จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 5 (15 ม.ค. 2550)


กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ทำอะไรใน 3 เดือน ?

            กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ (พม.) ได้ดำเนินงานมาครบ 3 เดือน ภายใต้รัฐบาล พลเอกสุรยุทธ์  จุลานนท์ โดยมีผมเป็นรัฐมนตรีว่าการ

            ได้มีการประมวลผลงาน 3 เดือน และจะมีการแถลงข่าวในวันพุธที่ 17 ม.ค. นี้

            เค้าโครงของการประมวลผลงาน จะประกอบด้วย (1) ผลงานที่เป็นการร่วมสนับสนุนภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาล อันได้แก่ การแก้ปัญหาอุทกภัย การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ การสร้างความสมานฉันท์ และการสร้างธรรมาภิบาล (2) ผลงานตามยุทธศาสตร์สังคม 3 ส่วน อันได้แก่ การสร้างสังคมไม่ทอดทิ้งกัน การสร้างสังคมเข้มแข็ง และการสร้างสังคมคุณธรรม และ (3) ผลงานในการเสนอแก้ไขปรับปรุงและยกร่างกฎหมาย อันจะส่งผลดีต่อการพัฒนาสังคม และเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์

            พร้อมกันนี้ ผมเองก็เลยถือโอกาสทบทวนตัวเองด้วยว่า ได้พยายามทำอะไร ทำได้ผลขนาดไหน ได้เรียนรู้อะไร และจะกำหนดแนวทางในอนาคตอย่างไร

ได้พยายามทำอะไร ?

            ผมคิดว่า ผมได้พยายามทำให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มี เป้าหมายใหญ่ และมี ยุทธศาสตร์ใหญ่ (หรือแนวทางใหญ่) ชัดเจนเป็นอันดับต้น

            ได้ผลออกมาคือ สังคมที่ดีงามและอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน เป็น เป้าหมายใหญ่ ร่วมกันของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และภาคีพันธมิตรที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย และถือเป็น เป้าหมายใหญ่ในนโยบายด้านสังคมของรัฐบาล ไปด้วยโดยปริยาย

            สอดคล้องกับ วิสัยทัศน์ประเทศไทย ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (2550 54) ที่มุ่งให้เกิด สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน เป็นเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนา

            ส่วน ยุทธศาสตร์ใหญ่ หรือ แนวทางใหญ่ ที่ได้กำหนดชัดเจน คือ ยุทธศาสตร์สังคม 3 ส่วน ดังได้กล่าวข้างต้น ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์สังคมไม่ทอดทิ้งกัน ยุทธศาสตร์สังคมเข้มแข็ง และยุทธศาสตร์สังคมคุณธรรม

            เมื่อได้ เป้าหมายใหญ่ และ ยุทธศาสตร์ใหญ่ หรือ แนวทางใหญ่ แล้ว สิ่งสำคัญที่กระทรวง พม.ได้พยายามทำ ซึ่งน่าจะถือเป็น นวัตกรรม ได้ คือ การสร้าง ระบบจัดการ ภายใต้ 3 บริบท อันได้แก่ (1) บริบทพื้นที่ (2) บริบทกลุ่มคน และ (3) บริบทประเด็น

            นั่นคือ ในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์นั้น มิใช่นำยุทธศาสตร์แต่ละส่วนมาดำเนินการแยกจากกัน แต่เป็นการนำยุทธศาสตร์ทั้ง 3 ส่วนมาดำเนินการร่วมกัน ภายใต้การจัดการในแต่ละบริบท

            และการจัดการที่สำคัญมากที่สุด คือ การจัดการในบริบทพื้นที่ ซึ่งเป็นการจัดการบนหลักการพื้นฐาน 3 ประการ ได้แก่ (1) พื้นที่เป็นตัวตั้ง (2) ประชาชนมีบทบาทสำคัญ และ (3) ทุกฝ่ายประสานความร่วมมือ 

            นอกจากนวัตกรรมในเรื่องระบบจัดการดังกล่าวแล้ว นวัตกรรม อีกอย่างหนึ่งที่กระทรวง พม.ได้ดำเนินการ คือ การนำการจัดความรู้ (Knowledge Management หรือ KM) มาเป็น กระบวนการสนับสนุน ที่สำคัญ ให้กับการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ใหญ่ 3 ส่วน ภายใต้ระบบจัดการใน 3 บริบท

ได้ผลขนาดไหน ?

            กล่าวได้ว่า ใน 3 เดือนแรก ผมได้พยายามจับภาพใหญ่ กำหนดเป้าหมายใหญ่ แนวทางใหม่ และระบบจัดการหลักรวมถึง ระบบสนับสนุนสำคัญ ให้ลงตัว คิดว่าได้ผลพอสมควร ซึ่งน่าจะทำให้การดำเนินการต่อไปมีโอกาสสูงที่จะบรรลุผลตามนโยบายได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ

            ในส่วนของการปฏิบัติจริง ได้มีการ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ เริ่มจาก ยุทธศาสตร์สังคมไม่ทอดทิ้งกัน โดยมีพื้นที่เป็นตัวตั้ง กระจายไปทั่วประเทศ คือทุกจังหวัด โดยในแต่ละจังหวัดได้เน้นให้มีการใช้ ตำบล และ เทศบาล เป็นตัวตั้ง ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

            จังหวัดที่ได้ทำชัดเจนหน่อย คือ จังหวัดที่ประสบอุทกภัย 47 จังหวัด ซึ่งนอกจากจะมีการช่วยเหลือประชาชนที่บ้านพังทั้งหลังหรือบางส่วน ด้วยเงินชดเชยประมาณ 1,200 ล้านบาทแล้ว ที่สำคัญคือจะมี โครงการฟื้นฟูชุมชน โดยมีงบประมาณสนับสนุน 150 ล้านบาท อีกด้วย

            โครงการฟื้นฟูชุมชนนี้ ใช้หลักการ (1) พื้นที่เป็นตัวตั้ง (2) ประชาชนมีบทบาทสำคัญ และ (3) ทุกฝ่ายประสานความร่วมมือ นั่นเอง

            นอกจากการดำเนินการตามแนวยุทธศาสตร์สังคม 3 ส่วน ในบริบทพื้นที่แล้ว ก็ได้มีการดำเนินการในบริบทกลุ่มคน และ บริบทประเด็น ควบคู่กันไป

            ในบริบทกลุ่มคน กระทรวง พม.มีกลุ่มเป้าหมายชัดเจนอยู่แล้ว ได้แก่ (1) เด็ก (2) เยาวชน (3) ผู้ด้อยโอกาส (4) คนพิการ (5) ผู้สูงอายุ (6) สตรี (7) ครอบครัว

            การดำเนินการในส่วนนี้ จึงไม่สู้ยากนัก กระทรวงฯ เองมีฐานงานค่อนข้างดีอยู่แล้ว ส่วนใหญ่จึงเป็นการสานต่องานที่กระทรวงทำอยู่ โดยนำยุทธศาสตร์สังคม 3 ส่วน มาประยุกต์ใช้ให้หนักแน่นขึ้น กับมีการประสานความร่วมมือ รวมพลังสร้างสรรค์ จากหลายๆ ฝ่ายในสังคม ทั้งในภาครัฐและนอกภาครัฐ ให้เข้มข้นกว้างขวางยิ่งขึ้น

            โดยรวมๆ คิดว่า งานด้านกลุ่มคนนี้ ได้ก้าวหน้าเป็นรูปธรรมเป็นลำดับ แม้ว่าจะยังคงมีข้อท้าทายอยู่เป็นอันมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องเร่งดำเนินการต่อไป

            ส่วนการดำเนินการในบริบทประเด็นได้มีการกำหนดประเด็น และเริ่มลงมือปฏิบัติไปในเบื้องต้นแล้ว ได้แก่ (1) การส่งเสริมการให้และการอาสาช่วยเหลือสังคม โดยมีการจัดตั้ง ศูนย์ส่งเสริมการให้และการอาสาช่วยเหลือสังคม หรือ ศกอส.) ขึ้นภายในกระทรวงฯ (2) การส่งเสริมความสมานฉันท์ในสังคมด้วยสันติวิธี (3) การส่งเสริมชีวิตมั่งคงปลอดอบายมุข (4) การส่งเสริมการแก้ปัญหาความยากจนโดยประชาชน

            ทั้งนี้ รวมถึงการสานต่อการดำเนินการที่กระทรวงฯ ทำอยู่แล้ว ได้แก่ (1) การส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม (2) การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (3) การส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนและองค์กรชุมชนในการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ตลอดจนที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ยากจน (ดำเนินการโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช.) (4) การพัฒนาที่อยู่อาศัยและการอยู่อาศัยโดยทั่วไป (ดำเนินการโดยการเคหะแห่งชาติ หรือ กคช.) 

            ล่าสุด กระทรวงฯ ได้จัดตั้ง ศูนย์สนับสนุนการป้องกันและลดความรุนแรง หรือ ศปลร. ขึ้น ซึ่งจะเชื่อมโยงกับการดำเนินการภายใต้ประเด็น การส่งเสริมความสมานฉันท์ในสังคมด้วยสันติวิธี ด้วย

            การดำเนินการภายใต้ บริบทประเด็น ที่สำคัญอีกส่วนหนึ่ง คือ การศึกษาพิจารณายกร่างกฎหมายที่จะมีผลต่อการพัฒนาสังคม และเป็นไปตามยุทธศาสตร์สังคม 3 ส่วน ประกอบด้วย (1) กฎหมายสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น (2) กฎหมายสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งของประชาสังคม (ซึ่งชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง และประชาสังคมเข้มแข็ง เป็นส่วนประกอบสำคัญของ สังคมเข้มแข็ง) (3) กฎหมายสนับสนุนการสร้างสังคมคุณธรรม และ (4) กฎหมายสนับสนุนการพัฒนาสื่อสาธารณะเพื่อสังคม

            สรุปแล้ว ผมคิดว่า กระทรวงฯ ได้ดำเนินการไปไม่น้อยทีเดียวในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ตามแนวยุทธศาสตร์สังคม 3 ส่วน ภายใต้ระบบจัดการ 3 บริบท

ได้เรียนรู้อะไร ?

            ผมคิดว่า 3 เดือนที่ผ่านมาทำให้ผมได้เรียนรู้มากเลย ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเป็นรัฐบาล และการบริหารรัฐบาล เรียนรู้เกี่ยวกับการเป็นรัฐมนตรี และการบริหารกระทรวง เรียนรู้เกี่ยวกับความยากในการจัดสรรเวลาและพลังงานเพื่อจัดการกับ (1) งานยุทธศาสตร์ (2) งานแก้ปัญหา (3) งานเฉพาะกิจ และ (4) งานประจำ ซึ่งผมอาจจะยังจัดได้ไม่ดีเต็มที่ เรียนรู้เกี่ยวกับศักยภาพหรือโอกาสและข้อจำกัดหรืออุปสรรคในการพัฒนานโยบาย และในการนำนโยบายสู่การปฏิบัติให้ประสบความสำเร็จ และเรียนรู้เรื่องอื่นๆ อีกมาก

            ผมเองถือว่า ชีวิตคือการเรียนรู้ อยู่แล้ว และคำว่า เรียนรู้ผมหมายความรวมถึง การปฏิบัติด้วย ดังนั้น ผมจึงพอใจที่มีโอกาสได้ เรียนรู้ ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่หลากหลายและเข้มข้นทีเดียว

จะกำหนดแนวทางในอนาคตอย่างไร ?

            โดยที่ผมนิยม การบริหารงานแบบมีส่วนร่วม ค่อนข้างมาก ดังนั้น ผมจึงจะไม่สรุปเอาเองคนเดียวว่า จะกำหนดแนวทางการดำเนินงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ต่อไปอย่างไร แต่จะปรึกษาหารือร่วมกันกับผู้ร่วมงาน ซึ่งจัดได้เป็น 3 ส่วน (1) ทีมงานของรัฐมนตรี (2) ผู้บริหารของกระทรวงฯ และหน่วยงานในสังกัด และ (3) ภาคีพันธมิตรนอกสังกัดกระทรวงฯ ทั้งที่อยู่ในภาครัฐและนอกภาครัฐ

            ทั้งนี้ มิได้หมายความว่า ผมไม่มีความคิดของตนเอง ผมมีแน่นอน และมีมากด้วย เพียงแต่ผมเชื่อในเรื่องการผสมผสานความคิด และการรวมพลังสร้างสรรค์ ซึ่งผมเห็นว่าจะมีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงกว่า และยั่งยืนกว่าการคิดและทำ โดยให้ผู้นำเป็นศูนย์กลางผลักดันและตัดสินใจแต่ผู้เดียว

            อย่างไรก็ดี มีอย่างหนึ่งที่ผมคิดว่า จะพยายามปรับปรุง คือ การจัดสรรเวลาและพลังงานให้กับ (1) งานยุทธศาสตร์ (2) งานแก้ปัญหา (3) งานเฉพาะกิจ และ (4) งานประจำ ให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

            พร้อมกันนี้  ก็อยากได้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจาก ญาติมิตรพัฒนาสังคม ทั้งหลาย เกี่ยวกับการดำเนินงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ตลอดจนการดำเนินงานของรัฐมนตรี พม. (คือผมนั่นแหละ) เพื่อผมจะได้รับทราบมุมมองของผู้เกี่ยวข้องที่อยู่ในสถานะต่างๆ แล้วนำมาประกอบการพิจารณาในการพัฒนางานของกระทรวงฯ ต่อไป

                                                                                    สวัสดีครับ

                                                                                                ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม
คำสำคัญ (Tags): #รัฐมนตรี
หมายเลขบันทึก: 72744เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2007 15:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

      อยากให้กระทรวงพัฒนาสังคม  เน้นไปในเรื่องครอบครัวให้มากที่สุดค่ะ  ถ้าหน่วยเล็กที่สุดของสังคมดี  สังคมดีแน่นอน

      ดิฉันเป็นหมอในจังหวัดแห่งหนึ่งในภาคเหนือตอนล่าง  พบกับปัญหาทางสังคมเดินทางมาให้เห็นในคลีนิคของดิฉันเองเป็นประจำ  บ่อยที่สุดคือ วัยรุ่นอายุตั้งแต่ 12 ปีถึง20 ต้นๆ ตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์  พอถามไถ่ประวัติ พบว่าในครอบครัวมักไม่อบอุ่น พ่อแม่มัวแต่ทำมาหากิน เด็กหันหน้าไปหาความอบอุ่นจากแฟนจากเพื่อน  แล้วก็ไม่คุมกำเนิดเพราะกลัวอ้วน แถมไม่กลัวเอดส์อีกตะหาก เพราะคิดว่ามีเพศสัมพันธ์กับแฟนและเพื่อนๆเท่านั้น  เมื่อถามวัยรุ่นชายและหญิงเหล่านี้ มักไม่มีเพศสัมพันธ์เฉพาะกับแฟนแต่มีกับเพื่อนๆได้ด้วย เด็กบอกว่า ก็เหมือนกินข้าวแหละครับหมอ หิวก็กินเป็นเพื่อนกันก็มีอะไรกันได้แล้ว

        ปัญหานี่ พวกเราอาชีพแพทย์คุยกัน และคาดกันว่า ปัญหาเอดส์จะสะพัดในกลุ่มวัยรุ่นแน่นอนซึ่งก็เป็นจริงดังคาด ถ้าท่านไปดูสถิติ จะพบว่าในช่วงไม่กี่ปีมานี่ เด็กวัยรุ่นติดเอดส์เพิ่มมากขึ้น

        ดิฉันขอเสนอแนะ ให้ใส่ธรรมะภาคปฏิบัติเพิ่มเข้าไปในโรงเรียนทุกระดับ เดินจงกรม นั่งสมาธิ หรือฝึกธรรมะโดยอ้อมเช่น โยคะ ชี่กง ไท้เก๊ก ฝึกตั้งแต่อนุบาลย่อมดีแน่นอนค่ะ  เพราะหากธรรมะมีในใจผู้คน  สังคมย่อมไม่เบียดเบียนกันแน่ และหากเด็กมีธรรมะในใจ เขาย่อมไม่ทำให้พ่อแม่เสียใจ  ท่านเริ่มโดยการฝึกจากครูทุกระดับเลยยิ่งดีค่ะ  หากครูนำไปสอนศิษย์ได้  สังคมเราดีขึ้นแน่ๆ

         หากท่านจัดอบรมธรรมะภาคปฏิบัติในแต่ละจังหวัดต่างๆ สำหรับประชาชนทั่วไป  หากจัดได้ทุกสามเดือนจะดีมาก  อาจมีรางวัลจูงใจหรือมอบเกียรติบัตรให้

         ท่านคงทราบดีว่า หากสังคมนั้น ประชาชนปฏิบัติถือศีล5  ย่อมไม่เบียดเบียนกันแน่ค่ะ  ขอบคุณค่ะ หวังว่าท่านคงอ่านคำแนะนำของดิฉันนะคะ

 

ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

ดิฉันมีข้อเสนอเรื่องการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับ กระทรวง พม. เกี่ยวกับอาสาสมัครเพื่อสังคมค่ะ 

ดิฉันคิดว่า  งานของกระทรวงมีความสำคัญมาก  หากเอาคนเป็นตัวตั้ง  ดิฉันยังมองว่า การสร้างความเข้มแข็งให้เยาวชน ทั้งร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา สำคัญที่สุดสำหรับการพัฒนาประเทศ   แต่ละปีที่เยาวชนเติบโตขึ้นพร้อมกับปัญหา  เราจะสะสมความเปราะบางหรือความผุกร่อนของสังคมเพิ่มอีกหนึ่งปี   ปัญหาเด็กในครอบครัวที่มีฐานะในกรุงเทพฯก็แบบหนึ่ง  นักศึกษามหาวิทยาลัยไม่เป็นผู้ใหญ่  บอกว่า 7 วัน เคยอยู่แต่ในห้องเรียนและเรียนพิเศษ ไม่เคยได้หยุดคิดว่าตัวเองมีเป้าหมายอะไรในชีวิต    จบแล้วคิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไร ก็เรียนโทต่อไปก่อน จบแล้วก็เป็นมหาบัณฑิตที่ยังไม่รู้จักตัวเองดิฉันไม่ได้ทำงานเรื่องเยาวชนโดยตรง  แต่เมื่อไปเขตชุมชนแออัดได้ฟังปัญหาเด็กติดยา  ไปชัยภูมิ ไปสุพรรณบุรี ไปสงขลาได้ฟังปัญหาเหมือนๆกันคือเด็กติดยา  ติดเกม เพศสัมพันธ์ก่อนวัยเรียน  และเปลี่ยนคู่ไปเรื่อยๆเด็กหาเป้าหมายชีวิต และตัวแบบที่ดีของชีวิตไม่ได้ที่กรุงเทพฯเห็นเด็กขายพวงมาลัย เด็กขอทาน แล้วสะท้อนใจว่า เขาเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่และจะพบชีวิตที่ดีกว่านี้ได้อย่างไรการสร้างชุมชนเข้มแข็งเป็นแนวทางที่ดิฉันเห็นด้วยอย่างยิ่ง  เพราะจะช่วยเป็น safety net ได้ทางหนึ่งแต่ปัญหาเยาวชนก็เร่งด่วนเสียจนควรมีแนวทางอื่นที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมดิฉันอยู่ในมหาวิทยาลัย คิดว่าจะต้องหาโอกาสให้เด็กในมหาวิทยาลัยได้มีโอกาสรู้จักชีวิตของเด็กอีกหลายกลุ่มที่อยู่ร่วมสังคมกับเขา  ถ้า นศ.ที่ผ่านมหาวิทยาลัยยังเป็นที่พึ่งของสังคมไม่ได้ ดิฉันไม่รู้ว่าเราจะตั้งความหวังกับอนาคตของสังคมไทยได้สักแค่ไหนการรณรงค์ ชีวิตพอเพียง สังคมพอเพียง   โดยมีนักศึกษามหาวิทยาลัยเป็นกลุ่มเป้าหมายควรจะกระทำอย่างยิ่งค่ะนักศึกษาหลายคนออกค่ายด้วยจินตนาการภาพที่น่าประทับใจของชนบท  หรืออาจทำกิจกรรมช่วยเด็กพิการ   ทว่า ปัญหาของเยาวชนไม่พิการแต่ด้อยโอกาสในเมืองจะรุนแรงขึ้นทุกที  กลุ่มนี้น่าเป็นห่วงและเข้าถึงยาก 

ดิฉันสนใจ ศกอส. อยากจะเชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัยกับกระทรวง พม. ที่จะทำให้เยาวชนในมหาวิทยาลัยได้เรียนรู้และได้มีโอกาสทำงานเพื่อสังคมค่ะ  ธรรมศาสตร์อยู่ในกรุงเทพฯ ดิฉันอยากหาพื้นที่ในกรุงเทพฯ โดยมีเป้าหมายที่เด็กด้อยโอกาสในเมืองค่ะ 

กระทรวงมีงบประมาณ  มหาวิทยาลัยมีแรงงานและมีพลังสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่  น่าจะประสานพลังกันได้ดีนะคะ
     ไม่ทราบว่าท่านรัฐมนตรีได้เข้ามาอ่านไหมคะ ขอเสียงหน่อยค่ะท่านขา

ผมพิจารณาแล้ว เห็นว่า

1. นโยบายของกระทรวงพัฒนาสังคม ภายใต้การนำของท่าน ถือเป็นการบริหารงานนโยบายสาธารณะที่แท้จริง โดยเฉพาะการเชื่อมโยง กรอบของแผน 10  ,ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (เช่น สังคมไม่ทอดทิ้งกัน), นโยบายของรัฐบาล ในมิติสังคม ,  ความสอดคล้องในแง่ของนโยบาย ไปสู่การปฏิบัติ มักจะไม่พบในการบริหารงานของรัฐมนตรีในห้วงที่ผ่านมา 

2. สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือการบริหารงานเพื่อขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงไปสู่การปฏิบัติ   โดยเฉพาะจังหวัดที่ไม่บริหารงานแบบ Cluster มักจะปล่อยให้เรื่องของ สังคม เป็นเรื่องของกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ประการเดียว   ซึ่งแท้จริงแล้ว พัฒนาสังคมฯจังหวัด เป็นเพียงเลขานุการของการขับเคลื่อนนโยบายสังคมของจังหวัด ซึ่ง มีภาคีที่เข้ามามีส่วนร่วมทั้ง พัฒนาชุมชน ปกครอง  แรงงาน (ในส่วนเกี่ยวข้องกับสังคม) สสส.   พอช.   ฯลฯ  สิ่งที่จะแก้ไขได้ คือการออกแบบกระบวนงาน ให้จังหวัด ให้มีลักษณะของการเป็น center ในมิติสังคมให้ได้ โดยขึ้นตรงกับรองผู้ว่าด้านสังคม   ดังนั้น โครงการ ต่างๆ ตามที่ท่านได้ดำริขึ้นนั้น ควรให้มีมิติของการบริหารจัดการเชิงบูรณาการอยู่ในตัวด้วย

3. มิติทางสังคม ของจังหวัดค่อนข้างสำคัญในปัจจุบัน โดยเฉพาะบางจังหวัดเข้าใจว่า "เศรษฐกิจพอเพียง" เป็นเพียงยุทธวิธีหนึ่งในการแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่ง หรือเป็นเพียง ตัวชี้วัด 12 ตัวชี้วัด ที่เอาไปวัดหมู่บ้าน (ของพัฒนาชุมชน) ซึ่งเป็นการเข้าใจในแง่เล็กๆ ของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งถือเป็น "หลักการใหญ่" ในการพัฒนาจังหวัด ที่ครอบคลุมมิติการพัฒนาทุกด้าน   กระทรวงพัฒนาสังคม น่าจะ นิยามเศรษฐกิจพอเพียง ให้มีความหมายไปในทางเป็นกรอบใหญ่ในการพัฒนาสังคม (และด้านอื่นๆ) ของจังหวัด

 

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท