โครงการประชารัฐร่วมใจปฏิรูปสุขภาพและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม


เป้าหมาย: เสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ประชาคมและชุมชนท้องถิ่นในลุ่มน้ำหนองหาน ด้วยกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของคนในชุมชน เพื่อให้เกิดความร่วมมือของภาคีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการจัดการสุขภาพของคนในชุมชน และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในบึงหนองหานให้ดียิ่งขึ้น ทั้งในระดับครอบครัวและระดับชุมชน เกิดสุขภาวะในชุมชนอย่างยั่งยืน

โครงการประชารัฐร่วมใจปฏิรูปสุขภาพและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

 

1.คำสำคัญ: กระบวนการเรียนรู้ การมีส่วนร่วม

 

2.จังหวัด: อุดรธานี

 

3.กลุ่มเป้าหมาย: ประชาชน ผู้นำชุมชน อาสาสมัครหมู่บ้าน กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มเยาวชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในชุมชนลุ่มน้ำหนองหาน ประกอบด้วย ตำบลเชียงแหว หมู่ 1 2 3 4 5 7 10 และ 11 ตำบลแซแล หมู่ 10 11 และ 12 ตำบลกุมภวาปี บ้านดอนแก้ว ตำบลพันดอน บ้านดงเมือง บ้านเวียงคำนาแยก และบ้านยางหล่อ

 

4.เป้าหมาย: เสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ประชาคมและชุมชนท้องถิ่นในลุ่มน้ำหนองหาน ด้วยกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของคนในชุมชน เพื่อให้เกิดความร่วมมือของภาคีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการจัดการสุขภาพของคนในชุมชน และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในบึงหนองหานให้ดียิ่งขึ้น ทั้งในระดับครอบครัวและระดับชุมชน เกิดสุขภาวะในชุมชนอย่างยั่งยืน

 

5.สาระสำคัญของโครงการ:ผลกระทบจากการดำเนินโครงการโขง ชี มูล หรือโครงการอีสานเขียว เพื่อกักเก็บน้ำให้กับชาวอีสาน ด้วยการก่อสร้างคันดินรอบหนองหาน แต่เนื่องจากหนองหานเป็นพื้นที่ราบลุ่มต่ำจึงเอื้อต่อการรองรับสิ่งปฏิกูลจากชุมชนที่อาศัยอยู่โดยรอบกว่า 60 ชุมชน การก่อสร้างคันดินที่เชื่อมระหว่างบึงหนองหานกับแม่น้ำลำปาว (บึงหนองหานเป็นต้นน้ำของแม่นำลำปาว) มีผลต่อการไหลเข้า-ออกของน้ำที่ไหลเข้าสู่บึงหนองหานต้องหันเหเปลี่ยนทิศทาง ทำให้บึงหนองหานเกิดความตื่นเขิน ทุกวันนี้หนองหานเต็มไปด้วย สนม หรือวัชชพืชที่อุดตันปิดกั้นเส้นทางคมนาคมซึ่งกินพื้นที่นับพันไร่ ขณะที่บึงหนองหานมีพื้นที่กว้างประมาณ 2 หมื่นไร่ สภาพอุดตันดังกล่าวยิ่งซ้ำเติมก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังนาข้าวของชาวบ้าน โดยมีพื้นที่บางแห่งเสียหายจนไม่สามารถทำการเพาะปลูกข้าวได้ในฤดูฝน

            สภาพปัญหาดังกล่าว สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (แอลดีไอ) จึงเสนอขอทุนสนับสนุนดำเนินโครงการประชารัฐร่วมใจปฏิรูปสุขภาพและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อศึกษา วิจัย และวิเคราะห์สภาพของบึงหนองหานอย่างจริงจัง โดยมีศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาสุขภาพภาคประชาชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มาสานต่อโครงการในภายหลังจนเสร็จสิ้นโครงการฯ แทนนักวิชาการที่ดำเนินโครงการฯ ให้กับแอลดีไอในช่วงแรกๆ ทั้งนี้เพื่อหาหนทางฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในบึงหนองหานให้กลับคืนมา 

 

6.เครื่องมือที่ใช้: ผ่านกิจกรรมหลักๆ คือ 1.1 สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับแกนนำชาวบ้าน โดยการจัดให้แกนนำชาวบ้านแบ่งกลุ่มลงพื้นที่เก็บข้อมูลในบึงหนองหาน กลุ่มหนึ่งสำรวจพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ อีกกลุ่มหนึ่งสำรวจสภาพพื้นที่ของบึงหนองหานทั้งหมด 1.2 จัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้าน โดยแต่ละตำบลแยกกันจัด เพื่อให้แกนนำชาวบ้านได้นำเสนอข้อมูลและเปิดโอกาสให้ชาวบ้านแสดงความคิดเห็นจาก หลังจากนั้นให่แต่ละตำบลจัดเวทีย่อยขึ้นอีกตำบลละ 1 ครั้ง เพื่อร่วมกันวางแผนงานอนุรักษ์บึงหนองหาน

            ทั้ง 2 กิจกรรม เป็นการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นในชุมชน โดยเริ่มต้นจากการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับแกนนำชาวบ้าน เพื่อให้แกนนำชาวบ้านได้สัมผัสและรับรู้ข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพปัญหาของบึงหนองหานด้วยตนเอง อาทิ เช่น แกนนำชาวบ้านได้เรียนรู้ว่าชนิดของพันธุ์ปลา หรือพันธุ์พืช ที่มีอยู่ในบึงหนองหานในปัจจุบัน แต่ละชนิดมีปริมาณมากขึ้นหรือลดน้อยลงอย่างไร หลังจากรับรู้ข้อมูลก็นำความรู้นั้นมานำเสนอต่อชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อให้รับรู้ข้อมูลร่วมกัน และนำไปสู่การมีส่วนร่วมของชุมชนโดยการวางแผนเพื่ออนุรักษ์บึงหนองหาน  

 

7.การจัดระบบ โครงสร้าง กระบวนการทำงาน: ผู้รับผิดชอบและนำเสนอโครงการฯ ต่อสสส.คือ แอลดีไอ ซึ่งมอบหมายให้นักวิชาการลงพื้นที่เก็บข้อมูลในบึงหนองหาน กระทั่งเปลี่ยนมือให้ไปอยู่ในความรับผิดชอบของศูนย์ฝึกอบรมฯ ระยะแรกของการดำเนินโครงการฯ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน เจ้าหน้าที่ศูนย์ฝึกอบรมฯ เพียงลงไปจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับแกนนำชาวบ้าน  จนกระทั่งผ่านกระบวนการเรียนรู้และเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกในชุมชน ก่อนจะร่วมกันกำหนดออกมาเป็นแผนงานอนุรักษ์บึงหนองหาน หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ศูนย์ฝึกอบรมฯ ก็เปิดโอกาสให้แกนนำชาวบ้าน และสมาชิกในชุมชนดำเนินกิจกรรมกันเองตามแผนงานที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากทุกฝ่ายในชุมชน โดยมีผู้ประสานงานในพื้นที่ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำสถานีอนามัย และผู้บริหารโรงเรียนบ้านเดียม คอยทำหน้าที่เป็นแกนหลักในการกระตุ้น ให้คำปรึกษา และคำชี้แนะแก่ชาวบ้านอย่างใกล้ชิด

 

8.ขอบเขตและระยะเวลาดำเนินโครงการ: ระยะเวลา  1 ปี หว่างเดือนมิถุนายน 2546 - พฤษภาคม 2547 โดยดำเนินการกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในชุมชนลุ่มน้ำหนองหานซึ่งสมัครใจเข้าร่วมกิจกรรม ประกอบด้วย ต.เชียงแหว หมู่ที่ 1 2 3 4 5 7 10-11 ต.แซแล หมู่ที่ 10-12 บ้านดอนแก้ว ต.กุมภวาปี และต.พันดอน บ้านดงเมือง บ้านเวียงคำนาแบก และบ้านยางหล่อ จ.อุดรธานี 

9.การประเมินผลและผลกระทบ: ชุมชนเกิดความตระหนักและหวงแหนบึงหนองหานซึ่งถือเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของชุมชนและหันมาร่วมมือกันอนุรักษ์บึงหนองหานผ่านกิจกรรมต่างๆ  โดยมีแกนนำหลักของชุมชน คือ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเดียม กับนักวิชาการสาธารณสุข 7 ประจำสถานอนามัยเชียงแหว คอยให้คำแนะนำและกระตุ้นให้กิจกรรมต่างๆ ของโครงการฯ เกิดความต่อเนื่อง ขณะที่ผู้อำนวยการร.ร.บ้านเดียมเล็งเห็นความสำคัญของการประชาสัมพันธ์เผยแพร่กิจกรรม จึงดำเนินการจัดทำเวปไซด์ร.ร.บ้านเดียมเพื่อทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมให้สาธารณชนวงกว้างรับรู้และรู้จักบึงหนองหาน รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ ของโครงการฯ

            อย่างไรก็ดี หลังปิดโครงการฯ ไม่มีการประเมินผลโครงการฯ จากผู้รับผิดชอบโครงการฯ 

 

10.ความยั่งยืน:กิจกรรมต่างๆ ของโครงการฯ ยังคงดำเนินการอยู่จนถึงปัจจุบัน ประกอบด้วย กิจกรรมหลักๆ คือ  หมู่บ้านโฮมสเตย์ การจัดให้มีการลงเรือเพื่อชมบัวแดงบานในบึงหนองหาน ซึ่งผลิบานปีละ 1 ครั้ง ในช่วงฤดูหนาว (ต.ค.-ก.พ.) และการกำหนดเขตอภัยทานห้ามจับสัตว์น้ำ ซึ่งกำหนดห้ามให้ช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย.ของทุกปี ห้ามชาวบ้านใช้ตาข่ายที่เล็กกว่า 3.5 เซ็นติเมตร จับปลาในบึงหนองหาน โดยเฉพาะปลาลูกคอก หรือปลาช่อน ซึ่งชุกชุมมากในช่วงระยะเวลาดังกล่าว 

 

11.จุดแข็งและอุปสรรค: ชาวบ้านมีส่วนร่วมในโครงการฯ อย่างแท้จริง ขณะเดียวกัน แกนนำของชาวบ้าน (ผอ.ร.ร.บ้านเดียมและนักวิชาการสาธารณสุข) ก็มีศักยภาพ มีความมุ่งมั่น สามารถสร้างศรัทธาให้ชาวบ้านดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญที่จะทำให้โครงการฯ เกิดความต่อเนื่องอย่างยั่งยืนคือ การพัฒนาข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่วิจัยบึงหนองหานซึ่งจัดทำอยู่ทุกปีโดยหน่วยงานภาครัฐ และสถานการศึกษาหลายแห่ง ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ท.ท.ท.) ควรให้ความสำคัญกับบึงหนองหานมากขึ้น โดยการประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนรับรู้เช่นเดียวกับพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นๆ 

 

12.ที่ติดต่อ: โรงเรียนบ้านเดียม สถานีอนามัยเชียงแหว

หมายเลขบันทึก: 72078เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2007 13:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ทุกวิธีการเรียนรู้ น่าจะนำผู้นำชุมชนไปศึกษาดูงานของแต่ละชุมชน เพื่อเป็นแนวทางในการนำมาพัฒนาชุมชนค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท