ความประมาท มัวเมา ลุ่มหลงคือช่องทางของมาร (๒)


อภิสังขารมาร ได้แก่มารคืออภิสังขาร ผู้เขียนยังไม่สามารถจะเข้าถึงความรู้ข้อนี้ได้ และยังไม่สามารถจะค้นคว้าหาคำตอบในเวลาที่จำกัดนี้ได้ แต่เข้าใจว่า น่าจะเป็นอะไรบางอย่างที่มีอำนาจขัดขวางไม่ให้สามารถจะทำความดีได้ อำนาจนี้อยู่เหนือเงื่อนไขที่เราจะฝืนได้ เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการกระทำของเราเอง

เทวปุตตมาร ได้แก่ มารคือเทพบุตร เข้าใจว่าเป็นเทพบุตรที่ไม่ดี คอยจองล้างจองผลาญคนไม่ให้ทำสิ่งที่ดี หากเราศึกษาพุทธประวัติตอนหนึ่งที่นางราคะ นางตัณหา นางอรดี มาล่อให้พระพุทธเจ้าลุ่มหลง ในข้อนี้เราอาจตีความเป็น ๒ ลักษณะคือ ๑) นางเหล่านั้นได้แก่กิเลส ๓ ตัว ๒) นางเหล่านี้น่าจะเป็นกลุ่มเทวปุตตมาร อย่างไรก็ตาม หากเราศึกษาจะพบว่า หลายครั้งที่พระไปบำเพ็ญเพียรทางจิต จะมีเทวดาบางจำพวกคอยขัดขวางให้อยู่บำเพ็ญเพียรที่นั่นไม่ได้

มัจจุมาร ได้แก่ มารคือความตาย อันนี้ชัดเจน ความดีทั้งหลายจะทำได้สมบูรณ์ก็แต่ชาตินี้เท่านั้น เมื่อตายไปแล้วเราจะแน่ใจได้อย่างไรก็เราจะได้ทำสิ่งดีอีก ความตายจึงเป็นตัวตัดทุกสิ่งทุกอย่างออกไปเสีย

เมื่อทำความเข้าใจเรื่องมาร เราก็จะพบว่า จากภาษิตข้างต้นนั้น เป็นการแสดงให้เห็นว่า ๑) ยิ่งเราลุ่มหลงอยู่ในความเป็นหนุ่มเป็นสาว คิดว่าผิวเราแต่งตึง หน้านวลใส จมูกโด่ง ผิวเนียนฯลฯ เราก็ยิ่งพอกพูดความเขลาไปทุกที ยิ่งหลงใหลมากยิ่งลุ่มหลงและยิ่งไม่พอใจในความเปลี่ยนแปลง ซึ่งมันจะต้องเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา มารก็จะคอยกัดกร่อนใจให้เป็นทุกข์และทำให้เราไม่พอใจในสิ่งที่เป็นจริงนั้นต่อไป ๒) มารย่อมรังควาญผู้ไม่สำรวมในอินทรีย์อันได้แก่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นปากทางรับทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดี หากเราไม่ระมัดระวังเลือกรับเฉพาะสิ่งดี ความอยากดู อยากเห็น อยากดม อยากกิน อยากสัมผัสและอยากมีความรู้สึกที่ตรงกับจริต ก็ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อนั้นแหละมารกำลังรังควาญให้เป็นทุกข์อยู่ ๓) มารย่อมรังควาญผู้ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค การบริโภคแยกออกเป็น ๒ อย่างคือ สิ่งที่เราใช้สอยกับสิ่งที่เราดื่มกิน หากเราใช้สอยและดื่มกินเกิดความพอดี ยิ่งเป็นการพอกพูนความอยากในการได้รับสิ่งใหม่และไม่เป็นสุขเมื่อกินเกินหิว ขณะนี้เองมารกำลังรังควาญให้นอนก็ไม่เป็นสุข นั่งก็ไม่เป็นสุข เพราะไม่เคยพอใจในสิ่งที่มียินดีในสิ่งที่ได้นั่นเอง ๔) มารย่อมรังควาญผู้เกียจคร้าน แบ่งความเกียจคร้านเป็น ๒ อย่างคือ ความเกียจคร้านในการทำงาน และความเกียจคร้านในการบำเพ็ญเพียรทางใจ เมื่อเราเกียจคร้านการทำงาน เราก็ไม่มีสิ่งใดมาใช้สอย จากนั้นก็จะนั่งซบเซาเมื่อกำลังวังชาไม่มีแล้ว จะไปหากินอะไรๆที่ไหนก็ไม่ได้ นี้คือผลของความเกียจคร้าน มารก็จะรังควาญให้อยู่ไม่เป็นสุขเช่น ทำไมลูกหลานไม่ดูแลเลย (เพราะไม่เคยดูแลลูกหลาน) ทำไมไม่มีใครเอาอะไรมาให้เลย (เพราะไม่เคยให้อะไรใคร) ทำไมไม่มีใครมาเยี่ยมเยียนเลย (เพราะไม่เคยไปเยี่ยมเยียนใคร) เราทำความดีอะไรลงไปบ้าง หาไม่เจอเลย (เพราะไม่เคยทำความดีอะไรๆ) ฯลฯ อีกอย่างหนึ่งคือ ความเกียจคร้านในการบำเพ็ญเพียรทางใจ เมื่อเกียจคร้านคุณประโยชน์ทางใจที่ควรได้รับก็ไม่เกิด และกลับมาบ่นเพ้อในใจว่า ทำไมจึงไม่สงบเลย ทำไมจึงรุ่มร้อนอย่างนี้ ทำไมทุกข์ใจขนาดนี้ฯลฯ ส่งผลเป็นการเศร้าโศกระทมใจเมื่อสูญเสียสิ่งที่รัก พบเจอสิ่งไม่พึงปรารถนา ร้องห่มร้องไห้เพราะไม่ได้พิจารณาตามสภาพที่เป็นจริง ๕) มารย่อมรังควาญผู้เพียรพยายามแต่เรื่องไม่ดี แบ่งออกเป็นไม่ดีทางกาย วาจา และใจ ทางกายและวาจาที่แสดงออกไปไม่ได้ ก็จะมีผลกระทำคือสิ่งไม่ดีที่เข้ามาสู่ชีวิตเขา เช่นพูดไม่ดีกับคนอื่น คนอื่นก็พูดไม่ดีกับตน และส่งไปสู่ทางใจที่วิตกกังวลอยู่ตลอดเวลาว่า เราทำถูกหรือเปล่า เราไม่น่าพลาดทำสิ่งไม่ดี ไม่น่าพลาดพูดสิ่งไม่ดีกับเขาเลย นี่เองคือมาร อย่างไรก็ตาม ตอนท้ายของบทก็เปรียบไว้ว่า มารก็เหมือนกับลม ส่วนบุคคลที่บกพร่องก็เหมือนกับต้นไม้ไม่แข็งแรง เปราะบาง ผุพังง่าย ย่อมมีอันหักโค่นได้ง่ายเมื่อลมพัดมากระทบ ในทางตรงกันข้าม มารจะไม่สามารถจะรังควาญผู้ที่ไม่ลุ่มหลงอยู่ในความสวยงามระมัดระวังตาหูจมูกลิ้นกายใจ รู้จักประมาณในการบริโภค มีศรัทธาที่ดี มีความเพียรพยายามแต่เรื่องไม่ดีอยู่เสมอ เหมือนลมที่ไม่สามารถระรานภูเขาศิลาได้ฉะนั้น
คำสำคัญ (Tags): #ธรรมะหน้าเดียว
หมายเลขบันทึก: 72407เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2007 07:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2015 10:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

อนุโมทนาค่ะ  ที่นำสิ่งดี ๆ มาฝากเป็นข้อคิด 

 

และชอบป้ายคำหลักด้วยที่ว่า "ธรรมะหน้าเดียว"  นับเป็นข้อจูงใจที่ทำให้น่าติดตาม น่าให้คลิกเข้ามาอ่านและรับความรู้เพื่อพัฒนาตนเองค่ะ :)

 

ก่อนอื่นออกตัวก่อนเลยนะคะว่าไม่ใช่ผู้รู้เรื่อง "มาร"  นี้  แต่บังเอิญเคยได้มีโอกาสยินธรรมบรรยายเรื่อง "มารให้โอกาส" มาจากการเข้าปฏิบัติธรรมที่มูลนิธิศูนย์วิปัสสนาเชียงใหม่มาบ้างและบังเอิญเหลือเกินที่อ.ที่บรรยายเรื่องนี้ก็มาเขียนบล๊อกอยู่ที่นี่ด้วย  คือ อ.พิชัย กรรณกุลสุนทร  คณบดีมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏเชียงใหม่ ท่านได้บรรยายเรื่องสารพัดมารที่คุณนมินทร์ได้ยกตัวอย่างมาน่าสนใจมากค่ะ

 

แต่จะอธิบายอย่างไรนั้น  ขออุบไว้ดีกว่า  ที่แน่ๆ  ก็คือ อภิสังขารมารนั้นมาให้เห็นชัดมากเลยค่ะเป็นรูปธรรมเลย  มีทุกคอร์สด้วย   เพราะจริงๆ แล้ว ธรรมบรรยายใด ๆ ก็ไม่มีวันกระจ่างแจ้ง "เข้า" ไปใน  "ใจ" ได้ ถ้าไม่ได้มีโอกาสลองหัดฝึกปฏิบัติธรรมด้วยกายและใจของตัวเองก่อน  มันจะร้อง อ๋อ...ทีเดียว     และคิดว่า  แม้แต่อภิสังขารมารนั้นเราก็พอจะสามารถเอาชนะได้น่ะนะคะถ้าใจเรามุ่งมั่นที่จะทำความดีจริง ๆ  เพราะเคยเจอกับตัวเองมาแล้ว

 

ส่วนตัวแล้วพบว่า  คอร์สง่าย ๆ สำหรับฆราวาสที่ชื่อว่าคอร์สพัฒนาจิตเพื่อให้เกิดปัญญาและสันติสุขนี่เชียงใหม่จัดล่ะค่ะ  เยี่ยมมาก ๆ   พร้อมทุกอย่างทั้งความสัปปายะของสถานที่ อาหาร การสอน และจำนวนคนที่ไม่มากนัก  และที่สำคัญ  ฟรีเสียด้วย

 

ลองแวะไปคุยกับอ.พิชัยก็ได้นะคะ ท่านรับบล๊อกคุณนมินทร์เสียด้วย   ท่าทางจะคอเดียวกัน  :)

 

สวัสดีค่ะ,

 

ณัชร

ขอขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งครับ สำหรับการแนะนำและข้อชี้ทางที่ดี ผมจะดำเนินการในบัดนี้แล ส่วนการไปศึกษาที่เชียงใหม่เห็นจะลำบากครับ:-)

ขออนุญาตนำมาตอบในที่นี้นะครับ

เรื่องของมารเป็นเรื่องการเตือนจิตของผู้เจริญธรรมมิให้ประมาท มัวเมา ดังที่คุณนมินทร์ว่ามาถูกต้องดีแล้วครับ

ผมขออนุญาตเพิ่มเติมดังนี้

อภิสังขารมาร เป็นหนึ่งในห้าของมารที่มีชื่อเรียกว่า ปัญจมาเร (มาร ๕)

๑.ขันธมาร ๒.เทวปุตตมาร ๓.อภิสังขารมาร ๔.กิเลสมารและ ๕.มัจจุมาร

ในมาร๕ นี้ มารที่มีอำนาจมากที่สุดคือ มัจจุมาร คนไทยจึงเรียกติดปากว่า มัจจุราชมาร ในบางครั้งก็เติมคำ พญา ไว้ข้างหน้าพื่อยกระดับศักดิ์ศรีให้ดูน่าเกรงขามมากขึ้น

อภิ  แปลว่า ยิ่งใหญ่ กว้างขวาง รอบ

สังขาร หมายถึงการปรุงแต่ง

มารคืออุปสรรค หรือสิ่งกั้นขวาง

รวมความแล้วหมายถึง

สิ่งที่เป็นอุปสรรคหรือสิ่งขวางกั้น(มรรคผล)อันยิ่งใหญ่

ได้แก่ วิบากกรรม นั่นเอง

วิบากกรรมคือผลของกรรมดีและกรรมชั่ว ที่มนุษย์ทุกคนล้วนกระทำมาด้วยกันทั้งสิ้น ต่างกันที่ทำกรรมใดมากกว่ากัน

ดังนั้น จึงมีวิบากกรรมไม่เหมือนกัน

แต่มาเรียกเป็นมาร ในแง่มาขัดขวางมรรคผลในระหว่างการปฏิบัติธรรม เช่น กำลังตั้งใจปฏิบัติอยู่และมีทีท่าว่าจะไปได้ดี อาจลุถึงมรรค ผลนิพพานได้

มารชนิดนี้จะปรากฏเพื่อกั้นขวางการปฏิบัติธรรม ไม่ให้ไปถึงมรรคผล ในรูปของวิบากกรรมดีและไม่ดี

เช่นส่งข่าวดีมาให้ว่า ถูกหวย ได้มรดก หรือข่าวร้ายเช่นรถชน ไฟไหม้ พ่อแม่เสียชีวิต เป็นต้น

ทำให้ต้องละทิ้งการปฏิบัติไปกลางคัน

หรือบางคนกำลังบวชเรียนอยู่ต้องสึกออกไป เพราะวิบากกรมดีและชั่วของตนให้ผล

ในเรื่องมาร ๕ นี้ นิยมสอนกันในหมู่ผู้เจริญธรรม เพื่อให้ทราบและรู้ตนไว้ เพื่อให้มีจิตใจเข้มแข็ง มิให้พ่ายแพ้ต่ออำนาจมาร

ดังพระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญตนเป็นตัวอย่างให้ดูในพุทธประวัติ ตอนมารผจญ ก่อนทรงตรัสรู้

ดังนั้น คำว่ามาร จึงเป็นเรื่องของการสร้างบารมีธรรม

ยิ่งมารมีมาก หากไม่ท้อถอย ในขณะเดียวกันก็สร้างบารมีธรรมให้กับตนเอง ดังเช่นคำที่พูดว่า

"มารไม่มี บารมีไม่แก่"

อนุโมทนา สาธุการครับ อ่านของท่านอาจารย์แล้วให้สบายใจ เข้าใจง่าย ดีครับดี ขอบคุณยิ่งครับ

ข้อความข้างบนที่เชิญชวนคนไปประชุมคือข้อความที่เหมือนกับ spam  ตามที่อ.จันทวรรณบอกไว้ในลิ้งค์นี้

http://gotoknow.org/blog/tutorial/72700

รบกวนคุณนมินทร์ลบทิ้งตามที่อ.จันทวรรณขอความร่วมมือด้วยนะคะ  เพราะพวกนี้ใช้โปรแกรมอัตโนมัติมาเขียนแปะตามบล๊อกต่าง  ๆ ค่ะ ด้วยการสุ่มข้อความที่คล้ายกัน ไม่มีคนจริง  ๆ เขียนบล๊อกค่ะ  พูดง่าย ๆ ว่าอาศัยหลอกแรงกายแรงใจของผู้เขียนบล๊อกเพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์นั่นเองไม่ได้มีการ ลปรร  จริง ๆ ใด ๆ ค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ

 ณัชร

ป.ล. อนุโมทนากับอาจารย์พิชัยด้วยค่ะ   สำหรับคำอธิบาย  อ่านแล้วก็นึกถึงตอนไปปฏิบัติค่ะ

ผมก็นึกว่าเป็นสมาชิกของ gotoknow แต่ก็รู้สึกแปลกๆ และผมก็ลบแล้วครับ ขอบคุณมากๆ ครับผม
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท