รักให้ดีด้วยอีคิว


เป้าหมาย : ให้เด็กวัยรุ่นเกิดวุฒิภาวะทางอารมณ์ เสริมสร้างจิตใจให้เข้มแข็ง รู้จักควบคุมและยับยั้งชั่งใจในเรื่องเพศ และในรายที่มีศักยภาพ พร้อมจะพัฒนาตนเองให้เป็นที่พิงพาหรือที่ปรึกษาแก่เพื่อน ๆ อีกต่อหนึ่ง แต่ก็มิใช่ใช้วิธีการฝืนธรรมชาติแห่งวัย ปิดกั้นตัวเองจากการคบหาเพื่อนต่างเพศ แต่กลับส่งเสริมให้อยู่ร่วมกันและสร้างมิตรภาพที่ดีซึ่งกันและกัน

รักให้ดีด้วยอีคิว

 

1. คำสำคัญ : เอดส์, เพศศึกษา, เพศสัมพันธ์, วัยรุ่น, เยาวชน, กิจกรรมค่าย, อีคิว

 

2. จังหวัด : กรุงเทพฯ

 

3. กลุ่มเป้าหมาย : เด็กนักเรียนภายในโรงเรียนภาคี “เครือข่ายเยาวชนไทยต้านภัยเอดส์”

 

4. เป้าหมาย : ให้เด็กวัยรุ่นเกิดวุฒิภาวะทางอารมณ์ เสริมสร้างจิตใจให้เข้มแข็ง รู้จักควบคุมและยับยั้งชั่งใจในเรื่องเพศ และในรายที่มีศักยภาพ พร้อมจะพัฒนาตนเองให้เป็นที่พิงพาหรือที่ปรึกษาแก่เพื่อน ๆ อีกต่อหนึ่ง  แต่ก็มิใช่ใช้วิธีการฝืนธรรมชาติแห่งวัย ปิดกั้นตัวเองจากการคบหาเพื่อนต่างเพศ แต่กลับส่งเสริมให้อยู่ร่วมกันและสร้างมิตรภาพที่ดีซึ่งกันและกัน

 

5. สาระสำคัญของโครงการ : ความสัมพันธ์ต่างเพศของเด็กวัยรุ่นที่ยังอยู่ในวัยเรียน ถือเป็นเรื่องน่าห่วงใยในสายตาของผู้ใหญ่ทั่วไป ยิ่งในสภาพตึงเครียดทางสังคมและเศรษฐกิจยุคปัจจุบัน ซึ่งเพียบพร้อมด้วยสิ่งยั่วยุทางอารมณ์อันดาษดื่น ซ้ำเติมด้วยปัญหาโรคเอดส์และปัญหาหลังมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ระวังป้องกัน ทำให้ชีวิตวัยรุ่นเต็มไปด้วยความสุ่มเสี่ยงยิ่งนัก

            ในช่วงปี 2546 นั่นเอง เกิดข่าวครึกโครมที่เด็กนักเรียนชายคนหนึ่งเอาปืนของพ่อตนเอง ไปยิงนักเรียนหญิงซึ่งเป็นแฟนของตัวเองพร้อมด้วยญาติตายทั้งบ้าน ตอกย้ำให้เห็นว่าเด็กวัยรุ่นกำลังเผชิญปัญหาความมั่นคงทางอารมณ์ ไม่อาจระงับยับยั้ง หรือชั่งใจไตร่ตรองหาทางออกชีวิตในทางที่ถูกควรได้ ทางเครือข่ายเยาวชนไทยต้านภัยเอดส์จึงหยิบประเด็น “อีคิว” มาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อพัฒนาปรับปรุงให้ชีวิตวัยเยาว์มีโลกที่เปิดกว้าง สร้างมุมมองใหม่ต่อชีวิต ตระหนักในคุณค่าของตนและบุคคลอื่น หาใช่หมกหมุ่นอยู่ในโลกส่วนตัวแต่เพียงอย่างเดียว

 

6. เครื่องมือที่ใช้ ; จัดกิจกรรมค่ายพักแรมโดยมีกิจกรรมหลักสองส่วน ได้แก่ 1) บรรยายทางวิชาการ ส่วนใหญ่จะเป็นความรู้เรื่องทางเพศ เพศสัมพันธ์ ความคิดความเชื่อในเรื่องเพศ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์รวมทั้งวิธีป้องกัน เป็นต้น วิทยากรส่วนใหญ่จะเป็นอาจารย์ประจำเครือข่ายเสริมด้วยผู้รับเชิญที่มีชื่อเสียงภายนอก 2) กิจกรรมนันทนาการ เป็นการสอดแทรกเนื้อหาและประสบการณ์ชีวิตผ่านการละเล่นในฐานกิจกรรมต่าง ๆ  งานส่วนนี้จะอยู่ในความรับผิดชอบของนักเรียนแกนนำของเครือข่ายฯ

                       

7. การจัดระบบ โครงสร้าง กระบวนการทำงาน : เครือข่ายเยาวชนไทยต้านภัยเอดส์เป็นการรวมกลุ่มอย่างหลวม ๆ ของอาจารย์และนักเรียนจากโรงเรียนในกรุงเทพฯ ที่สนใจวิถีชีวิตวัยรุ่น มีจิตใจรักงานกิจกรรมนอกหลักสูตรการศึกษา มองเห็นหนทางที่จะส่งเสริมพัฒนาศักยภาพของเด็ก มากกว่าจะตีตราว่าเป็นเพียงตัวปัญหา แกนนำในการทำงานเป็นอาจารย์และนักเรียนภายในเครือข่าย อาจมีการขอความร่วมมือจากผู้สนับสนุนภายนอกบ้างในลักษณะความร่วมมือทางวิชาการ

            เนื่องจากเครือข่ายฯ ได้ก่อตั้งมาตั้งแต่  2538 ทำให้เกิดความสัมพันธ์แน่นแฟ้น ทั้งในหมู่อาจารย์ ที่แม้บางโรงเรียนอาจจะมีปัญหาภายใน อาจารย์บางคนไม่อาจปลีกเวลาให้งานเครือข่ายฯ ได้อย่างเต็มที่ แต่ก็สามารถร่วมมือมุ่งมั่นทำงานจนลุล่วงได้ด้วยดี ทั้งในหมู่นักเรียน ที่แม้จะเป็นการร่วมงานข้ามโรงเรียน ซึ่งย่อมเกิดปัญหาความไม่เข้าใจกันเป็นธรรมดา แต่ด้วยวัฒนธรรมการทำงานที่หล่อหลอมสืบทอดมาจากรุ่นต่อรุ่น มีอาจารย์เป็นแกนหลักในการเชื่อมสานสร้างความเข้าใจ ทำให้เด็กนักเรียนกลุ่มนี้เป็นหัวใจสำคัญของเครือข่ายฯ

 

8. ขอบเขตและระยะเวลาดำเนินโครงการ : ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2546 จนถึง 20 กันยายน 2547 มีเด็กนักเรียนเข้าร่วมประมาณ 100 คน

 

9. การประเมินผลและผลกระทบ : ไม่มีการดำเนินการอย่างเป็นทางการ แต่อาจารย์จะได้รับฟังเด็กนักเรียนบางคนเล่าถึงประสบการณ์ที่เป็นที่ปรึกษาให้กับเพื่อน เมื่อเขาเกิดปัญหาเกี่ยวกับคนรักหรือเรื่องทางเพศอยู่เสมอ

 

10. ความยั่งยืน : เครือข่ายยังคงจัดกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่อง แต่เริ่มเน้นมาสู่ประเด็นให้เด็กนักเรียนของเครือข่ายสามารถให้คำปรึกษาปัญหาเรื่องเพศแก่เพื่อนได้ เพราะอาจารย์เห็นว่าเด็กวัยเดียวกันย่อมมีความไว้วางใจกันมากกว่าจะมาปรึกษากับอาจารย์

 

11. จุดแข็งและอุปสรรค : อาจารย์และนักเรียนที่มารวมตัวทำงานเครือข่ายมีความสนใจในประเด็นร่วมกัน อีกทั้งงานเครือข่ายฯ เป็นพื้นที่ที่เปิดเสรีรับต่อวัฒนธรรมที่แตกต่างของแต่ละโรงเรียน ทำให้แต่ละคนรู้สึกว่างานค่ายครั้งนี้เป็นงานของพวกเขาเอง มิได้เป็นเพียงรับงานโปรเจ็กของแหล่งทุนมาทำงานแล้วประเมินผล ยิ่งไปกว่าใน กิจกรรมของเครือข่ายฯ ช่วยกระตุ้นบรรยากาศการทำงานกิจกรรมภายในโรงเรียนผ่านกิจกรรมขยายผล ซึ่งนักเรียนที่มาเข้าค่ายจะต้องนำเนื้อหาหรือความรู้ที่ได้ไปจัดกิจกรรมภายในโรงเรียนของตน ตามรูปแบบที่เหมาะสมของแต่ละแห่ง ทำให้เกิดการเชื่อมโยงจากเด็กกลุ่มหนึ่งไปสู่เด็กอีกกลุ่ม

            สำหรับอาจารย์แล้ว พื้นที่ในเครือข่ายฯ จะเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับเด็กในโรงเรียน อาจารย์จากต่างโรงเรียนสามารถนำกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้น ไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาของแต่ละแห่ง

            อย่างไรก็ตาม การทำงานระหว่างโรงเรียนเป็นเรื่องยากลำบาก นอกจากความห่างไกลของที่ตั้งแล้ว ยังเกี่ยวกับตารางงานประจำปีของแต่ละโรงเรียน การหาเวลาว่างให้ตรงกันเพื่อจัดกิจกรรมค่ายพักแรมจึงไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากนี้ผู้บริหารโรงเรียนบางแห่งก็ไม่ให้ความสนใจ เพราะถือว่าเป็น “งานนอก” ไม่ได้เป็นกิจกรรมที่สังกัดต้องรับผิดชอบดูแล ในส่วนของเด็กนักเรียนซึ่งประกอบด้วยเด็กหลายกลุ่ม ทั้งเด็กที่เรียนหนังสือโดดเด่นและธรรมดา เด็กที่มาจากโรงเรียนใหญ่มีชื่อและโรงเรียนธรรมดา ทำให้เกิดความคิดเห็นที่ไม่ลงรอยกันบ้าง

                                 
หมายเลขบันทึก: 72081เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2007 13:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท