BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

สุข ทุกข์ และอุเบกขา


สุข ทุกข์ และอุเบกขา

สามคำนี้สัมพันธ์กัน ดังนั้นจึงจะขยายความรวมกัน...สุข เป็นอารมณ์ที่เรายินดีพอใจ ....ตรงข้ามกับ ทุกข์ เป็นอารมณ์ที่เราไม่ยินดีไม่พอใจ...ขณะที่ อุเบกขา อยู่กลางๆ ทำนองไม่ยินดียินร้าย ....ในภาษาไทยทั่วๆ น่าจะมีความหมายทำนองนี้

สามคำนี้เป็นบาลีแท้ๆ และคงจะเป็นหนึ่งเดียวกับภาษาไทยมานาน จนกลายเป็นคำสามัญทั่วไปของคำไทยก็ว่าได้ ...สุข แปลว่า อดทนได้ง่าย ...ทุกข์ แปลว่า อดทนได้ยาก ..ส่วน อุเบกขา แปลว่า ปรากฎอยู่ในที่ใกล้ระหว่างสุขกับทุกข์ ..โดยวิเคราะห์ออกมาดังต่อไปนี้

สุ (ง่าย) +ขม (อดทน) = สุข ( อดทดได้โดยง่าย)... สุ +ขม=สุข (ลบ ม.ม้า ที่ ขม ตามหลักไวยากรณ์) ...อธิบายได้ว่า สิ่งใดที่เราพอใจหรือยินดีแล้ว เราก็สามารถอดทนได้ง่าย ทนได้ง่าย ไม่ต้องฝืนทำอย่างลำบาก ...ทำนองนี้

ว่าโดยธรรม ...สุข นี้ ถ้ามาตัวเดียวหมายถึง สุขทางกายและสุขทางใจ ..แต่เมื่อ มาร่วมกับ โสมนัส (สุขโสมนัส) แล้ว สุข จะหมายถึง สุขทางกาย .และ โสมนัส จะหมายถึง สุขทางใจ ..กล่าวคือ สุข คือ สุขกาย หรือสุขทั้งกายและใจ ..ส่วน โสมนัส คือ สุขใจ อย่างเดียว

ทุ (ยาก ลำบาก) + ขม (อดทน) = ทุกขะ (อดทนได้โดยยากลำบาก) ทุ+ขม=ทุกขะ (ซ้อน ก.ไก่ ข้างหน้า ข.ไข่ และลบ ม.ม้า ตามหลักไวยากรณ์) ...คำอธิบายก็ตรงข้ามกับ สุข คือ ทนลำบาก ต้องฝืนทำ ไม่ค่อยเต็มใจทำ ...ทำนองนี้

ว่าโดยธรรม ... ทุกข์ นี้ ก็เป็นไปทำนองเดียวกับ สุขโสมนัส ..กล่าวคือ ถ้า ทุกข์ มาคู่กับ โทมนัส แล้ว ทุกข์ ก็เป็นเพียงทุกข์ทางกาย โทมนัส ก็จะเป็นทุกข์ทางใจ ..แต่ถ้า ทุกข์ มาตามลำพัง ก็เหมารวมทั้งทุกข์กายและทุกข์ใจ...ทำนองนี้

อุป (ใกล้) +อิกขา (ปรากฎ) = อุเปกขา (ปรากฎในที่ใกล้) ...อุป + อิกขา = อุเปกขา (แปลงสระ อิ ที่ อิกขา เป็นสระ เอ แล้วผสมกัน เป็น อุเปกขา ตามหลักไวยากรณ์) ...อธิบายว่า ความรู้สึกที่มิใช่สุข มิใช่ทุกข์ แต่อยู่ใกล้ๆ หรืออยู่ระหว่าง สุขและทุกข์ เรียกว่า อุเบกขา ...ประมาณนี้

หมายเหตุ

ในภาษาบาลี (และสันสกฤต) ไม่มี บ.ใบไม้ มีแต่ ป.ปลา ดังนั้น คำบาลี(และสันสกฤต) ในภาษาไทยบางคำจึงใช้ บ.ใบไม้แทน ป.ปลา เช่น บารมี บุญ บาป ..แต่บางครั้งก็ใช้ ป. ปลา คงเดิม เช่น ปัญญา ปรากฎ ไปรษณีย์ ...หรือบางครั้ง ก็ใช้ได้ทั้ง ป.ปลา และบ.ใบไม้ (ตอนนี้ รู้สึกว่าภาษาไทยยากกว่าภาษาบาลี ค่อนข้างที่เค้าว่าภาษาไทยเป็นภาษาที่ยากที่สุดในโลก 5 5 5) 

หมายเลขบันทึก: 72294เขียนเมื่อ 12 มกราคม 2007 14:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 22:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (21)
นมัสการครับหลวงพี่

พอเห็นความเกี่ยวข้องของคำจากภาษาบาลี อ่านแล้วสนุกขึ้นครับ

จ้า นายบอน

ยินดีด้วย ถ้าอ่านแล้ว รู้สึกสนุก

เจริญพร

เรียนท่านพระมหาชัยวุธ ขอถามนอกเรื่องหน่อยนะครับว่า คำว่า ชินโต กับ ฮินดู เกี่ยวข้องหรือต่างกันอย่างไร ผมสงสัยว่าจะเป็นสาย หรือแนวคิดใกล้กันมากเลยครับ คำก็เกือบจะเป็นคำเดียวกัน ช่วยไขข้อข้องใจหน่อยนะครับ หวังว่าจะได้รับกรุณาจากท่านเช่นเคยครับ

เจริญพร อาจารย์ ดร.แสวง

ชินโต เป็นลัทธิหรือศาสนาของญี่ปุ่น... ฮินดู เป็นของอินเดีย ...ทั้งสองลัทธินี้ นับถือเทพเจ้าหลายองค์ คิดว่าอาจารย์คงจะเข้าใจประเด็นเหล่านี้...

ชินโต ? อาตมาไม่ทราบที่มา รู้แต่เพียงว่าเป็นภาษาญี่ปุ่น แปลว่า วิถีทางเทพเจ้า ..ทำนองนี้

ฮินดู อาตมาเคยได้ยินมาบ้าง เค้าว่า ฮินดู ก็คือ สินธู เป็นชื่อของแม่น้ำ ซึ่งโบราณสมัยมีความรุ่งเรืองมาก ..พวกเปอเซียร์ อาหรับ ออกเสียงเพี้ยนไป จาก สินธู - ฮินดู... ต่อมาพวกฝรั่งก็ฟังต่อจากพวกอาหรับ ศัพท์นี้ก็เลยติดไป...และค่อยผันไปตามภาษา คือ ที่อยู่ของชาวฮินดู ชื่อว่า ฮินเดีย (อินเดีย) ...แต่ชาวอินเดียเอง จะเรียกพวกเค้าว่า ภารตะ คือ เชื้อสายของภรต ...

ดังนั้น ศัพท์ว่า ชินโต และ ฮินดู จึงน่าจะไม่เหมือนกัน หรือมิได้มีส่วนสัมพันธ์กัน

 ถ้าว่าโดยศาสนา ชินโตและฮินดู ก็มีความคล้ายคลึงกันตามแนวคิดเรื่องวิวัฒนาการของศานาเทวนิยม กล่าวคือ

แรกเริ่ม นับถือ ธรรมชาติ เช่น ภูเขา ต้นไม้ จอมปลวก แม่น้ำ ...ให้มีเทพเจ้าสถิตย์อยู่ เรียกว่า พหุเทวนิยม..

ต่อมา มีการเชื่อมโยงระหว่างชนเผ่า มีการถ่ายเทแนวคิด ความเชื่อ หรือรุกราน การนับถือเทพเจ้าก็ยังคงอยู่ แต่ยกให้เทพเจ้าองค์ที่ตนนับถือเป็นพิเศษเป็นใหญ๋ เรียกว่า อติเทวนิยม

ต่อมา รวมเทพเจ้าเป็นหนึ่งเดียว โดยให้เหตุผลว่า องค์เดียวกัน แต่ท่านมีอภินิหารมาก แสดงได้หลายบทบาท เรียกว่า เอกเทวนิยมนิยม...

ยังมีนัยต่างออกไปอีก เช่น เทพเจ้าสององค์ สามองค์ เทพเจ้ามีอยู่ในทุกสิ่ง เทพเจ้ามีอยู่ในทุกสถานที่ เทพเจ้าๆ ๆ  เป็นต้น... (จำไม่หมด ครับ อาจารย์ 5 5 5)

ดังนั้น ชินโต กับฮินดู อาจเหมือนกัน ถ้ามองจากพัฒนาการทางความเชื่อของศาสนาแนวเทวนิยม...

เจริญพร

กราบท่านอาจารย์ครับ ด้วยความที่ห่างไกลภาษาบาลี ก่อนหน้านี้ผมนึกว่าคำว่า สุข ทุกข์ เป็นภาษาไทยครับ อ่านบันทึกนี้ผมได้ความรู้ขึ้นมากเชียวครับ โดยเฉพาะในแง่คิดของ "อุเบกขา" ครับ

เจริญพร อาจารย์ธวัชชัย

ด้วยความยินดีครับอาจารย์

อันที่จริงเรื่องภาษาบาลีนี้ อาตมาก็คิดว่าจะเขียนเล่นๆ ไม่นึกว่าจะมีผู้สนใจมาก ครับ

เจริญพร 

นมัสการพระคุณเจ้า

แปลกนะครับ     วิธีนำเสนอของพระคุณเจ้าทำให้ภาษาบาลีกลายเป็นของสนุกได้     และเป็นการสอนธรรมะทางอ้อมได้อย่างดี

วิจารณ์

เจริญพร อาจารย์วิจารณ์

จะพยายามเขียนให้สนุกยิ่งขึ้น และสอดแทรกธรรมะไปด้วยตามความเห็นของอาจารย์ครับ

เจริญพร

นมัสการพระคูณเจ้า

กระผมซาบซึ้งในคำอธิบายของท่านมาก

และขอสมัครเป็นศิษย์ตามอ่านภาษาบาลีของท่าน เพื่อประเทืองความรู้ต่อไปครับ

เจริญพร อาจารย์ ดร.แสวง

ในด้านสมณภาวะ อาตมาได้รับการยกย่องว่าสูงกว่า... แต่ในด้านความรู้และประสบการณ์มิบังอาจชี้แนะอาจารย์ ครับ

อีกอย่าง อาตมามิได้เป็นปราชญ์บาลี เป็นเพียงผู้พอรู้เท่านั้น ปราชญ์บาลีเมืองไทยมีเยอะครับ แต่ท่านเหล่านั้นคงจะไม่มีเวลามาเขียนเล่นๆ สนุกๆ ตามประสาอาตมา ครับ

ขอยอมรับแต่เพียง เล่าสู่กันอ่าน ก็พอนะครับ

เจริญพร

พระอาจารย์ครับ...มิใช่ว่าผมเห็นท่านมีพันธมิตรเกิดขึ้นมากมายแล้วจะทิ้งท่านไป...ผมแอบเฝ้าชื่นชมเส้นทางที่เป็นไปของพระอาจารย์น่ะครับ(อย่างนี้จะเรียกว่าบารมีหรือปล่าวนะ...555)

 

สิ่งนึงที่พิสูจน์ได้ว่าพระอาจารย์ของผมยังควบคุมอาการหลงในสรรเสริญได้ก็คือ...ท่านยังมีอาการถ่อมตัวเป็นนิจสิน(ถ้าเป็นผมล่ะก็...5555)

 

พระอาจารย์ครับนี่เป็นเส้นทางพิสูจน์ว่าการผ่านด่านปิติสุขเป็นอย่างไร...(ว่าแล้วอยากเป็นลูกศิษย์ลูกหาจริงเชียว...อิอิ)...

อุเบกขาในภาคปฏิบัติเกิดขึ้นกับพระอาจารย์แล้วจริง ๆ ครับ....

กราบนมัสการด้วยความเคารพครับ
    ขอบพระคุณที่ท่านได้นำความรู้มาแบ่งปัน และเป็นการทำของยากให้ง่าย แบบสบายๆ แต่ได้ประโยชน์มาก .. ขออนุญาตย้อนหลังในการนำ Blog ของท่านเข้า Planet ชื่อ ลานประสบการณ์ ของกระผมครับ

คุณโยมขำ ๆ

คอยคุณโยมอยู่ นะครับ เสาร์-อาทิตย์ มักจะไม่เห็นมาตอบ แต่พอเช้าวันจันทร์ จะเจอคุณโยมทันที

มิได้ถ่อมตัวอะไร ครับ...แต่ปราชญ์บาลีมีเยอะ ครับ ...จะเล่ายุทธจักรบาลีให้ฟังเล่นๆ นะครับ...

มีจอมยุทรพเนจรมาจากพม่า เข้ามาเปิดสำนักอยู่ในเมืองไทย และดำเนินการส่งอัจฉริยวัยเยาว์ไปเรียนต่อยังสำนักลึกลับในพม่า ...อัจฉริยะเหล่านี้เมื่อสำเร็จมาก็พาคัมภีร์มาด้วย และก็ปริวัตรคัมภีร์เหล่านั้น จากภาษาพม่าเป็นภาษาไทย... ท่านเหล่านี้ บ้างก็แฝงกายซ่อนเร้นอยู่ตามสำนักช่วยฝึกหัดเพลงยุทธ... หรือบ้างก็มารับเป็นเจ้าสำนักแฝงกายอยู่บางที่ อาจไม่มีใครรู้จัก แต่ฝืมือไม่ธรรมดา ...บ้างก็ตั้งเป็นชมรมเพื่อดำเนินการบางอย่าง...สายนี้ แต่ละท่าน ฝีมือสูงส่งทั้งนั้น อาตมามิกล้าประมือด้วย เจอคราวใดก็เพียงแต่ขอคำชี้แนะจากพวกเค้าเท่านั้น

ยังมีอีกหลายสำนัก วันนี้ขอเล่าแค่นี้ก่อน (เพราะได้เวลาฉันเพล) 5 5 5

เจริญพร

 

 

เจริญพร อาจารย์พินิจ

ด้วยความยินดี ครับ

เจริญพร

เสาร์อาทิตย์เป็นเวลาของ...ห่วง(ลูกและภรรยา)ผูกคออยู่ครับพระอาจารย์... ได้แต่แอบเข้ามาอ่านแต่ไม่ตอบ...เพราะที่บ้านมีการจองคอมฯเต็มอัตราศึก(อีกอย่าง อักษรภาษาไทยที่บ้านหายหมด แต่ทั้งลูกและภรรยาเขาสามารถพิมพ์สัมผัสได้...เราเลยหมดโอกาส...5555)... แค่ได้อ่านก็หลับอย่างปิติสุขแล้วครับ(ด่านปิติสุขนี่ผ่านยากจริงๆ...555)

 

พระอาจารย์เล่ามานี่...น่าสนใจไม่น้อยทีเดียวครับ...

หากมีโอกาสประมือ(แลกเปลี่ยนเคล็ดวิชา)กับพวกเขา... ซือแป๋ใยมิส่งข่าวคราวให้เราผู้เป็นศิษย์ร่วมประลองฝีมือด้วยเล่า... สนามประลองคงครึกครื้นมิใช่น้อย... ยิ่งทราบยิ่งคันมือคันไม้...คันหัวใจใคร่อยากจะเกาจริง ๆ ครับ...5555

 

คุณโยมขำ

เพลาเที่ยง อาตมาเล่าถึงตอนจอมยุทธ์เพนจรจากปัจฉิมปเทศ ซึ่งเข้ามากวาดต้อนอัจฉริยวัยเยาว์เพื่อส่งไปฝึกยังสำนักลึกลับ ... เพลานี้จะเล่าต่อ

ก่อนที่จะเล่าต่อก็บอกคุณโยมว่า ยอดฝืมือเหล่านั้น บางคนแฝงอยู่  http://www.pantip.com/cafe/religious อาตมาเคยเข้าไปสังเกตการณ์ ฝืมืออำมหิตมาก ยากส์ต่อการต่อกร... แต่เค้าจะหลบมุมสังเกตการณ์อยู่เงียบๆ... พวกไร้พลวัต เค้าจะไม่ต่อกรด้วย  หรือถ้าพลวัตไม่ถึง ก็อาจหยั่งถึงรังสีอำมหิตของพวกเค้าเหล่าไม่ได้

มาสำรวจสำนักในเมืองไทย ซึ่งอาจแยกได้หลายประเภท

๑. สำนักใหญ่ร้อยปี เกือบทั้งหมดอยู่ในเมืองหลวง สำนักเหล่านี้เปิดสอนมานานจากรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่ง รุ่งเรืองบ้าง ซบเซาบ้าง แต่มิได้ขาดตอน บ้างก็มีหอคัมภีร์ใหญ่โต บ้างก็มีเคล็ดวิชาของตัวเอง ...ยืนยันได้ว่า สำนักใหญ่ร้อยปีเหล่านี้ มียอดฝืมือประจำอยู่แน่นอน

๒. สำนักเจ้าเมือง คือ สำนักที่มีเจ้าคณะปกครองระดับสูงอยู่ (เน้นต่างหัวเมือง) เจ้าเมืองเหล่านี้ บ้างก็เป็นยอดฝืมือมีเคล็ดวิชาสูงเข้าขั้นไร้เทียมทาน บ้างก็พอมีอยู่บ้างสองสามเพลง... หรือบ้างก็มีแต่วิชามาร แต่จำเป็นต้องยกย่องคุณธรรม จึงกวาดต้อนยอดฝืมือมาอยู่ใกล้ๆ เพื่อประดับบารมี โดยการปรนเปรอให้อิ่มหมี่พีมัน หรืออวยยศอวยชื่อให้ตามที่เค้าปรารถนา ...สำนักต่างหัวเมืองเหล่านี้ ประมาทไม่ได้เมื่อเข้าไป 5 5 5

๓. สำนักกะเลวลาด คือ สำนักไม่สำคัญ สำนักชั่วคราว หรือเคยเป็นที่พำนักเก่าของเจ้าเมือง (เมื่อหมดบุญเจ้าเมือง ยอดฝีมือก็แยกย้ายกันไป) ...สำนักกะเลวลาดเหล่านี้ก็ประมาทไม่ได้ เพราะบ้างก็ยังมีปรมาจารย์พำนักอยู่ บ้างเคยผ่านสำนักใหญ่ หรือบ้างก็ไม่เคยผาดโผนยุทธภพ ได้รับการชี้แนะจากอดีดซือแปเพียงเล็กน้อย แต่ในสำนักมีคัมภีร์อยู่ เค้าสามารถฝึกหัดและสร้างเคล็ดวิชาได้เอง

ที่เล่ามานี้ เป็นเพียงสำนักของบรรพชิต ยังมีสำนักของฆราวาสอีก ..แต่เหนื่อยแล้ว ว่างๆ ค่อยเล่าต่อ

เจริญพร

พระอาจารย์ครับ....

 

มาตรว่าพลังฝีมือเหล่าจอมยุทธ์ซ่อนตัวเร้นกาย...หมายสร้างคนรุ่นหลังเข้าสู่วงการยุทธจักรได้น่าสะพรึงกล้วปานใด...

 

ข้าน้อยยังเชื่อว่า...ซือแป๋ท่านยังรับมือได้....

โยมขำ

มิบังอาจ ทะลลึกยิ่งนัก ทั้งๆ ที่มองแต่ริมฝั่ง อาจนึกว่าตื้นเขิน

ง่วงหาวนอน เค้าเรียกว่า ถีนมิทธะ แม้ว่าจะฝืนได้ แต่ไม่สามารถเรียงร้อยถ้อยความเป็น กนกล้อเปลวเพลิงได้...

เจริญพร

พระอาจารย์คะ..จริงมั๊ยคะที่ว่า.อุเบกขานี่ยากที่สุดในการปฏิบัติ..โดยส่วนตัวแล้วก็คิดเห็นเช่นนั้น..มีกลวิธอย่างไรคะที่จะทำให้เราวางอุเบกขาจากความทุกข์ของผู้อื่นได้..

เนื่องจากตอนนี้ตัวเองรู้สึกสงสารสัตว์ที่ถูกฆ่าทั้งที่นำมาเป็นอาหารและอื่นๆจนกระทั่งเลิกกินเนื้อสัตว์ไปเกือบทุกชนิดแล้ว..และก็ยังเห็นถึงความทุกข์ของตนเองที่ไม่สามารถช่วยเขาเหล่านั้นได้อีก..มันทุกข์จริงๆค่ะ..

ขอกราบนมัสการพระคุณเจ้าด้วยความเคารพยิ่ง..

 

P

มีคำกลอนของท่านอาจารย์พุทธทาส....

จงยืนกราน สลัดทั่ว “ช่างหัวมัน”

ถ้าเรื่องนั้น เป็นเหตุ แห่งทุกข์หนา

อย่าสำออย ตะบอยจัด ไว้อัตตรา

ตัวกูกล้า ขึ้นเรื่อยไป อัดใจตาย

เรื่องนั้นนิด เรื่องนี้หน่อย ลอยมาเอง

 ไปบวกเบ่ง ให้เห็นว่า จะฉิบหาย

 เรื่องเล็กน้อย ตะบอยเห็น เป็นมากมาย

 แต่ละราย รีบเขวี้ยงขว้าง “ช่างหัวมัน”

เมื่อตัวกู ลู่หลุบ ลงเท่าไร

จะเยือกเย็น ลงไป ได้เท่านั้น

รอดตัวได้ เพราะรู้ใช้ “ช่างหัวมัน”

จงพากัน หัดใช้ ไว้ทุกคนฯ

คุณครูท่องให้จำ หรือเขียนติดไว้ในที่ซึ่งเห็นบ่อยๆ ก็อาจทำให้ซึมลึกได้...

เจริญพร

อย่าลืมว่า อาการนิ่งเฉย หรือ อุเบกขาวางเฉยนั้น คือ อาการหนึ่งของ “งมชักหลบใน”ภายนอกไม่แสดงอาการใด แต่ภายในแข็งเกร็ง สมองอาจขาดออกซิเจน พลาดโอกาสรับทราบของใหม่ และ ขาดปัญญาในของเก่าได้. ผู้มีอาการเช่นนั้น ร่างกายจะหลั่ง อะดีนะรีน แทนการหลั่งสาร เอนโดฟีน. สุขภาพพวกเขาจะย่ำแย่เสื่อมถอย. เราอาจจะช่วยเขาได้. จงเมตตาด้วยความจริงต่อพวกเขาไว้เสมอต้นเสมอปลาย. —– มาช่วยให้พี่น้องชาวไทย เป็นผู้จำนนต่อปรัชญาสันติธรรมกันเถิด(มุสลิม). เพราะ เขาจะปลอดภัยทั้งจิต วิญญาณ ร่างกาย(ทุกๆขันธ์ของเขา) ได้. เมตตาธรรมกันเถิด. นี่ท่านที่ใช้ตัวเลขอะไรนั่น ก็คงมีอาการเช่นว่าแหละ. ช่วยเขานะ อย่าทอดทิ้งเขา.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท