้งแต่สมัย

แรกๆที่มีการใช้คอมพิวเตอร์ในทางการแพทย์ในประเทศสหรัฐอเมริกาคือเมื่อประมาณ

40-50 ปีก่อน ท่านเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า

ในขณะที่ท่านทำงานเป็นแพทย์โรคหัวใจที่ โรงพยาบาลของ Mayo Clinic เมือง

Rochester รัฐ Minnesota ประเทศสหรัฐอเมริกา

พร้อมกับศึกษาปริญญาเอกในสาขาคณิตศาสตร์ และสรีรวิทยาในคณะแพทย์ศาสตร์

มหาวิทยาลัยแห่งรัฐ Minnesota ท่านเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์

ต่างๆที่ใช้ในการทดลอง ด้วยภาษาฟอร์เทน เขียน simulation

สำหรับงานทดลองทางสรีรวิทยาโรคหัวใจ ที่ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญ

ท่านได้ทำงานดูแลรักษาผู้ป่วยในสถาบันที่เริ่มมีการใช้คอมพิวเตอร์ในทางคลินิก

เช่น Mayo clinics และ โรงพยาบาลของคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐ

Minnesota

ปัจจุบันหน่วยงานที่ท่านทำงานคอมพิวเตอร์ทางการแพทย์ในคณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยแห่งรัฐ

Minnesota ได้ขยายและพัฒนาเป็น The Institute for Health Informatics

(IHI), University of Minnesota ( http://www.bmhi.umn.edu/aboutihi/people/index.htm

) ซึ่งเป็น 1 ใน 3 สถาบันแรก

ในสหรัฐอเมริกาที่มีการเรียนการสอนระดับโปรแกรมปริญญาโท-เอก ในสาขา

Biomedical/Health Informatics

สมาคมเวชสารสนเทศไทยมีจุดเริ่มต้นจากการเป็นชมรมข้อมูลข่าวสารทางการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย

ในปี พ.ศ.2534 มีการประชุมของ Medical Consortium ขึ้น

และได้มีการเสนอให้ มีกลุ่มทำงานด้าน Medical Informatics ขึ้นมา

จากความคิดของ ศ.นพ.อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ ศ.นพ.พิศิษฎ์ สัณหพิทักษ์

โดยให้ตั้งเป็นชมรมขึ้นมาก่อน ในปี 2534 มี ศ.นพ.อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ

(บิดาของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) เป็นประธานชมรมท่านแรก

ในการดำเนินการครั้งนั้น ศ. นพ. ธาดา ยิบอินซอย

เป็นหนึ่งในผู้ร่วมสนับสนุนให้กำเนิดชมรมฯ

คุณูประการที่อาจารย์ธาดาให้ไว้กับวงการเวชสารสนเทศไทยนอกจากท่านจะเป็นผู้ร่วมก่อตั้งชมรมฯ

ท่านยังให้การสนับสนุนการดำเนินงานเวชสารสนเทศไทยมาตลอดโดยเฉพาะในระยะแรกของการก่อตั้ง

ท่านเป็นประธานการประชุมวิชาการประจำปีของชมรมฯในปีแรกๆที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

จังหวัดสงขลา ท่านสนับสนุนให้คุณหมอก้องเกียรติ

เกษเพ็ชร์พัฒนาโปรแกรมบริหารโรงพยาบาล Hospital OS ที่ใช้เทคโนโลยี Open

source และเป็น freeware ที่มีหลายโรงพยาบาลใช้อยู่ในปัจจุบัน

ท่านยังเป็นผู้สนับสนุนให้มีการพัฒนาระบบการจัดการฐานข้อมูลเหตุการณ์ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้

ทำให้เกิดฐานข้อมูลที่เป็นรูปธรรมจากภาคสาธารณสุข ไม่ว่าจะโดนยิง โดนแทง

หรือบาดเจ็บจากระเบิด

จะมีการเก็บรวบรวมข้อมูลจากทุกโรงพยาบาลที่รักษาผู้บาดเจ็บจากอาการเหล่านี้

แล้วนำมาวิเคราะห์

แยกเป็นพื้นที่เพื่อประโยชน์ในการติดตามเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทุกราย

อาจารย์ธาดาเห็นความสำคัญและสนับสนุนการพัฒนามาตรฐานข้อมูลสุขภาพด้วยไม่ต้องการ

ให้ผู้ทำงานในพื้นที่ต้องทำงานซ้ำซ้อนเนื่องจากความหลากหลายของระบบสารสนเทศที่ไม่สามารถติดต่อกันได้

อาจารย์ธาดา จบการศึกษาด้านการแพทย์จากนครคาร์ดิฟ แคว้นเวลส์

สหราชอาณาจักร ก่อนจะกลับมาเป็นอาจารย์แพทย์ที่โรงพยาบาลศิริราช

และเป็นหมอรักษาโรคหัวใจ ต่อมา ศ.นพ.ธาดา

ได้ไปศึกษาต่อจนสำเร็จปริญญาเอกอีกถึง 2 สาขา

คือด้านสรีรวิทยาและคณิตศาสตร์ จากนั้นทำงาน

เป็นอาจารย์อยู่ที่สหรัฐอเมริกา

กระทั่งเป็นศาสตราจารย์ด้านอายุรศาสตร์และสรีรวิทยา เมื่อกลับมาเมืองไทย

ช่วงปลายปี พ.ศ.2524 อาจารย์หมอธาดาได้รับเลือกเป็นรองคณบดี

คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

และก้าวขึ้นเป็นคณบดีในเวลาต่อมา มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย

ศ.นพ.ธาดา เสียชีวิตอย่างสงบเมื่อเที่ยงวันอาทิตย์ที่ 9 ม.ค.2554

สิริรวมอายุได้ 76 ปี ท่ามกลางความอาลัยรักของคนในครอบครัว ญาติมิตร

และลูกศิษย์ลูกหาที่ผูกพันกับ ศ.นพ.ธาดา ในฐานะ "ครูแพทย์" คนสำคัญ

และในฐานะผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานงานเวชสารสนเทศในไทย

พิธีพระราชทานเพลิงศพของศ.นพ.ธาดา มีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 16 ม.ค.

ที่วัดคลองเปล (วัดน้ำผุด) เทศบาลนครหาดใหญ่

อ้างอิง

1 http://gotoknow.org/blog/thaikm/72865

2 http://south.isranews.org/scoop-and-documentary/documentary/678--q-q-.html

3 http://www.prachatai.com/journal/2011/01/32662

ผู้เขียน นพ.บุญชัย กิจสนาโยธิน

เรียน อ.หมอ วิจารณ์

หนูมาคารวะอาจารย์ทั้งสองท่าน ในวันครู ปี ๕๕ ค่ะ

ด้วยความเคารพ

รพ.พระนครศรีอยุธยา

ศ. นพ. ปิยทัศน์ ทัศนาวิวัฒน์ และ ศ. นพ. ปิยะมิตร ศรีธรา เขียนถึง ศ. นพ. ธาดา ยิบอินซอย ลงวารสาร Asian Biomedicine อ่านได้ที่ https://content.sciendo.com/view/journals/abm/5/5/article-p721.xml วิจารณ์ พานิช๘ กันยายน ๒๕๖๑

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท