เม็กดำกับการจัดการความรู้ด้วยหลักสูตรท้องถิ่น(ต่อ)


เป็นเพราะมีปัจจัยหลากหลายปัจจัย เช่น (1)ครูผู้สอนไม่เข้าใจในกระบวนการจัดการ (2)ผู้บริหารไม่เห็นด้วยเพราะเห็นความยุ่งยาก วุ่นวาย โดยเฉพาะบางโรงเรียน มองเป็นเรื่องของการเสียเวลาเรียนของนักเรียน (3)ผู้ปกครองไม่เห็นด้วยกับการที่โรงเรียนดำเนินการ เกรงว่าบุตรหลานจะมีความรู้ไม่ทันโรงเรียนใหญ่ ๆ ดัง ๆ
เม็กดำกับการจัดการความรู้ด้วยหลักสูตรท้องถิ่น(ต่อ)            
               

           ณ ปัจจุบันนี้หลักสูตรการจัดการเรียนการสอนได้เปิดโอกาสให้ทุกโรงเรียนได้จัดการเรียนการสอนโดยนำความรู้ในชุมชน และท้องถิ่นเข้ามาบูรณาการในทุกสาระวิชาที่สอน มีจำนวนโรงเรียนไม่น้อยเลยที่ดำเนินการ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เป็นเพราะมีปัจจัยหลากหลายปัจจัย เช่น (1)ครูผู้สอนไม่เข้าใจในกระบวนการจัดการเรียนการสอนและไม่สามารถสร้างกิจกรรม  (2)ผู้บริหารไม่เห็นด้วยเพราะเห็นความยุ่งยาก วุ่นวาย โดยเฉพาะบางโรงเรียน มองเป็นเรื่องของการเสียเวลาเรียนของนักเรียน (3)ผู้ปกครองไม่เห็นด้วยกับการที่โรงเรียนดำเนินการ เกรงว่าบุตรหลานจะมีความรู้ไม่ทันโรงเรียนใหญ่ ๆ ดัง ๆ  เพราะคาดหวังจะให้เรียนมหาวิทยาลัย แต่ลืมไปว่าบุตรหลานของเราควรจะมีความรู้เกี่ยวกับ วิถีชีวิตที่พวกเขาอยู่อาศัย ความเป็นอยู่รากเหง้าของบรรพบุรุษ ซึ่งเราทุกคนควรร่วมมือกับชุมชน ช่วยกันสร้างให้ผู้เรียนมีความรัก ความภาคภูมิใจในชุมชนและท้องถิ่นของตนเอง  จบไปแล้วนักเรียนเหล่านี้จะได้เห็นความสำคัญของชุมชนและท้องถิ่น มีใจรักและคิดที่จะกลับไปพัฒนาชุมชน ท้องถิ่น ที่เป็นบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองได้
 

          เป็นที่น่าดีใจที่มีโรงเรียนนำร่องโดยผู้บริหารและครูที่เข้าใจกระบวนการ ได้ลงมือทำอย่างจริงจัง สร้างกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเชื่อมต่อทฤษฎีผสมผสานกับการที่มีหัวใจเป็นนักจัดการ ความรู้ให้เกิดการจัดการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่เช่นโรงเรียนเม็กดำ  
          การเดินป่าโคกจิกเพื่อสร้างกิจกรรมความรู้โดยนำความรู้ที่ได้จากการเดินป่ามาสร้างเป็นปฏิทินป่าใหญ่โคกจิก ซึ่งเป็นการอธิบายถึงพืชพรรณต่าง ๆ ที่ชุมชนนำมาเป็นอาหาร บอกแหล่งที่เกิด และบอกช่วงเวลาที่เกิด บอกถึงภูมิประเทศ สิ่งเหล่านี้เป็นกิจกรรมที่ครูและนักเรียนช่วยกันออกแบบและนำมาปฏิบัติ เป็นการบูรณาการหลากหลายวิชา


         การปลูกป่าจำลอง เป็นกิจกรรมที่นักเรียนไปเดินป่ามาแล้ว พ่อครุ แม่ครูจะช่วยเล่าบอกถึงความสำคัญของพืชต่าง ๆ  บางอย่างเป็นพันธุ์ไม้หายาก บางอย่างเป็นสมุนไพร
นักเรียนจึง ช่วยกันสร้างสวนป่าจำลองโดยปลูกไม้นานาพันธุ์ที่หาได้ในป่าใหญ่โคกจิกมาปลูกในพื้นที่โรงเรียน ใช้ระบบการให้น้ำแบบระบบน้ำหยดจากขวดเพื่อให้น้ำ            การเลี้ยงไก่ดำญี่ปุ่น เป็นการเรียนรู้โครงงาน ตั้งแต่การเริ่มต้นเลี้ยง นักเรียนต้องทำการเก็บข้อมูลทุกวัน แล้วรายงานสรุปเพื่อให้เห็นพัฒนาการของชีวิตไก่ การให้อาหาร การชั่งน้ำหนักตัวดูความเจริญของไก่
          สิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างความรู้ในกระบวนการปฏิบัติทำให้นักเรียนจำได้คงทน  มีความเข้าใจในเรื่องที่เรียน นำไปใช้ได้ รู้จักวิเคราะห์ สังเคราะห์ และสามารถประเมินผลได้ สร้างระเบียบ ความมีวินัย ความรับผิด กล้าพูด กล้าคิด กล้าทำ ในสิ่งที่ถูกต้อง เป็นนักวางแผนที่ดี และที่สำคัญนักเรียนมีความสุขในการเรียนมาก จากการสอบถามนักเรียนทุกคนที่ถามคำตอบที่ได้คือ ชอบวันศุกร์มากที่สุด รอคอยที่จะเรียนวันศุกร์อย่างใจจดใจจ่อ เป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจที่ยิ่งใหญ่ของโรงเรียน ชุมชน และครู  อยากชวนคุณครูทุกท่านและผู้ที่สนใจไปแอบดูเม็กดำกันนะคะ แล้วจะเห็นอะไรดีดีอีกมากมาย ที่เล่ายกตัวอย่างมาเป็นแค่หนังตัวอย่างบางตอนเท่านั้นเอง
หมายเลขบันทึก: 72821เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2007 22:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท