ความทรงจำไม่รู้จบ (2) : กิจกรรมนิสิตปรากฏการณ์พลังความคิดนิสิตมหา’ลัย


ความหลากหลายของกิจกรรมได้ฉายให้เห็นสายธารการเปลี่ยนแปลงทางความคิดที่หลากหลายของนิสิต
 
บทนำ :

     แทบไม่น่าเชื่อว่าห้วงเวลา 1 ทศวรรษของ มมส มีกิจกรรมต่างๆ ทั้งที่จัดโดยนิสิตและฝ่ายพัฒนานิสิตจำนวนมากมายมหาศาล  ซึ่งเท่าที่ผมจำได้ในปีการศึกษา ๒๕๔๕ นั้นกิจกรรมมีจำนวนมากถึง ๓๒๑ โครงการ เสมือนว่าในวันหนึ่งๆ อย่างน้อยก็มี ๑ กิจกรรมให้บรรดาคอกิจกรรมทั้งหลายได้ร่วมเสพและร่วมสร้างสีสันชีวิต
     ข้อมูลที่ว่านี้ถึงขั้นทำให้คณะกรรมการประกันคุณภาพการศึกษาจากภายนอกอดที่จะประหลาดใจไม่ได้ว่า นิสิตที่นี่เรียน หรือทำกิจกรรมกันแน่หนอ และเหตุใดทำไมจึงสร้างสรรค์กิจกรรมขึ้นมาอย่างมากมายมหาศาลปานนั้น !!!

        ผมเองก็ไม่หาญกล้าที่จะหยั่งลึกสู่คำตอบและไขความข้องใจต่อคณะกรรมการฯ นั้นได้
        แต่ก็อิ่มใจลึกๆ ว่านิสิตที่นี่มีแรงพลังมากมายในการรังสรรค์ความคิดออกมาในรูปกิจกรรม ถึงแม้บางกิจกรรมจะมีคนเข้าร่วมไม่มากมายก็เถอะ
       แต่เชิงคุณภาพก็มิอาจใช้ตัวเลขเชิงปริมาณมาหยั่งวัดได้ !



กิจกรรมนิสิต : ความหลากหลายทางความคิด มุมมองและการก่อเกิดจากสายธารคณะ

     สถิติจำนวนกิจกรรมที่เกิดขึ้นหลากหลายนี้ได้กลายมาเป็น “ปรากฏการณ์กิจกรรมนิสิต”  ที่น่าสนใจที่สะท้อนภาพให้เห็นวิวัฒนาการการเติบโตทางสายธารการพัฒนานิสิต ซึ่งไม่นับรวมการเติบโตของเม็ดเงินที่ผลักลงสู่องค์กรนิสิตต่าง ๆ 

     ปรากฏการณ์สำคัญที่ว่านี้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนจากจำนวนชมรมที่มากขึ้น  หลากหลายขึ้น ทั้งชมรมสังกัดองค์การนิสิตและชมรมสังกัดสโมสรนิสิต รวมทั้งการเติบโตของสโมสรนิสิตคณะที่ผงาดขึ้นมาจัดกิจกรรมเคียงบ่าเคียงไหล่กับองค์การนิสิต

     ความหลากหลายของกิจกรรมนิสิต   จึงสื่อสะท้อนให้เห็นภาพแห่งความคิดที่หลากหลายมุมมอง   และหลากหลายเรื่องราวที่นิสิตสื่อสารออกสู่สาธารณชน บางครั้งบางขณะเสมือนว่า ๑  องค์กร หรือ ๑ กิจกรรมที่จัดขึ้น คือความคิดอันเป็น ๑ เรื่องราวที่ถูกนำเสนอ ยิ่งกว่านั้นในกิจกรรมหนึ่ง ๆ อาจหมายถึงความคิดหรือเรื่องราวที่มากกว่า ๑ เรื่องก็ว่าได้

     ความหลากหลายของกิจกรรมได้ฉายให้เห็นสายธารการเปลี่ยนแปลงทางความคิดที่หลากหลายของนิสิต  จากที่เคยวกวนอยู่แต่เฉพาะมุมมองขององค์การนิสิตที่มักไม่หนีไปจากขนบวัฒนธรรมกิจกรรมเดิม ๆ แต่กลับกลายเป็นว่าชมรมและสโมสรนิสิตได้แจ้งเกิดบนวิถีกิจกรรมอย่างสง่าผ่าเผย วิถีความคิด ในมุมมองที่เกิดจากชมรมและสโมสรนิสิตได้กลายมาเป็นสีสันชีวิตที่หลากหลาย หลากรสชาติและหลากวัฒนธรรม   
      ความหลากหลายดังกล่าวจึงกลายเป็นความหลากหลายในทางเลือกที่บรรดาผู้เสพทั้งหลาย สามารถเลือกเสพกิจกรรมได้อย่างหนำใจ   รื่นรมย์กับบรรยากาศต่างๆ อย่างต่อเนื่องและไม่ซ้ำซาก   ประหนึ่งว่ามหาวิทยาลัยเป็นเสมือนสวนบุปผชาติที่หลากด้วยแมกไม้นานาพันธุ์ กรุ่นหอมด้วยดอกไม้นานาชนิด

     ทศวรรษสายธารด้านการพัฒนานิสิต    ผมเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่าสโมสรนิสิต (รวมความถึงสาขาวิชา) คือกลไกสำคัญที่ช่วยเติมแต่งให้กิจกรรมมีความหลากหลายทางความคิด  หลากหลายทางบรรยากาศ เพราะเป็นการบูรณาร่วมระหว่างวิถีกิจกรรมกับวิถีความรู้ที่ศึกษาในสาขานั้น ๆ รวมถึง “ความเข้มแข็ง” และ “จัดเจน” ของผู้จัดกิจกรรมที่สามารถนำความรู้มาบูรณาในภาพของกิจกรรมนิสิต ไม่ว่าจะเป็นการก่อเกิดของชมรมดนตรีสากล ดนตรีไทยและชมรมศิลปะการแสดง ที่ขับเคลื่อนจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ ชมรมสื่อสร้างสรรค์จากคณะวิทยาการสารสนเทศ ชมรมวรรณศิลป์ ชมรมประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ชมรมรักษ์อีสาน จากคณะมนุษย์ฯ ชมรมส่งเสริมสุขภาพ จากคณะพยาบาลศาสตร์  ชมรมอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม จากคณะเทคโนโลยี  ชมรมสถาปัตย์สัญจร จากคณะสถาปัตย์ ชมรมครูอาสา ชมรมไทสร้างสรรค์ จากคณะศึกษาศาสตร์ ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือชมรมประชาพิจารณ์ จากคณะวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

      ทั้งหมดที่กล่าวถึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งและส่วนน้อยที่หยิบยกมาในที่นี้
แต่ทั้งหมดคือปรากฏการณ์ที่สื่อให้เห็นว่ากิจกรรมต่าง ๆ ก่อเกิดและถูกผลักดันออกจากเบ้าหลอมของทางคณะ !

      ถึงแม้ว่าบางองค์กรจะเติบโตและโลดแล่นกรีดกรายอยู่ภายใต้สังกัดองค์การนิสิต หรือไม่ก็อยู่ภายใต้สังกัดสโมสรคณะ โดยที่แต่ละองค์กรมีความแตกต่างกันไปทั้งทางกายภาพและชีวภาพ เรื่องราวที่ปรากฏการณ์หรือฉายเด่นอยู่ในกิจกรรมแต่ละครั้งจึงเป็นเรื่องราวที่แตกต่างกันไปตามบริบทความคิดและมุมมองของแต่ละองค์กร สะท้อนตัวตนของตนเองอันหมายถึง “รากเหง้า” ที่มาที่ไปขององค์กรนั้น ๆ อย่างชัดเจน

     แต่ที่แน่ๆ เมื่อพิเคราะห์พินิจอย่างละเอียดแล้วจะเห็นได้ว่าความหลากหลายของกิจกรรมสะท้อนความสัมพันธ์ของความคิด มุมมองและการก่อเกิดของแต่ละองค์กรอย่างแจ่มชัดถึงแม้ว่าบางกิจกรรม   หรือบางองค์กรจะเกิดขึ้นบนพื้นฐานเงื่อนไขของสาขาที่เรียนก็ตาม แต่มันก็คือการเติมเติมบรรยากาศที่ขาดหายไปจากขนบวัฒนธรรมเดิมๆ บนสายธารกิจกรรมนิสิต (ซึ่งผมขอว่างเว้นรายละเอียดตรงนี้ไว้ -)

     ที่สำคัญ ผมยังเชื่อว่าเรื่องราวที่องค์กรได้หยิบยกมานำเสนอในรูปของกิจกรรมต่าง ๆ นั้นล้วนมีมิติทางสังคมอยู่อย่างเนืองแน่น อันเป็นมุมมองแนวคิดของนิสิตในวัยหนุ่มสาวที่มีต่อชีวิตและสังคมนั้นเอง

หนังสือทำมือและการละคร : ปรากฎการณ์กิจกรรมพลังทางความคิด


     ห้วงเวลาสิบปี หรือทศวรรษการด้านพัฒนานิสิต ผมมีความประทับใจกิจกรรมหลายกิจกรรม โดยเฉพาะกิจกรรมที่เพิ่งเติบโตในช่วงของการเป็นผลผลิตในสถานภาพของการเป็น มมส อันได้แก่  กิจกรรมเกี่ยวกับการทำหนังสือ (หนังสือทำมือ หรือ หนังสือมือทำ) และกิจกรรมเกี่ยวกับการละคร (แต่นั่นก็มิได้หมายความว่าอื่นๆ ที่ไม่เอ่ยถึงจะไม่มีคุณค่าสาระประโยชน์)

      แต่กิจกรรมทั้งสองอย่างนี้ได้ทำให้ผมรู้สึกว่ามันคือ “ปรากฏการณ์ทางความคิด” ที่แฝงด้วยพลังทางปัญญาอย่างพอตัว ก่อเกิด เติบโตและดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
     นับจาก “ชมรมคนสร้างภาพ ที่นิสิตคอวรรณกรรมทั้งหลายรวมตัวกันจัดตั้งเป็นชมรมขึ้นมาในช่วงประมาณปี พ.ศ. ๒๕๔๓ จนถึงบัดนี้หลายต่อหลายคนกำลังแจ้งเกิดและแจ้งเกิดไปแล้วในถนนสายวรรณกรรม

     ชมรมคนสร้างภาพ  ช่วยเสริมสร้างบรรยากาศการเขียนการอ่านให้คึกคักในขณะที่ชมรมวรรณศิลป์กำลังอ่อนล้า นิสิตหลายคนสามารถเขียนเรื่องสั้น บทกวีและบทความได้อย่างน่าทึ่ง ถึงขั้นจัดทำเป็น “หนังสือทำมือ” วางจำหน่ายใน มมส และต่างจังหวัด จนได้รับการขนานนามว่า “เขียนหนังสือขาย” !

     ศักยภาพของชมรมคนสร้างภาพถูกยอมรับจากคนในแวดวงวรรณกรรมในระดับที่น่าภาคภูมิใจ มมส กลายมาเป็นจุดรวมพลของคอวรรณกรรมจากทั่วสารทิศ ถึงขั้นมีการสัญจรจัดโครงการมหกรรมหนังสือทำมือขึ้นที่ มมส เลยทีเดียว รวมทั้งการมีนักเขียนเทียวสัญจรเข้าออกมหาวิทยาลัยอย่างว่าเล่น

      นิสิตกลุ่มนี้มีรายได้จากการเขียนหนังสือขาย  ซ้ำยังแสดงพลังทางความคิดในการนำวรรณกรรมของตนเองเป็นกระบอกเสียงในการทัดทานผู้บริหารมหาวิทยาลัยอย่างสง่าผ่าเผย
      และตรงนี้นี่เอง ยิ่งทำให้ผมในฐานะผู้สังเกตการณ์ทางกิจกรรมยอมรับและคาราวะหัวจิตหัวใจของผู้กล้าเหล่านี้ในการปกป้องสิทธิประโยชน์ของการเป็นนิสิต

      เพราะนี่คือ “จิตสำนึกสาธารณะ” ที่ผมพยายามรณรงค์ให้วาทกรรมนี้ติดหูของผู้นำนิสิตมาอย่างต่อเนื่อง เพียงเพื่อหวังว่าสักวันหนึ่งจะมี “นักรบ” ที่ “พร้อมรบ” เพื่อส่วนรวม
      (แต่เป็นที่น่าเสียว่าชมรมนี้ได้สลายตัวความเป็นองค์กรไปเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ทิ้งไว้เพียงเรื่องราวและตำนานปรากฏการณ์ความคิดในวิถีกิจกรรม)

       ถัดมา คือกิจกรรมการละคร ซึ่งในอดีตมีพบเห็นไม่มากนัก ในช่วงยุคที่เป็น มศว มหาสารคาม กิจกรรมการละครจะมีให้ได้ชื่นชมอยู่หลัก ๆ ๒ ส่วนคือภาควิชาภาษาไทยและภาษาอังกฤษ อันเป็นผลงานเสริมประสบการณ์เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนที่นิสิตจะต้องรังสรรค์ขึ้นในช่วงภาคปลายของปีการศึกษา

       แต่การเกิดขึ้นของ “ชมรมศิลปะการแสดง” (๒๕๔๐) ได้กลายเป็นปรากฏการณ์สำคัญด้านกิจกรรมของนิสิตในรูปลักษณ์ของชมรม รวมทั้งชมรมสื่อสร้างสรรค์ (๒๕๔๕) ที่คุ้นชินกันในชื่อกลุ่มมดตะนอยก็เริ่มผลิตผลงานในลักษณะนี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง
      รวมทั้งการก่อตัวของ “ชมรมสถาปัตย์สัญจร” (๒๕๔๐) ก็เริ่มพบกลิ่นอายเกี่ยวกับกิจกรรมการละครขึ้นมาบ้าง ก่อนจะมาลงตัวในภาพรวมของ “คณะสถาปัตยกรรมฯ” ซึ่งเป็นที่รู้ ๆ กันในแวดวงการศึกษาว่าคณะสถาปัตยกรรมคือต้นแบบของละครเวทีที่เลื่องชื่ออยู่แล้ว

      ผมค่อนข้างรู้สึกคึกคักและตื่นเต้นเสมอเมื่อได้รับข่าวว่าช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งองค์กรเหล่านี้จะมีละครให้ได้ยลกันสักครั้ง 
       ผมชอบสังเกตการณ์การเปิดตัวประชาสัมพันธ์แต่ละครั้งรู้สึกว่าน่าสนใจพอ ๆ กับการแสดงที่จะมีขึ้นในเร็ววัน และชอบที่จะสะสมโปสเตอร์ บัตรและสื่ออื่น ๆ ไว้เท่าที่จะหามาได้และถึงขั้นเคยได้เปรยกับอาจารย์ท่านหนึ่งว่านิสิตที่จะจัดละครได้นั้นต้องมี “พลังทางความคิด” และมีศักยภาพด้านการสร้างสรรค์ที่เยี่ยมยอดอย่างน่าทึ่ง (ถึงแม้บางครั้งจะรู้สึกหมั่นไส้ในภาพความเป็น “ศิลปิน” ของนิสิตอยู่บ้าง) โดยเฉพาะในช่วงปี ๒๕๔๖ ที่ผ่านมามีละครให้ดูมากกว่า ๓ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นมายาสาไถย จากคณะวิทยาการสารสนเทศ ดงฮา จากชมรมศิลปะการแสดงและอินทรีแดง จากคณะสถาปัตย์ฯ   ซึ่งทุกเรื่องได้มีการเปิดตัวและนำเสนอเรื่องราวอย่างน่าสนใจ จนผมยังแอบนึกที่จะชักชวนให้นิสิตร่วมใจกันผลักดันให้เป็น “เทศกาลละคร มมส” เลยก็ว่าได้

       กิจกรรมการละคร ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นแง่มุมชีวิตของมนุษยชาติผ่านตัวละครที่คัดกรองออกมาจากวรรณกรรมแต่ละเรื่อง แต่ความน่าสนใจของกิจกรรมการละครที่ผมเพ่งมองอยู่เสมอก็คือมุมมอง แนวคิดของนิสิตที่เพียรพยายามหยิบยกออกมานำเสนอต่อผู้ชมในแต่ละครั้งนั่นคืออะไร   ซึ่งบางครั้งอาจไม่ใช่ทั้งหมดที่ปรากฏในตัวบท (วรรณกรรม) แต่อาจจะหมายถึงมุมมองใหม่ที่นิสิตได้สังเคราะห์และตีความบนกรอบของยุคสมัยปัจจุบันด้วยเช่นกัน

        และผมค่อนข้างจะชื่นชมเป็นพิเศษก็คือองค์กรที่จัดละครขึ้นมานั้นได้ขับเคลื่อนต่อเนื่องในแต่ละปี เสมือนว่ากลายเป็น “วัฒนธรรม” องค์กรนั้น ๆ ไปแล้ว

        กระทั่งยังเคยคิดบ้าบิ่นว่า ฝ่ายพัฒนานิสิตน่าจะทุ่มงบประมาณสักก้อนให้องค์กรเหล่านี้จัดละคร “เมืองน่าอยู่” ขึ้นมาสักตอนเพื่อรณรงค์ให้นิสิตมีจิตสำนึกสาธารณะที่ดีในการอยู่ร่วมกัน    และกำหนดให้เป็นช่วงเทศกาลละคร มมส มีองค์กรต่าง ๆ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรังสรรค์บรรยากาศอันรื่นรมย์นี้ร่วมกันในช่วงเหมันตฤดู

       อย่างไรก็ดี แม้บางเรื่องราวของละครที่จัดขึ้นอาจไม่พบตัวละครที่เกี่ยวกับนิสิตนักศึกษาโดยตรง แต่ก็เพียงพอแล้วเพราะได้สื่อสะท้อนให้เห็นภาพชีวิตของมนุษย์ในอีกแง่มุมหนึ่ง สถานภาพหนึ่งที่มีอยู่ หรืออาจมีอยู่ในโลกใบนี้ที่อาจช่วยให้บางคนได้หวนคิดและนำไปสู่การเข้าใจชีวิตมากขึ้น รวมทั้งการได้เสพศิลปะจากมันสมองของหนุ่มสาวที่เรียกตนเองว่า “ปัญญาชน” กระทั่งการได้หวนรำลึกถึงคืนเก่าก่อนแห่งอดีตที่ล่วงผ่านมาเป็นสำคัญ

       เช่นเดียวกับที่คณะสถาปัตย์ฯ ได้เปิดตัวละครเรื่องใหม่ (Big chair) ตั้งแต่ลมฝนยังไม่จางหาย   ก็น่าจะเชื่อได้ว่าครั้งนี้อาจมีเรื่องราวและมุมมองความคิดที่น่าสนใจมิใช่น้อย ไม่เช่นนั้นก็คงไม่ชิงเปิดตัวก่อนกาลดังเช่นที่ผ่านมา

       เหนือสิ่งอื่นใด, กิจกรรมการละครมิใช่เพียงการเสนอเรื่องราวชีวิตมนุษย์ผ่านความรื่นรมย์ของละครเท่านั้น แต่ผมกำลังจะย้ำเน้นว่ากิจกรรมการละครที่เกิดขึ้นนั้น ได้กลายมา เป็นปรากฏการณ์ทางด้านกิจกรรมที่สำคัญในแง่ของการสะท้อนให้เห็นศักยภาพทางความคิดของนิสิตที่น่าทึ่งและน่าสนใจที่เปลี่ยนและพลิกผันไปตามห้วงเวลา รวมถึงกระบวนการจัดเตรียมงานอย่างเป็นระบบขั้นตอน ภายใต้ทีมงานที่ “เข้มแข็ง” และ “จัดเจน” เป็นขุนพลขับเคลื่อนในการสื่อสารความคิดผ่านละครเวทีสู่สาธารณชน 

        ขณะเดียวกันบางทีเราอาจหันมาวิเคราะห์กันสักนิดว่า กิจกรรมการละครอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในกระบวนการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของนิสิต มมส ที่อาจต้องลงทุนงบประมาณมากสักนิดแต่ผลลัพธ์ที่มีต่อผู้จัดและผู้เสพนั้นอาจมีอานุภาพพอกัน

       ตรงกันข้ามกับบางกิจกรรมที่ใช้ต้นทุนงบประมาณจำนวนมาก แต่ผลิตผลทางความคิดกลับไม่งอกเงยเลยก็มี ... หรือในอนาคตอันใกล้ ใครจะรู้ได้ว่า วันดีคืนดีอาจจะมีละครเวทีที่เกี่ยวกับ มมส ทั้งในแง่มุมที่งดงามและอัปลักษณ์ก็ได้ (ใครจะไปรู้)


บทส่งท้าย

          ท้ายที่สุด    ผมก็ยังอยากจะยืนยันว่าแท้ที่จริงอาจจะยังมีกิจกรรมอีกหลายกิจกรรมที่ควรหยิบยกมากล่าวถึงในที่นี้  แต่ที่ผมนำมาแก่ 2 ประเด็นนี้  เพราะส่วนตัวเห็นว่ามีความชัดเจนในเชิงของการขับเคลื่อนให้เกิดภาพหรือปรากฏการณ์ทางด้านกิจกรรมที่แจ่มชัด และยังสะท้อนให้เห็นความกลมกลืนอันเกิดจากกระบวนการบูรณาการระหว่างศาสตร์และศิลป์เข้าด้วยกัน   และผลิตออกมาสู่สาธารณชนในรูปของกิจกรรม ซึ่งเสพสัมผัสได้ถึงรสชาติแห่งความรื่นรมย์และรสชาติแห่งพลังทางปัญญา -

(ผมเข้าใจและเชื่อ เช่นนั้น !)
หมายเลขบันทึก: 72369เขียนเมื่อ 12 มกราคม 2007 20:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 11:31 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)
  • ขอชื่นชม นิสิต มมส และผู้เกี่ยวข้องมากๆ ค่ะ
  • การทำกิจกรรมของนิสิต นักศึกษา เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนานิสิต นักศึกษา ให้เป็นบัณฑิตที่พึงประสงค์
  • ในการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงาน ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ก็จะพิจารณาการทำกิจกรรมของบัณฑิตในขณะที่เป็นนักศึกษา ด้วย

ผมเคยฟังผู้ใหญ่หลายท่าน  พูดถึง  ความหลากหลายทางความคิดที่ก่อเกิดความเข้มแข็งและความชัดเจนในชีวิต   ท่านบอกว่า  หลากหลาย  เข้มแข็ง  ชัดเจน รวมกันเรียกว่า  ความเจนจบ    ดังนั้นผมเห็นว่า สิ่งที่คุณแผ่นดิน    กำลังสานต่อคือการเสริมสร้างความเจนจบในชีวิต   ให้แก่นิสิต  มมส.  ทุกคน

ขอชื่นชมจริงๆค่ะ คุณแผ่นดิน ขอให้กำลังใจในการพัฒนานิสิตต่อไปนะคะ เดี๋ยววันจันทร์ที่ 15 ม.ค.จะไปเยี่ยมที่มมส.ค่ะ
  • อาจารย์ paew ที่เคารพ ...ขอบพระคุณมากครับ..  
  • ก่อนหน้านี้เมื่อหลายปีที่แล้ว ผมเคยได้ไปสัมมนาเรื่องบัณฑิตไทยในอุดมคติ ซึ่ง ม. ขอนแก่นเป็นแม่ข่ายในโซนอีสาน ส่วนใหญ่นำเสนอสิ่งที่ "อาจารย์ทำ" และพิพากษ์ "อุดมคติ" จากมุมมองของอาจารย์กันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นวิจัย หรือวิชาสอน รวมถึงกิจกรรมเสริมการสอน
  • ผมเป็นคนเดียวที่ลุกขึ้นเสนอว่า "ปีหน้า" เปิดเวทีให้นิสิตนักศึกษา มาแสดงผลงาน มาสะท้อนแนวคิดของพวกเขาที่มีต่อเรื่องนี้ด้วยว่าเขามองและคิด "บัณฑิตไทยในอุดมคติเช่นไร" ที่ประชุมเห็นด้วย...
  • ปีถัดมานิสิตนักศึกษามีเวทีตรงการสัมมนาชัดเจน แต่สำหรับผม ไม่มีโอกาสเดินทางไปชื่นชมผลงานและแนวคิดของนิสิตและนักศึกษาจากสถาบันต่าง ๆ (2547)
  • สวัสดีครับอาจารย์เม็กดำ 1
  • ผมชอบใช้คำว่า "ชัดเจน" ในงานเขียนทั่วไป  มันนี้ได้ความรู้ใหม่เกี่ยวกับคำว่า "ความเจนจบในชีวิต" 
  • เยี่ยมมากครับ...จะได้ขออนุญาตนำไปใช้บ้าง
  • ขอบคุณครับกับทัศนะสั้น ๆ แต่ความหมายกว้างไกล
  • และขอบคุณท่านอาจารย์มากที่กรุณาแวะเวียนมาแลกเปลี่ยนอย่างไม่ขาดหาย
  • ขอบคุณครับ อาจารย์  ลูกหว้า
  • ยินดีต้อนรับนะครับหากจะแวะเวียนมาที่กองกิจการนิสิต มมส

เรียนพี่พนัส

  • เป็นบันทึกที่ยาวมากครับ
  • ขอแสดงความคิดเห็นนะครับ คือ
  • การทำกิจกรรมทั้งหลายไม่ว่าของหน่วยงานใน มมส. หรือแม้กระทั่งของนิสิต สิ่งเหล่านี้ย่อมเกี่ยวพันกับงบประมาณที่มหาลัยตั้งไว้
  • อย่างเช่น ศูนย์ของผมหรือแม้แต่หน่วยงานอื่นภายใน มอ. คิดว่าจะทำอะไรในแต่ละปีงบประมาณข้างหน้า ต้องจัดทำแผน กิจกรรม ตั้งงบประมาณ และที่สำคัญต้องให้สอดคล้องกับแนวนโยบายของ มอ. ในแต่ละปี เพื่อให้ผลตอบสนองต่อนโยบาย
  • ผมไม่แน่ใจว่า ในระดับของนิสิต องค์การนิสิต สโมสรคณะฯ ว่าการจะจัดกิจกรรมในแต่ละปีการศึกษานั้น ได้แจ้ง กล่าว คำรับรองไว้ก่อนหรือไม่ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวนโยบายของกิจในแต่ละปี และสอดคล้องกับ มอ.
  • ที่เขียนมา ก็สรุปคือ ในแต่ละปีนั้น นิสิตได้จัดทำแผนกิจกรรมล่วงหน้า เพื่อของบประมาณ ว่าจะทำอะไรบ้างรึเปล่าครับ

ด้วยความเคารพ

  • ขอบคุณแจ็ค มากครับ
  • ระบบการจัดสรรเงินให้นิสิตทำกิจกรรมในปัจจุบัน  ก่อนหน้านี้ใช้ระบบที่มหาวิทยาลัยจัดสรรเงินก้อนกลมให้นิสิต  จากนั้นกองกิจการนิสิต ก็จะมอบให้นิสิต ประชุมพิจารณาจัดสรรไปยังองคืกรต่าง ๆ  พร้อมเสนอแผนงานประจำปีนั้น ๆ  ภายใต้วงเงินที่ได้รับการจัดสรรไป
  • แต่ปีนี้  เป็นปีแรกที่ให้นิสิตส่งแผนงานต่อมหาวิทยาลัย  แต่ก็ไม่ได้มีความแตกต่างอะไรนัก  เพราะท้ายที่สุดก็ได้รับการจัดสรรในภาพรวม  ซึ่งเป็นตุ๊กตามที่ มอ. เองก็ประมาณการไว้เช่นนั้น
  • ขณะที่กองกิจการนิสิต ก็จะดูแล ให้คำปรึกษาแก่องค์กรในเรื่องแผนงาน เพื่อให้สอดรับกับนโยบายและยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย  หรือแม้แต่ตามนโยบายขององค์กรนิสิตเอง
  • อย่างเช่นปีนี้  หลายกิจกรรมขององค์กรก็เน้นย้ำให้สัมพันธ์กับนโยบายของมหาวิทยาลัย
  • แต่ปีหน้าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในแนวทางนี้ครับ
  • ขอบคุณมาก...เลยที่กรุณาแนะนำและแลกเปลี่ยน  เสมือนยืนยัน เราต่างเรียนรู้ร่วมกันได้ โดยไม่ยึดติดกับระบบงาน...ขอบคุณจริง ๆ ครับ
  • วิชาวิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวัน ที่ผมได้เป็นผู้ร่วมสอนในเทอมนี้ ก็จะมีกิจกรรมการแสดงละคร เป็นกิจกรรมหนึ่งของวิชา ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 10-11 กุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้
  • ทราบว่าเป็นกิจกรรมประจำวิชาที่ทำมาหลายครั้งแล้ว  ส่วนรายละเอียดผล เป็นอย่างไร ? อันนี้ผมยังไม่ทราบ เพราะเพิ่งจะมีส่วนร่วในเทอมนี้เป็นครั้งแรกครับ
  • ขอบคุณมากครับอาจารย์ที่แวะมาส่งข่าว
  • คงได้มีโอกาสแวะไปชม
  • ตอนนี้กลุ่มที่ทำละครแต่ไม่เกี่ยวกับสาขาวิชา ก็มีหลัก ๆ คือ สถาปัตย์ / ชมรมศิลปะการแสดง / กลุ่มมดตะนอย (มาจากสาขาที่เรียน)  ซึ่งเดิมชื่อชมรมสื่อสร้างสรรค์ มักตระเวนไปเล่นตามชุมชนภายนอก เพราะได้รับงบสนับสนุนจาก สสส. และอื่น ๆ 

มาเยี่ยม  ชื่นชมการมีกิจกรรมที่สร้างสรรค์ก่อเกิดพลังทางปัญญานะครับ

ทำให้นึกถึงนักศึกษาตั้งกลุ่มเขียนภาพที่ใกล้ทางออกประตูมหาวิทยาลัยเมืองพาราณสี  ช่วงที่ผมเรียน ป. เอกอยู่ คือ เรานั่งแล้วเขาวาดภาพเราในขณะนั้นเท่า ส.ค.ส. เสร็จแล้วเขาส่งให้เราจ่ายตางค์เลยครับ

หรือเรามีรูปถ่ายยื่นให้เขา  เขาก็วาดเสร็จใช้เวลาไม่มากครับ

ขอบคุณครับ    

อาจารย์  umi

  • ขอบพระคุณกับการการทักทายและแบ่งปันเรื่องเล่า
  • ผมเป็นอีกคนที่ชื่นชอบศิลปะการวาดภาพมาก  แต่ก็วาดไม่ได้เรื่องเลย..ถ้าให้วัดหมูก็กลายเป็นแมว ..ทำนองนั้น
  • ทุกวันนี้ก็ยังชอบภาพวาดมากกว่าภาพที่ถ่ายจากกล้องเลยด้วยซ้ำไป
  • แต่ก็อย่างว่านะครับ...ศิลปะทุกแขนง คือ ภาพสะท้อนความละเอียดอ่อนของมนุษย์เรากันทั้งนั้นเลย

 

พี่พนัส

ผมจะขออนุญาต นำบทความของพี่ไปลงในหนังสือรวบรวมเรื่องราวกิจกรรมนักศึกษา มข .นะครับ เพื่อเป็นแนวทางและอุดมการณ์ในการทำกิจกรรมครับ

ภาสกร เตือประโคน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท