กินข้าวตามเงื่อนไขของเวลา


การทำตามเงื่อนไขบางอย่างก็อาจจะเป็นผลดีกับสุขภาพถ้าเงื่อนไขนั้นถูกต้อง....

    วันนี้ ลุงที่มาช่วยทำงานบอกว่าจะไปกินข้าวกลางวัน เมื่อตอนเวลา 10 น.เช้า

ฟังตอนแรกก็นึกว่า ลุง คงหิวข้าวมั้ง เลยขอพักกลางวันเร็วกว่าปกติ

ถามลุงว่า หิวข้าวเหรอคะ

ลุงตอบว่า เปล่า แต่เห็นว่า นาฬิกาที่ลุงสวม มันเที่ยงแล้ว

รู้สึก งง เล็กน้อยค่ะ เลยขอดูนาฬิกา ปรากฏว่า นาฬิกาของลุงเขาตั้งไว้เร็วไป 2 ชั่วโมง (เอ๊ะหรือว่านาฬิกาตาย...ลืมดูให้ชัดเจน)

บอกลุงว่า ตอนนี้ 10 โมงนะคะ

ลุงเขาก็หยิบกล้วยไปทาน 1 ลูกและ ทำงานต่อ

แต่ด้วยความที่กลัวเขาเกรงใจไม่กล้าหยุดไปพักถ้าเขาหิวจริงๆ เลยถามย้ำว่า ลุงหิวก็หยุดนะ ลุงก็บอกซ้ำว่า เห็นนาฬิกามันเที่ยงก็เลยจะหยุดกินข้าว

เลยเอาขนมกับน้ำไปให้บอกลุงว่า เผื่อลุงจะได้กิน แต่ลุงก็ไม่กิน เก็บเอาขนมกลับไปกินกับภรรยาที่บ้านตอนเที่ยง

ลักษณะแบบนี้เคยเจอในเพื่อนร่วมงานหลายๆคนเหมือนกันคือ ถ้าไม่ดูนาฬิกาก็ไม่รู้สึกหิว  พอเห็นนาฬิกาบอกเวลาอาหารก็รู้สึกหิว

มานึกดูว่าคนเรานี้อาจกำหนดเงื่อนไขบางอย่างจนเกิดความเคยชิน อย่างเรื่องหิวเมื่อดูนาฬิกานี่เป็นเงื่อนไขอย่างหนึ่งเหมือนกัน

  ความจริงการทำตามเงื่อนไขบางอย่างก็อาจจะเป็นผลดีกับสุขภาพถ้าเงื่อนไขนั้นถูกต้องนะคะ เช่นการกินเป็นเวลา แต่ถ้าตั้งเวลาผิดหรือนาฬิกาตายแล้วไม่ดูชัดๆ ก็กลายเป็นการทำตามเงื่อนไขแบบผิดๆโดยไม่รู้ตัวไปเลยก็ได้ค่ะ

ไม่ทราบท่านอื่นๆ เคยเป็นไหมคะ

คำสำคัญ (Tags): #awareness#self#เงื่อนไข
หมายเลขบันทึก: 72123เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2007 15:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 01:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
ดีจังเลยครับ ตรงข้ามกับนายบอนเลย
พอถึงเวลาเที่ยง ไม่ว่าจะเห็นเวลาจากนาฬิกาหรือไม่ก็ตาม ถ้าทำกิจกรรมอะไรติดพันอยู่ ก็จะนั่งทำต่อไป เรื่องทานข้าว เอาไว้ก่อน ทำให้หลายครั้ง ทานข้าวเที่ยงตอนบ่ายโมงบ้าง บ่ายสามโมงบ้าง หรือ ยกยอดไปทานช่วงอาหารเย็นไปเลย

ถ้าปรับพฤติกรรมตัวเอง ให้ทานข้่าวได้ตามเงื่อนไขเวลา คงจะดีไม่น้อย แต่ความเคยชินส่วนตัว จนล่วงเลยเวลาอยู่ตลอดครับ

อันนี้ขอมองต่างมุมครับ

ผม(กำลัง)พัฒนาตัวเองก้าวข้ามเส้นนั้นมา และทำได้พอสมควรแล้วคือ

ขั้นที่ ๑ ทำตามเงื่อนไขเวลา

ขั้นที่ ๒ ปรับตัวไม่เป็นทาสเวลา หรือความง่วงที่ไม่จริง หรือความหิวปลอมๆ

ขั้นที่ ๓ นอน กิน ตามความจำเป็น ให้ร่างกายอยู่ใต้จิตใจ

ในขั้นที่ ๓ นี้จะไม่ง่วงแบบไร้สาระ และไม่หิวแบบบ้าบอคอแตก

เวลารู้สึกว่าหมดแรงหรือหิวนิดๆ ผมจะใช้จิตคุมไว้โดยพิจารณาว่าหิวจริงหรืหิวปลอม

คลำพุงก็รู้แล้วว่าพลังงานสำรองยังเหลือ แสดงว่าหิวปลอม หรือเพิ่งตื่นมาหลังจากนอน แล้วง่วงก็รู้ว่าง่วงปลอม

อะไรที่ปลอมๆ ก็อย่าไปยอม แล้วก็ปรับตัวได้จนชินไปเอง

ทำอย่างนี้จะไม่มีปัญหาตอนขึ้นเครื่องไปต่างประเทศ

เราสามารถปรับได้ทันที แต่ผมจะใช้นาฬิกาช่วยในตอนแรกๆ สักวันสองวันก็ลงตัว

ผมพบว่า ปล่อยให้ลอยตัวไม่เป็นทาสเวลาดีกว่าครับ ไม่หิว ไม่ง่วง ไม่เครียด ไม่กังวล

เหนื่อยก็พักตามสมควร เท่านั้นเอง

ขอบคุณครับ

ขอบคุณค่ะ นายบอน!-กาฬสินธุ์ และดร. แสวง รวยสูงเนิน

ดีค่ะที่ไม่มีสิ่งแวดล้อมภายนอกมากำหนดความต้องการภายใน

มีเพื่อนที่ทำงานหลายคนก็เหมือนคุณบอน คืองานไม่เสร็จก็ทำไปเรื่อยๆ เขาบอกว่ามีสมาธิเลยไม่หิว

ชอบที่อาจารรย์แสวงบอกว่า

"คลำพุงก็รู้แล้วว่าพลังงานสำรองยังเหลือ แสดงว่าหิวปลอม หรือเพิ่งตื่นมาหลังจากนอน แล้วง่วงก็รู้ว่าง่วงปลอม"

เอาไปลองทำตามอยู่หลายวัน...ใช้ได้ดีทีเดียวค่ะ

 

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท