ไปสัมมนาหอการค้าฯ ที่เมืองสองแคว (2)


เช้าวันเสาร์ที่ 29 ต.ค.48 ดูเหมือนว่า บรรยากาศของความคึกคัก ตื่นเต้น จะแผ่ไปทั่วเมืองพิษณุโลก มองลงมาจากหน้าต่างโรงแรมที่พักซึ่งอยู่กลางเมือง ก็ได้เห็นความเจริญของเมืองที่ขยายตัวออกไปทุกทิศทาง จนทำให้ผู้นำของหอการค้าจังหวัดพิษณุโลกมั่นใจที่จะประกาศตัวเองว่า นี่คือ “สี่แยกอินโดจีน”

เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงสิ่งที่เคยพูดคุยกับคุณวิโรจน์ จิรัฐิติกาลโชติ กรรมการหอการค้าไทย อดีตประธานหอการค้าจังหวัดพิษณุโลก ผู้จุดประกาย "ยุทธศาสตร์สี่แยกอินโดจีน" คุณวิโรจน์ให้เหตุผลเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ที่ตั้งของตัวจังหวัดพิษณุโลก เป็นตัวเอื้อต่อเส้นทางหลักในการเชื่อมโยงการค้าการท่องเที่ยวใน 6 ประเทศลุ่มน้ำโขง ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน จะมาบรรจบที่จังหวัดพิษณุโลกพอดี โดยมีเส้นทางหลักที่ทำให้เกิดจุดตัด เริ่มจากเส้นทางเหนือ-ใต้ ที่เริ่มจากคุนหมิง (มณฑลยูนนานของจีน) เชื่อมกับพม่าเข้าที่ด่านแม่สาย-ท่าขี้เหล็กที่เชียงราย หรือเส้นทางทางน้ำที่มีท่าเรือเชียงแสน เชียงของ จังหวัดเชียงราย จะต้องขนส่งสินค้าลงใต้ผ่านพิษณุโลกเพื่อเข้าสู่กรุงเทพฯ หรือท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังในอนาคต

ขณะที่เส้นทางสายตะวันออก-ตะวันตก ที่เริ่มจากท่าเรือดานัง ประเทศเวียดนาม ผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 9 ของเวียดนาม และถนนหมายเลข 9 ของลาว ผ่านสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่สองที่มุกดาหาร เข้าขอนแก่น-พิษณุโลก-ตาก-แม่สอด-เมียวดี-เมาะละแหม่ง และเข้าสู่ย่างกุ้ง สองเส้นทางหลักเหนือ-ใต้ และตะวันออก-ตะวันตก จะเสร็จสมบูรณ์ช่วงปี 2548-2550
สิ่งที่คุณวิโรจน์ มองเห็นว่าจะต้องเกิดขึ้นตามมาก็คือ ความสะดวกในการขนส่งสินค้า ทั้งทางน้ำและทางบก เมื่อถึงเวลานั้นจังหวัดพิษณุโลกจะอยู่ในสภาพเป็นจุดศูนย์กลางระหว่างภูมิภาค บทบาทในการเป็นจุดพักครึ่งทางที่ชัดเจนยิ่งขึ้น จะมีการขนถ่ายสินค้ากันในภูมิภาคมากขึ้นในระยะสั้น ขณะที่ระยะยาวโอกาสในการเชื่อมการค้ากับอินเดียและมณฑลด้านตะวันตกของจีน (เสฉวน-กวางสี) จะมีมากขึ้นเช่นกัน

ดังนั้น การพัฒนาตามยุทธศาสตร์สี่แยกอินโดจีน คุณวิโรจน์เห็นว่า กลุ่มจังหวัดในภูมิภาคนี้ต้องมองยุทธศาสตร์ให้ออก แน่นอนว่า ตามยุทธศาสตร์ดังกล่าวการพัฒนาสาธารณูปโภคต่าง ๆ จะเกิดขึ้นมากที่จังหวัดพิษณุโลก อาทิ สนามบินนานาชาติ จุดพักรถครึ่งทาง ฯลฯ แต่จะเป็นประโยชน์ร่วมกันของกลุ่มจังหวัด แต่ละจังหวัดต้องมองให้พ้นกรอบเส้นแบ่งเขตจังหวัด มองให้ทะลุถึงประเทศเพื่อนบ้านในมุมกว้าง แล้วจะเข้าใจและสามารถผลักดันยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมกันได้

ขณะที่ทิศทางการลงทุนในจังหวัดพิษณุโลกนั้น ผู้ประกอบการในพื้นที่จะประสบปัญหาการแข่งขันที่สูงขึ้นจากทุนนิยมข้ามชาติที่เห็นเป็นรูปธรรม ขณะนี้คือ การเปิดบริการของดิสเคาท์สโตร์อย่างแม็คโคร โลตัสและบิ๊กซี หรือธุรกิจเงินผ่อนอย่างจีอี แคปปิตอล ที่กำลังทยอยเข้ามา ดังนั้น ผู้ประกอบการในพื้นที่ต้องเร่งปรับตัว ต้องเร่งสร้างองค์ความรู้ให้กับตนเอง หาจุดแข็งของตนเองให้เจอ ซึ่งอุตสาหกรรมที่น่าจะเป็นอนาคต คือ อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร

คิดถึงเรื่องนี้แล้วทำให้มองย้อนกลับมาที่ “แผ่นดินทอง 2 ฝั่งทะเล” ของกลุ่มจังหวัดชุมพร-ระนอง-สุราษฎร์ธานี  ความจริงเราก็มีที่ตั้ง (Location) ซึ่งมีความเป็น จุดยุทธศาสตร์ เอามาก ๆ แต่การจะสร้างวิสัยทัศน์ให้ชัดเจน จนเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศนั้น ต้องผ่านเวทีแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน มีจินตนาการ และเปิดใจกว้างเพื่อรับรู้หลากหลายทัศนะที่จะต้องระดมกันเข้ามา…ดูเหมือนว่า เราจะยังไม่ถึงพร้อมในเหตุปัจจัยเหล่านี้ ก็ต้องทำ ต้องสร้างกันต่อไป

เมื่อลงมาทานอาหารเช้าที่ห้องอาหารของโรงแรม ผมก็มีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับชาวหอการค้าจังหวัดต่าง ๆ และได้ร่วมโต๊ะอาหารกับคณะของหอการค้าจังหวัดสงขลา โดยเฉพาะคุณชิต บรรลือศิลป์ ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา ถ้าพูดกันด้วยศัพท์ของวงการแสดง คุณชิตถือได้ว่าเป็น “พ่อยก” ของผมทีเดียว เจอกันเมื่อไหร่ก็เหมือนมีแม่เหล็กดึงดูดเข้าหากันทันที

 

การเข้ามาเป็นสมาชิกและมีโอกาสทำงานให้กับหอการค้าจังหวัดชุมพร จนได้เข้ามาเป็นกรรมการและเลขาธิการฯ เมื่อปี 2546 สร้างโอกาสให้ผมได้รู้จักผู้คนในแวดวงธุรกิจการค้าทั่วประเทศ เมื่อได้ใช้ความรู้ความสามารถที่ร่ำเรียนมาช่วยงานของหอการค้าไทยในหลายโครงการ สิ่งที่ได้รับตามมาก็คือ โอกาสในเข้าศึกษาต่อในระดับที่สูงกว่าปริญญาโท ณ สถาบันพระปกเกล้า หลักสูตรสำคัญ 1 ใน 3 หลักสูตร คือ การบริหารเศรษฐกิจสาธารณะสำหรับนักบริหารระดับสูง สถาบันพระปกเกล้าถือได้ว่าเป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูงของประเทศ มีการคัดเลือกผู้ที่จะเข้าไปศึกษาต่ออย่างเข้มงวด สำหรับตัวผมเองจากคุณสมบัติที่มีอยู่และเมื่อผ่านการรับรองของหอการค้าไทย ผมจึงได้รับการคัดเลือกให้เข้าเรียนจนจบการศึกษา และเข้ารับพระราชทานประกาศนียบัตรสำหรับนักบริหารระดับสูงเมื่อเดือนมิถุนายน 2548

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผมช่วยงานหอการค้าไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการร่วมเป็นคณะกรรมการคัดเลือกหอการค้ายอดเยี่ยมประจำปี 2547 และ 2548  ผมได้ใช้ความรู้ความสามารถจากการศึกษาการประเมินผลองค์กรแบบสมดุล หรือ Balanced Scorecard มาช่วยในการวางหลักเกณฑ์การประเมินผลองค์กร ช่วยออกแบบขั้นตอนในการสำรวจข้อมูล จนในที่สุดก็ต้องมาทำหน้าที่นำเสนอ (Presentation) เรื่องนี้ต่อคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ของหอการค้าไทย

และเมื่อหอการค้าจังหวัดต่าง ๆ ต้องการรับฟังคำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะในช่วงของการปฐมนิเทศคณะกรรมการหอการค้าชุดใหม่ของแต่ละจังหวัด หอการค้าไทยก็เรียกใช้บริการให้โอกาสผมได้เดินทางไปบรรยาย ณ จังหวัดต่าง ๆ ได้แก่ จังหวัดสงขลา, กำแพงเพชร, 5 จังหวัดในกลุ่มสุวรรณภูมิ ประกอบด้วย ฉะเชิงเทรา, ปราจีนบุรี, สระแก้ว, สมุทรปราการ และนครนายก โดยเฉพาะจังหวัดสงขลา ดูเหมือนว่า คุณชิต บรรลือศิลป์ ประธานหอการค้าฯ จะพึงพอใจกับการทำงานของผมเป็นพิเศษ ผมจึงได้รับเชิญให้ไปร่วมทำ Workshop ให้กับกลุ่มองค์กรอื่น ๆ นอกเหนือไปจากหอการค้า ได้แก่ สมาคม คพอ.จ.สงขลา หรือโครงการพัฒนาผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ฯลฯ จากการแนะนำของประธานหอการค้าฯ นั่นเอง

สิ่งที่ผมได้รับจากการทำงานเหล่านี้ ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสูงมาก เป็นทุนทางสังคม เป็นสินทรัพย์ความรู้เอามาประยุกต์ใช้ได้ในการดำเนินธุรกิจ เสริมสร้างประสบการณ์ชีวิต นั่นคือ การมี “เครือข่าย” เกิดขึ้นกับชีวิตของตนเอง ได้รู้จักและร่วมงานกับบุคลากรที่มีศักยภาพสูงในสังคม ได้ร่วมกันทำงานสร้างสรรค์ในรูปแบบที่เป็นทางการ และผ่านความสัมพันธ์ส่วนตัวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารเครือข่าย เมื่อมีโอกาสดี ๆ เกิดขึ้นในชีวิตผมมีหลักคิดอยู่ว่า ใครก็ตามเมื่อมีโอกาสสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้แก่สังคม ถ้าเขามัวแต่ละเลยเพราะถูกบดบังด้วย โลภะ โทสะ โมหะ แล้วโอกาสนั้นก็จะผ่านเลยไป น้อยครั้งมากที่จะหวนกลับมาให้ได้แก้ตัว ดังนั้น จะต้องทำวันนี้ให้ดีที่สุด.

บทความนี้มีทั้งหมด 6 ตอน ดังนี้

- ไปสัมมนาหอการค้าฯ ที่เมืองสองแคว (1)
- ไปสัมมนาหอการค้าฯ ที่เมืองสองแคว (2)
- ไปสัมมนาหอการค้าฯ ที่เมืองสองแคว (3)
- ไปสัมมนาหอการค้าฯ ที่เมืองสองแคว (4)
- ไปสัมมนาหอการค้าฯ ที่เมืองสองแคว (5)
- ไปสัมมนาหอการค้าฯ ที่เมืองสองแคว (6)

คำสำคัญ (Tags): #หอการค้า
หมายเลขบันทึก: 7251เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2005 22:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:12 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท