ผมฝันอยากเป็นตาบอดคลำช้าง(KMธรรมชาติ): จะได้หรือเปล่าหนอ


แม้จะเป็นตาบอดคลำช้าง KMธรรมชาติ แต่หูก็ยังได้ยินว่าชาวบ้านพูดอะไรกัน และพอจะนึกตามคำพูดได้บ้าง สงสารแต่พวกตาบอดที่ยังไม่ได้คลำช้าง แต่ไปสาธยายเป็นวรรคเป็นเวร

จากบทความข้อเขียนของท่านอรหันต์KM ดร. วรภัทร์ หรือ คนไร้กรอบ เมื่อเช้านี้ ทำให้ผมสะดุดกึกในความคิด ว่าสงสัยผมจะเป็น หรือกำลังเป็นตาบอดคลำช้าง หรือ ตาบอดที่ยังไม่คลำช้าง และยังไม่เชื่อว่าช้างมีจริง หรือเปล่า

  

เพราะผมยังงงๆ ว่า KM ที่กำลังทำกันอยู่ในแต่ละชุมชนนั้น เขาทำอย่างไรกันแน่ 

 

ถ้า KMธรรมชาติ เป็นช้าง ผมคิดว่าผมน่าจะเป็นคนตาบอด กำลังคลำช้างอยู่แน่นอน

 

ผมกำลังค้นหารูปแบบของ KM ธรรมชาติแบบต่างๆ ก็มีหลายแบบที่เห็น

  

ที่KMส่วนใหญ่ จะคล้ายการวางแผนเล่นกีฬาฟุตบอล จะเป็นแบบบูรณาการ ทุกคนที่แม้จะมีบทบาทเฉพาะ แต่ก็จะทำหน้าที่ทุกอย่าง แล้วงานทุกอย่างจะมีคนในทีมงานรับรู้กันอยู่ทั้งหมด ไม่มีลับลมคมใน

  

เมื่อแข่งเสร็จ ทุกคนก็จะได้รับผลรางวัลใกล้เคียงกัน อันนี้ไม่นับฟุตบอลการพนันนะครับ

  

การทำ KM แบบนี้เป็นที่นิยมมาก แต่จะไม่ค่อยนิยมแบบมีคนคอยสั่ง หรือแบบมีคนไม่ทำ คอยแต่รับผลประโยชน์ เขาถือว่ากินแรงกัน หรือคอยกินหัวคิว เรียกว่าไม่เป็นที่นิยม ว่ายังงั้นเถอะนะครับ

  

อันนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้โมเดลKM ที่ใช้ระบบสั่งการ ไม่ค่อยเกิดผลในทางปฏิบัติ และชุมชนยังมองว่าคนเป็นเครื่องมือของKM มากกว่าเป็นผู้ทำKM

  

ที่ผิดหลักการที่ผู้ทำKMเป็นผู้ใช้KM และเป็นผู้ได้ประโยชน์จากการทำKM

  

ผมก็ดูเหมือนจะคลำถูกบ้าง ผิดบ้าง ด้วยความที่ตายังบอดอยู่นั่นแหละ แต่บังเอิญ ที่ยังรู้สึกว่าหูยังไม่หนวก พอได้ยินคนอื่นพูดบ้าง ไม่เหมือนนักวิชาการบางคนที่หูตึง ใครบอกอะไรก็ไม่ได้ยิน คิดแต่ว่าที่ตัวเองคิดนั้น ถูกตลอด คนอื่นพูดไม่เข้าหู และไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไร ทุกอย่างเจ๋งอยู่แล้ว

  อย่างนั้น คงจะเป็นประเภทตาบอดยังไม่รู้จัก แม้แต่คำว่า ช้าง แต่ใช้ระบบปากคาบคัมภีร์เล่าต่อกันมา จนได้ขึ้นไปอยู่หอคอยงาช้างพลาสติก   

แต่ก็ดีกว่าการที่ต้องมีช้างถูกฆ่าเอางามาทำหอคอยที่เสียอีก ช้าง(งบประมาณ) ก็เสีย ยังต้องเอางาไปสร้างหอคอยให้เขาอยู่อีก

  

นักวิชาการหอคอยงาช้างพลาสติกนี้ คำว่า ช้าง ยังไม่รู้จัก แต่ใช้วิธีเอางาพลาสติกปลอมๆ ที่มีวางขายตามแผงหนังสือ มาสร้างเป็นหอคอย แล้วยังกล้าไปอวดคนอื่นว่าเป็นงาช้างจริงๆอีกต่างหาก

  กลุ่มหลังนี้ก็เป็นกลุ่มที่ท่านไร้กรอบ บอกว่าเป็นพวกดีแต่พูด จำอวด  แต่ไม่เคยทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แต่พูดเหมือนกับว่าตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญไปเลย  

แต่จะสังเกตกลุ่มหอคอยงาช้างพลาสติกได้ง่าย ว่าจะไม่ค่อยมีลูกเล่นมากนัก และมักจะคิดได้อยู่เรื่องเดียว หรือจำได้อยู่เรื่องเดียว เล่าแล้วเล่าอีก

  

ภาษาฉายหนัง เขาเรียกว่าฉายจนหนังเปื่อยยุ่ย นั่นแหละครับ

  

ผมก็เลยยังสบายใจนิดหนึ่งว่า แม้จะเป็นตาบอดคลำช้าง KMธรรมชาติ แต่หูก็ยังได้ยินว่าชาวบ้านพูดอะไรกัน และพอจะนึกตามคำพูดได้บ้าง สงสารแต่พวกตาบอดที่ยังไม่ได้คลำช้าง แต่ไปสาธยายเป็นวรรคเป็นเวร ว่า ช้างเป็นอย่างไร เสร็จแล้วก็ไปอยู่สบายในหอคอยงาช้างพลาสติก

  นักวิชาการตาบอดในหอคอยงาช้างพลาสติกพวกนี้นั่นแหละครับ น่าสงสารแกมน่าสมเภทมากเลยครับ
หมายเลขบันทึก: 72510เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2007 23:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

อืมม ต่างมองต่างมุม ต่างมองต่างความคิด ยังไงขอให้มองเป็นเชิงบวกแล้วกันค่ะ เพื่อนำความคิดดีๆ มาพัฒนาบ้านเมืองเรา แค่นี้บ้านเมืองเราก็แย่พอแระค่ะ มองเชิงระบบ มองเชิงระบบเปิด มองตามสิ่งที่ตัวเองถนัด วิจารณ์ตามมุมที่คล่อง แหะๆ ยังไงยังยืนยัน เพื่อพัฒนาชาติบ้านเมืองค่ะ 

ผมอยู่ในพื้นที่ชนบทมาตลอด  เริ่มเป็นครูบ้านนอก เมื่อปี 2530  ถึงวันนี้ก็  20 ปี ก็ยังทำงานกับชาวบ้าน

คิดว่าจะตั้งชื่อให้คนกลุ่มหนึ่งที่ผมเคยพบเห็นบ่อยๆ

เพิ่งได้ชื่อที่เหมาะสม จากข้อเขียนของท่านอาจารย์

คงไม่ว่าอะไร ถ้าจะยืมไปใช้ (บ้าง )  นะครับ

คุณ บ้านสีเทา

เราติเพื่อก่ออยู่แล้วครับ

และที่ท่านขุนพลเม็กดำขอนั้นได้เลยครับ

เพิ่งคิดได้เหมือนกันครับ

  • คนที่อยู่บนหอคอยพลาสติกที่อาจารย์ว่านั้นส่วนมากเค้าจะยึดติดในความดีครับ ทำอันนั้นอันนี้ก็ว่าดี จริงๆก็ดีอยู่ แต่การยึดติดกับความดีนั้นทำให้เราอหังการ สิ่งนั้นทำให้หูตึงใครตะโกนไม่ได้ยิน
  • ขอบคุณอาจารย์มากครับ สำหรับบทความดีๆ

สวัสดีครับอาจารย์ ดร.แสวง

ผมไม่อายที่จะบอกว่าผมก็เคยเป็นแบบนี้ครับ ผมว่าเราเรียนมาสำนักไหน ก็ยากที่จะเปลี่ยนจากความคิดของเจ้าสำนักนะครับ ถ้าเจ้าสำนักเราเอาแต่พูด ไม่ยอมฟัง เราก็คิดว่านั่นเป็นวิธีการสอนที่ดี (เพราะเรารู้วิธีเดียว) พอเราได้รับตำแหน่งเจ้าสำนัก หรืออาจารย์ในสำนัก เราก็ทำเอาแบบเดียวกัน ฉันจะพูด แล้วฉันก็จะกลับ ฉันรู้เท่านี้ แต่ฉันเป็นเจ้าสำนัก ถามลูกศิษย์ไม่ได้ ถามแล้วเสียเหลี่ยม

บางคนพยายามจะเปลี่ยนแต่ก็เปลี่ยนไม่ได้ บางคนไม่คิดแม้แต่จะเปลี่ยน เพราะนึกว่าดีแล้ว เหมาะแล้ว

ผมคิดว่าจะคลำตรงไหนมันก็ไม่ผิดหรอกครับ เพราะเรามีภูมิหลังต่างกัน บางคนก็มุ่งแต่จะคลำเอาที่งา บางคนก็คลำที่ขา เพราะได้รับการเรียนการสอนมาอย่างนั้น ผมว่าเป็นเรื่องที่น่าทึ่งนะครับที่สี่ปีหกปีสามารถหล่อหลอมคนให้มองมุมเดียวได้อย่างลึกซึ้งจนลืมมองมุมอื่นไปซะอย่างนั้น

วิธีเดียวที่ผมเห็น ก็คือวิธีที่ท่านอาจารย์เสนอไว้นั่นเองครับ คอยฟังว่าเขาคลำเจออะไร ผิวสัมผัสมันเป็นอย่างไร แข็งหรือนุ่ม สากมือไหม หรือไปเจอช้างเหยียบเอา ก็จะได้บอกให้รู้ทั่วกัน เตือนๆ กันไว้

ถ้าเรามัวแต่คลำเอาเองทั้งตัว ก็คงจะไม่ไหว อาจารย์ว่าไหมครับ?

อาจารย์วสะ ครับ

 เมื่อผมทำงานจัดการความรู้กับชาวบ้าน ในระยะแรกๆ ผมรู้สึกว่าผมได้เรียนรู้อะไรมากมาย แต่พอระยะหนึ่ง ผมกลับรู้สึกว่าไม่ค่อยรู้อะไรเท่าไหร่ เพราะยังมีเรื่องที่ยังไม่รู้อีกมาก

ซึ่งมาประจวบกับ ดร.วรภัทร์ เขียนเรื่องตาบอดคลำช้าง ผมก็เลยนึกออกพอดี ว่า สงสัยผมกำลังจะคลำช้างอยู่ครับ

ช้างที่ว่านั้น คือ KM ธรรมชาติ ที่ผมไม่ทราบหรอกครับว่า หน้าตาที่แท้จริงมันเป็นอย่างไร ผมก็เลยค่อยๆ คลำ ไปเรื่อยๆ พอรู้สึกว่าเหมือนอะไรก็พูดไปอย่างนั้น ไม่ทราบว่าจะถูกจะผิด ก็อยากให้ทุกท่านช่วยสะท้อนกลับมาว่าที่ผมพูดนั้นไม่ตรง หรือไม่ถูกต้องตรงไหนบ้าง เพื่อผมจะได้คลำต่อไปว่าช้าง KM ธรรมชาติ ที่ ดร.วรภัทร์ พูดไว้นั้น หน้าตามันควรจะเป็นอย่างไร

ตอนนี้ ผมก็รู้สึกว่า ลักษณะที่สำคัญของ KM ธรรมชาตินั้น คือ ทุกคนทำทุกอย่าง และทุกคนทำเพื่อใช้ประโยชน์ ไม่มีใครสั่งใคร มีแต่การเรียนรู้ร่วมกัน ทุกคนเป็นทั้งคุณกิจ คุณอำนวย คุณประสาน หรือบางทีก็เป็นคุณเอื้อด้วยซ้ำ

นี่คือ KM ธรรมชาติที่ผมรู้จัก

ไม่ทราบอาจารย์ว่ายังไงครับ....

ผมไม่ประสากับ KM เลยครับอาจารย์ ก็ได้แต่เข้ามาหาความรู้จากผู้รู้ทั้งหลายในนี้

ยิ่งผมอ่านก็ยิ่งเห็นตรงกับอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ที่ท่านกล่าวว่า "วัฒนธรรมสำคัญกว่าความรู้"

ผมเข้าใจว่าวัฒนธรรมที่ท่านหมายถึงคือระบบความรู้ในสังคมนั้นๆ และสภาพแวดล้อมซึ่งมีการพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง นิ่งเมื่อไหร่ก็คือไม่มีวัฒนธรรมแล้ว

การบริหารความรู้ก็น่าจะดึงเอาวัฒนธรรมของชุมชน ทั้งในเรื่องของความเชื่อระดับประเทศและความเชื่อ หรือประเพณีในระดับชุมชนเข้ามาประสาน ไม่อย่างนั้นก็จะลอยแยกจากตัวบุคคล ไม่เกิดประโยชน์อะไรนัก

ที่อาจารย์ดร. แสวงพูดว่า "ทุกคนทำทุกอย่าง" นั้นผมเห็นด้วยครับ ผมคิดว่าการที่เราแยกส่วนกันทำงาน ทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ยึดติดในตำแหน่งและหน้าที่ของตัวเองจนขาดโอกาสที่จะมองจากมุมของคนอื่น ไม่เข้าใจก็เลยไม่เห็นใจ ก็เลยไม่อยากจะช่วยเหลือกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท