เวทีสรุปงานประจำปี ๒


พลันที่เราได้ลงมือกระทำการิ่งใดแล้วละก็ หากไม่ปิดหูหิดตาตัวเองมากเกินไป ก็จะรู้อยู่แก่ตัวว่า ถ้าได้ทำงานแบบนี้อีกครั้ง จะปรับแก้อะไรบ้าง

พลันที่เราได้ลงมือกระทำการสิ่งใดแล้วละก็ หากไม่ปิดหูหิดตาตัวเองมากเกินไป ก็จะรู้อยู่แก่ตัวว่า ถ้าได้ทำงานแบบนี้อีกครั้ง จะปรับแก้อะไรบ้าง

บทเรียนเวทีสรุปงานประจำปี บทที่หนึ่งได้เผยให้ดิฉันมองเห็น
๑) การได้อยู่ใกล้ชิดชาวบ้าน เป็นช่วงเวลาต่อเนื่องติดต่อยาวถึง ๔ วัน ๓ คืน กินนอนด้วยกัน ทำให้ได้เห็นบุคลิกภาพของแต่ละบุคคลมากเป็นพิเศษ
๒) ปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านกับชาวบ้านด้วยกัน
๓) พลังทางศิลปวัฒนธรรม  ในคืนที่มีการแสดงโปงลางที่เพื่อนนำมาช่วยงานนั้น ปรากฏว่าชาวบ้านให้หมู่บ้านทั้งผู้ใหญ่เด็ก พากันเดินตัดทุ่งเกือบ ๓  กม. มาชมการแสดงร่วมกับพวกเรา เนื่องจากดิฉันคุ้นเคยกับเพื่อนที่เป็นหัวหน้าวง และคุ้นเคยกับชาวบ้านด้วย ดิฉันได้ช่วยให้ทั้งสองฝ่ายได้คุ้นเคยกันโดยอาศัยดนตรี ให้ชาวบ้านได้ร่วม เคลื่อนไหวตัวไปตามจังหวะดนตรีเพื่อให้ร่างกายผ่อนคลาย จิตใจอ่อนนุ่มนวลไปตามธรรมชาติ


การแสดงที่ทางสกลนครเตรียมมา คือรำมวยโบราณ คณะชายหนุ่ม ๒๐ กว่าคน รูปร่างเท่ากัน กำยำล่ำสัน นุ่งผ้าเตี่ยว สีแดง เปลือยท่อนบน เขียนลายตามตัว โพกหัวด้วยผ้าแดง รำมวยประกอบเสียงพิณแคนสง่างามและห้าวหาญ ฟางที่ปูในที่ประชุม กระจายคละคลุ้งด้วยท่าจรเข้ฟาดหาง ๒๐ ฟาด 


พอแสดงจบดิฉันรีบเสนอความท้าทายต่อชาวชะโนดโนนทัน ชาวชะโนดก็มีดีแต่ว่ามีอะไรบ้างที่จะแสดงโต้ตอบกับหนุ่มนักมวยเหล่านี้ ชาวบ้าน เฮ....ตบมือเชียร์ลูกหลานให้สู้


ไม่ต้องเซ้าซี้ให้ยาก เด็กสาวนักเรียนม.ปลาย ๓-๔ คนพากันเดินออกมาบรรจงฟ้อนสุดฝีมือ ถูกหนุ่มนักมวยมาท้าทายถึงที่ พร้อมคนในหมู่บ้านมาร่วมเป็นโฆษกเรียบร้อย

ยังไม่พอรอบต่อไป ดิฉันขอให้สกล ๑ ชะโนด ๑ มาฟ้อนให้เข้าคู่กันให้ได้ให้ดู พอถึงตอนนี้ยั้งไม่อยู่แล้ว  ออกมาฟ้อนกันสนุก มิหนำซ้ำ พวกรุ่นใหญ่ สูงอายุของเรา ยังออกมาฟ้อนและแสดงท่ารำมวยโบราณ ดิฉันเลยขอให้นักมวยหนุ่มไปฟ้อนเลียนแบบตามหลังเป็นพรวนเพื่อเลียนแบบท่าสัมผัสกับลีลามวยต่างบ้าน....คืนนั้นอิ่มเอมใจกันทั้งนักดนตรี ผู้แสดง ผู้ดู......

อันที่จริงครูบาสุทธินันท์ เคยเตือนแล้ว 
“ เว้าหลายเฮ็ดหยัง เตะ...ตกคันแทโลด ทำให้มากจะดีกว่า

ดิฉันจำไว้ แล้วคิดคร่าว ๆ ต่อ
ครั้งต่อไป


          ต้องมีดนตรีพื้นบ้านที่พวกเราเล่นเอง
          ชาวบ้านต้องเป็นเจ้าของเวที
          ให้มีการแสดงของแต่ละบ้าน
          ให้มีการฟ้อนเพื่อเปลี่ยนอริยาบถ ผ่อนคลาย
          ให้มีการสาธิตความรู้ทางปฏิบัติที่จะเป็นประโยชน์กับงาน


งานเวทีสรุปงานแต่ละครั้งนั้น ดูเหมือนจะยากตอนจะจุดไฟอุ่นเครื่อง พอเข้าไปอยู่ในนั้นแล้ว มันก็หมุนไปเรื่อย รู้สึกตัวอีกทีก็ต้องจากกันกลับสู่เหย้าเรือนของตนซะแล้ว

วิญญาณแห่งความอาลัยมีจริง วันสุดท้าย เราบายศรีสู่ขวัญกัน กินข้าวกลางวันแล้วช่วยกันเก็บสถานที่ จึงแยกย้ายกันกลับ เหลือแต่ชาวชะโนดเก็บรายละเอียด ดิฉันและคณะนอนเล่นบนกองฟางดูชาวบ้านจัดเก็บจนสี่โมง ห้าโมงเย็น งานเสร็จไปแล้ว โล่งอก มันเหมือนกับฝันพอลืมตาตื่นภาพก็หายวับเหลือแต่ไออุ่น แว่วเสียงคุย เสียงหัวเราะ เสียงแคน คนเดินพลุกพล่าน...อดีตที่ยังไม่จาง ยังมีวิญญาณของเหตุการณ์ ของผู้คนที่ยังระลึกได้ในอายตนะของเรา ดิฉันไม่อยากกลับบ้านเลยวันนั้น อาลัยบรรยากาศอันแสนอบอุ่นที่นั่น

 

หมายเลขบันทึก: 72808เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2007 21:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท