ความรู้ ความประทับใจและประสบการณ์ที่ข้าพเจ้าได้รับจากการฝึกงาน


การฝึกงานเป็นประสบการณ์และเป็นแหล่งความรู้ที่ดีเยี่ยมซึ่งผู้ฝึกงานจะได้ปฏิบัติจริงและยังเพิ่มความเข้าใจมากขึ้นจากการได้เรียนภาคทฤษฎีจากอาจารย์ที่ได้สั่งสอนมา

ในการฝึกงานครั้งที่สองเป็นการฝึกงานรังสีวินิจฉัยพิเศษ ข้าพเจ้าได้มาฝึกงานที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งได้ความรู้จากอาจารย์จากแหล่งฝึกงานนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งการให้ความรู้มีลักษณะเป็นกันเองมาก โดยที่ตอนฝึกงานครั้งแรกข้าพเจ้าได้ฝึกงานเกี่ยวกับรังสีวินิจฉัยธรรมดาที่โรงพยาบาลศูนย์ลำปางและศูนย์มะเร็งจังหวัดลำปางก็ได้ความรู้ของการตรวจทางรัวสีวินิจฉัยพิเศษมาอยู่บ้างซึ่งสิ่งที่สังเกตได้ชัดคือเทคนิคการตรวจแต่ละวิธีจะมีความแตกต่างกันออกไป ซึ่งความแตกต่างเหล่านี้ก็จะมีเหตุผลว่าทำไมต้องมีการตรวจด้วยเทคนิคนั้นๆ โดยขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในหลายๆ ด้านทั้งรังสีแพทย์,สภาพของผู้ป่วย,นักรังสีเทคนิคและปัจจัยอื่นๆ ด้วย ในขณะที่การฝึกงานครั้งนี้ใช้เวลามากกว่าครั้งแรก โดยมีการฝึกทั้งหมด 15 อาทิตย์ ทุกๆ สามอาทิตย์จะมีการเปลี่ยนห้องที่ฝึกงาน

คำสำคัญ (Tags): #practise4
หมายเลขบันทึก: 72139เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2007 17:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 21:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)
สามสัปดาห์แรก ข้าพเจ้าอยู่ที่ห้องฟลูออโรสโคปีและห้องตรวจระบบทางเดินปัสสาวะ (IVP)  ซึ่งมีการผลัดห้องกับธีรพันธ์คนละอาทิตย์ครึ่ง โดยที่ข้าพเจ้าอยู่ห้อง IVP ก่อน ในห้องนี้ผู้ป่วยที่เข้ารับการตรวจเฉลี่ยวันละ 5-6 คน ซึ่งเยอะมากในความรู้สึกของข้าพเจ้า การตรวจนั้นผู้ป่วยจะเข้ามาตรวจที่ละ 2 คน เพราะมี 2 เตียงติดกันต้องมีการ Protection ผู้ป่วยอีกคนที่ไม่ได้ตรวจและต้องมีการจดบันทึกด้วยว่าใครถ่ายไปแล้วกี่นาที ซึ่งเทคนิคที่นี้มีดังนี้ คือ ฟิล์มแรกจะทำการ Scout เพื่อดูอวัยวะผู้ป่วย, เอกโพเชอร์ พิจารณาความเหมาะสมว่าสามารถทำการตรวจต่อไปได้หรือไม่ จากนั้นจะทำการถ่ายภาพรังสีตามเวลาดังนี้คือ ที่ 1, 3, 10, 25 นาที, Full bladder และ Post Voiding  อาจารย์ที่อยู่ประจำห้องสอนได้ดี บอกเหตุผลและวิธีการตรวจได้ดีเช่นกัน  ฿฿฿฿฿฿฿ จากห้อง IVP ก็ได้ย้ายไปอยู่ห้องฟลูออโรสโคปี ซึ่งเป็นห้องตรวจพิเศษทางรังสีต่างๆ เช่น การตรวจระบบทางเดินอาหาร Barium swallowing, GI Study, Long GI Study, Barium Enema และยังมีการตรวจพิเศษชนิดอื่นอีกคือ การตรวจต่อมน้ำลาย (Sialography) , การตรวจระบบสืบพันธุ์เพศหญิง (Hysterosalpingography), ตรวจเส้นเลือดดำ (Venography) และที่สำคัญการตรวจต่อมน้ำตา (Dacryocrystography) เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นและได้ยินที่นี้ ห้องฟลูออโรสโคปีที่ใช้ตรวจมีสองห้องคือห้องเอกซเรย์เบอร์ห้าจะเป็นเครื่องฟลูออโรสโคปีแบบเก่ามากๆ ห้องนี้เหมาะสำหรับการฝึกงานเพราะจะได้ทำเยอะกว่า ส่วนอีกห้องคือห้องเอกซเรย์เบอร์หกจะเป็นเครื่องฟลูออโรสโคปีแบบใหม่มากๆ เป็นแบบดิจิตอล (DSI)  ลักษณะเครื่องมีลักษณะเป็นซีอาร์ม มีเตียงหมุนได้ 360 องศา เมื่อมีผู้ป่วยเข้ารับการตรวจเครื่องนี้ จะให้ผู้ป่วยนอนอยู่บนเตียงแล้วจะทำการรัดตึงผู้ป่วยด้วยสายรัด เมื่อถึงเวลาฟลูก็หมุนเตียงอยากดูอวัยวะใดท่าไหนก็สามารถหมุนเตียงดูได้ ทำให้ข้าพเจ้าสงสารผู้ป่วยมากๆ โดยเฉพาะคนสูงอายุแล้วยังต้องถ่ายท่านอนคว่ำ ซึ่งเหมือนมันจะตกแต่ก็ไม่ตกเพราะข้าพเจ้าได้ลงมาแล้ว ดังนั้นการให้ข้อมูลกับผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญมากเช่นกัน คือต้องมีการบอกผู้ป่วยเสมอว่าจะทำการตรวจอะไร, ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตัวอย่างไรขณะตรวจต้องให้ข้อมูลกับผู้ป่วยเป็นอย่างดี ซึ่งจะทำให้การตรวจมีประสิทธิภาพและสัมฤทธิ์ผลด้วย อีกอย่างเครื่องที่ทันสมัยมากๆ ก็จะมีปัญหาที่ตามมาเสมอคือ เครื่องเกิดมีปัญหา (Error) ขณะตรวจไม่สามารถขยับได้มีปัญหาบ่อยมากับเครื่องนี้ ซึ่งมีเหตุการณ์อยู่ Case หนึ่งผู้ป่วยทำ Barium Enema เมื่อจะถ่าย Overhead ท่า Cross table Prone rectum เครื่องเกิดเสียขึ้นมาทำอย่างไรก็ขยับไม่ได้ต้องช่วยกันเอาคนไข้ลงอย่างทุลักทุเล ถึงกระนั้นเครื่อง DSI ก็มีข้อดีคือ เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานได้รับปริมาณรังสีน้อยลง, ภาพที่ได้มีความชัดเจน, สะดวกในการตรวจ  การตรวจพิเศษนี้ผู้ป่วยที่เข้ารับการตรวจเป็นผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารเป็นส่วนใหญ่ หน้าที่หลักๆของข้าพเจ้าคือทุกเช้าต้องมาปั่นแป้งแบเรียมและเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ในการทำการตรวจ อาจารย์ที่อยู่ประจำห้องเป็นกันเอง อีกทั้งยังมีพยาบาลประจำห้องฟลูออโรสโคปีซึ่งเก่งมากๆ สามารถทำงานแทนนักรังสีได้เลย ซึ่งประสบการณ์และความรู้ทางรังสีไม่น้อยหน้าใครเลย ข้าพเจ้าจึงได้เทคนิคการตรวจต่างๆ จากบุคลลากรประจำห้องนี้มาอย่างมาก และข้าพเจ้าคิดว่าสามารถนำความรู้นี้มาปรับใช้กับสถานที่ทำงานในอนาคตได้เช่นกัน
สัปดาห์ที่สี่ ตอนนี้ได้เปลี่ยนสถานที่การฝึกงานไปอยู่ที่ ศูนย์หัวใจสิริกิต์ จังหวัดขอนแก่นซึ่งไม่ใกล้ไม่ไกลจากโรงพยาบาลศรีนครินทร์ วันแรกที่เข้าฝึกงานไม่รู้จักห้องต้องเดินหาจนเหนื่อยเหมือนกันจนเจอ พอเจอพบกับอาจารย์ที่นั้น พาเดินชมห้องตรวจทั้งสามห้องโดยทั้งสามห้องเป็นห้องตรวจสวนหัวใจและยังมีการทำรังสีร่วมรักษาร่วมกันอีกด้วย ก่อนเข้าห้องต้องมีการเปลี่ยนชุดเขียวทั้งชุด การทำงานมีลักษณะเป็นสหสาขามีทั้ง แพทย์ พยาบาล รังสีเทคนิค เทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก ช่วยเหลือกัน  หน้าที่หลักของข้าพเจ้าคือ ทำการทดสอบความคุมคุณภาพเครื่องฟลูออโรสโคปีโดยเช็คการเคลื่อนที่ของเตียง, หลอดเอกซเรย์, คุณภาพของภาพที่ได้,ความพร้อมของเครื่องมือในการใช้งาน, ช่วยเหลืออาจารย์ Monitor ผู้ป่วย, ลงทะเบียน, ช่วยเตรียม Set เครื่องมือในการตรวจ, ติดเครื่อง Monitor ผู้ป่วยและ เขียนประวัติและผลทางห้องปฏิบัติการบนกระดานพร้อมกับติดฟิล์ม Chest ที่นี้รับนักรังสีเทคนิคมาเป็นคนที่ควบคุมเครื่องและ Monitor ผู้ป่วย ส่วนการมาทำงานห้องนี้ Case มีเยอะมากและการเปลี่ยนชุดไม่สะดวกจึงต้องสั่งซื้ออาหารกลางวันกับป้าแม่บ้านมาทานที่ห้องทำงาน  อาจารย์ที่นั้นให้ความรู้ดี โดยจะสอนให้ดูเส้นเลือดหัวใจในท่าต่างๆ  และยังให้เอกสารมาอ่านซึ่งเกี่ยวกับเครื่องมือและวิธีการตรวจเส้นเลือดหัวใจ ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่าการฝึกงานที่ศูนย์หัวใจสิริกิต์อยู่หนึ่งสัปดาห์ก็เพียงพอในการหาความรู้และประสบการณ์ เพราะงานที่ทำต้องอาศัยบุคลากรที่เชี่ยวชาญและต้องมีการอบรมมาเป็นอย่างดีในการปฏิบัติงาน ซึ่งศาสตร์ทางด้านนี้ต้องมีการช่วยเหลือกันในหลายๆ วิชาชีพ โดยการฝึกงานครั้งนี้เราได้เทคนิคการตรวจจากแหล่งฝึกก็น่าจะเพียงพอแล้ว
สัปดาห์ที่ห้า ห้องตรวจอุบัติเหตุฉุกเฉินที่นี้โรงพยาบาลศรีนครินทร์จะเรียกสั้นๆ ว่าห้อง เออี ได้มาอยู่ห้องนี้มีแต่ภาพสลดใจเพราะเจอแต่ผู้ป่วยที่เกิดอุบัติเหตุ หัวแตก เลือดออก นอนบนเตียง ลุกนั่งไม่ได้ คราวนี้ต้องงัดกลยุทธ์ออกมาใช้ในการจัดท่าเพราะสภาพผู้ป่วยไม่เอื้ออำนวยในการจัดท่าต้องใช้วิชามารสุดๆ เพื่อที่จะได้ภาพทางรังสีในอวัยวะที่แพทย์ต้องการ ห้องนี้นอกจากมีการถ่ายเอกซเรย์เป็น Series แล้วยังมีการออก Portable ไปตามตึกต่างๆ เจอผู้คนมากหน้าหลายตา อาจารย์ประจำห้องให้ข้าพเจ้าปฏิบัติด้วยตัวเอง ท่าไหนที่ยากๆ อาจารย์ก็จะเข้ามาช่วย บางท่าที่ง่ายๆข้าพเจ้าต้องนึกหวนความหลังเมื่อตอนฝึกงานตอนปีสามเพราะเก็บเข้ากุหมดแล้ว นั้นก็คือว่าการได้ฝึกงานห้องนี้ดีมากๆ ทำให้ข้าพเจ้าทบทวนการถ่ายภาพรังสีธรรมดา และเมื่อทำงานจริงจะทำให้สามารถทำได้อย่างคล่องแคล่ว
สัปดาห์ที่หก กลับมายังห้องฟลูออโรสโคปีอีกครั้งแต่ตอนนี้เครื่องที่ใช้ในการตรวจที่เป็นระบบดิจิตอลได้พังเสียแล้วช่างเทคนิคได้เอาชิ้นส่วนไปซ่อมที่กรุงเทพมหานคร ทำให้ห้องที่ตรวจมีห้องเดียวแต่ผู้ป่วยก็เท่าเดิมทำให้เวลาในการรับประทานอาหารกลางวันต้องเลื่อนไปเป็นเที่ยงกว่าๆ ลักษณะงานและหน้าที่ที่ทำก็เหมือนกับสัปดาห์ที่เคยฝึกงานอยู่ห้องฟลูออโรสโคปี แต่การทำงานของข้าพเจ้าเริ่มคล่องขึ้นเพราะรู้เทคนิคและลำดับขั้นตอนในการปฏิบัติงานประจำห้องตรวจนี้แล้ว
สัปดาห์ที่เจ็ดถึงเก้า ห้องเอกซเรย์เบอร์ 7,8 หรือห้องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed Tomography) วันแรกที่เข้าห้องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์รู้สึกสับสนวุ่นวายเพราะเมื่อมองหน้าจอควบคุมเครื่องมีความซับซ้อนหลายขั้นตอนจึงมีความรู้สึกนิดๆ ว่าข้าพเจ้าจะเข้าใจระบบได้ไหม และเมื่อเวลาได้ผ่านไปเรื่อยๆ จึงรู้ว่าระบบไม่ได้มีความซับซ้อนอย่างที่คิดไว้ ซึ่งข้าพเจ้าใช้เวลาไม่ถึงอาทิตย์ก็สามารถเข้าใจระบบของเครื่องซีทีได้ เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่ห้อง 7 เป็นชนิด Multislice CT จำนวน 4 Slice ซึ่งค่อนข้างเร็วแต่ข้าพเจ้าคิดว่าระบบยังมีข้อบกพร่องคือเวลาในการ Reconstruction  ไม่สามารถทำได้ภายในตัว ต้องเสียเวลาในการ Reconstruction ทำให้ไม่สามารถตรวจผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่องได้ ส่วนห้องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เบอร์ 8 เป็นชนิด Spiral CT ซึ่งช้าทำให้ไม่ได้ใช้ในการตรวจอวัยวะเท่าไร ส่วนใหญ่จะทำในกรณีที่ทำการตรวจชิ้นเนื้อ (Biopsy) หน้าที่ความรับผิดชอบในห้องตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ คือ จัดท่าผู้ป่วย, ควบคุมการทำงานของเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ผ่านระบบคอมพิวเตอร์, จัดเตรียมผู้ป่วยก่อนขึ้นตรวจ, ทำการควบคุมคุณภาพของภาพ เทคนิคการตรวจในแต่ละอวัยวะมีความแตกต่างกันออกไป ผู้ป่วยที่เข้ารับการตรวจส่วนใหญ่จะเป็นการตรวจสมอง (Brain) และช่องท้อง (Abdomen) ซึ่งจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการตรวจมีหลายสิบคน ซึ่งการตรวจจะคิดตาม ส่วนที่ต้องการตรวจ  โดยหนึ่งวันจะทำการตรวจทั้งหมดอย่างน้อย 25 ส่วนของอวัยวะที่ตรวจ ซึ่งเทคนิคการตรวจสมองจะจัดท่าให้ผู้ป่วยเอาศีรษะเข้าโดยจะต้องมีเครื่องยึดตึงศีรษะไว้ด้วย ส่วนการตรวจช่องท้องนั้นวิธีการเตรียมตัวก่อนขึ้นตรวจจะพิเศษกว่าการตรวจสมอง คือถ้าเป็นการตรวจช่องท้องส่วนบน (Upper abdomen) จะให้ดื่มน้ำหนึ่งแก้วก่อนขึ้นตรวจ ส่วนการตรวจช่องท้องทั้งหมด ( Whole abdomen) จะให้ผู้ป่วยดื่มน้ำประมาณสามถึงสี่แก้วก่อนตรวจเพื่อให้น้ำอยู่เต็มลำไส้และขยายออกซึ่งจะทำให้เห็นอวัยวะได้ชัดเจนขึ้น ท่าผู้ป่วยก็มีความแตกต่างจากการตรวจสมองคือจะเอาเท้าผู้ป่วยเข้าก่อนโดยมีเบาะรองขาไว้ เมื่อทำการจัดท่าผู้ป่วยเรียบร้อยแล้วก็จะทำการควบคุมระบบโดยจะเข้าไปที่ Register เพื่อกรอกข้อมูลผู้ป่วย อวัยวะที่ต้องการตรวจ ทิศทางการเข้า จากนั้นโปโตคอลที่เราเลือกก็จะขึ้นมาสิ่งแรกที่เครื่องจะทำคือการ Topography  เพื่อกำหนดพื้นที่ในการตรวจ เมื่อได้พื้นที่แล้วจะทำการสแกนในภาพ Precontrast  และถ้ามีกรณีที่มีการฉีดสารทึบรังสีเข้าไปเพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคจะเรียกพยาบาลให้ฉีดในกรณีที่เป็นการตรวจสมองจะทำการฉีดแบบ Bolus แต่ถ้าเป็นช่องท้องจะทำการฉีดโดยใช้เครื่อง Auto Injector ในส่วนของการตรวจช่องท้องต้องมีการคำนึงถึงเวลาในการเคลื่อนที่ของสารทึบรังสีว่าจะไปยังอวัยวะที่ต้องการตรวจด้วย โดยจะต้องคำนวณหา Arterial phase, Portal phase (Venous) และอาจมีการ delay มากกว่า ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็น Hemangioma  ซึ่งจะทำทั้งหมดสาม Phase ข้าพเจ้าว่าเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์มีประโยชน์ทางการแพทย์อย่างมหาศาลช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้ โดยเฉพาะการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของหลอดเลือด ซึ่งภายในตัวเครื่องมีซอฟต์แวร์ที่จะสามารถทำให้เห็นเลือดเลือดโดยเฉพาะได้ คือที่ข้าพเจ้าได้เจอมีผู้ป่วยอยู่หนึ่งคนที่สภาพร่างกายไม่พร้อมที่จะสามารถทำ Angiogram ได้  ก็ส่งไปทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ซึ่งสามารถเห็นรอยโรคได้เช่นกัน แต่ถึงจะมีข้อดีมันก็ข้อเสียเช่นกันคือปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยได้รับจากการตรวจซึ่งมีปริมาณมาก และยังมีซอฟต์แวร์อีกตัวในการทำเทคนิค SSD ช่วยเด็กที่เป็นปากแหว่งเพดานโหว่ที่จะเตรียมพร้อมในการผ่าตัด การให้ข้อมูลคนไข้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกันในห้องตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพราะคนไข้ต้องอยู่คนเดียวในห้องขณะตรวจและเงียบมากและอีกอย่างห้องตรวจมีอุณหภูมิที่ต่ำจึงต้องห่มผ้าให้กับผู้ป่วยจะเป็นการดีมาก  อาจารย์ประจำห้องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เป็นผู้มีความรู้และเชี่ยวชาญทางด้านเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เป็นอย่างมาก ทั้งทางด้านเทคนิคและพยาธิสภาพของโรค ซึ่งอาจารย์ได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับข้าพเจ้ามามากถือได้ว่าเกือบหมดเลยที่เดียวคือ สอนทุกๆ เรื่องทั้งเทคนิคการตรวจ การดูแลผู้ป่วย พยาธิสภาพของโรคและยังให้ปฏิบัติจริงด้วย
สัปดาห์ที่สิบถึงสิบสอง ย้ายมาอยู่ห้องเอกซเรย์เบอร์ 10 ห้องนี้เป็นห้องตรวจ Angiogram และ Intervention ด้วย ห้องนี้ผู้ป่วยที่เข้ารับการตรวจมีหลายอย่างด้วยกันเช่น 4 vessels เป็นการตรวจหลอดเลือดสมองทั้งสี่เส้น คือ Right, Left common carotid artery และ Right หรือ Left vertebral artery เส้นใดเส้นหนึ่งก็ได้พอใส่สาย catheter แล้วก็ทำการฉีดสารทึบรังสี โดยจะถ่ายภาพในท่า Town’s, Oblique และ Lateral, การทำ PTBD (Percutaneous Transhepatic Biliary Drainage ) เป็นการใส่ท่อระบายน้ำดี, Irrigate เป็นการสวนล้างทางเดินของท่อระบายน้ำดี, TOCE (Transarterial Oily Chemoembolization) หลักการคือการนำยาเข้าไปรักษาที่ตัวก้อนเนื้องอกในตับโดยตรง โดยใส่สายสวนหลอดเลือดเข้าทางหลอดเลือดแดงจากบริเวณขาหนีบ แล้วทำการฉีดยาทางเคมีบำบัดรวมกับน้ำมัน (Lipiodol) ซึ่งเนื้องอกจะน้ำมันทำให้ยาสามารถเข้าไปซ่าเซลล์ให้ตายได้, PEI (Percutaneous ethanol injection) เป็นการแทงเข็มเข้าไปบริเวณผิวหนังตรงลงไปก่อนแล้วทำการฉีดแอลกอฮอร์บริสุทธิ์ ซึ่งจะใช้เครื่องอัลตราซาว์ในการดูตำแหน่งของก้อน, CT guide เป็นการนำชิ้นเนื้อไปตรวจซึ่งจะใช้เครื่อง CT ในการดูตำแหน่งของก้อน  ห้องตรวจนี้ต้องมีการขุดคุ้ยเอาความรู้จากการเรียนเรื่องการดูแลผู้ป่วยตอนปีสามมาใช้ซึ่งเน้นๆ คือ การ Sterilize อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการตรวจ โดยหน้าที่หลักของข้าพเจ้าคือ การสครับผู้ป่วย เปิดห่อ Sterilize  เสริฟอุปกรณ์ต่างๆ ควบคุมเครื่องฟลูออโรสโคปี ติดเครื่อง Monitor จัดท่าผู้ป่วย เคลื่อนย้ายผู้ป่วย อาจารย์ที่ควบคุมประจำห้องก็สอนเทคนิคการตรวจ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีพยาบาลประจำห้องซึ่งเก่งมากถามเรื่องเกี่ยวกับการตรวจสามารถตอบคำถามได้หมด ซึ่งมีเอกสารให้อ่านด้วยและมีแนวโน้มข้างหน้าว่าจะทำเป็นแผ่นซีดี ซึ่งจะสะดวกผู้ป่วยและการสอนนักศึกษาฝึกงานอย่างข้าพเจ้าอีกด้วย
สวัสดีปีใหม่ปีหมู ที่แสนจะสดใสปีนี้มีวันหยุดติดต่อกันสี่วัน ข้าพเจ้าไม่ได้กลับบ้านเพราะระยะทางไกลและคนยังมีจำนวนมากในการนั่งรถโดยสารประจำทาง ข้าพเจ้าจึงทำตนให้มีประโยชน์โดยมาเข้าเวรเช้า บ่ายและดึกกับพี่ซึ่งคนไข้ที่มาส่วนใหญ่จะมาด้วยการเลือดตกยางออก และก็เด็กเล็กซึ่งมาด้วยอาการปวดท้อง ถ้าเทียบกับวันหยุดธรรมดาทั่วไปคนไข้เยอะมาก ซึ่งทำให้ได้รับประสบการณ์การขึ้นเวรเพิ่มอีกว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นและจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรกับคนไข้
สัปดาห์ที่สิบสามถึงสัปดาห์ที่สิบห้า ซึ่งเป็นห้องสุดท้ายที่จะได้เข้ารับการฝึกงาน ห้องนี้คือห้องตรวจเครื่องสนามแม่เหล็ก (MRI) ลักษณะของเครื่องจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับห้องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ แต่หลักการทำงานของเครื่องจะแตกต่างกันและระยะเวลาในการตรวจของเครื่อง MRI จะใช้เวลาในการตรวจนานมากกว่าซึ่งอย่างต่ำประมาณครึ่งชั่งโมง การทำงานห้องนี้ก่อนอื่นต้องมีการถอดโลหะต่างๆ ออกให้หมดทั้งนาฬิกา,โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ต่างๆ เพราะจะทำให้อุปกรณ์ เหล่านั้นเสียหายและถ้าเป็นเศษโลหะขนาดเล็กอาจถูกดูดเข้าไปในอุโมงค์ตรวจได้ เมื่อผู้ป่วยมารับการตรวจจะต้องให้ผู้ป่วยเปลี่ยนชุดให้เป็นชุดโรงพยาบาลในทุกกรณีที่เข้ารับการตรวจ อีกทั้งต้องถอดโลหะออกจากตัวให้หมด และจะต้องมีการคัดกรองผู้ป่วยเสมอก่อนเข้ารับการตรวจ เมื่อคัดกรองผู้ป่วยเสร็จแนะนำการปฏิบัติตนขณะเข้าตรวจว่าต้องอย่างไรแล้วนำผู้ป่วยเข้าห้องตรวจซึ่งเทคนิคเชี่ยนต้องเลือก Coil ให้เหมาะสมกับอวัยวะที่ตรวจ เทคนิคการจัดท่ามีหลักการว่าถ้าต้องการตรวจอวัยวะอะไรให้จัด Center ให้ตรง แล้วกดปุ่ม Landmark  ต่อด้วย Advance  เครื่องจะเลื่อนตัวผู้ป่วยเข้าไปภายในอุโมงค์โดยอัตโนมัติ จากนั้นต้องไปควบคุมเครื่องที่ห้อง Console ซึ่งหน้าจอของเครื่องควบคุมจะเป็นสีดำและตัวหนังสือเป็นสีแสด โดยเราสามารถสั่งเครื่องทำงานได้โดยใช้นิ้วจิ้มบนหน้าจอสัมผัส เลือกโปรโตคอลต่างๆ ตามอวัยวะที่ต้องการตรวจ วันจันทร์นั้นจะเป็นวันเด็กแห่งชาติซึ่งผู้ป่วยจะเป็นเด็กทั้งนั้น แต่เด็กในสภาวะปกติไม่สามารถนอนอยู่นิ่งๆ ได้ไม่นาน ซึ่งการตรวจเครื่อง MRI เป็นสิ่งที่จำเป็น ดังนั้นจึงต้องมีหมอวิสัญญี หรือหมอดมยามาทุกๆ วันจันทร์ ข้าพเจ้าได้รับรู้ถึงความรู้สึกของผู้ป่วยเป็นอย่างดีเพราะว่า ได้เข้าตรวจ MRI Brain รวมถึงทำ MRA ด้วยเป็นการตรวจที่ค่อนข้างทรมานต้องนอนอยู่นิ่งในอุโมงค์แคบๆ ตอนมีเสียงดัง (ดังมาก) ไม่ให้กลืนน้ำลาย นอนอย่างนี้ไปประมาณเกือบชั่วโมง เมื่อตรวจเสร็จเหงื่อไหลออกเต็มตัวเลย ทั้งที่ภายในห้องตรวจมีอุณหภูมิที่ต่ำ วันหนึ่งๆ จะมีผู้ป่วยมาทำการตรวจประมาณ 7-8 คน ซึ่งจะเป็นจำนวนที่พอดีในการตรวจหนึ่งวัน อาจารย์ที่ควบคุมประจำห้อง เป็นผู้ที่ทรงความรู้ทางด้าน MRI เป็นอย่างมาก ทำให้สามารถตอบคำถามและสอนได้ทุกๆ เรื่อง ทั้งเทคนิคและความรู้ฟิสิกส์พื้นฐานทางเครื่อง MRI และวันสุดท้ายของการฝึกงาน อาจารย์ประจำห้องให้ลงมือปฏิบัติจริงๆ  โดยให้ควบคุมเครื่องซึ่งทำในผู้ป่วยที่มาตรวจ MRI Brain และ MRA

สรุป การมาฝึกงานที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ระยะเวลา 15 สัปดาห์ เป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่าเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นแหล่งที่เหมาะสมในการฝึกงานเพราะเหมาะสมทั้งทางด้านบุคลากร, เครื่องมือ และจำนวนคนไข้ที่เข้ารับการตรวจ และขอขอบพระคุณทุกๆ ท่านที่เกี่ยวข้องกับการฝึกงานในครั้งนี้มากๆ ครับ
 การตรวจต่อมน้ำตาไม่มีใครตรวจมานานแล้วขั้นตอนและวิธีการตรวจทำอย่างไรบ้าง และมีข้อบ่งชี้อย่างไรอยากทราบครับ ขอบคุณ

เรียนเก่งจังเลย

เก่งจังค่ะ เขียนบรรยายได้ยาวด้วย

สาระมากมายค่ะ

ไปฝึกงานมาแล้วเหมือนกัน อาทิตย์แรกทำห้อง IVP แหละแล้วถ่ายภาพไม่สวย กลัวพี่เค้าจะดุมากเลย แต่พี่เค้าที่คุมฝึกงนก็ไม่ว่าไรแต่เรามัน...เอง เลยร้องไห้เลยอ่ะ พี่เค้าเลยชอบล้อว่าขี้แย ว่าไปตอนฝึกงานร้องไห้ไปหลายรอบอ่ะ มันกลัวว่าจะทำได้ไม่ดีเลย เป็นกันบ้งมั้ยอ่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท