ทันตกรรมชุมชนภาคสยาม: จุดแข็งของบ้านเมืองเรา


โครงสร้างต่างๆ เอื้อให้ทันตแพทย์ได้ทำงานการสร้างเสริมสุขภาพ ด้วยวิธีการที่หลากหลาย ในขณะเดียวกันแนวโน้มการกระจายอำนาจสู่ชุมชน ก็มีความหวังที่ดี

       หยุดพักปีใหม่ไปเสียนาน วันนี้ขอกลับมาเล่าเรื่องให้ฟังต่อครับ มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระบบการจัดบริการทันตกรรมของรัฐ south Australia ที่ประเทศออสเตรเลีย โดยเฉพาะเรื่องโครงการสร้างเสริมสุขภาพ ได้มองเห็นจุดแข็งของบ้านเมืองเราที่ได้เปรียบออสเตรเลียหลายด้าน ดังจะเล่าให้ฟังต่อไปนี้ครับ

         ออสเตรเลียไม่มีระบบทันตแพทย์ใช้ทุน ทันตแพทย์เกือบทั้งหมดทำงานในภาคเอกชนครับ (มีทันตแพทย์เอกชน ร้อยละ 82 ของทันตแพทย์ที่ทำงานทั้งหมด ข้อมูลปี 2546) ระบบประกันสุขภาพก็เป็นประกันสุขภาพเอกชน ทุกๆ ต้นปีคนที่นี่ก็จะหาซื้อประกันสุขภาพ ถ้าจะรวมค่าทำฟันด้วยก็จะแพงขึ้นไปกว่าแพคเกจปกติ (ราคาที่จ่ายต่อปี  แพคเกจถูกที่สุดไม่รวมทำฟันอยู่ในราวหนึ่งหมื่นห้าพันบาท ราคาขนาดนี้ครอบคลุมเฉพาะค่าหมอนะครับ ส่วนค่ายานั้นครอบคลุมแค่ส่วนน้อย) ค่าทำฟันก็แพงครับ ดังนั้นเมื่อเทียบความยากง่ายในการเข้าถึงบริการสุขภาพช่องปากกับบ้านเรา ของเราน่าจะดีกว่าตรงที่ไม่ต้องกังวลเรื่องราคาในการทำฟัน เพราะที่นี่ถ้าไม่มีเงินโอกาสที่จะได้ทำฟันน้อยครับ

           ข้อได้เปรียบของบ้านเราอีกประการในการทำงานทันตกรรมชุมชนก็คือ ทันตแพทย์โรงพยาบาลชุมชนแต่ละแห่ง มีพื้นที่และกลุ่มประชากรที่ชัดเจนในการให้บริการ โดยเฉพาะเรื่องทันตกรรมป้องกันและการสร้างเสริมทันตสุขภาพ มีความคล่องตัวระดับหนึ่งในการสร้างโครงการพิเศษ (ไม่ว่าจะสร้างเอง หรือเป็นโครงการที่มาจากนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข) มีความใกล้ชิดกับประชาชนในระดับหมู่บ้านพอสมควร ในขณะที่ที่นี่ ทันตแพทย์ภาครัฐไม่ได้มีหน้าที่อันเกี่ยวข้องกับการให้บริการเชิงรุกในพื้นที่ที่รับผิดชอบของตัวเอง บริการทันตกรรมป้องกันและการสร้างเสริมทันตสุขภาพมาจากนโยบายระดับประเทศ (เช่นการเติมฟลูออไรด์ในน้ำประปา) โครงการสุขภาพช่องปากก็มุ่งเน้นเฉพาะไปที่กลุ่มพิเศษ (เช่น ผู้พิการ, ชาวพื้นเมืองอบอริจิ้น) การกระจายทันตแพทย์สู่พื้นที่ห่างไกลจากเมืองก็ดูจะเป็นปัญหามากกว่าบ้านเรา จากข้อมูลการกระจายของทันตแพทย์ออสเตรเลียปี 2546 มีทันตแพทย์ทำงานในเมืองใหญ่ประมาณห้าสิบแปดคนต่อประชากรแสนคน ในขณะที่ทันตแพทย์ทำงานในชนบทมีเพียงสิบแปดคนต่อประชากรแสนคน ยิ่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ (specialists) ที่ทำงานในชนบทนั้นยิ่งกล่าวได้ว่าแทบจะไม่มีเลย (สัดส่วนคือทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสองคน ต่อประชากรหนึ่งล้านคน)

           ด้วยเงื่อนไขดังกล่าวข้างต้น หลักสูตรการเรียนการสอนวิชาทันตกรรมป้องกันหรือทันตกรรมชุมชนของที่นี่ จึงไม่มีการฝึกภาคสนามแบบที่ต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ชนบท นักศึกษาจึงไม่มีโอกาสได้เห็นภาพของผู้คนชายขอบ หรือคนด้อยโอกาส  อาจจะมีโอกาสได้ทำงานในระดับโรงเรียนบ้าง แต่งานในระดับหมู่บ้านหรือชุมชนแทบจะไม่มีการฝึกเลย

             เพราะเหตุผลที่ว่ามา เลยทำให้รู้สึกว่า เมืองไทยเรานี้แสนดี ที่บรรพบุรุษเราได้วางระบบไว้ให้คนได้เข้าถึงบริการสุขภาพอย่างไม่ยากเย็นนัก มีโครงสร้างต่างๆ ที่เอื้อให้ทันตแพทย์ได้ทำงานการสร้างเสริมสุขภาพด้วยวิธีการที่หลากหลาย ในขณะเดียวกันแนวโน้มการกระจายอำนาจสู่ชุมชน ก็มีความหวังที่ดี

              หากเราสามารถทำงานให้สอดประสานกัน กล่าวคือ ภาคการผลิตก็ผลิตทันตแพทย์ให้มีความสามารถในการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากผ่านโครงการต่างๆที่เหมาะสมกับพื้นที่, ภาคสาธารณสุข ก็สนับสนุนและมีนโยบายที่ยืดหยุ่นต่อการสร้างโครงการโดยพื้นที่เอง ในขณะเดียวกัน ทรัพยากรต่างๆ รวมทั้งอำนาจในการใช้งบประมาณก็ถูกถ่ายโอนให้มีการตัดสินใจการใช้ร่วมกันในระดับหมู่บ้าน ประเทศเราก็มีความหวังที่ดีในการทำให้สุขภาพของคนดีขึ้น

             ผมเชื่อว่ายุคสมัยที่นโยบายจากส่วนกลางที่เป็นยาวิเศษแก้ปัญหาสุขภาพได้นั้นหมดไปนานแล้ว ยุคนี้คือยุคที่ความเข้มแข็งและความสำเร็จมาจากผลรวมของความสำเร็จในเรื่องเล็กๆ เรื่องเฉพาะที่ รวมรวมกับเป็นภาพใหญ่

               ไม่รู้ว่ามองโลกในแง่ดีไปหรือเปล่า แต่ผมคิดว่า เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่ได้สัมผัสมา บ้านเราเป็นประเทศที่น่าทำงานทันตกรรมชุมชนมากที่สุดที่หนึ่งในโลกครับ :)

คำสำคัญ (Tags): #oral_health_promotion
หมายเลขบันทึก: 72003เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2007 07:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 12:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีปีใหม่ค่ะพี่สุธี แวะมาเขียนสั้นๆว่าเห็นด้วยอย่างยิ่ง  ว่าโครงสร้างบ้านเราเอื้ออำนวย
ต่องานชุมชนมากกว่ามาก เมื่อเทียบกับออสเตรเลีย อเมริกา รวมทั้งแคนาดา (ถ้าพูดกันเรื่องสุขภาพช่องปากเท่านั้นนะ) มัทก็มีกำลังใจในการทำงานที่บ้านเรามากเวลานึกถึงสังคมชนบท แต่มัทว่าโจทย์ที่ยากกว่าคือการส่งเสริมสุขภาพในชุมชนเมือง  ยิ่งเห็นยิ่งห่วง

่อยากไปดูงานที่สแกนดิเนเวียค่ะ  ไม่เคยไปเลย เคยแต่อ่านงานเค้า ดูดีน่าไปเรียนรู้

ตอนนี้อยู่เมืองไทยแต่ยุ่งมากค่ะ ไม่ได้อ่าน gotoknow เท่าไหร่เลย ไว้อีกอามิตย์สองอาทิตย์จะกลับมาเป็นขาประจำอีกครั้งค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท