Man & Theories


วันนี้ ผมรู้สึกตัวว่าแปลกไปครับ  แต่ยังมีเหตุผลอยู่ !  คือ ในขณะทีนั่งครุนคิดถึงเรื่องต่างๆแบบจินตนาการ  ทันใดก็แว็ปขึ้นมาว่า  "ระหว่างมนุษย์กับทฤษฎี  อะไรเกิดก่อน?"

เพื่อที่จะตอบคำถามนี้  ผมก็มานั่งคิดไล่เลียงดู :  เมื่อผมเกิดมา  ต้นไม้หน้าบ้านผมมันก็มีอยู่แล้ว,  วัว,ควาย,หมู,ไก่, ดิน,หิน,ท้องฟ้า, ฯลฯ มันก็มีอยู่ก่อนแล้ว, "ข้อเท็จจริง" เหล่านี้มีอยู่ก่อนแล้ว; เมื่อแดดจ้า เราก็ร้อน, เมื่อฝนตก เราก็วิ่งหลบฝน, เมื่อหิวเราก็กินอาหาร, เมื่อง่วงเราก็นอน, เมื่อใครชมเราก็ดีใจ, ฯลฯ  "ความสัมพันธ์" เหล่านี้ มันก็มีอยู่ก่อนแล้ว เช่นกัน

แต่ "ทฤษฎี" ต่างๆ มันอยู่ที่ไหน?  ทำไมผมไม่เห็นมัน ?

เมื่อผมลืมตาดูโลกวินาทีแรก  ถ้าผมสัมผัสกับข้อเท็จจริงเหล่านั้น  มันก็เข้าไปอยู่ในสมองของผมในบางรูปแบบ?  วัว  ควาย  ดิน  หิน  ฯลฯ มันคงเข้าไปในหัวผมเป็นตัวๆ  ก้อนๆ  ไม่ได้ !  เพราะหัวผมมันเล็ก  จะบรรจุสิ่งเหล่านั้นไม่ได้  มันต้องเข้าไปอยู่ในหัวผมในบางรูปแบบ  เพราะหัวผมไม่ได้โป่งพองออกมา  มันยังเท่าเดิม !  แต่ที่แน่นอนก็คือ  มันมีอยู่ก่อนแล้วก่อนผมเกิด  และมันเข้าไปอยู่ในหัวผมภายหลังผมเกิดได้ในรูปแบบของความรู้หรือความจำ !!  และ "ความสัมพันธ์"ต่างๆที่กล่าวมาก็เช่นเดียวกัน

แต่ทฤษฎีไม่มี?!

ถ้าเช่นนั้น  ต้องไม่มีทฤษฎีให้ผมสัมผัส  ต้องไม่มีทฤษฎีให้ผมเห็น เหมือนเห็นก้อนหิน  เห็นฝนตก

ผมจึงต้องได้ทฤษฎีมาภายหลัง !

ภายหลังการเกิดของผม?!

ดังนั้น  ถ้าจะเกิดมีทฤษฎีใดๆขึ้นมาในหัวของผม  ก็ต้องแสดงว่า  ผม"สร้าง"ทฤษฎีนั้นขึ้นมาเอง อย่างแน่นอน !!

การคิดแว็บขึ้นมานี่มันก็ดีเหมือนกันนะครับ

แล้วท่านละ คิดอย่างไรเกี่ยวกับทฤษฎี?

คำสำคัญ (Tags): #มนุษย์กับทฤษฎี
หมายเลขบันทึก: 72724เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2007 13:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 17:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)

เจริญพร อาจารย์ ดร.ไสว

ปัญหา เรื่องบ่อเกิดความรู้ ลองคุยเล่นๆ กับอาจารย์ดูนะครับ

พวกหนึ่งเชื่อว่า ทฤษฎี นั้นๆ มีอยู่แล้ว เพียงแต่เรายังค้นไม่พบ เท่านั้น ถ้าเราคิดอย่างเป็นระบบ เราก็จะได้ รูปแบบแห่งทฤษฎี นั้น ออกมาเหมือนๆ กัน...

พวกหนึ่งบอกว่า สิ่งต่างๆ ที่เรารับรู้ได้ทางประสาทสัมผัสนั้น เป็นเพียง หน่วยหนึ่งๆ เท่านั้น ...เราจะรับรู้หน่วยเหล่านั้นเรื่อยๆ  และจะเริ่มจัดประเภทของหน่วย กล่าวคือ หน่วยนี้ เหมือนกับหน่วยโน้น หน่วยโน้นต่างอย่างหน่วยนั้น...ต่อมา เราก็สร้างหน่วยใหม่ๆ ขึ้นมา โดยเอาสิ่งเฉพาะของหลายๆ หน่วยมาผสมผสานกัน ...ทฤษฎี ก็คือ การนำหน่วยต่างๆ มาถักทอขึ้นเป็นรูปเป็นร่างเท่านั้น

อีกพวกหนึ่งกลับบอกว่า เราจะโยงหน่วยเหล่านั้นเข้ามาได้อย่างไร เพราะ หน่วยแต่ละหน่วยเกิดขึ้นแล้วดับไป เกิดขึ้นไม่พร้อมกัน ในทำนองว่า..

เพราะหน่วยแรกกับหน่วยหลังเกิดขึ้นไม่พร้อมกัน ความสัมพันธ์ของหน่วยเหล่านั้น จะมีได้อย่างไร ...ถ้าไม่มีความสัมพันธ์ของหน่วยเหล่านั้น มันจะเชื่อมโยงกันได้อย่างไร ? ...ถ้าหน่วยแรกกับหน่วยหลังไม่สามามารถเชื่อมโยงกันได้แล้ว มันจะเป็นจริงกันได้อย่างไร ?

ลับสมองลองตรรกะ ครับอาจารย์

เจริญพร

นมัสการพระคุณเจ้า

(๑) กลุ่มที่เชื่อว่า"ทฤษฎีมีอยู่ก่อนแล้ว" เราเพียงแต่ไป"ค้นหามันให้พบ"เท่านั้น  นั้น เป็นความเชื่อตามแนวความคิดของ Plato ที่เรียกว่า "Form Theory" หรือ "Universal Theory" ซึ่งกล่าวโดยสรุปว่า  "สิ่งต่างๆล้วนแต่เกิดมาจากแบบ  แบบนี้มีอยู่จริง  และมีความเป็นนิรันดร"  นั่นคือ "นาย ก,  นาย ข, ..." เกิดมาจาก"แบบของคน"  "แมวแต่ละตัว" ก็ "เกิดมาจากแบบของแมว" ฯลฯ  และเชื่อว่า "ทฤษฎี" ก็ต้อง "เกิดมาจากแบบของทฤษฎี" เช่นกัน  ความเชื่อนี้สืบต่อกันมานับพันปี  เพิ่งจะเลือนหายไปหลังจากที่  J.S.Bruner และคณะ(1956) ได้ทดสอบด้วยวิธิการวิทยาศาสตร์ คือการวิจัยเรื่องเกี่ยวกับ "การเรียนรู้มโนทัศน์"(Concept Learning) ซึ่งพบว่า "คนได้มโนทัศน์มาด้วยการเรียนรู้"  คือ "ต้องเรียนรู้"จึงจะได้มา "มันไม่ได้มีอยู่ก่อนแล้ว"  และ "มโนทัศน์"นี้ เป็นสิ่งเดียวกันกับสิ่งที่ในสมัยของ Plato เรียกว่า "แบบ" (Form)  หรือ "Universal"

(๒) กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มที่ต่อต้านกลุ่มแรก  คือ "แทนที่จะเริ่มต้นจากแบบ ก็ไปเริ่มต้นจากตัวอย่างหรือ Instances ของแบบ"   โดยที่   จาก Instances "ทำให้เกิด"   การ    "สร้างหรือก่อรูปของแบบ"  ขึ้นมา  "ไม่มีแบบ"   ที่มีอยู่ก่อนแล้วรอให้เราไป  "ค้นพบ"   แบบดังกล่าวคน  "สร้าง"  ขึ้นมาจากการสัมผัสกัส Instances ของแบบ  กลุ่มนี้สนับสนุนทางฝ่าย Bruner ครับ

(๓) กลุมที่สนับสนุนฝ่าย Plato  ก็แย้งว่า  การอธิบายว่า Instance ต่างๆ "โยงสัมพันธ์"(Association) กันทำให้เกิด "การรวมกัน" ของ "ลักษณะร่วม" ของ Instances จนก่อให้เกิด "มโนทัศน์" ขึ้นมานั้น  "เป็นไปไม่ได้"  เพราะว่า "การรับรู้ Instances แต่ละอัน เกิดไม่พร้อมกัน  เพราะเหตุจากการเกิดและดับของพวกมันไม่พร้อมกัน"  คือ ใช้ "หลักการโยงสัมพันธ์"  และ  "การเกิดดับ"  มาเป็นจุดโจมตี   ซึ่งคำตอบง่ายๆก็คือ   ถ้าเป็นไปไม่ได้แล้ว  ผลการทดลองของ Bruner  ก็เป็นไปไม่ได้ด้วย   แต่  การทดลองของ Bruner ดังกล่าว "เป็นไปได้" !!  นอกจากนี้  มโนทัศน์แต่ละหน่วยที่มารวมกันเป็นหน่วยใหญ่นั้น  ก็เกิด ณ ที่เดียวกัน  คือ ในสมอง  และช่วงการเกิดดับก็ย่อมมีช่วงว่างให้สามารถเกิดการโยงสัมพันธ์กันได้  ซึ่งเป็นไปตาม Principle of Association

ขัอที่น่าสังเกตมากก็คือ  การนำมโนทัศน์ "ดับ" มาใช้ในการอภิปราย   คำว่า  ดับ  นี้  เป็นคำ "สำคัญยิ่ง" ของพุทธศาสนา !!  ซึ่งหมายถึงการ "ดับ" ของ "ทุกข์" ทั้งหลาย  "ไม่ใช" การดับของ "ปัญญา"  แต่การเรียนรู้มโนทัศน์นั้นเป็นเรื่องของ "ปัญญา"  ถ้าหน่วยของปัญญาดับเสียแล้ว  จะเอาอะไรมาตรัสรู้เล่าครับ !!  

ดร.ไสว เลี่ยมแก้ว

เจริญพร อาจารย์ ดร. ไสว

อาตมาเข้ามาอ่านเมื่อคืน ได้อ่านที่อาจารย์ตอบแล้ว ซึ่งอาตมาก็อนุโมทนากลับไปแล้วเช่นกัน แต่เน็ตมีปัญหา... ครู่ต่อมา ก็เข้าใหม่ได้ แต่ข้อความที่อาจารย์ตอบถูกลบไป ...ยืนยันว่า ของเก่าที่ถูกลบไป อาตมาได้อ่านแล้วด้วย ครับ..

อนุโมทนาอีกครั้ง อาจารย์ใช้ภาษาดีครับ การอ้างเหตุผลของอาจารย์สามารถเขียนเป็นสัญลักษณ์ได้ครับ...

งานของนายบรูโน อาตมาก็ไม่เคยอ่าน เพียงแต่เคยหยิบหนังสือเค้ามาดู พลิกไปพลิกมาแล้วเก็บไว้ที่เดิม (5 5 5) ได้รับการบอกเล่าแต่เพียงว่า เค้าคัดค้านนิรนัย (โดยเฉพาะของอริสโตเติล) ยกย่องอุปนัย ...

บันทึกของอาจารย์ อาตมาอ่านเกือบหมดแล้ว ..มีอยู่บันทึกหนึ่ง (จำไม่ได้) อาจารย์ก็ให้ความเห็นต่อนักวิจัยว่าน่าจะใช้นิรนัยบ้าง...ทำนองนี้ ...

อาตมาจะติตตามงานบันทึกของอาจารย์เรื่อยๆ และอาจโผล่มาลับสมองบ้างเป็นบางครั้งคราว จะได้ร่วมกันปัดฝุ่นเรื่องเก่าๆ นะครับ

เจริญพร 

นมัสการพระคุณเจ้า

(๑) ผมตอบมาทันทีที่ได้เข้ามาอ่าน คือเมื่อวันที่ ๑๗ ครับ  แต่วันรุ่งขึ้นมาอ่านอีกที  เห็นว่า  มันค่อนข้างสับสน  เข้าใจยาก  ทั้งนี้ก็เพราะว่า  เขียนลงในเครื่องเลย ครับ  เมื่อเห็นว่าคงยังไม่มีใครอ่าน  จึงได้ลบ  และขัดเกลาแก้ไขให้ดีขึ้น  แต่เนื้อหาเหมือนเดิม  แต่พอกดตีพิมพ์  มันไม่ออกมา !  จึงเสียใจ  และเข้านอน เพาะขณะนั้นตีหนึ่งแล้วครับ  ตื่นเช้าขึ้นมารีบมาพิมพ์ใหม่  คราวนี้เขียนลงเครื่องอีก  แต่ดีขึ้น  และสำเร็จ ดังที่เห็นนี้แหละครับ  ผมต้องขออภัยด้วยครับ  และขอบพระคุณที่อ่านครับ

(๒)Bruner ที่อ้างข้างบนนี้เป็นนักจิตวิทยา  เขาสนใจหนักด้าน "ปัญญา"  ซึ่งเรื่องของมโนทัศน์ก็เป็นเรื่องของปัญญาโดยตรง  เขาไม่ใช่นักปรัชญา  เขาจึง "ทดสอบ" ในแนวของวิทยาศาสตร์  อันที่จริงก็เป็นการถูกต้องครับ  เพราะว่า  ปัญหาหลายอย่างสามารถ "แก้ได้" ด้วย "วิธีทางปรัชญา"  โดยใช้ "เหตุผล" เป็นเครื่องมือ   ซึ่งงานประเภทนี้เป็นหน้าที่ของ "นักปรัชญา"   และสามารถแก้ได้ด้วย "วิธีการวิทยาศาสตร์หรือการวิจัย"  Bruner  เป็นนักวิทยาศาสตร์ เขาจึงหาคำตอบด้วยวิธีการวิจัย  แต่เราสามารถ "ประเมิน" งานวิจัยได้ด้วย "วิธีการทางปรัชญาหรือเหตุผล" ครับ  เช่นติติงด้วยประเด็น "การเกิดดับ" ของการรู้สึกสัมผัส  การรับรู้  การรวามหน่วยเข้าเป็น "หน่วยใหม่" ที่เรียกว่า "มโนทัศน์" (ปัจจุบัน)  หรือ "Form"  หรือ  "Universal" (ในอดีต)   ว่า มันเป็นอุปสรรคต่อการ "โยงสัมพันธ์"  แล้วจะโยงกันได้อย่างไร ?  เป็นต้น  ผมคิดว่าเป็นเพราะคำติติงนี้เองแหละ  ที่ทำให้นักจิตวิทยาเสนอ "แนวคิดใหม่ขึ้นมา" เรียกว่า "การเข้ารหัส" (Coding / encoding)  แทนคำว่า "โยงสัพันธ์" ครับ  การติติงจึงมีทั้ง "การทำลาย" และ "การก่อ" ครับ  

เรื่องเหล่านี้  สถาบันที่มุ่งสร้างนักคิดระดับปริญญาเอก "จะต้องตระหนักอย่างจงหนักครับ"  มิฉะนั้นแล้วก็จะได้แค่ "การใช้สถาบันเพียงเพื่อการ ชุบตัว" เพียงอย่างเดียว ครับ

(๓) ครับ  ดูเหมือนเคยเสนอแนะให้นักวิจัยใช้วิธี "นิรนัย" (Deduction) จาก "ทฤษฎี"บ้าง    แต่ "ทฤษฎี" นั้น  เราสามารถ "สร้าง"ได้ทั้งวิธี นิรนัย  และวิธี "อุปนัย"(Induction)  นอกจากนี้  ไม่ว่าเราจะได้ทฤษฎีมาโดยวิธีใด  ถ้าเรานำมันมาตั้งเป็น Major Premise แล้วละก้อ  เราก็ "นิรนัย" เป็น "สมมุติฐาน" เพื่อการ "ทดสอบ"(Test) ด้วยวิธีการวิจัยได้ทั้งสิ้น ครับ

ผมเสนอบล็อกที่ชื่อว่า  Empirical Theories  นี้ ก็เพื่อ "กระตุ้น"  ให้มีการวิจัยในระดับอย่างนี้บ้างครับ  ดังนั้น บล็อกนี้จึง "ไม่ใช่" บล็อกที่บรรจุความรู้ที่สามารถจะหาอ่านได้จาก "ตำรา"ในห้องสมุด ครับ

กระผมขอขอบพระคุณพระคุณเจ้าเป็นอย่างยิ่งไว้ ณ ที่นีด้วย  เพราะการอ่านและแสดงความคิดเห็นของท่าน เป็นสิ่งที่มี "คุณค่า" อย่างหาที่เปรียบมิได้ ครับ

ดร.ไสว เลี่ยมแก้ว

เจริญพร อาจารย์

เพิ่งกลับมาจากงานเผาศพญาติ เปิดเครื่องเห็นอาจารย์ตอบมาก็รู้สึกปลื้มครับ ดังนั้น จะคุยกันต่อนะครับ 5 5 5

เรื่อง หน่วยและการเชื่อมโยง อาตมาคิดขึ้นเอง ครับ โดยเลียนแบบมาจากโศลกหนึ่งของหนังสือ Buddhist Logic ว่า

เพราะเหตุและผลเกิดขึ้นไม่พร้อมกัน ความสัมพันธ์จะมีได้อย่างไร ? ถ้าไม่มีความสัมพันธ์จะเป็นเหตุและผลได้อย่างไร ? ถ้าไม่มีเหตุผล และความสัมพันธ์ของมันแล้ว จะเป็นจริงได้อย่างไร ?

เสียดายที่อาตมาไม่ได้หนังสือเล่มนี้ไว้....ส่วนในคัมภีร์วิสุทธิมัคค์ ของเราก็มีคาถาหนึ่งเหมือนกันครับ ว่า

ผลอย่างเดียวมาจากเหตุอย่างเดียวก็มิใช่ ผลอย่างเดียวมาจากเหตุหลายอย่างก็มิใช่ ผลหลายอย่างมาจากเหตุอย่างเดียวก็มิใช่ แต่หลักการในการอธิบายว่าผลอย่างเดียวมาจากเหตุอย่างเดียว มีอยู่..

ตามนัยนี้ บอกว่า พุทธปรัญชาฝ่ายเรา ยึดถือว่า ผลหลายอย่างมาจากเหตุหลายอย่าง...

เรื่องทำนองนี้ค่อนข้างแห้งแล้ง โดดเดียว ไร้อารมณ์และไร้ความรู้สึกเกินไป ครับ นักวิชาการไทยจึงไม่ค่อยสนใจ โดยมากต้องการแค่ ชุบตัว ตามอาจารย์ว่านะแหละครับ

เจริญพร

นมัสการพระคุณเจ้า

รู้สึกดีใจครับที่ท่านกลับมาคุยต่อ  ข้อความข้างบนนี้ ผมขอตอบสนองดังนี้นะครับ(ผมขอยืมภาษาตรรกะที่ชื่อ Imply มาใช้ด้วยครับ)

(๑) "เหตุ -----> ผล Imply ว่า เหตุ "เกิดก่อน" ผล  คือ "ไม่ได้เกิดพร้อมกัน" ,    และ Imply ว่า "สัมพันธ์" กัน  ดังนั้น "จึงมีความสัมพันธ์กันระหว่างเหตุและผล"  และถ้าเกิดเหตุแล้วผลเกิดตามมาเสมอๆแล้ว  ก็เป็น "สาเหตุและผล" กัน  ถ้าไม่มี "เหตุ" และ " ผล " แล้ว   ความสัมพันธ์เชิงเหตุผลนี้ก็ไม่มี  แต่ยังมีความสัมพันธ์แบบอื่นอยู่  เช่น "น้ำขึ้นแต่ลมลง"  หรือ "พี่กับน้อง" หรือ "แดงสูงกว่าดำ"  ฯลฯ

(๒) ผลอย่างเดียวมาจากเหตุอย่างเดียว "ก็ใช่",  ผลอย่างเดียวมาจากเหตุหลายอย่าง "ก็ใช่",  ผลหลายอย่างมาจากเหตุอย่างเดียว "ก็ใช่", 

ขัดแย้งทุกอย่างเลยครับ !  ทำอย่างไรดี ครับ !! 

ดร.ไสว เลี่ยมแก้ว

ผมขอเพิ่มเติมอีกนิดครับ

"เหตุ ---> ผล"  ถ้าเกิดเหตุแล้วจะเกิดผลตามมา ! 

" ....  ----> ผล"  ถ้าตัดเหตุออกไป  แต่ผล "ยังอยู่" จะเป็นไปได้หรือ ?

"(ดับไฟ) ---> น้ำเกือด(ผล)"  ถ้า"ดับไฟ" (เหตุ) แล้ว  น้ำ(ผล)จะ"ยังเดือด"อยู่หรือ ? 

ถ้ายังมีน้ำเดือดอยู่   การเดือดนั้นก็ "มีความเป็นเสรี" (Freedom) !!  

"ไม่ฆ่าสัตว์(ดับเหตุ) ----> สุข(ผล)"  เหตุดับ  แต่ผล(สุข) ยังคงอยู่ !  เป็นไปได้หรือ ?  "ไม่มี"สุขหรอก ! คือไม่เหลือผล !  "ถ้าไม่มีสุข หรือไม่มีทุกข์"  สิ่งที่เป็นอยู่คือ "ความสงบ"  แต่ความสงบนั้นคืออะไรเล่าครับ ? !! 

ความสงบที่เกิดขึ้นนี้  "เรา"ทำเอาเอง !  ไม่ต้อง"ไปอ้อนวอน" ขอต่อเทพเจ้า !!!

จึงไม่ต้องมีพระเจ้า !!

แต่จะมีใครกี่คนที่คิดเช่นนี้ ?  "ใคร" ดังกล่าวนั่นแหละคือ พุทธอุบาสกอุบาสิกา !!  และคนประเภทนี้จะมีสักกี่คนเลาครับ  คิดดูแล้วกลุ้มใจครับ 

คงต้องวอนขอหลวงพี่แหละครับ !!

กราบเรียน ดร.ไสว  กราบนมัสการพระคุณเจ้า

ผมขอเป็นผู้ฟังผู้ดูด้วยคนนะครับ  ในฉบับนี้ยังไม่มีอะไรแลกเปลี่ยนครับ  ขอทำความเข้าใจบันทึกสักระยะก่อนครับ  โอกาสหน้าคงจะได้แลเปลี่ยนครับ  แต่เท่าที่พอจะแลเห็นในตอนนี้  ดูเหมือนว่าท่านทั้งสองกำลังอภิปรายเรื่องความรู้  โดยใช้ความคิดเป็นเครื่องมือ  ไม่ทราบว่าผมเข้าใจถูกหรือเปล่าครับ

อย่างไรก็ตาม  เป็นการสนทนาที่สวยงามครับ  ผมจะเฝ้าดูและฟังไปเรื่อย ๆ ครับ

ด้วยความเคารพ
สวัสดิ์ พุ้มพวง

เจริญพร อาจารย์

เป็นไปได้ครับอาจารย์ว่า ถ้าไม่มีสาเหตุ แล้ว ผลจะต้องมีอยู่ เพราะถ้าเราเชื่อว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมีสาเหตุ สาเหตุของสิ่งนั้นๆ จะต้องเป็นผลมาจากสาเหตุอีกอย่างหนึ่ง และสาเหตุอีกอย่างหนึ่งนั้น ก็จะต้องเป็นผลที่มาจากสาเหตุโน้นอีกครั้ง อีกครั้ง ....อย่างนี้ ย่อมไม่สิ้นสุด (การถอยกลับโดยไม่สิ้นสุด)

ศาสนาฝ่ายเทววิทยาอ้างความมีอยู่ของพระเป็นเจ้าว่าเป็น สาเหตุเริ่มแรกของสรรพสิ่ง โดยอ้าง ความจำเป็นว่า จะต้องมีสิ่งที่เป็นพื้นฐานของสรรพสิ่ง ..และสิ่งนี้เกิดขึ้นเพราะ ความบังเอิญ ...นั่นคือ ความบังเอิญจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการยืนยันว่า จะต้องมีสิ่งที่เป็นสาเหตุแรกของสรรพสิ่ง (ปฐมเหตุ)

แต่พุทธศาสนาไม่ติดกับอยู่ในประเด็นนี้ครับ และยืนยันว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ควรปลงใจเชื่อตามหลักกลามสูตร คือ

มา นยเหตุ อย่าปลงใจเชื่อเพราะคาดหมายตามนัย (ข้อนี้ น่าจะเป็น นิรนัย)

มา อาการปริวิตกฺเกน อย่างปลงใจเชื่อเพราะกำหนดคิดเอาตามอาการ (ข้อนี้ น่าจะเป็น อุปนัย หรือข้อมูลเชิงประจักษ์)

มา ตกฺกเหตุ อย่าปลงใจเชื่อเพราะเป็นไปตามหลักตรรกะ (ข้อนี้ ว่าโดยรวม)

อนึ่ง โยมอาจารย์ก็คงทราบว่า พระพุทธศาสนาเน้นเรื่องทุกข์และการดับทุกข์เท่านั้น ..แต่สิ่งต่างๆ เหล่านี้ จะต้องมีอยู่เป็นอยู่เพื่อปกป้องหลักคำสอนเท่านั้น ...ไปๆ มาๆ กลายเป็นว่า ผู้ที่คิดสร้างระบบปกป้องหลักคำสอนก็มามีความเห็นแย้ง ถกเถียงกันเอง  และกลายเป็นนิกายต่างๆ

(มิใช่พระพุทธศาสนาเท่านั้น แม้ศาสนาหรือปรัชญาอื่นๆ ก็มักจะเป็นไปทำนองนี้)

อาตมาคุยกับอาจารย์สะเปะสะปะไปเรื่อย ตอนนี้กำลังคิดอยู่ครับ ว่าจะทำวิจัยอะไรเล่นๆ สักอย่างโดยร่วมมือกับอาจารย์ หรือมีอาจารย์เป็นที่ปรึกษา ...ยังนึกไม่ออกครับ ...ขอความเห็นอาจารย์ด้วย เผื่ออาจารย์มีกรอบความคิดบางอย่างที่อาจเป็นไปได้...

เจริญพร

ยินดีต้อนรับครับ ดร.สวัสดิ์ พุ่มพวง  เรื่องที่สนทนากันเป็นเรื่องข้อคิดเห็นท้ายบล็อก Man & Theory ครับ

ดร.ไสว เลี่ยมแก้ว

นมัสการพระคุณเจ้า

(๑) เรื่องของ "สาเหตุ - และผล" ในประเด็นว่ามีหรือไม่  ได้ถกเถียงกันมานับพันปีแล้ว ในหมู่ของนักปรัชญา   และเมื่อศึกษาทางวิทยาศาสตร์จนปัจจุบัน ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า "ไม่มี"สาเหตุ - และผล

(๒) ปัญหาเรื่อง "ปฐมเหตุ"  ว่ามีหรือไม่มี  ก็หมายถึงว่า "ยอมรับ"แล้วว่า "มีสาเหตุ - และผล"   มิฉะนั้นแล้วจะไปเถียงกันทำไมว่า "มีสาเหตุแรกหรือไม่"

(๓) พุทธศาสนาให้ความสำคัญของ "สาเหตุ - และผล"  โดยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสืบหา "ปฐมเหตุ"  และ "ผล" ที่เน้นมากก็คือ  ผลที่เป็น"ตวามทุกข์"  และที่ว่าเน้นมากก็คือเน้นให้มัน "ดับ" ไปเลย  หรือเพียง "เข้าใกล้ศูนย์" ได้ก็ยังดี  โดยไป "ดับที่เหตุ"

(๔) ทำวิจัยเรื่องอะไรครับ  ผมรู้สึกว่าได้รับเกียวติครับการทำวิจัยนี้เราต้องเริ่มต้นที่ข้อสงสัย "ของเรา"  ถ้าเราสนใจทางธรรม  ก็ใช้วิธีวิจัยแบบ Analytical Research  ถ้าสนใจเรื่องทางประจักษ์ก็ใช้วิธีทาง Empirical Research ครับ

ดร.ไสว เลี่ยมแก้ว

อาจารย์ไสว....พระอาจารย์ชัยวุธ...อาจารย์สวัสดิ์...ครับ

วันนี้ถือว่าโชคดีของผมครับ...ที่ได้เข้ามาอ่าน

 

ผมกำลังจะทดลองสอนเด็ก โดยใชชื่อหลักสูตรว่า

Wit : Dialogue

อาจารย์ไสวครับ... ม.ราชภัฏพิบูลสงครามให้ความสนใจให้ผมทดลองกับเด็กนักเรียนโรงเรียนสาธิตของเขาน่ะครับ... 

ปัญหาของผมคือ...ผมใช้เครื่องมือในการทดลองทั้งแบบอุปนัยและนิรนัยประกอบกัน...พอมาอ่านของอาจารย์...ทำให้ผมจำเป็นต้องกลับมาทบทวนวิธีประเมินผลให้ชัดเจนขึ้น...ถึงขั้นที่อาจต้องปรับโครงการวิจัยหลักสูตร Wit : Dialogue ของผมเลยที่เดียว

 

ผมจะปรึกษาอาจารย์ที่บล็อกนี้ได้หรือไม่ครับ....เพราะอาจมีพระอาจารย์ชัยวุธ...และอาจารย์สวัสดิ์ร่วมวงที่ปรึกษาให้ผมด้วย...

 

พระอาจารย์ชัยวุธครับ... จะนำความหมายของคำว่า

ปัญญา-สุนทรีย์-สนทนา มาไว้ที่นี่เลยก็ได้นะครับ...เพราะผมแปลความหมายจากหลักสูตรที่ผมคิดจะทดลองใช้ Wit : Dialogue นี่เองครับ...

(๑)  ยินดีครับ   คิดว่าคงจะมีเรื่องสอดคล้องกับชื่อบล็อกบ้างนะครับ

(๒) ทดลองกับนักเรียนโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัย !  เก๋ทีเดียวครับ

(๓) อันที่จริง "จุดยืน"ของ Deduction  กับ  Induction นั้น  ในทางปรัชญา  เขาไม่ค่อยลงรอยกันหรอกครับ  เป็นคนละค่ายกันทีเดียว   แต่ "นักการศึกษา" เราจะยืนข้างหนึ่งข้างใด "ไม่ควร" ครับ  ถ้ามันมีประโยชน์ต่อการศึกษา  "นักการศึกษา"  อาจจะนำมา "ผสมกัน" เพื่อการศึกษาก็ได้ครับ

อาจารย์ไสวครับ...ผมได้ชื่อภาษาไทยและความหมายจากพระอาจารย์ชัยวุธแล้วครับ

 Wit : Dialogue

สุนทรียสนทนาเพื่อปัญญา...

แปลว่า ถ้อยคำที่หลั่งไหลออกมาโดยความบันเทิงใจเพื่อความรู้ทั่ว...

โดนใจผมจริง ๆ ครับ...

หาก Conceptual Frame Work เป็นรูปเป็นร่างแล้ว...จะส่งมาขอรับคำปรึกษาครับ...

จะเรียนเชิญอาจารย์ไปที่Wit : Dialogue นะครับ...จะได้ไม่รบกวนประเด็นสำคัญของอาจารย์ครับ...

ผมเข้าไปเยี่ยมชม Wit : Dialogue  มาหลายวันแล้วครับ  เป็นความคิดสร้างสรรค์ครับ  ขอให้ทำให้สำเร็จนะครับ  ผมเอาใจช่วยครับ

ตามความเข้าใจของผมทฤษฎีคือคำจำกัดความของประสบการณ์นะครับกล่าวคือเมื่อเราผ่านประสบการณ์เรื่องใดเรื่องหนึ่งมาเราก็สามารถบอกได้ว่าผ่านมาได้ยังไงและสิ่งที่บอกได้นี้เรานำมาถ่ายทอดให้คนอื่นไม่ว่าคนอื่นเจอแล้วเหมือนเราหรือไม่ถ้ามีเหมือนมากคนก็ยอมรับถ้าไม่เหมือนก็ปฏิเสธ นี่แหละครับทฤษฎี

ความคิดเช่นนี้ ถ้าผู้พูดเป็นคนทั่วไป ก็น่าขนลุกซู่เลยแหละครับ, ถ้าเป็นปริญญาตรีพูด ก็น่ามหัศจรรย์, ถ้าเป็นปริญญาโทหรือเอกพูด ก็ให้จบหลักสูตรได้,ครับ "มโนทัศน์"เช่นนั้นแหละครับที่ "จัดเป็นมโนทัศน์ทางทฤษฎี" แต่ควรเปลี่ยนคำ"คำจำกัดความ" ไปเป็น "คัดย่อ" หรือ Abstract จะดีกว่า

ทฤษฎีมี "ธรรมชาติ"แบบนั้นครับ ขอบคุณมากที่ช่วยเพิ่มเติมทำให้มีรสชาดขึ้นครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท