ผู้นำนิสิต 3 : วิถีแห่งการทำงานร่วมกัน ศรัทธาต่อตนเอง ..เชื่อมั่นในคนรอบข้าง


ท่ามกลางวิถีทางอันยาวไกล การเดินโดยมีเพื่อนร่วมทาง ย่อมดีกว่าการเดินอย่างเดียวดาย

เป็นธรรมดาที่วิถีการทำงานร่วมกับคนหมู่มาก  ย่อมจำเป็นต้องยึดมั่นในความเป็นเอกภาพของทีมงาน  เพื่อไปสู่จุดหมายปลายทางอันเดียวกัน  และในวิถีการก้าวเดินก็ย่อมต้องสู้เผชิญกับอุปสรรคอันหลากหลาย  ทั้งที่เป็นอุปสรรคแห่งเนื้อหาโดยตรง  หรือแม้แต่อุปสรรคที่เกิดจากภาวะรู้สึกส่วนตัวที่มีต่อกันและกัน...

.......

ความเข้มแข็งของมวลมนุษยชาติ

มักก่อเกิดจากการสั่งสมประสบการณ์อันยาวนาน

 

ประสบการณ์จะช่วยให้มนุษยชาติไม่ขาดกลัวต่ออุปสรรค...

ประสบการณ์จะเป็นเสมือน "ครู" ผู้พร่ำสอนให้หาญกล้า  ทรนง

ขอเพียงเธอ "ศรัทธา"  ต่อตัวเอง

พลีใจต่อสิ่งที่เธอกำลังลงมือทำ

และต้องไม่ลืมที่จะ  "เชื่อมั่น"  ในผองเพื่อนผู้ร่วมชะตากรรมเดียวกับเธอ

 

เมื่อใดก็ตาม...

หากเธอสามารถหลอมรวมความศรัทธาและความเชื่อมั่นเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน

เมื่อนั้น,...

เธอก็ไม่จำเป็นต้องหวาดกลัวต่ออุปสรรคใด ๆ อีกต่อไป

.......

เพียงไม่กี่วันที่ผ่านมา (๑๒ มกราคม ๒๕๕๐)  ผมได้รับเชิญไปเป็นประธานในที่ประชุมขององค์กรพันธมิตรนิสิตอันเป็นทีมหัวเรือใหญ่จัดโครงการ "ต้านลมหนาว  สานปัญญา"  ณ  โรงเรียนในห้วยข่าเฒ่า  อำเภอหนองบัวแดง  จังหวัดชัยภูมิ

กิจกรรมครั้งนี้ประกอบด้วยองค์กรนิสิตหลายองค์กร  เช่น  พรรคชาวดิน  ชมรมวิทยุสมัครเล่น  ชมรมรักษ์พัฒนา  ชมรมนอกหน้าต่าง   

ผมกล่าวกับที่ประชุมในทำนองว่า...การที่องค์กรนิสิตได้ร่วมแรงใจทำกิจกรรมด้วยกัน ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ดีในการจัดกิจกรรม เพราะแทนที่จะต้องแยกย้ายกันไปจัดกิจกรรมกันคนละที่คนละทาง  ซึ่งอาจจะส่งผลให้กิจกรรมไม่สามารถให้บริการได้อย่างเต็มรูปแบบ  เพราะเงื่อนไขงบประมาณอันจำกัด, กำลังคนที่น้อยนิด, ความหลากหลายและจำนวนกิจกรรมที่อาจมีไม่เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการของชุมชนเป็นหลัก

ผมเอ่ยคำชื่นชมพวกเขา,,  ในฐานะที่เปิดใจทำงานร่วมกัน  และพร้อมที่จะก้าวเดินไปในทิศทางเดียวกัน  โดยไม่ขลาดกลัวต่ออุปสรรคนานาประการที่ยืนตระหง่านขวางอยู่เบื้องหน้า  หรือแม้แต่เร้นแฝงรออยู่อย่างลึกเร้น

ผมขอให้แต่ละองค์กรได้นำศักยภาพขององค์กรออกมาทำงานอย่างเต็มที่  ให้ทุกองค์กรได้มีเวทีความคิดของตนเอง  ซึ่งหมายถึง  การได้รังสรรค์กิจกรรมตามแบบฉบับที่ตนเองสันทัดและจัดเจน  อันจะช่วยให้แต่ละองค์กรสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่  และไม่รู้สึกขัดเขิน หรือแม้แต่อึดอัดที่จะทำในสิ่งที่ตนเองไม่ถนัด...แต่ก็ต้องดำเนินไปบนพื้นฐานของเอกภาพรวมของเนื้อแท้แห่งกิจกรรมนั้น ๆ

ผมฝากแนวคิดการทำงานในรูปแบบหมู่คณะเช่นนี้ไว้กับพวกเขา ๒  ประการ  อันได้แก่ 

(๑)  การศรัทธาต่อตนเอง (Self  esteem) 

(๒)  การเชื่อมั่นต่อคนรอบข้าง หรือเพื่อนร่วมงาน  (Trust for others)

และที่สำคัญ คือ  การมอบความไว้วางใจในกันและกัน  ก้าวเดินไปอย่างมีจังหวะ  ท่ามกลางวิถีทางอันยาวไกล  การเดินโดยมีเพื่อนร่วมทาง  ย่อมดีกว่าการเดินทางอย่างเดียวดาย 

รวมถึง,  การมุ่งมั่นรีบเร่งไปสู่จุดมุ่งหมายปลายทางเพียงสถานเดียว  แต่ลืมที่จะเก็บเกี่ยวเรื่องราวระหว่างทางก่อนไปสู่จุดหมายปลายทางนั้น ๆ 

เพราะบางที   เราอาจไม่มีเวลาวกกลับมาเก็บเกี่ยวเรื่องราวที่หล่นหายในเส้นทางสายนั้นอีกเลย,  ก็เป็นได้...

 

 

หมายเลขบันทึก: 72852เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2007 08:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 14:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ใช่ค่ะ "ความศรัทธาและเชื่อมั่นในตนเองและผู้เกีวข้อง" ทำให้เกิดพลังในการทำงานค่ะ ขณะนี้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กำลังสร้างศรัทธาและเชื่อมั่นให้กับนักศึกษาให้ ลปรร.ในวงนักศึกษา share.psu.ac.th เราจะมีการประชุมกันวันที่ 19 ม.ค.2550 นี้ค่ะ แล้วจะเล่าบรรยากาศการประชุมนะ มีแนวความคิดว่าหากมีเวลาและโอกาส จะพาทีมงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกิจการนิสิตมน. ไม่แน่ใจว่าจะขัดข้องหรือเปล่า?

 

  • ขอบคุณท่านอาจารย์ อัมพร อรุณศรี มากครับ
  • ชื่นชอบและเป็นกำลังใจกับ มอ. นะครับในการขับเคลื่อนให้นิสิตเห็นความสำคัญของการ ลปรร
  • ยินดีนะครับ หากว่าสักวัน มมส จะได้ร่วมเป็นเกียรติ ลปรร. กับ มอ. แต่ไม่แน่ บางที มมส อาจหาโอกาสไปดูงานที่โน่นบ้าง
  • การมอบความไว้วางใจในกันและกัน  ก้าวเดินไปอย่างมีจังหวะ  ท่ามกลางวิถีทางอันยาวไกล  การเดินโดยมีเพื่อนร่วมทาง  ย่อมดีกว่าการเดินทางอย่างเดียวดาย 
  • การทำงานเป็นทีม จะช่วยให้งานสำเร็จอย่างมีคุณภาพ แต่การสร้างทีมกลับเป็นเรื่องยากและสร้างความอ่อนล้าให้ผู้คนพอสมควรเมื่อดูโดยภาพรวม
  • ความไม่สำเร็จของการทำงานเป็นทีม สาเหตุสำคัญน่าจะมาจาก คนไม่ไว้วางใจกัน 

เท่าที่ผมผ่านงานทั้งในขณะที่เป็นนิสิต เมื่อออกมาทำงานบริษัท และในมหาวิทยาลัยในฐานะอาจารย์นั้น ผมเชื่อว่าลึกๆ แล้วทุกคนก็มีความหวังดีให้กับองค์กรอยู่ แต่ระดับความหวังดีนั้นอาจจะแตกต่างกันไปตามภูมิหลังและความคาดหวังในหน้าที่การงานน่ะครับ

ผมอยากจะเพิ่มมุมมองอีกสักนิดเกี่ยวกับเรื่องการทำงานร่วมกัน โดยผมทึกทักเอาแล้วว่าทุกคนนั้นหวังดี (มากบ้างน้อยบ้าง)

ผมเคยได้รับข้อคิดที่มีค่ามาก จากอาจารย์สุริชัย หวันแก้ว ในขณะที่มีการอภิปรายเกี่ยวกับการวิจัยสังคมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง นิสิตนักศึกษาสองมหาวิทยาลัย ต่างให้ความเห็นกันอย่างเผ็ดร้อน เริ่มมีการวิพากษ์วิจารณ์การนำเสนอของฝ่ายตรงข้าม และเริ่มจะออกไปทางเรื่องส่วนตัว อาจารย์ท่านออกมาปรามทั้งสองฝ่าย โดยท่านบอกว่า "ผมเชื่อว่าทั้งสองฝ่ายต่างก็หวังดี แต่ก็ขอให้พิจารณาเรื่องท่าทีการนำเสนอด้วย"

"ท่าที่" ในที่นี้สำคัญมากครับ ยิ่งเป็นการทำงานที่มีผู้ร่วมงานจากที่ต่างกัน ต่างวัฒนธรรม ความเชื่อ ยิ่งต้องระวังเรื่องท่าที ผมคิดเสมอว่า หวังดีอย่างไร ถ้าแสดงออกมาไม่ได้อย่างที่หวังก็แทบจะไม่มีค่าเหลือเลย

สิ่งที่นิสิตนักศึกษาจะได้จากการทำกิจกรรมก็มีเรื่องท่าทีนี่ด้วยนะครับ

อาจารย์  เม็กดำ 1

  • ขอบคุณอาจารย์มากครับ
  • อาจารย์มักนำแนวคิดดีมาให้ผมได้นำไปต่อยอดเสมอ การทำงานเป็นทีม จะช่วยให้งานสำเร็จอย่างมีคุณภาพ แต่การสร้างทีมกลับเป็นเรื่องยากและสร้างความอ่อนล้าให้ผู้คนพอสมควรเมื่อดูโดยภาพรวม
  • ไม่ทราบที่เม็กดำ...พบเจอปัญหาเหล่านี้บ้างหรือเปล่า แต่ถึงมีก็เชื่อว่าอาจารย์มีระบบการจัดการที่ดีและสามารถหลอมรวมคนในองค์กรได้ดีอยู่แล้ว, คงไม่เป็นปัญหาอะไรมาก

คุณแว้บ ครับ

  • ขอบคุณมากเลยนะครับที่ช่วยเติมเต็มในเรื่องดังกล่าว
  • โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง "ท่าที" ที่นิสิตจะได้เรียนรู้จากการทำกิจกรรม หวังดีอย่างไร ถ้าแสดงออกมาไม่ได้อย่างที่หวังก็แทบจะไม่มีค่าเหลือเลย
  • ก็คงไม่เฉพาะนิสิตหรอกนะครับ...ผมเองก็ต้องเรียนรู้และตระหนักดังที่คุณแว้บได้แนะนำ
  • ขอบคุณอีกครั้งครับ...
  • การเชื่อมั่นในตนเอง จะทำให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่
  • การเชื่อมั่นในผู้ร่วมงานทำให้ทำงานได้มากและใหญ่ยิ่งขึ้นเพราะหลายมือ หลายพลังร่วมกัน
  • แต่เชื่อมั่นแล้ว...ไม่เป็นดังที่เชื่อ ทำอย่างไรดีค่ะ.......
  • ขอบคุณท่านอาจารย์ paew มากครับ
  • แต่ถ้าเชื่อมั่นแล้ว ไม่เป็นดังที่เชื่อ ทำอย่างไรดีนั้น...ก็เห็นทีต้องทำใจ เห็นใจ และเรียนรู้ที่จะเริ่มต้นใหม่อย่างมีกระบวนการ  (แต่ก็ไม่ควรให้โอกาสการเริ่มต้นบ่อยนักจนงานไม่คืบหน้า)  เป็นการใช้โอกาสอย่างเปล่าเปลือง..ส่วนร่วมจะพลอยกระทบไปด้วย  นั่นคือสิ่งที่ผมใช้อยู่ในปัจจุบัน
  • อาจารย์ช่วยกรุณาแนะนำเพิ่มเติมด้วยนะครับ
  • ใช่ค่ะ ตอนนี้ทำใจมากๆ ค่ะ และ อาจจะต้องยึดคำพูดคุณกระปุ๋ม...เสียง และคำพูด ไม่กระทบจิต.....จะได้สบายใจ
  • จริงๆ แล้ว อยากได้คำแนะนำมากๆค่ะ 
  • เพราะตอนนี้กำลังจะมีงานใหญ่ 2 งาน ในวันที่ 18-19 มกราคม ทั้งๆ ที่เตรียมงาน มอบงานล่วงหน้ามาตั้ง 5-6 เดือน
  • ยิ่งใกล้วัน ปัญหายิ่งมาก.....เครียด
  • การทำ AAR และการประเมินการดำเนินงาน น่าจะช่วย ให้มีข้อผิดพลาดน้อยในคราวต่อไป...มั้ยค่ะ.....แต่นี่ก็คือเสร็จงานแล้ว
  • ขอบพีระคุณอาจารย์ paew
  • เหนือสิ่งอื่นใด ด้วยศักยภาพของอาจารย์อันหลอมรวมจากประสบการณ์และทีมงาน ผมเชื่อว่างานที่กำลังมีขึ้นจะบรรลุจุดหมายได้ในที่สุด
  • ประการสำคัญคือ...ถ้าคนทำงานไม่มีใจร่วมกับงาน นั่นคือ ปัญหาหลักของการทำงาน โดยส่วนตัวผมไม่ชอบใช้ทำว่า "งาน" หรือที่ทำงาน เป็น "อู่ข้าวอู่น้ำ"  แต่ชอบใช้คำว่า "บ้านหลังที่สอง" มากกว่า  การรักในบ้านหลังนี้ ย่อมก่อให้เกิดงานที่มีประสิทธิภาพ
  • ขอเป็นกำลังใจในงานที่กำลังจะมีขึ้นในเร็ววันนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท