เวทีสรุปงานประจำปี ๑


แนวคิดใหญ่ของเวทีปีนั้น ประเด็นหลักอยู่ที่ เลี่ยงผลกระทบไม่ได้ จำเป็นต้องเรียนรู้สถานการณ์โลกภายนอก เกิดอะไรขึ้นบ้าง ตัวเราอยู่ที่ไหนในท่ามกลางสถานการณ์นั้น และจะกำหนดทางเดินของเราอย่างไร

เมื่อเริ่มงานที่นครพนมผ่านไปได้ ๑ ปี  พวกเราได้ดึงแนวคิดบางส่วนของประสบการณ์ที่บุรีรัมย์มาใช้

โรงเรียนชุมนอีสานที่บุรีรัมย์ จะใช้ การอบรม ที่คล้าย ปฐมนิเทศสมาชิกใหม่แต่ละรุ่นต้องผ่าน หากต้องการจะเข้าร่วมโครงการ เนื้อหาเป็นเรื่องของการให้ข้อมูล แง่คิด ประสบการณ์ประกอบในมิติต่าง ๆ ให้เห็นถึง ความจำเป็นที่จะต้องเร่งรีบในเรื่องของการพึ่งตนเอง ฟื้นขวัญกำลังใจให้ฮึกเหิมที่จะฝ่าฟันการสร้างไร่นาของตนเอง การหลอมรวมเป็นเครือข่าย รวมทั้งการให้ได้เห็นรูปแบบแนวทางที่จะพัฒนาไร่นาของตนเอง ด้วยการใช้ชีวิตร่วมกันในไร่นา นานถึง ๗ วัน ๖ คืนทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน.....เข้มข้นทีเดียว สมาชิกต่างบ้านต่างเมืองก็จะได้ทำความรู้จักกัน

ครั้นย้ายแนวคิดมาที่ใหม่ งานอบรมปฐมนิเทศได้ถูกปรับมาเป็น เวทีสรุปงานประจำปี เพื่อให้เป็นโอกาสที่ชาวบ้าน ในรอบปี จะได้หยุด  ได้ทบทวน ได้ใช้ชีวิตร่วมในบรรยากาศที่ตนคุ้นเคยผ่อนคลาย ได้นำเสนอความก้าวหน้าของงานในไร่นาของตนเอง ได้ฟังข้อมูลจากภายนอกจากผู้รู้ หลากหลายเนื้อหาแต่สอดคล้องกับงานที่ทำอยู่ และท้ายที่สุดการพยายามที่จะสร้างจินตนาการไปข้างหน้า จะทำอะไรต่อ อย่างไร เพื่ออะไร แสวงหาความรู้จากไหน....

ปีแรกที่พวกเราจัดงานกัน ชาวบ้านไม่รู้เรื่องเลยว่าเราจะทำอะไร แม้จะได้พยายามอธิบายให้ฟัง ( สิ่งที่ชาวบ้านสะท้อนให้ฟัง ๓ ปีให้หลัง )  แต่พวกเขาก็ดีแสนดีกับสิ่งที่ดิฉันและคณะมีจินตนาการไว้คร่าว ๆ

ตั้งแต่
ร่วมกันเตรียมสถานที่ สร้างห้องประชุมกลางนา
ขุดส้วม ทำห้องอาบน้ำ
บริเวณทำครัว
น้ำดื่ม น้ำใช้
ซึ่งใช้เวลาเตรียม สองอาทิตย์ สำหรับคนที่จะมาร่วมเวที ๖๐ กว่าชีวิต
การเตรียมผู้ที่จะทำหน้าที่ต่าง ๆ ดูแลกิจกรรมในแต่ละวัน
การเตรียมข้าวของ เครื่องใช้ อาหาร.....
สำมะปิเลย ตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ...

ดิฉันกับทีมก็ทำร่างกำหนดมาให้ชาวบ้านดู และคุยเตรียมการร่วมกัน เชิญวิทยากรกระบี่มือหนึ่ง สุดเจ๋ง มาร่วมแลกเปลี่ยน ลองพิจารณารายชื่อเหล่านี้ดูซิคะ  หลวงพ่อบัญญัติ  พ่อมหาอยู่ พ่อผาย ครูบาสุทธินันท์ พ่อคำเดื่อง พ่อบุญเต็ม พ่อจันทร์ที พ่อกล พ่อทวี พี่พิทยา ว่องกุล พี่เดชา ศิริภัทร คุณวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ดร. บัญชร แก้วส่อง อ. สพสันต์ เพชรคำ คุณเกรียงศักดิ์ จากกุดชุม คณะโปงลางพื้นบ้านภูไทบ้านโนนหอม สกลนคร และคณะน้อง ๆ นักวิชาการจากสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

แนวคิดใหญ่ของเวทีปีนั้น ประเด็นหลักอยู่ที่
เลี่ยงผลกระทบไม่ได้ จำเป็นต้องเรียนรู้สถานการณ์โลก ภายนอกเกิดอะไรขึ้นบ้ง
ตัวเราอยู่ที่ไหนในท่ามกลางสถานการณ์นั้น
และจะกำหนดทางเดินของเราอย่างไร

แหม...ก็พากันภาคภูมิใจ...วางแนวความคิดหลักของเวทีสรุปงานได้ลงตัวดีจัง...วิทยากรที่เชิญมาก็ระดับพระกาฬ ครบถ้วนชุดความคิด ประสบการณ์ที่จะช่วยให้มองเห็นโลกชัดเจน....เรื่องโลกาภิวัตน์..พันธุพื้นบ้าน..ความหลากหลายทางชีวภาพ..เส้นทางของชาวนาไทย...การต่อสู้กับตนเอง...การสร้างสรรค์ไร่นา...การเผชิญอุปสรรค...ฝ่ายชาวบ้านก็คงต้องทบทวนตนเองเมื่อได้เรียนรู้ข้อมูลจากวิทยากรแต่ละท่านประกอบกัน จะได้วางทางเดินของตน  ... เยี่ยม

เราก็พาชาวบ้านนั่งฟังการประชุม  ไปเยี่ยมไร่นาบ้าง ชาวบ้านเล่าประสบการณ์ของตนเองบ้าง ออกกำลังกายยามเช้า สวดมนต์ก่อนนอน ....ชาวบ้านก็ฟัง ฟังฟัง ฟังและดำเนินกิจกรรมไป...ในที่สุดงานก็ลุล่วงไป

ดิฉันและคณะน้อง ๆ นักวิชาการจากส่วนกลาง นั่งฟังเนื้อหาทั้งหมด ตื่นเต้นเป็นกำลังเพราะมันเสริมสร้างจิตใจให้ฮึกเหิมเหลือเกิน เชื่อมั่นในเส้นทางที่จะพึ่งตนเอง....ปลื้มใจ จัดงานได้ดี

จนเมื่อเสร็จงานแล้ว มีโอกาสได้คุย ได้ประเมินกับชาวบ้าน เขาคิดอ่านอย่างไร
“ ผมฟังอาจารย์พูดแล้ว ผมกลับไปนอนบ้านอีก ๒-๓ วัน จึงค่อยคิดออกพอเลา ๆ  ว่า ท่านพูดเรื่องอะไร แต่ไม่ได้เข้าใจทั้งหมดหรอก “

ดูเหมือนคนอื่น ๆ  ก็จะไม่แตกต่างไปจากนี้มากนัก แต่ชาวบ้านก็มีมรรยาทดี ฟัง ไม่ปริปากบ่น.... ๔ วัน ๓ คืน ที่ใช้ชีวิตร่วมกันในไร่นา ....

การทดสอบตัวเอง บทที่หนึ่ง.....

ชาวบ้านสามารถทำ เวทีสรุปประจำปี ลุล่วงไปได้ โดยไม่รู้ว่า มันคืออะไร...

 

หมายเลขบันทึก: 72641เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2007 22:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท