ดร.อุทัย อันพิมพ์
ดร. อุทัย ดร.อุทัย อันพิมพ์ อันพิมพ์

เกษตรประณีต : กุศโลบายที่สร้างสุข


เกษตรกรรมแบบประณีต นับว่าเป็นกุศโลบายด้านอาชีพที่สามารถสร้างสุขได้ หากมีความตั้งมั่นในความพอเพียง

งไม่มีใครจะปฏิเสธความสุขหรอกนะครับ ไม่ว่าจะเป็นความสุขทางใจ หรือสุขทางกายก็ ล้วนแต่เป็นสิ่งทีมนุษย์ทุกคนปรารถนาด้วยกันทั้งนั้น จะมีสุขมากสุขน้อยก็ขอให้ทุกท่านจงมีแต่ความสุขใจ สบายกายตลอดไปก็แล้วกันนะครับ

สำหรับความสุขที่กำลังจะกล่าวถึงในเวลานี้นั้น เป็นความสุขจากการทำการเกษตรแบบประณีตครับ แล้วเป็นสุขอย่างไร?.... จึงขอเรียนอย่างนี้ครับว่าคนที่ทำเกษตรแบบประณีตจะเน้นการปลูกอยู่ปลูกกิน เหลือกินก็แบ่งปัน เหลือแบ่งปันจึงขายเพื่อมีรายได้เข้าครอบครัวครับ โดยเฉพาะการปลูกอยู่ปลูกกิน เราเน้นปลูกเป็นพืชผักที่ผลิตแบบอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมีใดๆ เลย จึงทำให้เกิดความปลอดภัยสูงต่อสุภาพร่างกาย ของคนปลูกและคนกิน อีกทั้งการทำงานในระบบนี้จะเน้นแรงงานในครอบครัวเป็นหลัก ทุกคนในครอบครัวจะได้ทำงาน ได้ออกกำลังกาย ส่งผลให้สุขภาพแข็งแรงอย่างถ้วนหน้าครับ

แล้วสุขใจได้อย่างไร?.....การผลิตแบบนี้ทำเสมือนการทำในสมัยสมัยปู่ย่า ตายาย ที่เราทำกันมา คือปลูกเพื่อกิน อย่าได้ไปซื้อคนอื่น เหลือจากกินก็แบ่งปันมีญาติพี่น้อง เพื่อนบ้านใกล้เคียง เหลือแบ่งปันก็ขายเป็นรายได้ซื้อปัจจัย 4 อย่างอื่นให้ตนเองและครอบครัว จึงทำให้วิถีชีวิตครอบครัว ชุมชน สังคมวัฒนธรรม กลับมามีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของคนในสังคม มีความสมานฉันท์ มีความเป็นกัลยาณมิตรต่อกันจึงทำให้เกิดความสุขทางใจ

อย่างไรก็ตามในชีวิตความเป็นจริงมันคงไม่ง่ายนะครับในการที่เราจะสร้างสุขได้โดยง่าย.... เพราะชีวิตคนเราต้องต่อสู้กับอะไร ต่อมิอะไรอีกมากมาย ยังต้องมีอะไรที่ต้องเรียนรู้ พร้อมกับปัญหาอย่างไม่รู้จบ รู้สิ้นเสียที แต่อย่าพึ่งสิ้นหวังนะครับเพราะทุกสิ่งทุกอย่างมีทางออก เหมือนกับคำกล่าวที่ว่า "ปัญหามา ปัญญาเกิด" ของท่านครูสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้รอบรู้ เรื่อง เฮ็ดอยู่ เฮ็ดกิน แห่งเมืองบุรีรัมย์ ดังนั้นต้องสู้ต่อไป....

เกษตรแบบประณีตจึงเป็นที่มาของกุศโลบายสร้างความสุข....ท่านครูบาสุทธินันท์....กล่าวว่า เกษตรกรรมแบบประณีต เป็นกุศโลบายในการสร้างแรงบันดาลใจให้พี่น้องเกษตรกรได้หวนกลับมาทำเพื่ออยู่เพื่อกินแบบดั้งเดิมเหมือนบรรพบุรุษเราสร้างมาฯ โดยทำในพื้นที่น้อยๆ ทำด้วยแรงงานตนเองและในครอบครัวไปพรางก่อน เพื่อให้เกิดชุดความรู้ (knowledge Asset) ความชำนาญ ในเรื่องของอาชีพต่างๆ เสมือนการทำแบบฝึกหัด เมื่อเก่ง ชำนาญ เชี่ยวชาญแล้วเราค่อยขยายพื้นที่การผลิตออกไปเพื่อให้ได้มาซึ่งผลผลิตที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ซึ่งจะเป็นหนทางในการที่เราจะสร้างสุขให้กับตนเอง ครอบครัว และชุมชน อย่างยั่งยืน

ทำได้แล้วอย่าลืมเบิ่งหลัง และแลหน้า......เมื่อทำได้แล้วเราอย่าลืมทบทวนตนเองอยู่เสมอนะครับว่าความพอดี และพอเพียงของเราอยู่จุดไหน การสร้างวินัยการออมเป็นหนทางหนึ่งแห่งความสุข อีกทั้งการสร้างพันธมิตรเครือข่ายจะทำให้เราไม่อยู่อย่างโดดเดี่ยวและเดียวดาย เราอย่าไปสร้างคู่แข่งขันในอาชีพพยายามเน้นการสร้างพันธมิตร และเครือข่ายเป็นหลัก สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Share & Learn) พยายามสร้างให้เพิ่มมากขึ้นๆ..... ซึ่งจะเป็นการเอื้อประโยชน์ และเกื้อกูลกันในระยะยาว อีกทั้งจะทำให้เราสามารถที่จะเรียนรู้ (Capture) ความรู้ต่างๆ จากเพื่อนได้อย่างเป็นกัลยาณมิตร (ความรู้ที่แท้จริง ไม่ใช่ความรู้หลอกๆ) สุดท้ายผมยังมีความเชื่อ...ว่าแนวทางนี้น่าจะเป็นทางออกหนึ่งในการที่จะได้มาแห่งความสุขที่แท้จริง และเป็นความยั่งยืนในอาชีพที่สอดคล้องตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

ขอบคุณมากครับ

อุทัย อันพิมพ์

15 มกราคม 2550

หมายเลขบันทึก: 72814เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2007 22:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท