บันทึกทางเดินลงพื้นที่จะนะสงขลา


หมอกยามเช้าจางหายไป เหลือเพียงความทรงจำ ในเกมที่ต้องพ่ายแพ้ด้วยกันในบั้นปลายของทุกๆคนใช่หรือไม่?
ผมลงพื้นที่อำเภอจะนะกับอาจารย์ปัทมาวดีและพี่เรืองเพื่อสรุปและปิดโครงการระบบแลกเปลี่ยนชุมชนเพื่อการพึ่งตนเองเมื่อวันที่11      ..2550 ได้ข่าวจากนักวิจัยพื้นที่ว่า ช่วงนี้ธุรกิจกรงนกประสบปัญหา ขายได้น้อย ราคาคงที่ แต่วัสดุที่ใช้ผลิตราคาสูงขึ้นและหาได้ยาก ทำให้คนหันเข้าโรงงาน ซึ่งเป็นที่พึ่งใหม่คือ งานก่อสร้างในโรงไฟฟ้า และท่อแก๊ส บางส่วนก็ไปหางานทำที่มาเลย์ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของที่นี่

เราคุยกันไปตลอดทางทั้งขาไปและขากลับ ตั้งแต่การทบทวนความหมายและวัตถุประสงค์ของโครงการวิจัย อ.ปัทมาวดี หัวหน้าโครงการอธิบายว่า เป็นการวิจัยระบบแลกเปลี่ยน(ทางเลือก)ที่จะนำไปสู่การพึ่งพาตนเองและพึ่งพากันตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงคือ การสร้างภูมิคุ้มกัน ความมีเหตุมีผลและมีความพอประมาณ

ความหมาย เป็นทั้งการแลกเปลี่ยนความรู้ ของกินของใช้ด้วยวิธีการต่างๆ โดยมีความเชื่อว่าเงินตราในระบบเป็นตัวการหนึ่งที่ทำให้ระบบแลกเปลี่ยนไม่เป็นไปเพื่อการพึ่งตนเองและพึ่งพากันตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เพราะมันรวมศูนย์และอิงอยู่กับระบบดอกเบี้ย     จึงทดลองสร้างระบบแลกเปลี่ยน(ตลาด)ภายในชุมชนเพื่อให้คนนำผลผลิตมาแลกเปลี่ยนกันโดยตรง โดยเริ่มจากกลุ่มผู้สนใจทั้งระดับ      หมู่บ้าน ระหว่างหมู่บ้าน และระหว่างภาคโดยใช้ชื่อเครือข่ายว่า     "เพื่อนเสี่ยวเกลอ"ในกลุ่มผู้สนใจระดับหมู่บ้านส่วนใหญ่จะมาจากแกนนำของกลุ่มองค์กรในหมู่บ้านประมาณ 15-40 คน นัดหมายวันแลกเปลี่ยนกัน เช่น ทุกวันที่10, 20, 30ของเดือน คล้ายกับตลาดนัดชุมชนที่สินค้ามาจากการผลิตและการหามาจากธรรมชาติของคนในชุมชนเกือบทั้งหมด กิจกรรมแลกเปลี่ยนดังกล่าวจึงเสมือนกับการย้อนยุค ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ชาวบ้านสะท้อนให้ฟังเสมอ เป็นเหมือนวันวานในฝันที่งดงามและคุ้นเคยมาก่อน แต่ไม่ทราบด้วยเหตุใด มันได้อันตรทานหายไปโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว และเมื่อมีใครพูดถึงและทดลองจัดให้มีกิจกรรมดังกล่าวขึ้นมาอย่างเป็นธรรมชาติ(ไม่ใช่ในงานแสดง) ก็ให้ความรู้สึกเหมือนกับมันอยู่ในใจของเรามาก่อนเนิ่นนาน ด้วยสีหน้าด้วยแววตาเอิบอิ่มกับกิจกรรมการแลกเปลี่ยนที่เป็นเสมือนหมอกยามเช้า พอแดดกล้าขึ้นก็ค่อยๆจางเบา และหายลับไป

กรณีของกลุ่มกรงนก ตำบลบ้านนา อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลาเป็นตัวอย่างพื้นที่วิจัยระบบแลกเปลี่ยนที่ต่างออกไปจากแบบจำลองการแลกของโดยตรงข้างต้น เพราะเป็นกิจกรรมเพื่อการแลกเปลี่ยนเชิงการค้าในความรู้ทักษะที่ชุมชนมี คือ การทำกรงนก

โครงการวิจัยเห็นว่ากิจกรรมของกลุ่มเป็นระบบแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจคือ กลุ่มก่อตั้งขึ้นเนื่องจากปัญหาการทำกรงนกที่ต้องขายผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้ถูกกดราคา จึงมีการรวมตัวกันตั้งกลุ่มขึ้นโดยระดมเงินทุนจากสมาชิกประมาณ100คน กิจกรรมหลักๆของกลุ่มคือ การประกอบกรงนกสำเร็จรูป ขายส่งให้กับพ่อค้า มีร้านค้าของกลุ่ม และร้านน้ำชากลางคืน รูปแบบการจัดการ กลุ่มจะรับกรงนกที่สมาชิกขึ้นรูปไว้ คิดราคาแล้วทำบัญชีไว้ จ่ายเป็นเงินหรือหักค่าวัสดุ เช่น ค่าหวาย ไม่ไผ่ที่กลุ่มจัดหามาให้ หรือให้สมาชิกมาเอาสินค้าในร้านชำ เป็นต้น หากสมาชิกต้องการสินค้าชิ้นใหญ่ เช่น ตู้เย็น ก็อาจจะไปเอาจากร้านค้าก่อน แล้วทยอยส่งกรงนกให้กลุ่ม โดยกลุ่มจะรับไปจ่ายเงินค่าตู้เย็นให้กับร้านค้าภายนอกสำหรับกรงนกที่สมาชิกขึ้นรูปไว้ กลุ่มจะจ้างสมาชิกที่ชำนาญและเยาวชนในชุมชนมาประกอบชิ้นส่วนให้ครบเป็นกรงนกสำเร็จรูปเพื่อขายส่งยังต่างจังหวัด เช่น นราธิวาส และนครศรีธรรมราช เป็นต้นพ่อค้าส่งที่รับกรงนกสำเร็จรูปไปขายต่อ หากขายวัสดุที่ใช้ประกอบกรงนกด้วย เช่น หวาย ไม่ไผ่ ลูกตุ้ม ผ้า หัวกรง เป็นต้น ก็อาจจะแลกเปลี่ยนวัสดุเหล่านั้นกับกลุ่มโดยคิดราคาแล้วหักลบกัน เหลือเป็นเงินเท่าไรก็จ่ายให้กลุ่มตอนกลางคืน มีร้านน้ำชาของกลุ่มซึ่งเป็นที่พบปะแลกเปลี่ยนพูดคุย หารือเรื่องการงานต่างๆที่เล่ามาข้างต้นคือ กลุ่มกรงนกที่ดำเนินการอยู่เดิมตอนที่โครงการวิจัยเข้าไปในปี 25473ปีผ่านไปไวเหมือนโกหกสถานะการณ์ที่เปลี่ยนไปซึ่งส่งผลกระทบต่อกลุ่มที่สำคัญคือ เหตุการณ์ไม่สงบในพื้นที่ทำให้คนในพื้นที่ระแวดระวังกับภัยอันตราย และไข้หวัดนกที่ทำให้สินค้าหลักคือนกเขาชวาไม่สามารถส่งไปขายยังต่างประเทศได้  กรงนกก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย

ผลคือ ยอดขายกรงนกลดลง และร้านน้ำชาต้องปิดกิจการลง

การจัดการที่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มคือ

ระบบบัญชีที่ไม่ครบถ้วน และขนาดของกิจกรรมที่ค่อนข้างเล็กแต่ต้องจ้างคนดูแล เนื่องจากการแลกเปลี่ยนสินค้าในร้านค้าของกลุ่มและสินค้าชิ้นใหญ่จากภายนอกในลักษณะการหักบัญชี ถ้ามองอีกมุมหนึ่งก็คือเงินเชื่อนั่นเอง ซึ่งนอกจากต้องการความเชื่อใจจากฐานเครือญาติและเพื่อนบ้านแล้วยังต้องการวินัยและความซื่อสัตย์ด้วย จึงเป็นเหตุทำให้การแลกเปลี่ยนกรงนกของสมาชิกกับสินค้าในร้านค้าของกลุ่ม ไม่สมดุลและยั่งยืน คือ อยู่ไม่ได้ในทางธุรกิจ ทำให้ต้องปิดกิจการร้านค้าไปกิจกรรมแลกเปลี่ยนของกลุ่มกรงนกจึงเป็นระบบหักบัญชีที่ใช้เงินเป็นสื่อกลางมากขึ้นคงเหลือวัสดุที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการผลิตกรงนกที่ยังมีการแลกเปลี่ยนโดยหักบัญชีอยู่บ้างทั้งระหว่างกลุ่มกับสมาชิก และกลุ่มกับพ่อค้า

ในช่วง3ปีของการเปลี่ยนแปลง มีหน่วยงานเข้ามาให้การสนับสนุนกิจกรรมกรงนก(ที่ขึ้นชื่อของอำเภอจะนะ) เช่น การปลูกไผ่และหวาย  การจัดประกวดผลิตภัณฑ์ เป็นต้น รวมทั้งกิจกรรมส่งเสริมอาชีพในด้านต่างๆ เช่น การทำปุ๋ยหมัก การทำน้ำยาล้างจาน เป็นต้น

 โครงการวิจัยได้เข้ามาเรียนรู้ความเป็นไปของกลุ่ม และได้สร้างการเรียนรู้ให้กับแกนนำของกลุ่มผ่านกิจกรรมการศึกษาดูงานและการประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเครือข่ายโครงการวิจัยที่มีพื้นที่ทำงานอยู่ทั่วทุกภาค โดยมีกิจกรรมที่แกนนำกลุ่มได้เข้ามาประสาน   เชื่อมโยงและส่งเสริมให้เกิดขึ้นภายในชุมชนคือ การส่งเสริมการปลูกผักและอบรมทำน้ำยาล้างจานให้กับเด็กนักเรียน และการเชื่อมโยงเครือข่ายผลิตภัณฑ์ตำบลในระดับอำเภอ เป็นต้น โดยมีแนวความคิด ที่จะใช้คูปองเป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนด้วย แต่ก็ยังเป็นเพียงแนวคิดภาพที่เห็นในปัจจุบัน คือ กลุ่มทำหน้าที่เป็นผู้รวบรวมสินค้าจากสมาชิก นำมาแปรรูป ขายส่งให้พ่อค้า โดยพึ่งพาเงินบาทมากขึ้น ทั้งกับสมาชิกและพ่อค้าแม้ว่าจะมีการส่งเสริมให้มีการปลูกไผ่และหวายที่เป็นวัสดุการผลิต    ที่สำคัญอย่างคึกคักทั้งอำเภอ แต่ก็ไม่บังเกิดผลแม้ว่าจะมีการส่งเสริมการผลิตเพื่อการพึ่งตนเองมากขึ้น เช่น พืชผักสวนครัว น้ำยาล้างจานทั้งจากแกนนำกลุ่มและจากหน่วยงานต่างๆ    แต่ก็เป็นกิจกรรมการเรียนรู้มากกว่าการผลิตที่ยั่งยืนสิ่งที่พบเห็นคือฐานทรัพยากรที่ถูกทำลาย นาข้าวรกร้าง กุ้งหอยปูปลาตามหนองคลองบึงลดลง เพราะน้ำเสียจากโรงงาน ราคายางพารากับสวนยางขนาดเล็ก และสวนผลไม้สมรมข้างบ้าน เป็นรายได้เท่าไร?

รายจ่ายเพื่อการบริโภคและการลงทุนเป็นเท่าไร ?

2เรื่องหลังไม่ทราบปรากฏการณ์คือ ชาวบ้านไหลเข้าไปเป็นแรงงานในอุตสาหกรรม    ห้องเย็น/เฟอร์นิเจอร์ที่มีอยู่เดิม และอุตสาหกรรมไฟฟ้าและแก๊สที่เข้ามาใหม่เพิ่มมากขึ้น งานกรงนกลดน้อยลงวิถีชีวิตที่พึ่งพาเงินตรา ชีพจรของชุมชน พลังของศาสนา เวลาที่ให้กับเศรษฐกิจการดำรงชีวิต เวลาที่ให้กับครอบครัวชุมชน และเวลาที่ให้กับพระเจ้าเปลี่ยนไปอย่างไร?พลังการเรียนรู้ในระบบการศึกษาในรูปแบบต่างๆสอดคล้องเหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ทำให้คนเรียนรู้ที่จะเลือกรับ มีส่วนร่วมในการกำหนด และรังสรรค์สังคมและโลกอันเป็นที่พักพิงสักเท่าไร?เรากำลังได้รับการศึกษาเพื่อถูกต้อนเข้าไปในมุมอับ เพื่อความสนุกสนานครื้นเครงชั่วครั้งชั่วคราวด้วยรูปแบบแปลกใหม่ในเรื่องเดิมๆหรืออย่างไร?หมอกยามเช้าจางหายไป เหลือเพียงความทรงจำ ในเกมที่ต้องพ่ายแพ้ด้วยกันในบั้นปลายของทุกๆคนใช่หรือไม่?
หมายเลขบันทึก: 72460เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2007 17:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 23:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

อันที่จริง "ระบบแลกเปลี่ยนชุมชน" ในความหมายของโครงการ  ยังไม่ได้เกิดขึ้นด้วยซ้ำที่กลุ่มกรงนก จะนะ

ระบบแลกเปลี่ยนชุมชนในความหมายของโครงการ คือ การที่ชุมชนหันหน้าเข้าหากัน มาช่วยสร้างตลาดทางเลือก ที่คนในชุมชนผลิตของแตกต่างหลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของคนในชุมชนเอง โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเงินบาทมากนัก  ถ้ามีตลาดทางเลือก  ลองกองที่ราคาตกต่ำขายข้างนอกไม่ออก ก็นำมาแลกเปลี่ยนกับพริก กับกะปิ ที่ผลิตในพื้นที่ได้

แม้แต่การแลกเปลี่ยนระหว่างพื้นที่ภายใต้เครือข่าย "เศรษฐกิจพอเพียงเพื่อนเสี่ยวเกลอ"  กลุ่มกรงนกต้องการข้าวสาร แต่ผลผลิตของกลุ่มคือ กรงนกและยางพารา ไม่ได้เป็นที่ต้องการของชาวบ้านกลุ่มอื่นในเครือข่าย

ยังดีที่จะนะ มี กะปิ ไข่เค็ม ลองกอง ที่เป็นที่ติดใจของกลุ่มเครือข่าย  การแลกเปลี่ยนจึงเกิดขึ้นได้ตามโอกาส  น่าเสียดายอยู่ว่า  ระบบการจัดการแลกเปลี่ยนระหว่างเครือข่ายนี้ ยังไม่ลงตัวดีนัก จึงยังไม่ได้มีการแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ

เมื่อกลับมามองที่ระบบแลกเปลี่ยนภายในชุมชน  ระบบแลกเปลี่ยนแบบหักบัญชีวัตถุดิบ-ผลผลิตแบบเดิมของกลุ่มกรงนก เป็นระบบที่สนับสนุนการทำธุรกิจที่พึ่งพาตลาดภายนอกเกือบร้อยเปอร์เซนต์  จึงไม่ใช่ระบบที่สมบูรณ์ในความหมายของโครงการ

ความยากของระบบแลกเปลี่ยนชุมชน คือ การคิดสวนกระแส ท้าทายแนวคิดการผลิตเพื่อขายภายนอกอย่างเดียว   การสร้างระบบแลกเปลี่ยนชุมชนไม่ง่ายนัก  โดยเฉพาะ  เมื่อชุมชนยังมีทางเลือกอื่นที่เข้าใจได้ง่ายกว่า เช่น  การขายยางพารา การทำงานในโรงงาน

อันที่จริง ระบบแลกเปลี่ยนชุมชน สามารถใช้สร้างระบบสวัสดิการในชุมชน ด้วยการตอบแทนอาสาสมัครที่มาช่วยงาน เช่น ดูแลคนชรา ดูแลเด็ก โดยตอบแทนเป็นเงินตราชุมชน หรือสิ่งของที่ชุมชนผลิตขึ้นได้   การช่วยเหลือกันโดยตรงจะช่วยสร้างความรัก สร้างเพื่อน  ภูมิคุ้มกันทางสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่เงินตราปกติสร้างไม่ได้  

คิดว่า ที่จะนะ และที่อื่นๆในประเทศ  "เกม" นี้เพิ่งเริ่มต้นต่างหาก   แกนนำและนักวิจัยได้เรียนรู้ไปด้วยกัน   หากชุมชนเข้าใจและหันมาช่วยกันคิด ผนึกกำลังกับ อบต. และเครือข่าย เกมนี้ก็คงจะเดินต่อไปได้

ผมอ่านแล้วให้รู้สึกอะไรบางอย่าง ผมว่าในชุมชนแต่ละชุมชนน่าจะมีเงื่อนงำอะไรบางอย่าง ที่ผมคิด คิด คิด แต่คิดไม่ออก ...... อย่างนี้ครับ ๑) ถ้าชุมชนมีความซื่อสัตย์ สุจริต เอื้อเฟื้อ เชื่อใจ แบ่งปันกัน... เป็นไปได้ไหมกับการที่คนนอกชุมชนจะมาฉกฉวยโอกาสของความใจดีไปเป็นฐานกำลังให้กับตน ในคำที่ว่า "หน้าเนื้อใจเสือ" กรณีระบบแลกเปลี่ยนชุมชน หากผมมองจากคนโบราณ เขาไม่ใส่ใจน้ำหนัก เขาไม่ใส่ใจว่าราคาเท่าไร สิ่งที่ผมคิดคือ เขาใส่ใจว่าเขาขาดอะไรและจะเอาไปทำอะไร น่าจะประมาณนี้ ๒) กรณีที่เขาไม่ใส่ใจเงิน ซึ่งคนภายนอกเขาใช้เงินเป็นเครื่องมือในการแลกเปลี่ยน ถ้าผมเป็นคนในชุมชน ผมต้องการอาวุธเพื่อมาป้องกันชุมชนของผมที่ถูกรุกรานจากภายนอก ผมจะเอาเงินที่ไหนไปแลกเปลี่ยน ๓) กรณีเดียวกันกับ ๒) หากสิ่งที่ชุมชนมีอยู่เหลือประมาณ เราเอาไปแลกกับนอกชุมชนไม่ได้ ที่จะแลกได้คือเงิน เมื่อแลกมาแล้ว เงินน่าจะเป็นของใครดี น่าจะเป็นของสหกรณ์กลางในชุมชน หรือว่าเป็นของผู้ผลิตเข้าสู่สหกรณ์ ถ้าเป็นของผู้ผลิตเข้าสู่สหกรณ์นั้นก็แสดงว่า เขาแลกเปลี่ยนมาเป็นเงิน คนอื่นที่ไม่เสมอภาคกันในชุมชนก็ต้องทำเพื่อแลกเปลี่ยนเป็นเงินอยู่ดี ๔) คนรอบชุมชนใช้เงินเป็นเครื่องมือ ขณะที่ชุมชนนี้แลกเปลี่ยน ดูมันกระไรอยู่นะครับ

-------------อันที่จริงผมก็ยังใฝ่ฝันชุมชนที่มีการแลกเปลี่ยนแหละครับ เพียงแต่....ใจของคนในชุมชนจะเข้มแข็งเพียงใดกับการถูกยั่วยวนจากโลกภายนอกและการที่เราจะต้องเชื่อมโยงกับโลกภายนอก คิดไปคิดมา กองทุนชุมชนน่าจะเป็นศูนย์กลางที่ดีในการจัดสวัสดิการให้ชุมชน โดยที่ชุมชนไม่ต้องมาพวงเรื่องเงิน หากแต่มามีชีวิตเพื่อเป็นอยู่อย่างไรให้ทรงคุณค่ากับการให้ ช่วยเหลือ แบ่งปัน กิจกรรมอันทรงคุณค่าในชุมชน..................ผมคิดมากไปหรือเปล่าเนี่ย

ระบบแลกเปลี่ยนชุมชนเพื่อการพึ่งตนเองตามที่อาจารย์ปัทมาวดีให้ไว้มีแนวคิดเชิงพื้นที่และการลดสื่อกลางทั้งพ่อค้าและเงินบาท แต่พื้นที่และสื่อกลางในยุคปัจจุบันคือพื้นที่โลกและพ่อค้าที่อาศัยเงินตราที่เชื่อมโยงถึงกันหมด ซึ่งสร้างความสะดวก และความกว้างขวางหลากหลายของสินค้าและบริการให้กับคน

ผมเคยคุยกับอาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรมถึงแนวคิดเรื่องเงินตราชุมชน อาจารย์เห็นว่า ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ สิ่งสำคัญคือ เอาเงินไปใช้/ทำอะไร ถ้ามีความพอเพียงก็ควบคุมเงินได้ ไม่ว่าจะเป็นเงินบาทหรือดอลลาร์ ซึ่งน่าสนใจว่า ระบบเงินตราสากลเป็นสาเหตุหรือเพราะโฆษณาบ้าเลือดในลัทธิวัตถุนิยม เพราะตามจินตภาพ การแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการเชิงพื้นที่ด้วยกันเองโดยมีรัฐท้องถิ่นเข้ามาหนุน     (อบต.)จะต้องดำเนินการอยู่ในโลกและระบบทุนที่เป็นอยู่ จำต้องมีการจัดตั้งองค์กรที่เข้มแข็ง

ต้องทำให้เห็นว่า ระบบดังกล่าวเป็นระบบเสริมที่จะช่วยให้ระบบใหญ่มีความมั่นคงขึ้น เหมือนกับเทคโนโลยีที่เหมาะสม ที่ไม่ใช่มาแข่งกับระบบใหญ่

ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

จากเงินตราชุมชนที่เกิดในหลายประเทศทั่วโลก มีบทสรุปว่า  เงินตราชุมชนเป็น "ระบบเสริม" ทำหน้าที่ทางสังคมบางอย่างที่ระบบเงินตราปกติไม่สามารถทำได้  เช่น ระบบเงินตราปกติ ทำให้เกิดการแข่งขัน แต่ระบบเงินตราชุมชน ทำให้เกิดความร่วมมือ  ตรงนี้ฉีกออกไปจากประเด็นที่คุณไพบูลย์และคุณภีมพูดถึงค่ะ

น่าสนใจที่บางครั้ง เรามองตลาดทางเลือก หรือเงินตราชุมชนว่าเป็น "ระบบทดแทน"  เพราะมุ่งหวังที่จะช่วยให้เกิดการลดรายจ่าย จากการซื้อขายสิ่งของที่ชุมชนผลิตเองทดแทนการนำเข้าจากข้างนอก

บางทีต้องมานั่งคิดกันดีๆว่า   "การทดแทนการนำเข้า"จากภายนอก  กับ "การทดแทนเงินบาท" เป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่

ขอบคุณสำหรับการตั้งประเด็นที่น่าสนใจนี้ค่ะ 

 

 

ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

อ้อ.. เกือบลืมตอบอาจารย์เอก...

คิดมากๆและแบ่งความคิดกันเป็นเรื่องดีค่ะ  (เป็นการ"แลกเปลี่ยนความคิดความรู้"ค่ะ)

มีหลายประเด็นที่อาจารย์เอกตั้งไว้และท้าทายความคิดพอสมควร

คำเฉลยหนึ่งที่จะตอบได้หลายๆคำถามที่อาจารย์เอกตั้งไว้  เป็นสิ่งที่คุณภีมบอก ก็คือ   ระบบแลกเปลี่ยนและเงินตราชุมชนเป็นระบบเสริมที่ไม่ได้ปฏิเสธเงินบาท  ตรงข้าม ใช้ระบบแลกเปลี่ยนจะได้เหลือเงินบาทออมไว้ซื้อของสิ่งที่จำเป็นจากนอกชุมชน 

และการแลกเปลี่ยนชุมชนไม่ได้ปฏิเสธการขาย เมื่อเหลือกินเหลือใช้ในชุมชนก็ควรเอาไปขายไปแลกนอกชุมชน  เพียงแต่ว่า ที่ผ่านมา เรามักมองข้ามความต้องการที่มีอยู่ในชุมชน 

ส่วนขายเป็นเงินแล้วจะเป็นของใคร เป็นกติกาที่ต้องตกลงกันในชุมชนค่ะ

สำหรับการมีเงินเป็นกองทุนสวัสดิการในชุมชนเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้วค่ะ  แต่เคยได้ยินทั้งที่เชียงใหม่และพิษณุโลกว่า ลูกหลานมารับเงินแล้วหายไปเลย  ถ้าเป็นคูปอง (เงินตราชุมชน) ใช้ข้างนอกไม่ได้  เอาไปก็ไม่เกิดประโยชน์  ก็คืนคูปองที่ว่านี้มาใช้ซื้ออาหารในชุมชน หรือจ้างคนในชุมชนมาช่วยดูแลพ่อแม่ได้ (เพราะตัวเองทำงานนอกพื้นที่)

อยากจะบอกว่า ตัวเองไม่ได้เห็นว่า ระบบแลกเปลี่ยนหรือระบบเงินตราชุมชน เป็นหนึ่งเดียวของคำตอบทุกเรื่องนะคะ   เพียงแต่พยายามอธิบายว่า "ถ้าจัดระบบได้" ระบบแลกเปลี่ยนมันจะทำอะไรได้พอสมควรโดยไม่ต้องรอให้มีเงินมาก่อนถึงจะแก้ปัญหาได้ อย่างที่เราๆท่านๆเห็นอยู่

ประเด็นคือ ขนาดหรือขอบเขตและสิ่งของที่จะแลกเปลี่ยน ถ้าเล็กไปก็มีของแลกกันได้น้อย เป็นการให้กันตามวัฒนธรรมที่เรามีอยู่ ถ้าฐานการผลิตเหมือนกันก็ไม่รู้จะแลกอะไรกันเพราะของเหมือนๆกัน

ระบบแลกเปลี่ยนในอดีตคือ การทดแทนแรงงานในชุมชนและการแลกเปลี่ยนระหว่างชุมชน เช่น การแชร์แรงงานเกี่ยวข้าวที่สุกไม่พร้อมกัน และการแลกของแบบเกลอเขาเกลอเล

 ที่มันหายไปเพราะอะไร?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท