โครงการฟื้นฟูสุขภาพองค์กรชุมชน


เป้าหมาย :เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค จัดตั้งศูนย์อนุรักษ์พันธุ์พืชพื้นบ้าน สร้างวิทยากรชาวบ้าน

โครงการฟื้นฟูสุขภาพองค์กรชุมชน

โดยการบริโภคผักพื้นบ้านอาหารพื้นเมือง

 

1.คำสำคัญ :    ผักพื้นบ้านอาหารพื้นเมือง ,ฟื้นฟูสุขภาพองค์กรชุมชน

 

2.จังหวัด : พะเยา

 

3.กลุ่มเป้าหมาย : กลุ่มเกษตรผสมผสานปลอดสารพิษ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ต.แม่สุก กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเยาวชน กลุ่มผู้ติดเชื้อเอดส์ กลุ่มผู้สนใจทั่วไปพื้นที่เป้าหมาย 4 หมู่บ้านใน ต.แม่สุก

 

4.เป้าหมาย :เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค จัดตั้งศูนย์อนุรักษ์พันธุ์พืชพื้นบ้าน สร้างวิทยากรชาวบ้าน

 

5.สาระสำคัญของโครงการ : กลุ่มเกษตรผสมผสานปลอดสารพิษบ้านแม่สุก(พ.ศ.2544) อ.แม่ใจ จ.พะเยา ด้วยมุ่งหวังที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ปรึกษาแก้ไขด้านเศรษฐกิจครอบครัวรวมถึงปัญหาสุขภาพของคนในกลุ่ม สมาชิก 25 ครอบครัว ทุกครอบครัวจะมีบ่อปลานิล เลี้ยงไก่ และหมูพื้นบ้าน และปลูกพืชผักพื้นเมือง ทุกกิจกรรมปลอดจากสารพิษสมาชิกทุกคนเห็นความสำคัญในการผลิตพืชผักธรรมชาติเพื่อสุขภาพซึ่งได้รับการฝึกอบรมการทำเกษตรแบบธรรมชาติมาจากองค์กรรัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนและได้นำความรู้มาเผยแพร่ให้กับสมาชิก ซึ่งความตั้งใจที่มากกว่านั้นคืออยากชักชวนให้คนในชุมชนหันมาบริโภคพืชผักพื้นบ้านอาหารพื้นเมือง พร้อมทั้งรวมกันจัดตั้งศูนย์อนุรักษ์พันธุ์พืชพื้นบ้าน เพื่อเผยแพร่ต่อไป ก่อนที่จะสูญหายกลายเป็นตำนาน พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคหันมาบริโภคผักพื้นบ้านอาหารพื้นเมือง โครงการฟื้นฟูสุขภาพองค์กรชุมชนโดยการบริโภคผักพื้นบ้านอาหารพื้นเมืองจึงเกิดขึ้น

 

6.เครื่องมือที่ใช้ : กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของชุมชน อบรมเพิ่มความรู้ รณรงค์

 กิจกรรมหลักคือ ฝึกอบรมเรื่อง ผักพื้นบ้านกับวิถีชีวิตที่ยั่งยืน เรื่อง ฟื้นภูมิปัญญาพืชผักกินได้  ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง บทบาทขององค์กรชุมชนต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ,สำรวจรายชื่อพันธุ์ผักพื้นบ้าน จัดตั้งศูนย์อนุรักษ์รวบรวมและขยายพันธุ์พืชผักพื้นบ้าน จัดทำเอกสารรายชื่อพืชผักพื้นบ้าน ,จัดเวทีเสวนา ผักพื้นบ้านกับสุขภาพที่มั่นคง จัดมหกรรมตลาดนัดรวมผักพื้นบ้าน อาหารพื้นเมืองฟื้นวิถีชีวิตคนพื้นเมืองกิจกรรมนี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ทั้งสาธิตการประกอบอาหารพื้นเมืองที่กำลังจะเลือนหายไป การแปรรูปสมุนไพรพื้นบ้านกับการรักษาตนเองจากผักพื้นบ้าน จัดนิทรรศการผักพื้นบ้านและอาหารพื้นเมืองกับการรักษาสุขภาพและการแข่งขันการประกอบอาหารพื้นเมือง มีกิจกรรมเดินรณรงค์ สานสายใยรักด้วยผักพื้นบ้าน ,จัดทำแผ่นพับแก่ชุมชน จัดทำวารสาร วิธีการประกอบอาหารด้วยผักพื้นบ้านภาคเหนือ ,กิจกรรมประชุมประจำเดือนคณะทำงานและเจ้าหน้าที่โครงการ จัดประชุมผลการดำเนินงาน 6 เดือนจัดประชุมประเมินผลการดำเนินโครงการจากผู้เชี่ยวชาญภายนอกองค์กร

 

7.การจัดระบบ โครงสร้างกระบวนการทำงาน : คนซึ่งเป็นหลักของโครงการคือ ผู้ประสานงานโครงการ ที่ทำหน้าที่วางแผนดำเนินโครงการร่วมกับคณะกรรมการโครงการ/ ควบคุมดูแล ติดตามประเมินผลและสนับสนุนเพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ /ประสานงานกับองค์กรต่างๆทั้งในและนอกพื้นที่ รวมทั้งแหล่งทุน/ร่วมกับเจ้าหน้าที่บัญชีของกลุ่ม จัดทำบัญชีโครงการ ส่วนอาสาสมัคร ทำหน้าที่ประสานงานกับองค์กรต่างๆในพื้นที่ เป็นผู้ดูแลศูนย์พันธุ์พืชพื้นบ้าน เป็นผู้ให้ความรู้ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของโครงการกับบุคคลทั่วไป เป็นวิทยากรประจำโครงการ

 

8.ขอบเขตและระยะเวลาดำเนินโครงการ :ระยะเวลา 1มิถุนายน 2546 - 31พฤษภาคม 2547

 

9.การประเมินผลและผลกระทบ:จากการดำเนินโครงการนี้ทำให้เกิดสิ่งดีๆขึ้นในชุมชนโดยเฉพาะช่วยทำให้ชุมชนได้เรียนรู้คุณค่าของผักพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง  เกิดแนวร่วมการทำงานมากขึ้นจากการขยายแนวคิด เกิดศูนย์อนุรักษ์พันธุ์พืชพื้นบ้านเผยแพร่ความรู้ให้กับเยาวชนและบุคคลทั่วไปได้ จนในที่สุดเริ่มเกิดการขยายพื้นที่ ขยายคนเกิดการเพิ่มจำนวนสมาชิกของกลุ่มฯจาก 25 ครอบครัวเป็น 63 ครอบครัว เริ่มมีแนวร่วม มีเพื่อนร่วมทางเพิ่มขึ้น /ขยายความคิด..เกิดศูนย์อนุรักษ์พันธุ์พืชพื้นบ้าน เพื่อเป็นที่รวบรวมพันธุ์พืชผักพื้นบ้าน บำรุงพันธุ์และขยายพันธุ์โดยนำพันธุ์พืชพื้นบ้านแต่ละชนิดในชุมชนมาไว้ในศูนย์ฯ เกิดเครื่องมือที่ใช้เผยแพร่รณรงค์เรื่องการบริโภคผักพื้นบ้านอาหารพื้นเมือง คือ เอกสารรายชื่อผักพื้นบ้านรวบรวมรายชื่อผักพื้นบ้าน46ชนิด ใน ต.แม่สุก อ.แม่ใจ จ.พะเยา  เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและคนรุ่นหลังได้ทราบถึงคุณประโยชน์และตระหนักถึงคุณค่าของผักพื้นบ้านซึ่งมีข้อมูลเกี่ยวกับผักพื้นบ้านในตำบล

ขยายพื้นที่มีการขยายพื้นที่ไปยังชุมชนภายนอก มีการขยายพื้นที่ไปยังสถานศึกษาขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการนำข้อมูลที่ได้ไปเชื่อมต่อกับหลักสูตรท้องถิ่นของโรงเรียนภายในตำบลแม่สุก เพื่อให้เกิดการสืบทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่น

10.ความยั่งยืน :ปัจจุบันกลุ่มได้เปลี่ยนชื่อเป็นกลุ่มเกษตรกรเพื่อการผลิตแม่สุก(พ.ศ.2548) ขึ้นทะเบียนตามกฎระเบียบของสหกรณ์การเกษตรแล้ว มีสมาชิกทั้งหมด 63 ครอบครัวมีเงินสัจจะสะสมคนละ 1600*63  รวม 100,800 บาท ออมข้าวเปลือก คนละ280*63 รวม 17,640 กิโลกรัม  มีฉางข้าว 1หลัง มีที่ดิน 1แปลง โดยมีนายหมั่น แก้วตา เป็นประธานกลุ่ม  กลุ่มที่เข้มแข็งขึ้นแม้ว่ากลุ่มว่าเป็นการรวมกลุ่มตามธรรมชาติไม่มีองค์กรพี่เลี้ยง

 

11.จุดแข็ง และอุปสรรค :ประนอม ใจหมั่น มีบทบาทสำคัญในฐานะผู้สนับสนุนให้กระบวนการชุมชนคล่องตัว ด้วยความเป็นคนในพื้นที่และมีประสบการณ์การทำงานกับองค์กรพัฒนาเอกชนและเข้าใจถึงวิธีการเขียนโครงการเพื่อขอการสนับสนุนจากแหล่งทุน เขียนเสนอโครงการจากความต้องการทำงานของกลุ่มอย่างแท้จริงประนอมช่วยให้ทำให้การทำงานด้านการจัดการราบรื่นสามารถช่วยลดข้อจำกัดของกลุ่มฯที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรถนัดแต่ภาคปฏิบัติด้านเกษตรและการประสานกับชุมชน แต่ไม่มีความถนัดในการทำงานเกี่ยวกับการจัดการเอกสารหรืองานวิชาการและการประสานงานกับองค์กรภาครัฐ ประนอมช่วยเพิ่มเงื่อนไขในการขยายผลได้ เช่น การประสานกับโรงเรียนด้านการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นในโรงเรียนนำร่อง ฯลฯ//แกนนำอย่างพ่อหมั่น ปราชญ์ชาวบ้านคนหนึ่งในชุมชนเคยหลงกระแสการใช้สารเคมีทำนาทำสวนจากการชวนเชื่อของหลายหน่วยงานว่าจะช่วยให้ผลผลิตดีขึ้นแต่เขากลับพบว่านอกจากเสียเงินให้กับการซื้อสารเคมีจากผู้แทนจำหน่ายแล้วยังเสียสุขภาพอีกด้วย วันนี้พ่อหมั่นซึ่งพลิกผันตนเองทำตัวเป็นแบบอย่างแก่คนรอบข้าง สามารถทำการเกษตรแบบปลอดสารเคมีเป็นเวลา 2 ปีเต็มแล้ว สามารถถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้ที่ได้จากการทำจริงให้กับเกษตรกรคนอื่นๆได้เห็นการเปลี่ยนแปลงกับตนเองที่สัมผัสได้ คือ มีสุขภาพดีขึ้น แข็งแรงขึ้น ส่วนพื้นดินก็มีคุณภาพดีขึ้นด้วย

 

12.ที่ติดต่อ :

นายหมั่น แก้วตา ประธานกลุ่มเกษตรผสมผสานปลอดสารพิษบ้านแม่สุก (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น กลุ่มเกษตรกรเพื่อการผลิตแม่สุก)

ที่อยู่ 146หมู่2 ต.แม่สุก อ.แม่ใจ จ.พะเยา 56130 โทร.054-417912

นางสาวประนอม ใจหมั่น ผู้ประสานงานกลุ่ม

ที่อยู่  50/2หมู่6 ต.บ้านใหม่ อ.เมือง จ.พะเยา 56000 โทร 01-111

1142

           

หมายเลขบันทึก: 72075เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2007 13:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 13:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท