ชีวิตที่พอเพียง : 194. เที่ยวเขาใหญ่


         เช้าวันที่ ๑๖ ธค. ๔๙ เจ้าสาวฮันนิมูนรอบที่ ๒๕ กับผมไปเที่ยวเขาใหญ่โดยความอนุเคราะห์ของ SCB     เราออกเดินทางจากคีรีมายาโดยรถตู้ของธนาคาร      จุดแรกที่ไปคือจุดบริการนักท่องเที่ยว      ไปดูวิดีโอสรุปเรื่องราวการเป็นมรดกโลกของผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่     และฟังการบรรยายสรุปเรื่องอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยหัวหน้าอุทยาน นายณรงค์ มหรรณพ ที่ผมประทับใจการทำงานดูแลอุทยานแห่งชาติด้วยใจรัก   

        ผมได้เรียนรู้ว่าผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่เป็นพื้นที่ รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ยาวตามแนวตะวันตก-ตะวันออก เป็นพื้นที่ ๓.๘๕ ล้านไร่ไปจรดผืนป่าบันทายชะมอของกัมพูชา     การมีผืนป่าที่ติดต่อกันขนาดใหญ่ มีคุณค่าในการอนุรักษ์สัตว์ป่ามากกว่าผืนป่าเล็กๆ หลายผืนที่มีพื้นที่รวมเท่าๆ กัน     ผืนป่าที่ใหญ่เหมือนกันคืออุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พื้นที่ ๑.๘ ล้านไร่ เป็นพื้นที่ยาวตามแนวเหนือ-ใต้     ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ประกอบด้วยอุทยานแห่งชาติ ๕ แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่  ทับลาน  ปางสีดา  ตาพระยา  และป่าดงใหญ่     ได้รับยกย่องเป็นมรดกโลกแห่งที่ ๒ ด้านสถานที่ธรรมชาติของไทย     ถัดจากผืนป่าทุ่งนเรศวร-ห้วยขาแข้ง

          คนมักคิดว่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา      จริงๆ แล้วพื้นที่ครอบคลุมถึง ๑๑ อำเภอ ใน ๔ จังหวัดคือ จังหวัดนครราชสีมา  สระบุรี  นครนายก  และปราจีนบุรี     โดยพื้นที่ในจังหวัดปราจีนบุรีใหญ่ที่สุด     พื้นที่ของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เกือบ ๑.๔ ล้านไร่ หรือเกือบ ๒,๒๐๐ ตร. กม.

         พยายามระลึกชาติว่าผมมาเที่ยวเขาใหญ่กี่ครั้ง     พบว่ามา ๒ ครั้งเท่านั้น คือครั้งแรกมาตอนปีใหม่เมื่อกว่า ๓๐ ปีก่อนตอนยังทำงานที่กรุงเทพ     ยังไม่ได้ลงไปหาดใหญ่      โดยพี่เขยที่เป็นนายทหารขอที่พักบนเขาใหญ่ได้ฟรี      เรามาพักกัน ๒ ครอบครัว     อากาศหนาวจับใจ     มาครั้งที่ ๒ กับ สกว. เมื่อประมาณ ๑๐ ปีก่อน     ครั้งนั้นก็ตอนใกล้ปีใหม่ อากาศหนาวเช่นกัน   ได้ไปส่องดูสัตว์ตอนกลางคืนด้วย

          คราวนี้มาเที่ยวแบบคนแก่ มีคนคอยดูแลอย่างดี      เราไปที่ ๓ จุดเท่านั้นในเวลาประมาณ ๓ ชั่วโมง      คือไปที่อาคารบริการนักท่องเที่ยว   ไปเดินป่าเส้นทางสั้น เพียง ๑.๒ กม.     และไปดูน้ำตกเหวสุวัต     จุดที่ได้ความรู้มากที่สุดคือจุดแรก     เพราะหัวหน้าณรงค์ มหรรณพ บรรยายสรุปอย่างดีมาก     เราได้ทราบว่าในป่าผืนนี้มีเสือโคร่งเหลืออยู่เพียงประมาณ ๒๐ ตัวเท่านั้น ในป่านี้มีสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์อยู่ ๓ ชนิด     คือเสือโคร่ง  ช้าง  และกระทิง    แต่กระทิงในป่านี้มีมากขึ้น     ที่น่าเป็นห่วงว่ามีน้อยลงในป่านี้ คือชะนีหัวมงกุฎ     ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นและเข้ามาทำความยุ่งยากให้คน คือลิง      เห็นฝูงลิงอยู่ริมถนนและกลางถนนในบางจุด     เขามีป้ายบอกว่าถ้ารักลิงอย่าให้อาหารลิง

          ผมได้ความรู้ว่าอุทยานแห่งชาติมีประโยชน์ ๓ อย่าง คือ   (๑) อนุรักษ์พันธุ์พืช-สัตว์   (๒) การท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ   (๓) การศึกษาวิจัย     แต่ชาวบ้านเขารู้ว่ามีประโยชน์ข้อที่ ๔ อยู่ด้วย คือประโยชน์ทางเศรษฐกิจ     จึงมีการลักลอบตัดไม้ที่ราคาแพง ซึ่งในขณะนี้คือไม้กฤษณา      สำหรับกลั่นน้ำมันหอม    ราคาแพงยิ่งกว่าทอง      และผมเติมประโยชน์ข้อที่ ๕ ให้เอง ว่า ประโยชน์ทางภูมิอากาศ  ช่วยรักษาสมดุลของภูมิอากาศของโลก

         ตอนผมเป็น ผอ. สกว. เราให้ทุนวิจัยขนาดใหญ่ที่ทำที่บริเวณเขาใหญ่ ๒ โครงการ คือโครงการศึกษาชะนี (ศ. ดร. วรเรณ บร็อคเคลแมน)  กับโครงการศึกษานกเงือก (ศ. ดร. พิไล พูลสวัสดิ์)     หัวหน้าณรงค์เล่าว่า ได้ความรู้จากการศึกษาของ ดร. วอเร็น ว่าชะนีเป็นสัตว์ผัวเดียวเมียเดียว     แต่พอศึกษานานเข้าก็พบว่าเขาก็มีกิ๊กเหมือนคน

        ได้เห็นกับตา ว่ามีคนมาเที่ยวและนอนค้างที่เขาใหญ่มาก     มีบริเวณแค้มปิ้ง ที่แค้มป์ติดกันเป็นทิว     โดยเขามีบริเวณแค้มปิ้ง ๓ แบบ     คือบริเวณไม่ทำอาหาร  ไม่ดื่มเหล้า     บริเวณทำอาหาร ไม่ดื่มเหล้า    และบริเวณที่ทั้งทำอาหารและดื่มเหล้า     สถิติบอกว่ามีนักท่องเที่ยวมาเขาใหญ่ปีละ ๙ แสนคน    เขามีที่พักบริการหลายแบบ    แต่คนไปพักต้องทำใจว่าคนไทยไม่ค่อยมีวัฒนธรรมเที่ยวแบบสงบ     มักมีคนดื่มเหล้าทำเสียงดังตอนดึก    ทั้งๆ ที่มีกฎห้ามส่งเสียงดังหลัง ๔ ทุ่ม

         เราลงจากเขาตอนหลังเที่ยงเล็กน้อย ไปกินอาหารเที่ยงที่ครัวเขาใหญ่ ถนนธนะรัชต์ ซึ่งก็คือถนนเส้นหลักจากถนนมิตรภาพสู่เขาใหญ่      อาหารที่นี่อร่อยมาก     ผมชอบน้ำมะเม่า  และติดใจแฮมทอดเป็นพิเศษ     เห็ดผัดพริกไทยดำก็อร่อย     เป็นครั้งแรกที่ผมได้กินเห็ดผัดพริกไทยดำ

         ตกเย็นเขาพาไปเที่ยวไร่องุ่น และโรงงานไวน์ พีบี    ซึ่งเป็นของกลุ่มบุญรอด บริวเวอรี่      นั่งรถไปจากคีรีมายา ๔๕ นาที ไปทางถนนไปมวกเหล็ก    ไปพบการเผาป่าบนเขาใกล้ๆ ไร่      ไฟใหม้อยู่หลายชั่วโมงจน ๒ ทุ่มก็ยังติดอยู่      แนวไฟเป็นรูปตัววีหัวคว่ำ     ทำให้คนของไร่องุ่นเดาว่าชาวบ้านจุดไฟล่าสัตว์ป่าบนเขา     ทางไร่มีรถนำเที่ยวแล่นไปในไร่พร้อมผู้อธิบาย     ผมได้เรียนรู้ว่าองุ่นปลูกได้ทุกฤดู     ใช้เวลา ๑๒๐ วันก็ได้ผล     แต่ในประเทศไทยฤดูฝนยาว  จึงต้องรอให้เกือบหมดฝนจึงปรนเปรอต้นองุ่นให้เก็บเกี่ยวผลได้ช่วงเดือนกุมภาพันธ์      ตอนนี้เราเห็นพวงองุ่นมีลูกเล็กๆ สีเขียวเต็มช่อ ทั้งที่เป็นองุ่นแดง     คือเปลือกจะแดงตอนแก่     ไร่นี้ปลูกทั้งองุ่นทำไวน์ และองุ่นกินลูก    ในเมืองไทยปลูกได้ฤดูเก็บเกี่ยวเดียวเท่านั้น

         เขาพาไปชมโรงงานไวน์     ทั้งๆ ที่ผมเคยไปดูโรงงานผลิตไวน์ที่ Napa Valley ที่แคลิฟอร์เนียมาแล้ว     แต่คราวนี้ผมได้ความรู้รวบยอดมากกว่า      ว่าเมื่อบีบผลองุ่นแล้วมีขั้นตอนการผลิตสำคัญอยู่ ๓ ขั้นตอน    
             (๑) การหมักเอาแทนนินและสีจากเปลือก     หมักน้ำ เปลือก และเมล็ดรวมกันเป็นเวลา ๗ - ๑๐ วัน     ขั้นตอนนี้ทำเฉพาะการผลิตไวน์แดง
             (๒) การหมักให้ได้แอลกอฮอล์     โดยเอาเฉพาะน้ำองุ่นมาเติมยีสต์และหมักประมาณ ๑ เดือน    จนยีสต์กินน้ำตาลหมดและเปลี่ยนน้ำตาลไปเป็นแอลกอฮอล์   
             (๓) การบ่ม ให้ได้กลิ่นและรสที่หอมละมุน    เขาบ่มในถัง ๓ ชนิด  คือถังสเตนเลส  ถังไม้โอ๊ค  และถังไม้โอ๊คเผาไฟ      ถังไม้โอ๊คเผาไฟจะปล่อยกลิ่นหอมของไม้โอ๊คออกมาได้มากกว่า    ใช้เวลาบ่ม ๓ ปี     แล้วเขาเอาไวน์จากการบ่ม ๓ แบบมาผสม (blend) กัน ให้ได้กลิ่นและรสที่ต้องการ    

         ตกค่ำเรากินอาหารเย็นที่ภัตตาคารของไร่ พีบี นั่นเอง     อาหารเป็นแบบไทยๆ อีสานประยุกต์     กินกับไวน์แดงชนิดพรีเมี่ยมของเขา      หมออมราซึ่งปฏิเสธไวน์มาตลอด ลองดื่มบ้าง แล้วบอกว่าอร่อยกว่าของชาโตเดอเลย ที่เราเคยไปชิมที่จังหวัดเลยเมื่อหลายปีมาแล้ว      แต่ผมจำไม่ได้เลย     รู้แต่ว่าไวน์ของพีบี ที่ดื่มคืนนี้อร่อยใช้ได้     ไวน์ของที่นี่ ทุกชนิดใช้นามสกุลเขาใหญ่

         ภรรยามาอ่าน  แล้วบอกว่า  นี่ไม่ใช่เรื่องราวของ "ชีวิตที่พอเพียง"

                  

                  แสงเงายามเช้าริมถนนใกล้เขาใหญ่

                  

         แสงเงาอีกหนึ่งความงามริมถนนใกล้เขาใหญ่

                  

      เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ลำตะคอง - กองแก้ว

                  

   เป็นครั้งแรกที่ผมเดินป่าบนเส้นทางที่ปูลาดอย่างดีเช่นนี้

                   

                          ความงามของพืชพรรณ

                         

                    ความงามของป่าใต้แสงตะวัน

                          

       ความงามของต้นไม้ที่ถูกเถาวัลย์รัดจนลำต้นเป็นเกลียว

                     

                                  ดอกตาเป็ดตาไก่

                            

                             ไทร เพชรฆาตแห่งป่า

                      

                           น้ำตกเหวสุวัตอันงดงาม

                      

                         ต้นสะบ้าลิงกำลังออกช่อดอก

                      

                                           เห็ดขอน

                      

ต้นไม้สูงกว่ายี่สิบเมตรมีเห็ดขนาดใหญ่ขึ้น ชี้ชะตาว่าจะตายในไม่ช้า  เห็นเห็ด ๓ แผ่น  แผ่นล่างกว้างกว่า ๑ ฟุต

                               

                 กฤษณาคู่ อายุ ๖ ปี หน้าที่ทำการอุทยาน

                           

                     ไลเค่นส์และราสีทองที่ต้นกฤษณา

 

 

วิจารณ์ พานิช
๑๗ ธค. ๔๙
คีรีมายา  เขาใหญ่

หมายเลขบันทึก: 72035เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2007 10:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

รู้จักคุณณรงค์ มหรรณพ มาตั้งแต่ปี 2529 เป็นคนที่มีอุดมการณ์และมุ่งมั่นในการทำงานรักษาผืนป่าค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท