ไข่ ครูบาสุทธินันท์


ในแต่ละตำบล(ประมาณ1,000ครัวเรือน) จะกินไข่ตำบลละ200,000 ฟอง/ปี เป็นอย่างน้อย คิดเป็นเงิน 600,000 บาท ถ้าอำเภอหนึ่งมี15ตำบล จะเสียเงินซื้อไข่กินกันในอำเภอไม่น้อยกว่า 9,000,000 บาท

ไข่ครูบาสุทธินันท์


   ผมไม่มีโอกาสได้จับไข่ ดูแลไข่ของตนเองเลย

   เพราะไม่ได้เลี้ยงไก่ไข่ จึงมีปัญหาเรื่องไข่ ไข่ขาด ไข่แพง ไข่ไม่มีคุณภาพ ต้องไปพึ่งพาจากภายนอก  ไม่มีปัญญาแม้แต่เลี้ยงไก่ไว้กินไข่ ทั้งๆที่เป็นเกษตรกรนี่นะ ไข่หนอไข่ ผมจะทำยังไงดี

           

   เพื่อไม่ให้ความมุ่งหมายเป็นหม้าย มหาชีวาลัยอีสานจึงจัด ”งานวันมหกรรมไก่ไข่ในมิติการจัดการความรู้ระดับชุมชน” ขึ้นในวันที่14มกราคม 2550 เป็นการนัดชุมนุมคนที่เคยอกหักเกี่ยวกับไก่มาพบกัน มีทั้งสายนักวิชาการระดับเซียนขี่นกกระเรียนดั้นเมฆ จนถึงนักวิชาเกินที่เดินปะเปะมาพบกัน
 
   นับเป็นวาสนาบุญมาวาสนาส่ง ให้พบผู้รู้รักษาโรคหัวใจเดาะมาดูแลงานนี้เป็นการเฉพาะ ถามไปถามมาพวกนี้ล้วนอกหักเพราะการพัฒนามาแล้วทั้งสิ้น พัฒนากันจนเหลืออาชีพไม่กี่อย่าง และทุกอย่างที่เหลือก็จำเจจำทนค้นแค้นอยู่กับคำว่าการเกษตร เพื่อให้เห็นจุดเปลี่ยนในการที่จะทำโครงสร้างการงานอาชีพที่เหมาะสมกับเกษตรกรรายย่อย ดร.สวัสดิ์ ธรรมบุตร ร่วมกับ ดร.วนิดา กำเนิดเพ็ชร์ นำแม่ไก่ไข่สาวมามอบให้ 500 ตัว เพื่อให้เราได้ทดลองใช้ความรู้ใส่ลงไปในตัวไก่ไข่ ถ้าทำดีก็จะเพิ่มเติมมาให้อีกเป็นระลอก..

ดร.สวัสดิ์ ธรรมบุตร ปรมาจารย์ด้านสัตว์ปีกเมืองไทย ท่านเป็นคนสร้างพันธุ์เป็ดบาบารีขึ้นเป็นครั้งแรก ต่อมาได้ศึกษาพัฒนาสายพันธุ์ไก่ไข่ขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย ท่านให้เหตุผลว่า แม่พันธุ์ไก่ที่ประเทศต่างๆเขาพัฒนาสายพันธุ์นั้น วัตถุประสงค์ก็เพื่อที่จะเลี้ยงของเขาเองในประเทศ ซึ่งมีสภาพแวดล้อมและปัจจัยต่างๆแตกต่างจากบ้านเรา

ถาม:  เรานำของเขามาเลี้ยงดีไหม
ตอบ: เลี้ยงได้ครับ แต่ต้องลงทุนโรงเรือนที่ได้มาตรฐาน มีระบายอากาศด้วยพัดลมขนาดใหญ่ ต้องให้วัคซินและการดูแลรักษาเอาใจใส่เป็นพิเศษ สูตรอาหารต้องพิเศษ เพราะไก่พวกนี้จะอ่อนแอมากขึ้นในสภาพที่แตกต่างจากถิ่นกำเนิด ทำให้มีต้นทุนสูง
ถาม:  ทำไมเราไม่พัฒนาสายพันธุ์ขึ้นมาเอง
ตอบ:
ฝ่ายนโยบายหรือผู้อนุมัติงบประมาณมองว่าเราต้องลงทุนสูง4-5 พันล้านบาทจึงยี่ยักยี่หย่อนไม่ควักกระปุกสักที
ถาม:   เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็พึ่งพาต่างประเทศตลอดไปนะสิ
ตอบ:
   เออแน่นอน ตอนนี้ควักเงินออกนอกประเทศไปซื้อพันธุ์ไก่ปีละ500 ล้านบาทเป็นอย่างต่ำ
ถาม:   อ้าว! ไหนคุยๆนักหนาว่าเรามีความรู้ความสามารถทางวิชาการ   เยอะแยะ ทำไมไม่ทำวิจัยเรื่องนี้ โธ่ถังเอ๊ย!
ตอบ:
  ตอนนี้ดร.สวัสดิ์ ธรรมบุตร และคณะ ได้รับงบประมาณจาก (สกอ.) 28 ล้านบาท มาทำการวิจัยเรื่องนี้ และก็ประสบผลสำเร็จสามารถผลิตแม่พันธุ์ไก่ไข่สำหรับประเทศไทยขึ้นมาครั้งแรก เพียงแต่ยังไม่ได้ตั้งชื่อ เรียกเป็นรหัสว่า AC. CA. แม่ไก่ชุดแรกที่เราภาคภูมิใจมากนี้ ได้ทยอยออกไปให้กลุ่มเกษตรกรทดลองเลี้ยงบ้างแล้วในส่วนภูมิภาคเช่น ภาคเหนือเลี้ยงที่จังหวัดน่าน ภาคอีสานเลี้ยงที่บุรีรัมย์

  ในปีหนึ่งๆประเทศไทยผลิตไข่ไก่ได้วันละ 36-42ล้านฟอง หรือรวมทั้งปีไม่น้อยกว่า1,000,000ล้านฟอง(หนึ่งหมื่นล้านฟอง) คิดเป็นมูลค่าประมาณ 3 หมื่นล้านบาท จากผู้เลี้ยงทั่วประเทศ 3,000 ราย เป็นรายใหญ่ 10 ราย นอกนั้นเป็นผู้ประกอบการขนาดกลาง จำนวน99%เรานำเข้าพันธุ์ไก่จากต่างประเทศ คิดเป็นเงินประมาณ500ล้านบาททุกปี ลูกไก่เขาขาย 240 บาท เราทำเอง 25 บาท

    ในแต่ละตำบล(ประมาณ1,000ครัวเรือน) จะกินไข่ตำบลละ200,000 ฟอง/ปี เป็นอย่างน้อย คิดเป็นเงิน 600,000 บาท ถ้าอำเภอหนึ่งมี15ตำบล จะเสียเงินซื้อไข่กินกันในอำเภอไม่น้อยกว่า 9,000,000 บาท จังหวัดบุรีรัมย์มีอำเภอและกิ่งอำเภอ22แห่ง ถูกดูดเงินออกจากจังหวัดปีละ198,000,000 บาท (หนึ่งร้อยเก้าสิบแปดล้านบาท)
 
 โถ!แค่ไข่ไก่ที่กินกันอยู่ทุกวันยังไม่มีปัญญาเลี้ยงกินเอง ถ้ารวมตัวเลขเรื่องไก่เนื้อเข้าไปอีก จังหวัดบ้านผมขนเงินไปให้บริษัทเลี้ยงไก่ครบวงจรไม่น้อยกว่า1,500ล้านบาท/ปี(หนึ่งพันห้าร้อยล้านบาท) ที่ควรฉุกคิด ชาวบ้านทำการเพาะปลูกอยู่แล้ว ถ้าเปลี่ยนมาปลูกพืชอาหารสัตว์  เช่น ข้าวโพด ข้าวฟ่าง มันสำปะหลัง ถั่ว ใบกระถิน ทานตะวัน แล้วนำมาผสมกับวัตถุดิบที่จำเป็นปลายข้าว รำ กากถั่วเหลือง กระดูกป่น พรีมิกซ์ ฯลฯผลิตหัวอาหารเลี้ยงสัตว์เอง ก็น่าจะเป็นการตั้งไข่วางแผนเดินไปในเส้นทางเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างเป็นรูปธรรม

 นักพัฒนาระดับท้องถิ่นควรจะต้องมาทบทวนแล้วว่า จะลดการนำเข้าสินค้าจากภายนอกได้อย่างไร สินค้าประเภทไหนบ้างที่เราจะพยายามพึ่งตนเองให้มากขึ้น ที่จริงก็มีกลุ่มดำเนินการอยู่บ้างแล้ว เช่น พวกผลิตสมุนไพร สินค้าอาหารแปรรูปในนามของโอท็อป ถ้ามาระดมกันผลิตสินค้าเพื่อลดการนำเข้าอีกทางหนึ่ง ก็จะทำให้แนวทางการพึ่งตนเองชัดเจนยิ่งขึ้น

   เพื่อให้เห็นเส้นทางการสร้างชุดความรู้แบบKM เราจึงออกแบบว่า..จะทำกิจกรรมเรื่องอะไร สมาชิกต้องลงมือเรียนให้มีความรู้ก่อน (ภาคทฤษฎี) เมื่อได้รับความรู้พื้นฐานในระดับหนึ่งแล้ว ทุกคนจะได้เรียนเชิงประจักษ์ (ภาคปฏิบัติ) เริ่มตั้งแต่การสร้างโรงเรือน เตรียมโรงเรียน เตรียมอาหาร เตรียมน้ำ เตรียมไฟ เตรียมตัวเตรียมใจแล้วก็นำแม่ไก่ไข่ไปเลี้ยง ในระหว่างเลี้ยงก็ทดสอบความรู้ในทุกแง่มุม เช่น บันทึกอัตราการให้อาหาร ให้น้ำ ปริมาณของไข่ ขนาดของไข่ ผลที่เกิดกับตัวไก่ ปัญหาที่พบ วิธีแก้ไขปัญหา ด้านการเลี้ยงดู ด้านอาหาร ด้านการตลาดฯ เพื่อทดสอบมาค่าความอึด ความรอด ความประหยัด และผลตอบแทน
    ข้อมูลเหล่านี้จะย้อนกลับไปที่นักพัฒนาสายพันธุ์ เพื่อปรับปรุงจุดดีจุดด้อยให้ได้พันธุ์ไก่ที่ดียิ่งขึ้น นับเป็นความร่วมมือในการพัฒนาสายพันธุ์สัตว์ ระหว่างนักวิชาการกับนักปฏิบัติการKMในชุมชน

หมายเลขบันทึก: 72721เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2007 12:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

เห็นด้วยกับเส้นทางแนวคิดนี้ครับ    

เราจึงออกแบบว่า..จะทำกิจกรรมเรื่องอะไร สมาชิกต้องลงมือเรียนให้มีความรู้ก่อน (ภาคทฤษฎี) เมื่อได้รับความรู้พื้นฐานในระดับหนึ่งแล้ว ทุกคนจะได้เรียนเชิงประจักษ์ (ภาคปฏิบัติ) เริ่มตั้งแต่การสร้างโรงเรือน เตรียมโรงเรียน เตรียมอาหาร เตรียมน้ำ เตรียมไฟ เตรียมตัวเตรียมใจแล้วก็นำแม่ไก่ไข่ไปเลี้ยง ในระหว่างเลี้ยงก็ทดสอบความรู้ในทุกแง่มุม เช่น บันทึกอัตราการให้อาหาร ให้น้ำ ปริมาณของไข่ ขนาดของไข่ ผลที่เกิดกับตัวไก่ ปัญหาที่พบ วิธีแก้ไขปัญหา ด้านการเลี้ยงดู ด้านอาหาร ด้านการตลาดฯ เพื่อทดสอบมาค่าความอึด ความรอด ความประหยัด และผลตอบแทน

และที่สำคัญคนที่จะมาทำอย่างที่ครูบากล่าวไว้ จะได้อะไรบ้างหล่ะครับ????  .....อาชีพใหม่....ใช่หรือเปล่าครับ ผมเชื่อว่าถ้าทำได้จริงรับรองไปรอดแน่นอน เพราะครอบคลุมครบถ้วนทุกกระบวนการเช่นนี้  ถ้าอึดอย่างที่ครูบากล่าวไว้นั่นแหล่ะครับ

เรียน ครูบาสุทธินันท์

เป็นแนวคิดที่ดีมากทีเดียวครับครับ....แต่ทำไมนักวิชาการไทยถึงคิดได้ค่อนข้างช้ามาก เพราะจากที่ท่านหลวงสุวรรณ  ได้บุกเบิกเรื่องไก่ไข่ของไทยมาก็นานโขแล้วครับ

อย่างไรก็ตามถึงจะช้า....ก็ยังไม่สายนะครับ และก็ดีใจที่จะได้กินไข่ของเราเอง....อุ้ย...ไข่ไก่ของเราครับ

ไหนๆ ก็จะเป็นไก่ไข่สายพันธุ์ไทยอยู่แล้ว ก็ตั้งระหัสให้เป็นแบบไทยๆ ไปเลยครับ เช่น คุณ ก. คุณ ข. หรืออื่นๆ ไม่น่าจะเอา คุณ AC. CA เลยนะ

ด้วยความเคารพ

อุทัย   อันพิมพ์

 

อุทัย   อันพิมพ์ ครับ

กลับบ้านเรารักรออยู่

ตอนนี้ก็อุดมสมบูรณ์ทั้งไข่คน ไข่ไก่ ไข่เป็ด ไข่ห่าน ไข่นกกระจอกเทศ ไข่ขี้เกี้ยม!

  • สารพัดไข่เลยครับ
  • ไข่สุดท้ายกินได้ด้วยหรือครับ
  • มาดูชาวบ้านทำการเลี้ยงไก่มีความสุขดีกว่าอยู่กับนักวิชาการที่คิดแล้วไม่ทำครับ

ถาม P

  • ไข่สุดท้ายกินได้ด้วยหรือครับ
  • มาดูชาวบ้านทำการเลี้ยงไก่มีความสุขดีกว่าอยู่กับนักวิชาการที่คิดแล้วไม่ทำครับ
  •   
    ตอบ นักวิชาการมุ่งวิจัยเอาความรู้อย่างเดียว
    ชาวบ้านวิจัยไปอร่อยไป เรียกว่า วิจัยเพื่อชีวิต อ้อ! ไม่ใช่ วิจัยอย่างมีชีวิตชีว่า เป็นการวิจัยที่ได้คุณค่าความรู้และคุณค่าทางร่างกาย เป็นงานวิจัยที่อร่อยและชิมได้ งานวิจัย ที่เอาความรู้เต้นออกมาจากหน้ากระดาษลงหม้อแกง หอมฉุย
    ถ้าวิจัยอย่างนี้   จะไม่โดนหยิกว่า ทำวิจัยแบบขึ้นหิ้ง  ของเขาขึ้นหิ้ง  ของเราลงหม้อ
    เรื่องนี้ยังมีทาง ถ้ามหาชีวาลัยอีสานได้รับการสนับสนุนให้เป็น วิทยาลัยวิจัยท้องถิ่น  อ.ขจิตเอ๊ย!!!!  เราจะวิจัยให้ควันฉุยไปเล๊ยยยยย!!!! 

    ถาม 

    1 ทำไมนักวิชาการไทยถึงคิดได้ค่อนข้างช้ามาก เพราะจากที่ท่านหลวงสุวรรณ  ได้บุกเบิกเรื่องไก่ไข่ของไทยมาก็นานโข

    2 ไหนๆ ก็จะเป็นไก่ไข่สายพันธุ์ไทยอยู่แล้ว ก็ตั้งระหัสให้เป็นแบบไทยๆ ไปเลยครับ เช่น คุณ ก. คุณ ข. หรืออื่นๆ ไม่น่าจะเอา คุณ AC. CA เลยนะ

    ตอบ  อุทัย   อันพิมพ์

    1 นักวิจัยมีวัฒนธรรมในการทำงานแบบไทยๆ ถือว่า "ช้าๆได้พร้าเล่มงาม" เพราะไม่มีคู่แข่ง ไม่มีข้อเปรียบเทียบ ถ้า สกว.สนับสนุนให้นักวิจัยไทยบ้านเต็มที่เหมือนให้โอกาสนักวิชาการ นักวิชาการอาจจะหนาวก็ได้ เว้นแต่จะมาร่วมมือทำการวิจัยด้วยกัน จะอบอุ่นทั้งกายและใจ เพราะได้ซดน้ำต้มไก่ พูดก็พูดเถอะ  ผมนะเล็งไว้แล้ว จะเอาอาจาย์อุทัยนี่แหละเป็นหนูลองยาตัวแรก วิจัยอ้วนเมื่อไหร่จะเจบขึ้นเขียงสับๆๆๆจิ้มน้ำจิ้มรสแซบให้สะท้านทรวงไปเล๊ย!!!!!

    2 เรื่องชื่อทางการไก่ จะขอยกไปเรียนถามท่านปรมาจารย์ไก่ ดร.สวัสดิ์ ธรรมบุตร ในเดือนหน้า ดีไหมครับ

    คำถาม จาก

    P

    และที่สำคัญคนที่จะมาทำอย่างที่ครูบากล่าวไว้ จะได้อะไรบ้างหล่ะครับ????  .....อาชีพใหม่....ใช่หรือเปล่าครับ ผมเชื่อว่าถ้าทำได้จริงรับรองไปรอดแน่นอน เพราะครอบคลุมครบถ้วนทุกกระบวนการเช่นนี้  ถ้าอึดอย่างที่ครูบากล่าวไว้นั่นแหล่ะครับ

    คำตอบ  เลี้ยงไก่ไข่ ก็ต้องได้ไข่ไก่ ไก่จะไม่ออกไข่เป็นแป๊ปซี่ หรือมาม่า แน่นอน ส่วนใครจะทำได้ขยายผลไปมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับฝีมือและวาสนา 

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท